02 Mar 2016
Article

คู่มือกันงง!!! เข้าใจการอ่านสเปกเครื่องเสียงเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ภายใน 10 นาที


  • lcdtvthailand

HOW TO !!!

คู่มือกันงง!!! เข้าใจการอ่านสเปกเครื่องเสียงเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ภายใน 10 นาที

ยังมีหลายท่านที่ต้องการซื้อลำโพงดีๆ มาไว้สร้างความสุขที่บ้าน แต่ไม่รู้ว่าตัวไหนดีไม่ดี แตกต่างกันอย่างไรบ้าง ครั้นจะอ่านรายละเอียดสเปก ก็เกิดปัญหาไม่เข้าใจคำศัพท์ต่างๆ ที่มักเป็นภาษาอังกฤษ ไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร และมีผลอย่างไร ซึ่งในบทความนี้จะมาสอนให้อ่านสเปกคร่าวๆ ที่พบเห็นกันบ่อยๆ อย่างง่ายๆ ที่มือใหม่ก็เข้าใจได้ไม่ยาก

Frequency Response : การตอบสนองคลื่นความถี่เสียง ใช้หน่วยเป็นวัด Hz (Hertz : เฮิรตซ์) โดย 1Hz จะเท่ากับการสั่น 1 ครั้งต่อ 1 วินาที ถ้า 50Hz ก็จะเท่ากับการสั่นจำนวน 50 ครั้งใน 1 วินาที เสียงยิ่งหนาต่ำ ความถี่เสียงยิ่งน้อย หากเป็นเสียงแหลมสูง ความถี่เสียงก็จะมีค่าสูง ลำโพงแต่ละแบบนั้น จะมีการตอบสนองความถี่แตกต่างกันไป เช่น ซับวูฟเฟอร์ ที่ให้เสียงเบส จะตอบสนองต่อความถี่ต่ำ ไม่สามารถตอบสนองความถี่สูงได้ เป็นต้น

ยิ่งความถี่สูง คลื่นความสั่นก็ยิ่งมาก เสียงก็แหลมขึ้นมากตามไปด้วย

Sensitivity : ค่าความไวของไดรเวอร์หรือดอกลำโพงนั่นเอง ใช้หน่วยวัดเป็น dB (อ่านว่า เดซิเบล) ว่ามีประสิทธิภาพในการให้เสียงที่ดังเพียงใดเมื่ออ้างอิงระดับวอลลุ่มของแอมป์เท่าๆ กัน (ระดับ 2.83V ในระยะการฟัง 1 เมตร) ซึ่งลำโพงที่มีค่าความไวต่ำกว่า จะกินวัตต์มากกว่า

Power Handling (Cont/Peak) : บ่งบอกถึงความสามารถของลำโพงในการรองรับกำลังขับจากแอมพลิฟายเออร์ว่าลำโพงตู้นี้ รับกำลังไฟแบบต่อเนื่องและกำลังไฟสูงสุดได้เท่าไร เช่น 150W/600W หมายถึงลำโพงตู้นี้ รับกำลังไฟ 150 วัตต์ ได้แบบต่อเนื่อง และรับกำลังไฟได้สูงสุดถึง 600 วัตต์ หากมีการใช้งานเกินกำลังขับที่แจ้ง อาจสร้างความเสียหายแก่ลำโพงได้

Nominal Impedance : ค่าความต้านทานเฉลี่ยต่อไฟกระแสสลับของลำโพง มีหน่วยวัดเป็น Ohms (โอห์ม) หากค่าความต้านทานของลำโพงมีน้อย จะต้องใช้กำลังวัตต์มากขึ้นเพื่อขยายกำลังเสียง

สัญลักษณ์ของค่าโอห์ม

Crossover Frequency : จุดตัดความถี่เสียงระหว่างไดรเวอร์แต่ละตัวดอกของลำโพงนั้นๆ แยกการทำงานตามความเหมาะสมของความสามารถไดรเวอร์ เช่น 

ลำโพงตัวนี้ สามารถตอบสนองความถี่ 62Hz – 24kHz มี 2 ไดรเวอร์ เป็นทวีตเตอร์ที่ให้เสียงแหลม และมิดเรนจ์ที่ให้เสียงกลาง สเปกลำโพงบอกไว้ว่าจุดตัดอยู่ที่ 1800Hz นั่นคือมิดเรนจ์จะส่งความถี่ 1800Hz ลงมาถึง 62Hz ส่วนทวีตเตอร์จะส่งย่านสูง ตั้งแต่ 1800Hz ขึ้นไปถึง 2400Hz นั่นเอง

Driver : คือการบอกว่าไดรเวอร์หรือที่เรียกกันว่า “ดอกลำโพง” เป็นแบบไหน รุ่นอะไร ขนาดเท่าไร ซึ่งมีหลายรูปแบบด้วยกัน โดยในแต่ละแบบก็มีคุณสมบัติแตกต่างกัน หากมีโอกาสจะมาเขียนบทความเรื่องนี้ให้ทุกท่านได้ทราบต่อไป

ไดรเวอร์หรือดอกลำโพง มีหลายแบบหลายประเภท รวมถึงวัสดุที่ใช้ในการผลิตไดรเวอร์ด้วย

Enclosure Material :  บอกถึงวัสดุที่ใช้เป็นตัวตู้ลำโพง เช่น ไม้อัด พลาสติก เป็นต้น

Enclosure Type : ประเภทของการออกแบบตัวตู้ลำโพงว่าเป็นแบบใด เช่น แบบ Seal หรือแบบปิด จะไม่มีช่องคายเสียงบนตัวตู้ เป็นต้น

Inputs หรือ Connections : ลำโพงรองรับการเชื่อมต่อแบบไหนได้บ้าง ดูที่ตรงนี้เลย เช่น Single Binding Posts คือ สามารถเชื่อมต่อสายลำโพงแบบไบดิ้งโพสต์ได้ 1 คู่ นั่นเอง

Single Binding Posts ที่เสียบสายลำโพงได้แค่คู่เดียว ซึ่งเจ้าไบดิ้งโพสต์นี้ก็แยกย่อยไปอีกหลายแบบ

Height/Width/Depth : เป็นตัวแจ้งว่าลำโพงนั้นๆ มีความสูง ความกว้าง และความลึกเท่าไร เพื่อที่ผู้ซื้อสามารถคาดคะเนพื้นที่สำหรับการติดตั้งได้

Weight : แสดงจำนวนน้ำหนักของลำโพงว่าน้ำหนักมากเท่าใด

Finish :  บ่งบอกถึงลวดลายและสีของลำโพง

เพราะลำโพงแต่ละตัวมีราคาไม่ใช่น้อยๆ บางท่านจึงต้องการทราบรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนในการเลือกซื้อ

ทั้งหมดนี้คืออธิบายคร่าวๆ ว่าคำศัพท์แต่ละคำที่เรามักพบในการอ่านสเปกของลำโพงนั้นหมายถึงอะไรบ้าง เพื่อช่วยให้การตัดสินใจเลือกซื้อลำโพงของผู้อ่านมีความราบรื่นมากขึ้น หรือต้องการสอบถามและพูดคุยเกี่ยวกับลำโพง โฮมเธียเตอร์ หรือเครื่องเล่นต่างๆ มาคุยกันได้ที่เว็บบอร์ดตามลิ้งค์นี้เลย www.hometheaterthailand.com/webboard/