03 Feb 2018
Article

กว่าจะมาเป็น LED TV !!? พาทัวร์ขั้นตอนการผลิตทีวีในโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในไทยและอาเซียน


  • tormoo

น้อยคนนักที่ทราบว่า ประเทศไทยเราก็มีโรงงานผลิต LCD/LED Panel แถมยังมีขนาดและกำลังการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนเสียด้วย ปัจจุบันมีทีวีหลากหลายยี่ห้อจากโรงงานแห่งนี้วางจำหน่ายอยู่ทั่วไปทั้งในห้างดัง ไปจนถึงกระจายออกสู่ตลาดต่างประเทศเป็นจำนวนมาก


Facebook : PrismaThai

Line ID : @prismathai

หลายท่านคงเคยได้ยินชือแบรนด์ทีวีน้องใหม่อย่าง “Prisma” กันมาบ้างแล้ว ซึ่งถือเป็นเจ้าของโรงงานแห่งนี้นี่เอง

โรงงาน Cybo ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ถือเป็นโรงงานผลิต LCD/LED Panel ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันนอกจากป้อนพาเนลเพื่อนำไปผลิตทีวีแบรนด์ Prisma เองแล้ว ยังรับผลิตให้กับแบรนด์อื่นๆ ด้วย มีคู่ค้ากระจายอยู่ทั่วโลก

ที่นี่ทีมงานได้รับเกียรติจาก คุณวิชิต ทวีอภิรดีวิทยา Manufacturing Director of Cybo ให้ข้อมูลพร้อมทั้งพาชมกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนในโรงงาน
เพื่อให้เห็นภาพ มาดูส่วนประกอบของ LCD/LED TV กันก่อน หลักๆ จะประกอบไปด้วย Panel หรือจอภาพ, Backlight Unit หรือชุดไฟส่องด้านหลัง ซึ่งโรงงาน Cybo จะรับผิดชอบผลิตในส่วนของการผลิตจอภาพ (ในกรอบสีแดง) ส่วนโรงงานอีกแห่งในเครือฯ ที่ชื่อว่า Treeview (จะกล่าวถึงต่อไป) รับผิดชอบต่อในส่วนของการประกอบ Backlight Unit, แผงวงจร และส่วนประกอบภายนอกที่เหลือ จนสำเร็จออกมาเป็นทีวีที่เราใช้งานรับชมกัน
บอร์ดแสดงภาพรวมกระบวนการผลิตภายในโรงงาน Cybo แห่งนี้ มี 3 ขั้นตอนใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ
  1. Polarizer Affixing Process หรือกระบวนการติดฟิล์ม Polarizer เข้ากับ Open Cell
  2. Shunt Cutting Process หรือกระบวนการตัดและลบขอบ
  3. SOF & PWB Bonding Process หรือกระบวนการติด TAB IC

เดี๋ยวผมจะทยอยอธิบายกระบวนการแต่ละขั้นตอนพร้อมรูปประกอบจริงต่อไปครับ

วัตถุดิบต้นน้ำของโรงงาน Cybo ก็คืออุปกรณ์สำคัญชิ้นนี้ เรียกว่า “Open Cell” หรือก็คือ แผ่นจอที่ที่มีลักษณะคล้ายกระจก ประกอบไปด้วยชั้นของ TFT LCD (Thin-Film-Transister Liquid-Crystal Display) และ Color Filters จะสังเกตเห็นว่ายังมีลักษณะ “กึ่งโปร่งใส” ต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนในโรงงานแห่งนี้ก่อนจะกลายเป็นหน้าจอทีวีที่เราคุ้นเคยกัน โดย Open Cell นี้ จะถูกตัดอิงตามขนาดจอทีวีที่จะผลิตมาจากต่างประเทศเลย

ก่อนที่จะเข้าไปชมสายการผลิตจริงด้านใน ทางโรงงานต้องพิถีพิถันเรื่องของความสะอาดมากเป็นพิเศษ ทีมงานจึงต้องสวมใส่ชุดและหมวกคลุมศีรษะที่เตรียมให้ พร้อมสวมถุงคลุมเท้าดังรูป ก่อนจะผ่านเข้าห้อง Clean Room กำจัดฝุ่นที่ติดตามตัว

เมื่อเข้ามาแล้วก็จะพบกับเครื่องจักรวางเรียงรายเป็นสายยาว โดย Cybo เน้นสายการผลิตด้วยเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ จึงมีพนักงาน (เสื้อขาว) ประจำบางจุด กะนึงรวมแล้วเพียง 5 คนเท่านั้น (อาจมีวิศวะกรอีก 1 – 2 คนในบางช่วง) 

กระบวนการแรก คือ การป้อน Open Cell เข้าไปยังเครื่องจักรเพื่อติดฟิล์ม Polarizer (Polarizer Affixing Process) โดยขั้นแรกจะต้องผ่านสถานีล้างทำความสะอาดสิ่งสกปรกและสิ่งแปลกปลอมที่อาจติดมากับ Open Cell ออกก่อน ซึ่งน้ำที่ใช้ล้าง ผ่านกระบวนการ Reverse Osmosis จึงมีความบริสุทธิ์สูง และยังคุมค่า pH อยู่ที่ประมาณ 5 พร้อมทั้งใช้ไฟฟ้าสถิตย์ในการดึงฝุ่นออก ก่อนใช้ผ้าชนิดพิเศษเช็ดทำความสะอาดในขั้นสุดท้ายจึงส่งต่อไปยังเครื่องติดฟิล์ม

เมื่อติดฟิล์ม Polarizer เสร็จเรียบร้อยจะผ่านพนักงานเพื่อตรวจเช็คคุณภาพในขั้นแรก เพื่อดูว่าชั้นฟิล์มติดดีหรือไม่ มีตำหนิหรือจุดผิดพลาดตรงไหนไหม จากตรงนี้จะเห็นว่าพาเนลมีลักษณะทึบ ไม่โปร่งใสจนมองลอดได้เหมือน Open Cell ตอนแรก ทั้งนี้ Polarizer film จะทำหน้าที่ควบคุมมุมกระจายแสง ตัดแสงสะท้อน เพิ่มระดับคอนทราสต์ และช่วยป้องกันรอยนิ้วมือและการขีดข่วน ลักษณะของ Open Cell ตอนนี้จะดูเหมือนกับหน้าจอทีวีที่เราคุ้นเคยกันดีนั่นเอง

ถัดมาเป็นกระบวนการตัดและลบขอบจอ (Shunt Cutting Process) ที่อาจยังมีความคม หรือขอบไม่เรียบ ไม่ได้แนว โดยขั้นแรกจะผ่านส่วนทำความสะอาดอีกครั้ง แล้วเข้าเครื่องเจียรซึ่งจะมีน้ำหล่อตลอดเวลาเพื่อลดความร้อนและควบคุมเรื่องของเศษฝุ่น

ขั้นตอนต่อไป คือ การเชื่อมทางเดินสัญญาณเข้าไปยังพาเนล (SOF & PWB Bonding Process) ซึ่งต้องอาศัยการเชื่อมลายวงจรที่มีลักษณะเป็นแผ่นบางๆ เหมือนฟิล์ม เรียกว่า TAB IC โดยจะมากับม้วนฟิล์ม (เมื่ออยู่ภายในเครื่องจักร มองเผินๆ นึกว่าเครื่องฉายภาพยนตร์) การติด TAB IC เข้ากับพาเนลจะอาศัยกาวชนิดพิเศษ ไม่ได้ใช้ตะกั่ว จึงไม่เกิดมลพิษแก่สิ่งแวดล้อม 

เมื่อเชื่อม TAB IC เสร็จ ก็จะออกมาดังภาพ
เพียงเท่านี้ก็ได้ LCD/LED Panel เมื่อพนักงานทำการตรวจสอบครั้งสุดท้าย ก็บรรจุหีบห่อเพื่อส่งไปยังโรงงานประกอบเป็นทีวีต่อไป 

นอกจากผลิตใหม่แล้ว ทาง Cybo ยังมีแผนกซ่อมอยู่ด้วย ทีวีที่ผลิตจากโรงงาน Cybo (ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย) จึงมีข้อได้เปรียบกรณีที่ต้องส่งพาเนลกลับมาซ่อมแซม สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำ… มาดูตัวอย่างกันว่า สามารถซ่อมอาการเสียที่เกิดกับพาเนลแบบใดได้บ้างครับ

พี่วิชิตเล่าว่า อาการเสียที่เกิดกับพาเนลส่วนใหญ่ หากเป็นยี่ห้ออื่นลูกค้ามักได้คำแนะนำว่าซ่อมไม่ได้ หรือซ่อมไม่คุ้ม เพราะยี่ห้อเหล่านั้นไม่มีโรงงานในประเทศ จึงต้องเสียค่าขนส่งแพง แต่ถ้าเป็น Prisma (หรือยี่ห้ออื่นที่โรงงาน Cybo ผลิตให้) หลายๆ อาการสามารถส่งกลับมาซ่อมได้ง่ายๆ ค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าต้องรับภาระ (กรณีหมดประกันแล้ว) ต่ำจนน่าตกใจ

อาการเสียที่มักพบบ่อยๆ อาทิ ผิวหน้าจอย่น ไม่ก็แตกลายงา นั่นเป็นเพราะฟิล์ม Polarizer เสื่อมสภาพ ที่โรงงานฯ สามารถซ่อมแซมได้ครับ โดยผ่านเครื่องลอกชั้นฟิล์มก่อน แล้วจึงใช้เครื่องติดชิ้นใหม่เข้าไป เพียงเท่านี้หน้าจอก็สวยปิ๊งเหมือนใหม่ ใช้งานได้เป็นปกติ

อีกอาการฮิตที่มักเจอ คือ จอเป็นเส้นสีแดง เขียว หรือน้ำเงินค้าง (พาดเป็นเส้นแนวตั้ง หรือแนวนอน) กรณีที่เกิดหลายเส้น อาจเป็นปัญหาที่จุดเชื่อมต่อบริเวณ TAB IC ทาง Cybo สามารถตรวจสอบและแก้ไขได้ด้วยเครื่องมือในภาพ

กรณีเป็นเส้นพาดเส้นเดียว เป็นปัญหาที่เกิดจากภายในโครงสร้างพาเนลซึ่งมีขนาดเล็กมาก การแก้ไขจะทำได้ยาก แต่ Cybo ก็พร้อมบริการ ด้วยอุปกรณ์พิเศษจาก Hoya เครื่องนี้ ลักษณะจะมีกล้องกำลังขยายสูงสำหรับตรวจวิเคราะห์โครงสร้างภายใน พร้อมปืนยิงเลเซอร์เพื่อตัดลายวงจรเส้นสีที่มีปัญหาแล้วทำการเชื่อมจุดใหม่ ได้ยินแว่วๆ ว่าเครื่องมือนี้ราคาหลายล้านบาทเลยทีเดียว แต่ผลลัพธ์ก็คุ้มค่าเพราะรองรับการซ่อม LCD Panel จำนวนนับไม่ถ้วนให้กลับมาใช้งานได้เหมือนใหม่อีกครั้งครับ

เสร็จสิ้นออกจากส่วนสายการผลิตก็เที่ยงพอดี ทีมงานขอพักรับประทานอาหารกลางวันในโรงอาหารของโรงงาน Cybo ก่อนลาพี่วิชิต เพื่อเดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานประกอบทีวีแห่งต่อไปของ Prisma ที่ชื่อว่า Treeview