09 Jan 2017
Article

Buying Guide: สิ่งที่ควรรู้ในการเลือก Soundbar อ่านก่อนซื้อ มีหรือจะไม่คุ้ม!!!


  • lcdtvthailand

Buying Guide !!!

สิ่งที่ควรรู้ในการเลือก Soundbar อ่านก่อนซื้อ มีหรือจะไม่คุ้ม!!!

หากพูดถึงเครื่องเสียงภายในบ้านที่กำลังฮอตฮิตอยู่ในขณะนี้ ก็อดที่จะนึกถึงซาวด์บาร์ไม่ได้ นับว่ากระแสร้อนแรงจริงๆ เนื่องจากคุณสมบัติอันเป็นเอกลักษณ์ของลำโพงชนิดนี้ กับขนาดที่เล็ก รูปร่างบาง ไม่กินพื้นที่ในการติดตั้ง ให้คุณภาพเสียงที่ดีเยี่ยมไม่แพ้ลำโพงอื่นๆ พร้อมด้วยฟีเจอร์ทันสมัยอีกมากมาย ที่ทำให้ซาวด์บาร์ได้รับความนิยมและเป็นอีกตัวเลือกที่ดีไม่แพ้ชุดโฮมเธียเตอร์ขนาดเล็ก

และแน่นอน ซาวด์บาร์แต่ละแบรนด์ แต่ละรุ่น มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป ทำให้ผู้ที่ต้องการเลือกซื้อไปใช้งานเกิดความลังเล บทความนี้จึงอยากเป็นคู่มือแนะนำเบื้องต้นให้แก่ผู้อ่าน เพราะซาวด์บาร์แต่ละเครื่องมีมูลค่าไม่ใช่น้อย เมื่อซื้อไปแล้วก็ย่อมอยากได้เสียงและการใช้งานที่ถูกใจ ใช้ฟังเพลงดูหนังได้ยาวๆ ทิปส์แนะนำการเลือกซื้อมีอะไรบ้างนั้น ไปเริ่มกันเลยดีกว่า…

เช็กขนาดของซาวด์บาร์ ให้เหมาะสมกับพื้นที่การติดตั้ง

ก่อนอื่นเลยนั้น แนะนำให้วัดพื้นที่ในการติดตั้งก่อน ไม่ว่าจะติดตั้งแบบแขวนหรือตั้งโต๊ะ เพื่อที่จะเลือกซาวด์บาร์ให้มีขนาดความยาวที่เหมาะสม และอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือการวัดระยะความสูงของโต๊ะทีวี กับขอบล่างของทีวีด้วย เพราะซาวด์บาร์บางรุ่นนั้น มีขนาดเล็กบางก็จริง แต่เมื่อติดตั้งแล้ว พบว่าซาวด์บาร์มีขนาดสูง จนบดบังเซ็นเซอร์สำหรับรับสัญญาณรีโมตทีวี ทำให้เกิดความลำบากในการใช้รีโมตทีวีนั่นเอง ควรวัดขนาดและถ่ายรูปพื้นที่ที่จะติดตั้ง ไว้พิจารณาตอนเลือกชมซาวด์บาร์ด้วย

หน้าจอแสดงผล

ข้อนี้ก็อยากจะแนะนำเลย เป็นธรรมดาที่เลือกซื้อซาวด์บาร์ทั้งที ก็จะต้องเลือกเสียงเพราะๆ ตอบสนองต่อหลายๆ ย่านเสียง แต่เรื่องการตรวจสอบสถานะของซาวด์บาร์ ถึงไม่สำคัญเท่าเสียงแต่ก็อยากแนะนำ เพราะในบางรุ่นไม่มีหน้าจอหรือไฟ LED สำหรับแสดงผลสถานะการใช้งาน ทำให้ลำบากต่อการใช้งานอยู่บ้าง เช่น ไม่ทราบระดับเสียง, การสลับอินพุต หรือการปรับโหมดเสียงต่างๆ

การเชื่อมต่อไร้สาย

การเชื่อมต่อไร้สายกับซาวด์บาร์เป็นของคู่กันเสมอ โดยรุ่นใหม่ๆ ทั้งหมดนั้น ล้วนรองรับสัญญาณ Bluetooth ซึ่งความสามาถของการรับส่งสัญญาณแตกต่างกันไปตามสเป็ก บ้างก็เป็น Bluetooth aptX การันตีศักยภาพการรับส่ง ควรตรวจสอบพื้นที่สำหรับติดตั้งซับวูฟเฟอร์ รวมถึงลำโพงเซอร์ราวด์ไร้สาย หากต้องการให้เต็มระบบมากขึ้น ว่าอยู่ในระยะหรือไม่มีอะไรบดบังสัญญาณให้เกิดติดขัดขาดหาย และหากซาวด์บาร์มี NFC ก็จะยิ่งช่วยให้เชื่อมต่อสะดวกมากขึ้นด้วย เพียงแค่นำอุปกรณ์เล่นเพลงที่มี NFC มาแตะใกล้ๆ ก็เชื่อมต่อได้ทันที

เทรนด์การฟังเพลงของยุคนี้ก้่าวล้ำไปอีกขั้น สามารถฟังเพลงผ่านการสตรีมมิ่งของบริการต่างๆ เช่น Spotify, Google Play Music, Deezer หรือ TuneIn รวมถึงการใช้งานแบบ Multi-room ซึ่งการที่จะสตรีมมิ่งได้ ซาวด์บาร์จะต้องรองรับการเชื่อมต่อสัญญาณ Wi-Fiเป็นอีกฟีเจอร์ประกอบการพิจารณาที่ดี

ช่องเชื่อมต่อ

เชื่อว่าหลายท่านคงให้ความใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว ต่อให้การเชื่อมต่อไร้สายจะดีแค่ไหน การเชื่อมต่อด้วยสายต่างๆ ก็ยังคงเป็นที่ต้องการอยู่ โดยช่องต่อที่ให้มาในซาวด์บาร์ส่วนใหญ่นั้นมักจะมี USB, HDMI, AUX, Optical และ USB เลือกตามความเหมาะสมต่อการใช้งาน อยากแนะนำลองคาดคะเนสักนิดว่า หากเชื่อมต่อสายแล้ว จะเกิดอาการ “ดัน” ตัวซาวด์บาร์ขณะที่ติดตั้งอยู่หรือไม่

ใครที่ต้องการเชื่อมต่อซาวด์บาร์ระหว่างเครื่องเล่นที่สามารถส่งสัญญาณภาพ 4K HDR กับทีวี ก็ควรเลือกซาวด์บาร์ที่มีช่องต่อ HDMI เป็นเวอร์ชั่น 2.0 และรองรับ HDCP 2.2 เพื่อเป็น 4K Pass-trough ส่งผ่านสัญญาณ 4K HDR สู่ที่วีได้ และขอแนะอีกด้วยว่า การเชื่อมต่อผ่านสายนั้น ให้ความสมดุลและความมั่นคงในการส่งสัญญาณมากกว่าแบบไร้สาย โดยเฉพาะ Optical ที่ให้เสียงได้ดีกว่าการเชื่อมต่อด้วย Bluetooth ระดับหนึ่งเลย

ระบบเสียง

ต้องบอกเลยว่าเทคโนโลยีด้านระบบเสียงของซาวด์บาร์นั้น ก้าวล้ำทันสมัยกว่าก่อนมาก จากเดิมที่ซาวด์บาร์ให้เสียงแค่ สเตอริโอ ได้แค่เสียงที่ดีขึ้นกว่ารับฟังจากรับฟังจากทีวี แต่ไม่ได้ความเซอร์ราวด์หรือเสียงรอบด้าน เพื่อสร้างความเต็มอิ่มสมจริงขณะรับชม ซึ่งตอนนี้ซาวด์บาร์สามารถสร้างความเซอร์ราวด์ไม่แพ้ชุดลำโพงได้แล้ว ล้ำไปจนถึงระบบเสียงด้านสูงอย่าง Dolby Atmos เลยทีเดียว

อยากแนะนำไว้ว่า หากมีโอกาสทดลองฟังเสียงสดๆ ควรทดลองระบบเสียงเซอร์ราวด์ของซาวด์บาร์ เพราะซาวด์บาร์บางรุ่นนั้น มีฟีเจอร์ Vitual Surround หรือระบบจำลองเสียงเซอร์ราวด์ แต่เสียงที่ได้จริงๆ แล้ว ยังคงเป็นสเตอริโอ เพียงแค่ถูกขยายให้มีเวทีเสียงกว้างขึ้น ไม่ใช่เซอร์ราวด์แท้ๆ เฉกเช่นซาวด์บาร์บางรุ่นที่ใช้หลักการสะท้อนของเสียง ในการสร้างความเซอร์ราวด์

ซึ่งในบางรุ่นอีกเช่นกัน ก็จะมีลำโพงเซอร์ราวด์แยกมาให้ในชุดด้วย สำหรับติดตั้งเพิ่มความเซอร์ราวด์แบบเดียวกับระบบ 5.1-Channel

และแนะเพิ่มเติมอีกว่า ซาวด์บาร์บางรุ่นกำกับสเป็กเอาไว้เป็น 8.1-Channel บ้าง 4.1-Channel บ้าง ควรทำความเข้าใจไว้สักนิดว่าจำนวนของ Channel ที่กำกับไว้ ไม่ได้หมายถึงระบบเสียง แต่เป็นจำนวนลำโพงของชุดซาวด์บาร์นั้นๆ เช่น 4.1-Channel ส่วนของเลข “4” หมายถึง ซาวด์บาร์ที่มีดอกลำโพงอยู่จำนวน 4 ดอก และ “.1” หมายถึงซับวูฟเฟอร์ที่มาพร้อมกันในชุด  

ลูกเล่นฟีเจอร์

ไม่ใช่แค่เสียงดีอย่างเดียวแล้วจบไป ฟีเจอร์อื่นๆ ก็ควรให้ความสนใจด้วย เช่น การอัพสเกลเสียง พบเห็นได้ในบางรุ่น สามารถอัพสเกลเสียงจากไฟล์ความละเอียดต่ำ เติมเต็มเสียงบางย่านให้สมบูรณ์มากขึ้น หรือจะฟีเจอร์รองรับการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน สำหรับปรับแต่งตั้งค่าต่างๆ เป็นต้น เพื่อเพิ่มความคุ้มค่าและหลากหลายต่อการใช้งานในอนาคต

ฟีเจอร์ Auto Sound Engine ของ LG ที่จะซ่อมแซมเติมเต็มและปรับย่านเสียงให้มีความสมดุล ได้การฟังที่สมบูรณ์มากขึ้น
ฟีเจอร์ด้านโหมดเสียงเองก็สำคัญ เช่น Klipsch R-4B ที่มีโหมดเสียงรองรับต่อการใช้งานหลากหลายแบบ เหมาะสำหรับคอหนังเลย

….สุดท้ายคือฟังเสียงจริงก่อนการตัดสินใจ

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดนั้นก็อยากให้มาฟังเสียงจริงของซาวด์บาร์ที่เล็งเอาไว้กันแบบสดๆ ก่อนตัดสินใจซื้อ เพราะสิ่งสำคัญคือการฟังนั่นเอง แม้ฟีเจอร์จะดีเด่นน่าสนใจแค่ไหน แต่หากคุณภาพเสียงไม่เป็นดังที่หวังไว้ อาจทำให้เกิดความรู้สึกขุ่นเคืองอารมณ์ในภายหลังได้ ดังนั้นจึงอยากให้ทดสอบใช้งานจริงกันก่อนดีกว่า อย่าลืมเตรียมเพลงหรือคอนเท็นต์ที่ ฟังบ่อยจนชินหู ลงในสมาร์ทโฟนเพื่อไว้ทดสอบด้วย ถ้าฟังแล้วถูกใจ องค์ประกอบต่างๆ ลงตัว ก็สอบกลับบ้านกันเลย