15 Jun 2014
Article

ทีวี 3 มิติคืออะไร ? มีกี่ประเภท ? เทคนิค 3 ข้อในการชมทีวี 3 มิติ และแนะนำตัวเด็ด


  • lcdtvthailand

เกริ่นก่อนนะครับว่าบทความที่เขียนนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวและทีมงานซะส่วนใหญ่ หลังจากได้ผ่านการรีวิวทดสอบทีวี 3 มิติ “ทุกยี่ห้อ” มาแล้ว ได้แก่ LG, Samsung, Sony, Panasonic, Philips, ProVision, TCL, Toshiba และอื่นๆ ซึ่ง หลังจากที่ไปสัมผัสมาจึงขอรวบรวมความรู้ทั้งหมดมาเขียนเป็น “บทความ” เพื่อให้ทุกคนเข้าใจถึงเทคโนโลยีทีวี 3 มิติกันอย่างกระจ่างและเห็นภาพมากยิ่งขึ้นครับ โดยมีทั้งหมด 5 หน้า ค่อยๆอ่านอย่างละเอียดนะครับ รูปประกอบบทความผมเชื่อว่าจะทำให้ท่าน “เห็นภาพ” และ “เข้าใจ” ในเนื้อหามากยิ่งขึ้น

กระแสทีวี 3 มิติ !!!

ต้องบอกก่อนว่าทุกกอย่างมีเกิดและก็มีดับไป (ดูพระธรรมยังไงไม่รู้) คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “กระแสทีวี 3 มิติ” นั้นถือว่า “มาแรง” มากในช่วงปี 2013-2014 ทว่าในปัจจุบันนี้ทีวีสามมิติมันไม่ได้มาแรงนัก เพราะคนที่ซื้อทีวีสามิติไปก็ไม่ได้ใช้งานฟังก์ชันนี้บ่อยนักเท่าที่ควรจะเป็น แถมดูนานยังส่งผลต่อสายตามากกว่าปกติอีกต่างหาก เท่าที่เห็นยังคงมีแค่ LG ยังคงผลักดันทีวีสามมิติของตัวเองอยู่ ส่วน Samsung ก็ค่อยๆ ถอยห่างจากวงการสามมิติไป

“ทีวี 3 มิติ” คืออะไร?

อธิบายง่ายๆให้เห็นภาพเลยนะครับ 3D หรือ 3 Dimension คือภาพที่เราสามารถเห็นมิติ “ตื้น ลึก หนา บาง ลอย”อย่างเห็นได้ชัดเจน ถ้าเปรียบเทียบกับภาพ 2 มิติจากทีวีธรรมดาซึ่งเป็นภาพ “แบนๆติดจอ” แล้ว ความสมจริงของภาพ 3 มิตินั้นจะมีมากกกว่า ซึ่งประโยชน์ที่ได้ก็คือความสมจริงของภาพและอรรถรส ในการรับชมที่มากกว่า ซึ่งหลายๆคนยอมรับว่ามันเหมือนเรากำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆด้วย และรวมถึงมาตรฐานหนัง 3 มิติตามโรงภาพยนตร์ต่างๆทำให้มาตรฐานนี้ถูกถ่ายทอดไปสู่จอทีวีภายในบ้านด้วย และนั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้ผลิตทีวีจึงสนใจหันมาผลิตทีวี 3 มิติ

หลักการสร้างภาพ 3 มิติ

ภาพ 3 มิตินั้นถูกสร้งขึ้นโดยอาศัยหลักทางกายภาพว่า “ตาข้างซ้าย” และ “ตาข้างขวา” ของคนเรานั้นจะมองตำแหน่งวัตถุที่อยู่บริเวณกลางตา “ตำแหน่งไม่เท่ากัน” (ก็แหงครับ เพราะตำแหน่งของตาซ้ายและตาขวาเราห่างกันตั้ง 3-5 เซนติเมตร) สามารถลองทดสอบได้ง่ายๆโดยการเอา “นิ้วชี้” ยกขึ้นมาให้ห่างจากตาซัก 10 เซนติเมตร แล้วลองปิดตาซ้ายและตาขวาสลับตาดู เจ้าตำแหน่งของนิ้วชี้ที่เราเห็นด้วยตาแต่ละข้างก็จะไม่เท่ากัน แต่ลองนึกภาพดูว่าถ้าเราสามารถกระพริบตาซ้ายขวาสลับกันได้ถึง 120 ครั้งต่อวินาที ตำแหน่งนิ้งที่จะเหลื่อมซ้ายและขวากันนิดหน่อยนั้นก็จะรวมกันเป็นหนึ่งครับ และนี่ก็คือหลักการง่ายๆที่เอาทำมาทำเป็นภาพ 3 มิติครับ

ลองชูนิ้วชี้ของท่านขึ้นมาไว้ข้างหน้าสิครับ
แล้วปิดเปิดตาซ้ายและขวาสลับกันอย่างรวดเร็วดูสิครับ
รูป GIF แบบนี้จะทำให้เราเข้าใจขึ้นเมื่อเฟรมภาพเคลื่อนไหวซ้ายและขวาสลับกันอย่างรวดเร็ว
มิติภาพจึงเกิดขึ้นมา (ลองดูจากรูปกิ่งไม้และผู้หญิงในกิโมโนได้)
“ไดโนเสาร์”แทบ “ทะลุจอ” ออกมา อย่าตกใจว่าจอคอมพิวเตอร์หรือโน็ตบุ๊คของท่านเป็น 3 มิติ
เปล่าเลย !!! มันก็แค่รูปนิ่ง 2 รูปเหลื่อมซ้อนซ้ายขวากันนิดเดียวกระพริบสลับไปสลับมาก็แค่นั้นเอง

สรุป !!! ทีนี้เข้าใจหรือยังครับว่าภาพ 3 มิติหลักการมันเป็นอย่างไร !!!