21 Aug 2017
Article

ทำความรู้จัก Cinema LED Screen เทคโนโลยีจอภาพที่จะเข้ามาแทนที่โปรเจ็คเตอร์ในโรงภาพยนตร์


  • lcdtvthailand

เทคโนโลยีจอภาพที่จะเข้ามาแทนที่โปรเจ็คเตอร์ในโรงภาพยนตร์

แม้จะเป็นข่าวแบบเงียบๆ ในเมืองไทย แต่ข่าวนี้สำหรับวงการโรงภาพยนตร์ดูจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะเป็นการเปิดตัว “โรงภาพยนตร์แห่งแรกของโลก ที่ไม่ใช้โปรเจ็คเตอร์” ครับ!

โรงภาพยนตร์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่ Lotte Cinema World Tower ประเทศเกาหลีนี่เอง ซึ่งจอภาพที่จะถูกนำมาใช้งานทดแทนโปรเจ็คเตอร์ เป็นเทคโนโลยีที่เรียกว่า Cinema LED Screen โดยมีเบื้องหลังจากความทะเยอทะยานของ Samsung ที่จะบุกเข้าสู่ธุรกิจโรงภาพยนตร์… วันนี้เราจะมาทำความรู้จักเทคโนโลยีใหม่นี้กันครับ

• Cinema LED Screen คืออะไร? แตกต่างจาก LED (LCD) TV ที่ใช้งานตามบ้านหรือไม่?

ชื่ออาจจะมีคำว่า LED เหมือนกัน แต่เทคนิคในการกำเนิดภาพแตกต่างกันพอสมควร โดย “LED TV” ที่หลายท่านคุ้นเคย เพราะมีใช้งานในบ้านอย่างแพร่หลาย แท้จริงแล้วย่อมาจาก LCD (Liquid Crystal Display) with “LED Backlight” TV หลอด LED ในที่นี้ จึงถูกซ่อนอยู่ด้านหลัง (หรือบริเวณขอบ) เพื่อให้ความสว่างแก่ LCD Panel เท่านั้น ปัจจุบัน LED TV ได้รับการผลิตให้มีขนาดจอภาพใหญ่สุดราว 120+ นิ้ว ซึ่งไม่ใหญ่พอสำหรับใช้งานในโรงภาพยนตร์

ภาพประกอบโครงสร้างเปรียบเทียบ LED TV และ LCD TV ซึ่งโดยพื้นฐาน LED TV คือ LCD Panel ที่ใช้หลอด LED (Light-emitting Diode) เป็นแหล่งกำเนิดแสงส่องด้านหลัง (Backlight) ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดมาจาก LCD TV ในอดีต ที่ใช้ CCFL (Cold Cathode Fluorescent Lamp) เป็นแหล่งกำเนิดแสง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการพัฒนาดังกล่าว นอกจากทำให้ทีวีมีโครงสร้างที่บางลง ควบคุมแสงส่องด้านหลังได้ดีขึ้นแล้ว ยังประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย

“Cinema LED Screen” ชื่อเหมือนจะคล้าย… แต่แท้จริงแล้วแตกต่างจาก LED TV โดยสิ้นเชิง !!

ถึงแม้จะมีการนำหลอด LED มาใช้งานเหมือนกัน ทว่าโครงสร้างของ Cinema LED Screen จะเป็นรูปแบบที่เรียกว่า “Direct-view LED Panel” กล่าวคือ หลอด LED ขนาดเล็กจำนวนมากถูกติดตั้งเพื่อทำหน้าที่กำเนิดแสงสี และถูกนำมาจัดเรียงประกอบรวมกันเพื่อแสดงเป็นภาพใหญ่ หากเพ่งมองจอภาพลักษณะนี้ใกล้ๆ จะเห็นหลอด LED ขนาดเล็กจำนวนมากจัดวางเรียงรายต่อเนื่องไปทั้งผืน

ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดโครงสร้างการทำงานของ Cinema LED Screen ที่ใช้งานในโรงภาพยนตร์ Lotte Cinema World Tower แต่หลักการพื้นฐานนั้นเหมือนกับ Direct-view LED Screen ที่ถูกนำมาใช้งานเชิงธุรกิจมาสักระยะหนึ่งแล้ว (โดยใช้งานเป็นป้ายโฆษณา, Video Wall ขนาดใหญ่ ฯลฯ) 

ในภาพประกอบ 2 รูปด้านบน เป็นการอ้างอิงโครงสร้าง Direct-view LED Screen ของทาง NEC ที่นำมาใช้งานเชิงธุรกิจ โดย 1 พิกเซล จะประกอบไปด้วยหลอด LED 3 สี (RGB) แต่ละหลอดทำงานอิสระเพื่อผสมสร้างแสงสีหลากหลายเฉด เมื่อรวมแต่ละพิกเซลขึ้นเป็นพาเนลขนาดใหญ่ ก็จะแสดงเป็นภาพให้เราได้รับชม

ในอดีต ด้วยขนาดของหลอด LED ที่ค่อนข้างใหญ่ ส่งผลให้ขนาด “Pixel Pitch” ของ Direct-view LED Panel ใหญ่ตามไปด้วย เหตุนี้จึงจำเป็นต้องทิ้งระยะรับชมห่างจากจอภาพลักษณะนี้พอสมควร อย่างไรก็ดีเมื่อมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันหลอด LED ที่ใช้กับ Cinema LED Screen มีขนาดเล็กลง สามารถรับชมในระยะใกล้ได้แล้ว ความละเอียดภาพก็สูงขึ้นด้วย

แม้จะยังไม่มีสเป็กอ้างอิงชัดเจน แต่ก็มีรูปพอจะอ้างอิงลักษณะของ Cinema LED Screen ที่ใช้ในโรงภาพยนตร์ Lotte Cinema World Tower ได้ โดยเป็นแบบ “โมดูลไร้ขอบ” สามารถต่อพาเนลโมดูลเหล่านี้เข้าด้วยกันแบบ “ไร้รอยต่อ” เพื่อประกอบขึ้นเป็นจอภาพขนาดใหญ่ สามารถกำหนดไดเมนชั่นและอัตราส่วนได้ตามจำนวนโมดูล จะเอาขนาดจอเล็ก-ใหญ่ ยาว-สั้น เพียงใดก็ได้ตามต้องการ

สำหรับรายละเอียดเบื้องต้นของ Cinema LED Screen ที่ใช้ในโรงภาพยนตร์ Lotte Cinema World Tower ถูกประกอบขึ้นให้มีขนาดที่ใหญ่โตเพื่อรองรับทุกมุมมองที่นั่งรับชมในโรงภาพยนตร์ หากอ้างอิงความยาวจะมากถึง 10.3 ม. และถ้ากะระยะเส้นทแยงมุมคร่าวๆ (วัดขนาดแบบจอภาพทั่วไป) จะเทียบเคียงประมาณ 460 นิ้ว เลยทีเดียว !! ความละเอียดภาพ 4K (4096 x 2160) พร้อมระดับความสว่าง หรือ Peak Brightness สูงสุดถึง 146 fL (ราว 500 nits) ซึ่งสูงกว่าความสามารถของโปรเจ็คเตอร์ในโรงภาพยนตร์ทั่วไปราว 10 เท่า !! ความสามารถในจุดนี้หากจะนำไปแสดงผล HDR ก็ย่อมทำได้

ในส่วนของการถ่ายทอด Dynamic Range ด้วยการควบคุมแสงลอดเพื่อถ่ายทอดระดับสีดำจากการดิมหลอด Direct-view LED ในแต่ละพิกเซลให้มืดสนิทได้โดยอิสระ ระดับ Black Level ที่ได้จึงสมบูรณ์แบบกว่าโปรเจ็คเตอร์ ซึ่งศักยภาพที่กล่าวมานี้ ยังได้รับการยืนยันด้วยการรับรองมาตรฐาน (Full compliance) จาก Digital Cinema Initiatives (DCI) เป็นที่เรียบร้อย

• Cinema LED Screen จะแทนที่โปรเจ็คเตอร์ในโรงภาพยนตร์ได้จริงหรือ?

“โปรเจ็คเตอร์” ครองตำแหน่งเครื่องฉายภาพในโรงภาพยนตร์อย่างยาวนานร่วมทศวรรษ ที่ผ่านมาสามารถตอบสนองการใช้งานได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่พื้นที่ภาพฉายบนผืนผ้าใบขนาดใหญ่นับร้อยนิ้ว ครอบคลุมมุมมองรับชมตรงตามความต้องการพื้นที่ใช้สอยภายในโรงภาพยนตร์ ที่มีความโอ่โถงกว้างขวาง จุผู้ชมครั้งละจำนวนมากๆ ได้ 

ทว่าที่ผ่านมา โปรเจ็คเตอร์ดูจะมีข้อจำกัดไม่น้อย จุดที่พัฒนาต่อไปได้ยาก คือ เรื่องของ Dynamic Range หรือความเปรียบต่างของแสง โดยเฉพาะการถ่ายทอดระดับความสว่าง หรือ “Peak Brightness” ซึ่งยังทำได้ค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับความสามารถของจอภาพแบบ Direct-view Display (ทีวี) อันที่จริงหากทำการเพิ่มความสว่างของโปรเจ็คเตอร์ให้สูงขึ้นก็ทำได้ ทั้งการปรับเปลี่ยนไปใช้แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ หรือเพิ่มจำนวนใช้งานแบบ Dual Projection System (ใช้โปรเจ็คเตอร์ 2 เครื่อง ฉายภาพซ้อนกัน) แต่โอกาสที่จะเกิดแสงลอดรบกวนการถ่ายทอดระดับสีดำก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

นอกจากนี้ค่าดูแลรักษาจิปาถะตลอดช่วงการใช้งานของโปรเจ็คเตอร์ก็นับว่าสูง เนื่องจากต้องทำการเปลี่ยนหลอดเมื่อครบกำหนดเวลา โดยทั่วไปอยู่ที่หลักพันชั่วโมง อีกทั้งขนาดที่ดูใหญ่โตเทอะทะ และน้ำหนักที่มากก็เป็นอุปสรรคหนึ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน

เพิ่มเติม – ล่าสุด Sony ได้ประกาศเปิดตัว SRX-R800 Series โปรเจ็คเตอร์สำหรับโรงภาพยนตร์ความละเอียด 4K ที่ใช้แหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์ รองรับการแสดงผล HDR ด้วยระดับความสว่างสูงถึง 7,500 – 15,000 lumens (หากติดตั้งใช้งานแบบ Dual Projection ความสว่างจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า เป็น 15,000 – 30,000 lumens โดยเป็นสเป็กตัวเลขการวัดแสงตรงๆ จากหน้าเลนส์ ไม่ได้วัดแสงสะท้อนจากสกรีนตามการใช้งานจริง) พร้อมอายุการใช้งานแหล่งกำเนิดแสงยาวนานสูงสุดถึง 35,000 ชม. ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวเป็นการอัพเกรดความสามารถของโปรเจ็คเตอร์ให้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ… (อ่านรายละเอียดข่าวนี้ได้ >>ที่นี่<<)


ส่วนข้อดีของ Cinema LED Screen นั้น ดังที่เรียนไปก่อนหน้านี้เรื่องของศักยภาพด้านการถ่ายทอดไดนามิกเรนจ์ โดยให้ระดับความสว่างสูงในขณะที่คุมระดับแสงลอดได้เบ็ดเสร็จ (การควบคุมแสงลอดทำได้ดีกว่าโปรเจ็คเตอร์) พาเนลที่กำเนิดแสงจากหลอด LED โดยตรงยังประหยัดพลังงาน ความร้อนเมื่อรันระบบไม่สูงนักจึงไม่ต้องการระบบระบายความร้อนพิเศษ อายุการใช้งานของหลอด LED ยาวนาน กรณีที่เกิดปัญหาหรือได้รับความเสียหายยังสามารถถอดเปลี่ยนเฉพาะโมดูลนั้นๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องยกเครื่องเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด จึงเอื้อต่อการดูแลรักษาในระยะยาว

ผลพลอยได้ของจอภาพรูปแบบ Direct-view LED Screen ที่ให้ระดับความสว่างสูง ยังเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทำการตกแต่งสภาพแวดล้อมภายในโรงภาพยนตร์ได้ยืดหยุ่นหลากหลายมากยิ่งขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้สีมืดทึมเพื่อป้องกันแสงสะท้อนรบกวนภายในโรงฯ และไม่ต้องกังวลว่าแสงไฟตกแต่งและให้ความสว่างภายในโรงฯ จะรบกวนภาพบนจอเหมือนกับที่ต้องซีเรียสมากกับโปรเจ็คเตอร์ 

ที่สำคัญ คือ รองรับการใช้งานหลากหลาย ผมเห็นคลิปงานเปิดตัว Cinema LED Screen นี้แล้ว มีช่วงทดสอบภาพการเล่นเกมบนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ยักษ์นี้ด้วย รายละเอียดที่ได้ดูจะแจ้งชัดเจน การตอบสนองฉับไว ได้อรรถรสเต็มตาอลังการดีมาก

แต่ข้อดีจาก Cinema LED Screen ที่ว่ามานี้ จะชนะใจผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์จนยอมปรับเปลี่ยนมาใช้หรือไม่ ก็อยู่ที่ความสามารถ (และกำลังภายใน) ของ Samsung ซึ่งต้องติดตามกันต่อไปว่าใช้ระยะเวลานานเพียงใด และสุดท้ายจะประสบความสำเร็จหรือเปล่า…

• เปลี่ยนจอใหม่เขาว่ายอดเยี่ยม แล้ว “ระบบเสียง” จะเยี่ยมยอดด้วยหรือเปล่า?

ดังที่เกริ่นไปข้างต้นว่า Cinema LED Screen คือ เครื่องมือสำคัญที่ Samsung ใช้ในการบุกตลาดโรงภาพยนตร์ ด้วยพื้นฐานนวัตกรรมจอภาพอันโดดเด่น ตอบโจทย์เทรนด์การรับชมภาพยนตร์ในอนาคตอย่าง HDR ได้น่าสนใจ การจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ความสามารถของ Samsung ว่าจะ “เปลี่ยนความคิด” ผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ได้หรือไม่

อย่างไรก็ดีการจะก้าวเข้าสู่สมรภูมิโรงภาพยนตร์นี้ จะเอาดีเรื่องภาพอย่างเดียวคงมิได้ “เสียง” ก็นับว่าสำคัญมากเช่นเดียวกัน แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะ Samsung มีไพ่ตายด้านจัดการระบบเสียงในโรงภาพยนตร์อยู่ในมือแล้ว!
ขอย้อนทวนความจำกันอีกทีว่า Samsung ได้เข้าซื้อกิจการของ “Harman International Industries, Incorporated” โดยดีลนี้เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2017 จากจุดนี้คงจะเดากันได้ว่า “ใคร” จะมาช่วย Samsung ในเรื่องของระบบเสียงในโรงภาพยนตร์

ว่าแล้วมาไล่ดูกันหน่อยว่า ปัจจุบันเครือ Harman เป็นเจ้าของแบรนด์อะไรบ้าง..

  • AKG Acoustics – microphone/headphones
  • AMX – video switching and control devices
  • Arcam – High-end home audio – amplifiers and audio components (เพิ่มเติม สำหรับเครื่องเสียงแบรนด์ดังจากอังกฤษนี้ เพิ่งถูก Harman ซื้อไป หลังจากที่ Samsung ปิดดีลซื้อ Harman ไปไม่นาน)
  • Bang & Olufsen Automotive
  • Becker – car infotainment
  • BSS Audio – signal processing
  • Crown International – pro amplifiers
  • dbx Professional Products – signal processors
  • DigiTech – guitar products
  • HardWire – guitar pedals
  • HiQnet – audio digital network, based on Ethernet
  • harman/kardon – home/car audio
  • Infinity – home/car speakers
  • JBL – home/car speakers & amplifiers, professional speakers
  • Lexicon – digital processing
  • Mark Levinson Audio Systems – home/car audio
  • Martin Professional – stage and architectural lighting and effects fixtures
  • Revel – home/car speakers
  • Selenium – home, car and professional speakers, amplifiers, sound tables/mixers
  • S1nn GmbH & Co. – car audio
  • Soundcraft – mixing consoles
  • Studer – mixing consoles

จากรายชื่อข้างต้น จึงไม่แปลกที่หวยจะมาลง JBL (ลำโพง), Crown (ภาคขยาย) และ Lexicon (ชุดควบคุมถอดรหัสเสียงรอบทิศทาง) ซึ่งทั้ง 3 แบรนด์นี้ ชื่อเสียงคงไม่เป็นที่กังขาใดๆ กับศักยภาพที่จะมารับหน้าที่เป็นผู้ช่วยให้ Samsung ได้เข้าชิงชัยในตลาดโรงภาพยนตร์ต่อไปอย่างมั่นคง

รายละเอียดระบบเสียงภายในโรงภาพยนตร์แห่งแรกของโลกที่ใช้งาน Cinema LED Screen ทดแทนโปรเจ็คเตอร์ ยังไม่มีความชัดเจน แต่ภาพเจ้าหน้าที่จาก Harman และ JBL ที่กำลังทำการตรวจสอบคุณภาพเสียง น่าจะใช้ยืนยัน “คุณภาพเสียง” ได้ระดับหนึ่ง

แต่ทั้งนี้คงต้องให้ผู้บริโภคตัดสินเองแล้วล่ะครับว่า ประสบการณ์ที่จะได้รับจากเทคโนโลยีจอภาพแบบใหม่ (ที่ไม่ใช้โปรเจ็คเตอร์) พร้อมกับระบบเสียงตามแบบฉบับ Samsung + Harman แท้จริงแล้ว “ดี” เพียงใด… ปูเสื่อติดตามกันยาวๆ ได้เลย งานนี้สนุกแน่

by ชานม !
2017-08

References

  • news.samsung.com
  • necdisplay.com
  • sony.co.uk