14 Feb 2016
Article

วิธีการเลือกหูฟังที่ดี ดูได้ง่ายๆ ไม่ยาก


  • lcdtvthailand
ทิปง่ายๆ ที่ใครๆ ก็เลือกหูฟังที่ดีได้โดยไม่ยาก

หากพูดถึงอุปกรณ์ฟังเพลงยอดนิยมในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นหูฟัง ด้วยคุณสมบัติที่พกพาสะดวก ง่ายต่อการฟัง แต่หลายคนอาจพบปัญหามากมายในการใช้งานหูฟัง นั่นเพราะอาจยังไม่ทราบว่าการเลือกซื้อหูฟังเพื่อให้ได้อรรถรสการฟังเพลงที่ดีและใช้งานได้ระยะยาว ควรเลือกซื้อย่างไร ในวันนี้เราจึงขอแนะนำทิปการเลือกซื้อหูฟังเบื้องต้นอย่างง่ายๆ ให้ได้คู่หูที่ถูกใจพร้อมลุยกันไปทุกที่

ก่อนอื่นเลย ต้องขอบอกก่อนว่าไฟล์เพลงในปัจจุบัน ส่วนใหญ่บันทึกเสียงแบบ Stereo กันหมดแล้ว ในขั้นต้นควรเลือกซื้อหูฟังที่รองรับระบบ Stereo ได้ สังเกตง่ายๆ จากจากตัวอักษรที่ตัวหูฟังแต่ละข้าง มีการเขียนตัวหนังสือ “L” , “R” หรือไม่ ตัวหนังสือเหล่านี้ย่อมาจาก “Left – ซ้าย” และ “Right – ขวา” นั่นเอง เป็นการแยกแชนแนลของหูฟัง ขับเสียงออกมา 2 ทิศทาง เพื่อให้ได้เสียงที่มีมิติมากขึ้น ยิ่งกว่าหูฟังแบบ Mono ทั่วไป เพิ่มอรรถรสในการรับฟังขึ้นอีกเท่าตัว

ต่อมาในเรื่องรูปทรงของหูฟัง แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ 

1.แบบ Full-Size 

2.แบบ On-Ear 

3.แบบ Micro-Size 

ซึ่งทั้ง 3 แบบ มีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป ขอแนะนำให้เลือกตามความชอบและลักษณะการใช้งานจะดีกว่า การเลือกหูฟังในแต่ละแบบมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างนั้น เริ่มจาก…

1.แบบ Full-Size

หูฟังแบบ Full-Size จะมีขนาดใหญ่ วิธีการฟังคือใช้คาดศีรษะ ให้ตัวหูฟังที่มีลักษณะเป็นนวม ครอบทั้งใบหู จุดเด่นของมันอยู่ที่การให้เสียงที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับลำโพงหรือมอนิเตอร์เลยทีเดียว เนื่องจากการที่ครอบทั้งใบหู จึงลดปริมาณเสียงรบกวนจากแวดล้อม ได้น้ำหนักและคุณภาพเสียงแบบเต็มๆ จากตัวไดรเวอร์ของหูฟัง 

แม้จะให้คุณภาพระดับสูง แต่ก็มีจุดด้อยอยู่เช่นกัน นั่นคือตัวหูฟังที่มีขนาดใหญ่และหนัก ค่อนข้างพกพายาก ฟังนานๆ อาจเกิดอาการล้าหูจากการที่หูถูกบีบอัดเป็นเวลานาน (บางรุ่นสามารถแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ ด้วยการทำช่องระบายเสียง คายความหนาแน่นออกไป) 

การเลือกหูฟังแบบ Full-Size จึงควรเลือกแบบที่มีน้ำหนักเบา ที่สำคัญควรลองฟังหรือครอบหูดูก่อน ว่าสามารถครอบได้เต็มหูหรือไม่ หากรู้สึกบีบหู ครอบได้ไม่เต็มใบหู หรือหนีบศีรษะ อาจทำให้เกิดอาการเจ็บบริเวณหู ไม่สบายต่อการฟังได้ เมื่อเลือกหูฟังที่ใส่ได้พอดีแล้ว ให้ขยับตำแหน่งหูฟังขึ้น-ลงเล็กน้อย เพื่อสังเกตว่าคุณภาพเสียงเปลี่ยนไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน

2.แบบ On-Ear

หูฟังแบบนี้ เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชื่นชอบการออกกำลังกายเป็นอย่างมาก เนื่องจากคุณสมบัติที่เป็นหูฟังแบบครอบใบหู คล้ายๆ Full-Size แต่จะมีลักษณะเล็กกว่า ตัวก้านของหูฟังมีหลายแบบ ส่วนใหญ่เป็นแบบเหน็บใบหูและแบบคล้องด้านหลังศีรษะ เพื่อความสะดวกในการฟังขณะทำกิจวัตรต่างๆ และยังสะดวกต่อการพกพาอีกด้วย 

จุดที่แตกต่างจาก Full-Size อีกอย่างคือคุณภาพเสียง ซึ่งแบบ On-Ear มักจะมีปัญหาเรื่องเสียงรบกวนจากภายนอก และไดรเวอร์มีขนาดเล็ก เสียงที่ให้ออกมาจึงไม่ค่อยมีพลังเท่าไรนัก วิธีการเลือกซื้อจะคล้ายกับแบบ Full-Size คือหูฟังต้องไม่หนีบใบหู เวลาใส่ไม่บีบแน่นหรือคับจนเกินไปนั่นเอง

3.แบบ Micro-Size

รูปแบบนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด ด้วยขนาดที่เล็ก พกพาได้ง่าย น้ำหนักเบา ให้คุณภาพเสียงที่ดีไม่ใช่เล่นเลย มีราคาเริ่มต้นถูก ซึ่งแบ่งย่อยได้อีก 2 แบบคือแบบ In-Ear และแบบ Earbuds 

ในแบบแรกนั้นจะเป็นหูฟังที่ใช้ยัดเข้าไปในรูหู ทำให้แก้วหูใกล้ชิดกับไดรเวอร์มาก ได้ยินเสียงชัดเจน ลดเสียงรบกวนจากภายนอกได้ดี แต่ข้อเสียคือมีแรงดันค่อนข้างเยอะ จากวัสดุกันเสียงที่มีลักษณะเป็นจุกยาง ฟังนานๆ จะเกิดอาการล้าหู แก้วหูไม่ได้รับการถ่ายเท ทำให้รู้สึกอึดอัด และต้องหมั่นรักษาความสะอาด เพราะต้องการที่ต้องยัดเข้าในรูหู เสี่ยงต่อเชื้อโรค หากฟังเสียงดังมากอาจส่งผลกระทบต่อแก้วหูได้ง่าย 

การเลือกซื้อจึงต้องเช็คเรื่องวัสดุกันเสียงของหูฟัง In-Ear ที่ถนอมต่อหู ระหว่างทดลองฟังให้ลองอ้าปาก และดึงสายหูฟังค่อนข้างแรงหน่อย หากรู้สึกปวดแก้วหูจากแรงดัน แสดงว่าวัสดุกันเสียงนั้นแน่นคับหูเกินไป ให้ลองลดขนาดวัสดุกันเสียงของหูฟังดู 

ในส่วนของ Earbuds หลายคนคงคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หูฟังรูปแบบนี้ จะสบายต่อการฟังมากกว่า In-Ear เนื่องจากไม่ได้ยัดเข้าไปเข้าไปในรูหู และมีราคาถูก แต่มีข้อเสียใหญ่ๆ ที่ทำให้หูฟังชนิดนี้ได้รับความนิยมน้อยลงคือ เสียงจากภายนอกที่เล็ดลอดเข้ามาได้ง่าย ทำให้ไม่ได้รายละเอียดในการฟังเพลงที่ชัดเจน โดยเฉพาะเสียงย่านต่ำที่ให้คุณภาพไม่ ดีเท่าหูฟังแบบอื่นๆ การเลือก Earbuds ที่ดีนั้นควรเลือกที่ใส่ได้พอดีหู ซึ่งมักเจอปัญหาใส่ได้ไม่พอดี หลุดจากหูง่าย ยังควรตรวจสอบรอยต่อของตัวหูฟังว่ามีแน่นหนาเปราะบางต่อการกระแทกหรือไม่อีกด้วย

นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่สำคัญเลยคือเรื่องของสายหูฟัง ควรเลือกสายที่มีความทนทานสูง เหนียวแน่น ทนต่อการพกพาหรือม้วนเก็บ หากใช้หูฟังที่มีสายไม่ยืดหยุ่นหรือมีความหนาแข็งแรงน้อย อาจทำให้สายทองแดงด้านในขาด โดยเฉพาะช่วงข้อต่อของหัวเสียบและตัวหูฟัง ดูให้ดีว่ามีการหุ้มอย่างดี แข็งแรงทนต่อการกระชาก ไม่ขาดหลุดจากขั้วได้ง่าย

แม้ว่าหูฟังทั่วไปจะใช้หัวเสียบขนาด 3.5 มม. เป็นมาตรฐาน แต่ก็จะใช้ร่วมกับอุปกรณ์เครื่องเล่นได้ทุกเครื่อง เพราะหัวเสียบของหูฟังบางรุ่น มีรูปแบบแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นหัวเสียบแบบ Stereo จะมีวงแหวนสีแบ่งแยกแชนแนลของเสียง ปลายหัวจะเป็นซ้าย วงแหวนถัดไปจะเป็นขวา และถัดไปคือสายดิน ในสาย Mono จะไม่มีแยกซ้าย-ขวา 

และหูฟังที่มีไมโครโฟนในตัว จะเพิ่มวงแหวนสำหรับรับสัญญาณเสียงจากไมโครโฟนนั่นเอง รวมถึงขนาดความยาวและตำแหน่งของวงแหวนด้วย บางรุ่นอาจไม่เท่ากัน ดังนั้นต้องลองเสียบกับอุปกรณ์ของผู้ซื้อให้ดีก่อนว่า ใช้ได้จริงๆ และรับสัญญาณได้ชัดเจนครบถ้วน หากต้องการใช้จริงๆ สามารถแก้ไขด้วยตัวแปลงหัวเสียบ นำมาเสียบต่อจากหัวเสียบเดิมอีกที

สำหรับหูฟังที่รองรับการเชื่อมต่อมผ่านสัญญาณ Bluetooth ควรทดลองให้ดีก่อนซื้อว่ารองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ของผู้ซื้อได้หรือไม่ มีระยะการเชื่อมต่อมีความกว้างไกลเท่าไร หากเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ประเภทมือถือหรือออดิโอเพลเยอร์แบบพกพา ให้ทดสอบด้วยว่าหากนำอุปกรณ์เหล่านี้ใส่ในกระเป๋าแล้วสัญญาณจะขาดหายหรือหลุดการเชื่อมต่อไปเลยหรือเปล่า

และที่หลายคนมักมองข้าม นั่นคือบริการหลังการขายต่างๆ เพราะหูฟังค่อนข้างเป็นอะไรที่เปราะบางละเอียดอ่อน ควรสอบถามทางร้านว่ามีประกันหรือบริการหลังการขายใดๆ ให้หรือไม่ เพื่อความคุ้มค่าในการซื้อ สามารถใช้งานได้ในระยะยาว

ทั้งหมดนี้คือการเลือกหูฟังคร่าวๆ ที่อยากจะแนะนำไว้พิจารณาประกอบการเลือกซื้อ เพื่อให้ได้คุณภาพที่ดีในการใช้งาน ส่วนเรื่องคุณภาพเสียงนั้นก็ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของแต่ละคนและกำลังทรัพย์ในการเลือกซื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าหูฟังแพงๆ จะถูกหูถูกใจเสมอไป