โฮมเธียเตอร์ มีข้อดีที่ลำโพงแต่ละแชนเนลแยกตำแหน่งอิสระจากกัน อันมีส่วนช่วยให้ “การแจกแจงทิศทางเสียง” ทำได้เด่นชัดกว่าซาวด์บาร์ ทว่าการจะได้มาซึ่งเสียงรอบทิศทางที่มีความแม่นยำ จำเป็นที่จะต้องปรับเซ็ตตั้งค่าลำโพงให้เสียงลงตัวเหมาะสมกับสภาพใช้งานจริงเสียก่อน ซึ่งทีมงานได้สรุปแนวทางมาให้ดำเนินการตามง่าย ๆ ดังนี้ครับ…
จากคลิปให้ความรู้เกี่ยวกับ จุดเด่น-จุดด้อย ของ Soundbar vs Home Thaeter ว่ามีความแตกต่างอย่างไร ? ท่านใดที่ได้รับชมไป คงทราบดีแล้วว่า “ข้อดี” ของลำโพงโฮมเธียเตอร์ที่เหนือกว่าซาวด์บาร์ คือ ลำโพงแต่ละแชนเนลแยกตำแหน่งชัดเจนเป็นอิสระนั้น จำเป็นต้องดำเนินการปรับเซ็ตเสียงให้ลงตัวเสียก่อนจึงจะดึงศักยภาพของชุดลำโพงรอบทิศทางออกมาได้อย่างโดดเด่นชัดเจน…
ขั้นตอนอาจดูซับซ้อนอยู่บ้างเมื่อเทียบกับซาวด์บาร์ (ที่ไม่สามารถปรับจูนในจุดนี้) แต่ก็ไม่ถึงกับยุ่งยากจนเกินไป ปัจจุบันชุดโฮมเธียเตอร์ยุคใหม่ที่จับคู่ใช้งานร่วมกับ AV Receiver รุ่นล่าสุด ส่วนใหญ่จะมีระบบ “Auto Calibation” เพื่อช่วยเหลือในจุดนี้ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว… แต่กรณีของ AVR รุ่นเล็ก อย่าง Denon AVR-X250BT ในชุด AV Compact Set 1 ยังจำเป็นต้องดำเนินการตั้งค่าลำโพงด้วยตนเอง
อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการเซ็ตอัพ ตั้งค่าลำโพง
- ตลับเมตร หรือ Digital Laser Distance Meter สำหรับใช้วัดระยะห่างของลำโพง
- Sound Level Meter ใช้วัดระดับเสียงของลำโพง ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ จะใช้ Smartphone ที่ติดตั้งแอพวัดระดับเสียงก็พอถูไถแทนได้ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าคุณภาพไมโครโฟนของ Smartphone แต่ละรุ่นนั้น ดี-แย่แตกต่างกัน อาจกระทบกับความเที่ยงตรง ใช้อ้างอิงคร่าว ๆ พอได้ แต่ต้องประเมินระดับเสียงด้วยหูอีกครั้ง
- การตรวจสอบผลลัพธ์ หากต้องการยืนยันความแม่นยำหลังการเซ็ตอัพ จำเป็นต้องอาศัย เพลง หรือแผ่น/คลิปทดสอบระบบเสียงรอบทิศทาง ที่มีคุณภาพเสียงดีในการอ้างอิง
ขั้นตอนเตรียมการ
“ตำแหน่งติดตั้งลำโพง” ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะส่งผลกับคุณภาพการถ่ายทอดเสียงรอบทิศทางที่ดี Dolby ผู้กำหนดมาตรฐานเสียงเซอร์ราวด์ที่เรารู้จักกันดีจึงได้กำหนดตำแหน่งติดตั้งลำโพง 5.1 ไว้เป็นไกด์ไลน์คร่าว ๆ ดังภาพ… หากสามารถดำเนินการตามได้ ก็มีโอกาสจะได้ผลลัพธ์เสียงรอบทิศทางที่ดีได้ง่ายขึ้นครับ
คำแนะนำเพิ่มเติม คือ ลำโพงหน้าซ้าย-ขวา (FL/FR) ควรติดตั้งให้ระดับความสูงของตัวขับเสียงแหลม (Tweeter) พอดีหรือใกล้เคียงกับระดับหูผู้ฟัง
ส่วนลำโพงเซ็นเตอร์ (C) ด้วยข้อจำกัดที่ต้องวางในตำแหน่งที่ไม่บดบังจอทีวี ความสูงจึงอาจสูงหรือต่ำกว่าลำโพงหน้าซ้าย-ขวาได้ ความแตกต่างของความสูง ไม่ควรห่างกันเกิน 2 ฟุต (60 ซม.) แต่หากระดับใกล้เคียงกันมากเท่าไหร่ยิ่งดี
ลำโพงเซอร์ราวด์ (SL/SR) อาจติดตั้งในระดับความสูงใกล้เคียงกับระดับหูผู้ฟังได้ หรือจะติดตั้งให้สูงกว่าระดับหูก็ดีเช่นกัน (แต่ห้ามต่ำกว่าระดับหูเป็นอันขาด !)
ลำโพงซับวูฟเฟอร์ (SW) หากวางที่มุมห้อง จะได้ปริมาณเบสมากที่สุด อย่างไรก็ดีการวางที่ตำแหน่งอื่น -อาจจะ- ส่งผลดีในเรื่องของความกลมกลืนต่อเนื่องของเสียง หรือเพื่อลดทอนปัญหาเสียงความถี่ต่ำที่เกิดจากห้อง (Room Modes) ดังนี้ถ้าหากไม่ลำบากจนเกินไปแนะนำให้ทดลองวางซับวูฟเฟอร์ในตำแหน่งต่าง ๆ กัน แล้วเปรียบเทียบผลลัพธ์ดูว่า จุดไหนที่ให้ความลงตัวด้านเสียงได้ดีกว่าเพราะแต่ละห้องอาจส่งผลไม่เหมือนกันครับ
อีกจุดหนึ่งที่ควรดำเนินการก่อนการวัดเสียงและตั้งค่าลำโพง สำหรับชุด AV Compact Set 1 (JBL Cinema 510) แนะนำให้ปรับ Subwoofer Volume ที่แผงควบคุมด้านหลังลำโพงซับวูฟเฟอร์ ไว้ที่ตำแหน่งราว ๆ 9 นาฬิกา เป็นค่าเริ่มต้นครับ (หากจำเป็น อาจปรับเปลี่ยนได้ในภายหลัง)
แนวทางการกำหนดตั้งค่าลำโพง ผ่าน Denon AVR-X250BT (AV Compact Set 1)
ขั้นตอนการตั้งค่าลำโพงรอบทิศทาง สำหรับชุด AV Compact Set 1 เริ่มโดย กดปุ่ม Setup ที่รีโมทของ Denon AVR-X250BT จะปรากฏ Setup Menu ขึ้นที่จอทีวี ดังภาพ
จากนั้นให้ไปที่หัวข้อ Speakers จะปรากฏหัวข้อย่อย
- Speaker Config.
- Distances
- Levels
- Crossovers
- Bass
ซึ่งลำดับขั้นตอนการกำหนดตั้งค่าลำโพง จะเป็นดังนี้
1. กำหนดลักษณะของลำโพง ที่หัวข้อ Speaker Config.
ลักษณะ (ขนาด) ของลำโพง เกี่ยวเนื่องไปถึงความสามารถในการตอบสนองย่านเสียงความถี่ต่ำ ตัวเลือก “Large” ที่หัวข้อ Speaker Config. คือ ลำโพงใหญ่ ที่ตอบสนองความถี่เสียงได้ “เต็มย่าน” (20Hz – 20kHz) ในขณะที่ “Small” คือลำโพงเล็ก มีความสามารถตอบสนองย่านเสียงความถี่ต่ำได้จำกัด !
การกำหนดตัวเลือก “Small” จึงเท่ากับเป็นการเปิดใช้ฟังก์ชั่น “Bass Management” เพื่อที่ AVR จะจัดการนำลำโพงซับวูฟเฟอร์เข้ามาเติมเต็มย่านเสียงความถี่ต่ำที่ลำโพงเล็กยังขาดอยู่นั่นเอง ทั้งนี้การตั้งค่าลำโพงเล็กที่สมบูรณ์จะต้องกำหนด Crossover หรือจุดตัดความถี่เสียงย่านต่ำให้สัมพันธ์กับศักยภาพการตอบสนองความถี่ที่แตกต่างกันของลำโพงแต่ละรุ่นด้วย (จะกล่าวถึงอีกครั้งในขั้นตอนที่ 4 การกำหนดจุดตัดความถี่เสียง Crossovers)
คำแนะนำตั้งค่าตัวเลือกใน Speaker Config. สำหรับลำโพงในชุด AV Compact Set 1 (JBL Cinema 510) ที่เป็นรูปแบบลำโพง Satellite ขนาดเล็ก ให้กำหนดเป็น “Small” ทุกแชนเนล
2. กำหนดระยะห่างของลำโพง ที่หัวข้อ Distances
สำหรับระบบเซอร์ราวด์รอบทิศทางนั้น หากเสียงจากลำโพงแต่ละแชนเนลเดินทางมาถึงหูผู้ฟังในช่วงเวลาที่ไม่สัมพันธ์กัน ย่อมจะส่งผลลดทอนความแม่นยำในการโยนเสียงระหว่างแชนเนลให้ผิดเพี้ยนไปได้ เหตุนี้การกำหนดหน่วงเวลา (Delay Time) ชดเชยตามระยะห่างของตำแหน่งตั้งวางลำโพงในห้อง จึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้เสียงของลำโพงทุกแชนเนลมาถึงหูของผู้ฟังในช่วงเวลาที่เหมาะสม และสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอย่างลงตัว
ขั้นตอนดำเนินการตั้งค่า Distances ก็ไม่ยากครับ เพียงแค่ใช้ตลับเมตร (หรือ Digital Laser Distance Meter) วัดระยะลำโพงถึงจุดนั่งฟังว่าห่างเท่าไหร่ (ควรดึงสายวัดให้ขนานไปกับพื้น ไม่เชิดขึ้นหรือกดลง)
จากนั้นให้ใส่ค่าตัวเลขชดเชย Distances ของลำโพงแต่ละแชนเนลให้ตรงกับความเป็นจริง
ข้อสังเกต : ตามอุดมคติ ตำแหน่งนั่งฟังควรอยู่ “กึ่งกลาง” ระหว่างลำโพงข้างซ้ายและขวา แต่หากติดข้อจำกัด (เช่น ติดตู้ เสาบัง ฯลฯ) จำเป็นต้องวางลำโพงข้างใดข้างหนึ่งในระยะที่ไม่บาลานซ์กึ่งกลางพอดีก็สามารถทำได้ ด้วยการกำหนดชดเชย Distances ที่ AVR ให้เหมาะสม แต่ความแตกต่างก็ไม่ควรห่างกันมากจนเกินไป เพราะหูเราจะรับรู้ถึงความแปลกแยกที่เกิดจากความแตกต่างของระยะห่างลำโพงได้
3. ชดเชยระดับเสียงของลำโพง ที่หัวข้อ Levels
หากเสียงของลำโพงแชนแนลใดแชนเนลหนึ่งดังกว่าปกติ จะส่งผลให้น้ำหนักเสียงเทไปยังตำแหน่งลำโพงแชนเนลนั้นมากเกินไป การถ่ายทอดบรรยากาศเสียงก็จะสูญเสียบาลานซ์ไป และเกิดปัญหาที่เรียกว่า “เวทีเสียงเอียง” ดังนี้จึงควรชดเชยระดับเสียงของลำโพงทุกแชนเนลให้เท่าเทียมกัน
และในส่วนของลำโพงซับวูฟเฟอร์ หากกำหนดระดับเสียงดังเกินไป จะสร้างปัญหาเบสบวม เสียงความถี่ต่ำที่อื้ออึงจะบดบังรายละเอียดเสียงย่านอื่น ฟังแล้วคลุมเครือ ขาดความสดใส แต่ถ้าเสียงจากซับวูฟเฟอร์ออกมาน้อยเกินไป ก็จะขาดน้ำหนัก เสียงแห้งบาง ในจุดนี้อาจต้องอาศัยวัดระดับเสียงด้วยเครื่องมือร่วมกับการประเมินด้วยหู
วิธีการวัดระดับเสียงทำได้โดยให้ถือ หรือยึด Sound Level Meter กับขาตั้ง ในลักษณะที่ไมโครโฟนชี้ขึ้นด้านบน ซึ่งเป็นลักษณะที่เอื้อให้ไมโครโฟนสามารถรับเสียงจากลำโพงโฮมเธียเตอร์ที่อยู่โดยรอบจุดนั่งฟังได้ดีใกล้เคียงกัน จากนั้นปรับ Weighting ไปที่ตำแหน่ง C และ Response ไปที่ Slow
จุดที่ควรระวังในระหว่างขั้นตอนวัดระดับเสียงลำโพง คือ ตัวผู้ถือต้องไม่บังทิศทางเสียงของลำโพงและไมโครโฟน และภายในห้องควรต้องเงียบสงัดปราศจากเสียงรบกวนอื่น
ต่อมา ที่ AVR-X250BT เลือกเมนู Speakers –> Levels –> Test Tone Start จะมีเสียงเทสโทนดังออกมาจากลำโพงหน้าซ้าย (หากเสียงเทสโทนเริ่มแรกเบาไป สามารถปรับ Master Volume ของ AVR ให้เสียงเทสโทนดังขึ้นได้)
ทำการวัดระดับเสียงของลำโพงหน้าซ้าย (Front L) โดยดูตัวเลขที่ Sound Level Meter ว่าวัดได้ที่เท่าไหร่ สมมติว่า 75 dB จำไว้
จากนั้นเลื่อน cursor ไปที่ตำแหน่ง Center เสียงเทสโทนจะดังออกมาจากลำโพงเซ็นเตอร์ ดูตัวเลขระดับเสียงที่ Sound Level Meter วัดได้ ว่าอยู่ที่เท่าไหร่ หากมากหรือน้อยกว่า 75 dB ให้ปรับลดหรือปรับเพิ่มเพื่อชดเชยเสียงของลำโพงเซ็นเตอร์ จนได้ระดับเสียงที่ 75 dB เท่ากัน
ทำต่อเนื่องแบบเดียวกันกับลำโพงหน้าขวา (Front R) ลำโพงหลังขวา (Surround R) ลำโพงหลังซ้าย (Surround L) และลำโพงซับวูฟเฟอร์ (Subwoofer) จนทุกแชนเนลมีระดับเสียงที่บาลานซ์เท่าเทียมกัน
ข้อสังเกต : แม้จะใช้ลำโพงรุ่นเดียวกัน สเปคเหมือนกัน แต่ปัจจัยอย่าง ระยะตั้งวางใกล้-ไกล ไปจนถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบลำโพงที่แตกต่างกัน จะส่งผลให้ระดับเสียงของลำโพง ดังหรือค่อย แตกต่างกันได้ ลำโพงที่ตั้งอยู่ใกล้ผ้าม่าน หรือโซฟาที่ซับเสียงมาก หรือมีสิ่งกีดขวาง เสียงอาจจะเบากว่าลำโพงที่ตั้งอยู่ใกล้วัตถุที่สะท้อนเสียงมาก อย่าง ผนังปูน หรือโต๊ะ-ตู้ไม้เนื้อแข็ง เป็นต้น เหล่านี้เป็นหนึ่งเหตุผลง่าย ๆ ที่อธิบายว่า ทำไมลำโพงชุดเดียวกันแต่ใช้งานคนละที่ เสียงที่ได้ถึงแตกต่างกัน… การชดเชยบาลานซ์เสียงของลำโพงก็เป็นอีกหนึ่งขั้นตอนเบื้องต้น ที่จะช่วยลดทอนความแตกต่างทางเสียงนี้ จนได้ผลลัพธ์ที่ดีใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น
4. กำหนดจุดตัดความถี่เสียงของลำโพง ที่หัวข้อ Crossovers
ลำโพง Satellite จาก JBL Cinema 510 ในชุด AV Compact Set 1 นั้นมีขนาดเล็ก ความสามารถในการตอบสนองเสียงความถี่ต่ำจะลงได้ถึงราว ๆ 150Hz บวกลบ เคสนี้จึงต้องตั้งค่า Crossovers ที่ 150Hz เพื่อเป็นตัวกำหนดให้ AVR จัดการนำลำโพง Subwoofer เข้ามารับภาระย่านเสียงต่ำต่อจากลำโพง Satellite ตั้งแต่ย่านความถี่ 150Hz ลงไปนั่นเอง
แต่ในบางสถานการณ์ การกำหนดจุดตัดความถี่สำหรับลำโพงชุดนี้ให้สูงขึ้นที่ 200Hz อาจให้ผลลัพธ์ความต่อเนื่องของย่านเสียงจากลำโพง Satellite และ Subwoofer ที่ลงตัวดีกว่าได้ แนะนำให้ทดลองดูว่าในสภาพการใช้งานจริง ตัวเลือก Crossover ค่าไหน ที่ให้ผลลัพธ์ลงตัวดีกว่ากันครับ
ประเมินเสียง และ ปรับจูน
หลังจากดำเนินการจนครบทั้ง 4 ขั้นตอนแล้ว น่าจะได้ความลงตัวดีในระดับหนึ่ง ต่อไปก็เป็น การฟังเพื่อประเมินเสียงหลังการเซ็ตอัพ ซึ่งสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน แนะนำให้ลองกับเพลงหลากหลายแนว ไปจนถึงภาพยนตร์ โดยหากหาแผ่นอ้างอิงที่บันทึกเสียงดี ๆ ได้ จะช่วยให้การประเมินผลลัพธ์มีความแม่นยำกว่า
กรณีที่ฟังเสียงแล้วยังรู้สึกว่าขาดตกในจุดใด อาจลองขยับตำแหน่งลำโพง เปลี่ยนแปลงแก้ไขตัวเลือกชดเชยค่าเสียงที่ AVR อย่าง Levels ไปจนถึง Crossovers (150Hz หรือ 200Hz สำหรับชุดลำโพง JBL Cinema 510) ดูได้
และอาจทดลองสลับปรับ Phase – Normal (0°) / Reverse (180°) ที่ด้านหลังของลำโพงซับวูฟเฟอร์ เพื่อหาจุดที่ให้ความต่อเนื่องของย่านรอยต่อเสียงระหว่างลำโพง Satellite และ Subwoofer ที่ให้ความกลมกลืนลงตัวเป็นที่สุด ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยทักษะในการฟังหาความแตกต่างสักหน่อย แต่ก็เป็นอีกจุดที่ควรลองเช่นเดียวกัน…
ขั้นตอนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ถือเป็น “แนวทางเบื้องต้น” ในการปรับเซ็ตตั้งค่าลำโพงรอบทิศทางสำหรับระบบโฮมเธียเตอร์ ซึ่งไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่ละท่านอาจทดลองปรับเปลี่ยนปรับจูนแก้ไขเพื่อให้ได้เสียงที่ลงตัวเหมาะสมกับตนเองและสภาพแวดล้อมในห้องดูได้ เพราะสุดท้ายผลลัพธ์ก็ขึ้นกับความพึงพอใจของเราเองครับ
วิดีโอความรู้อื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบเสียง Soundbar และ Home Theater