18 Apr 2020
Article

ระบบเสียงโฮมเธียเตอร์ที่นิยมใช้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีอะไรบ้าง ? ฉบับมือใหม่ เข้าใจง่าย


  • TopZaKo
สามารถรับชมในฉบับ กระชับเข้าใจง่าย ที่คลิปนี้กันได้เลย

หลายคนที่เพิ่งเริ่มเล่นเครื่องเสียง รวมถึงผู้ที่กำลังศึกษาหาความรู้ก่อนที่เราจะไปควักเงินซื้อเครื่องเสียงไม่ว่าจะเป็นลำโพงฟังเพลง, ลำโพง Soundbar หรือ ชุดดูหนังฟังเพลงแบบจัดเต็มระบบ Home Theater มักจะเจอกับชื่อของระบบเสียงต่างๆ มากมาย

ไม่ว่าจะเป็น Dolby Digital, DTS, PCM รวมถึงระบบเสียงที่ผู้คนพูดถึงมากที่สุดในยุคนี้อย่าง Dolby Atmos ซึ่งระบบเสียงหลักๆ ที่นิยมใช้งานกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้จะมีอะไรบ้าง มาทำความเข้าใจกันครับ


***ในบทความนี้จะพูดถึงระบบเสียงในรูปแบบ Digital เท่านั้น จะไม่พูดถึงในส่วนของระบบเสียงแบบ Analog***

PCM

PCM หรือ Pulse Cade Modulation เป็นระบบเสียง Digital ในยุคแรกสุดเลย ซึ่งเป็นระบบเสียงแบบที่ไม่มีการบีบอัดสัญญาณ กับ เข้ารหัสสัญญาณเสียงแต่อย่างใด หรือเรียกกันว่า Uncompressed รองรับที่ความละเอียดเสียงตั้งแต่แบบมาตรฐานอย่าง 16 Bit/44.1 kHz (CD quality) จนถึง 32 Bit/768kHz หรือที่เรียกว่าเสียงระดับ Hi-Res จนถึงระดับมาตรฐานในสตูดิโอเลยทีเดียว 


รองรับได้ทั้งแบบ 2 Ch Stereo จนถึงแบบรอบทิศทาง 5.1 กับ 7.1  แต่เนื่องจากในยุคเริ่มแรก PCM ต้องการแบนด์วิดธ์ในการส่งข้อมูลสูงกว่าความสามารถของอุปกรณ์ในยุคนั้น อย่าง Optical กับ Coaxial ซึ่งรองรับสูงสุดแค่ระบบเสียงแบบ 2 แชนเนล (up to 24 Bit/192 kHz) เท่านั้น ยังไม่รองรับระบบเสียง Multi-ch PCM และถึงแม้ในปัจจุบันสายสัญญาณอย่าง HDMI จะรองรับการส่งสัญญาณเสียงแบบ Multi-ch PCM แต่ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีที่เก่าไปแล้วจึงไม่เป็นที่นิยมแล้วนั่นเอง

Dolby Digital และ DTS

ระบบเสียงทั้ง 2 ระบบนี้เกิดขึ้นในยุคแผ่นหนัง DVD นั่นเอง ซึ่งใครที่เคยดูหนังผ่านแผ่น DVD บ่อยๆ ต้องเคยเห็นโลโก้ของระบบเสียงทั้ง 2 อย่างนี้ที่ข้างกล่องอย่างแน่นอน 


โดย 2 ค่ายเสียงอย่าง Dolby Laboratories (Dolby) และ Datasat Digital Entertainment (DTS) ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งกันมาโดยตลอด ได้คิดค้นวิธีการเข้ารหัสและแบบอัดสัญญาณเสียงแบบรอบทิศทางให้สามารถส่งผ่านสัญญาณผ่านสายสัญญาณอย่าง Optical กับ Coaxial ได้ จึงออกมาเป็น Dolby Digital และ DTS ที่เราคุ้นหูกันครับ

ซึ่งทั้ง 2 ระบบนี้ จะเป็นการบีบอัดสัญญาณที่มีการสูญเสีย (Lossy) ซึ่งจะตัดลดทอนสัญญาณเสียงที่ไม่จำเป็นออกไป แต่ในความเป็นจริงระบบเสียงทั้ง 2 ระบบนี้ก็ถือว่ามีความคมชัดเพียงพอต่อการรับชมในแบบปกติทั่วไปได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะมีให้เห็นได้ในรูปแบบของเสียง 5.1 Ch จากภาพยนตร์เป็นส่วนใหญ่ มีอยู่บ้างที่เป็นรูปแบบ 2 Ch ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเนื้อหาต่างๆ ว่าจะเลือกจะใช้แบบไหน


จุดที่แตกต่างกันของระบบเสียงทั้ง 2 ค่าย นี้ (ตั้งแต่ยุค Dolby Digital นี้จนถึงยุคของ Dolby Atmos ที่จะกล่าวถึงในตอนหลัง) ก็คือค่าความละเอียดเสียงต่อวินาทีหรือ Bitrate นั่นเอง ซึ่งโดยปกติแล้วระบบเสียง Dolby Digital จะอยู่ที่ 384 – 640 Kbps ส่วนระบบเสียง DTS นั้นจะอยู่ที่ 768 – 1536 Kbps 
ซึ่งเนื่องจากระบบเสียงแบบ Dolby Digital นี้เป็นระบบเสียงที่มีค่า Bitrate ไม่สูงมากนัก จึงนิยมใช้เป็นระบบเสียงมาตรฐานในแอปสตรีมมิ่งในปัจจุบันอย่าง Netflix เป็นต้น


***เพิ่มเติม***Bitrate หรือ ค่าความละเอียดเสียงต่อวินาที เป็นสิ่งที่เรียกได้ว่ายิ่งเยอะยิ่งดี เพราะจะทำให้เสียงที่ได้มีความใส ชัดเจน มีน้ำหนักของเสียงที่ดี แต่ก็แลกกับขนาดของไฟล์เสียงที่ใหญ่ขึ้นเช่นเดียวกัน

Dolby TrueHD และ DTS-HD Master Audio

พอมายุค Blu-ray ปัจจัยเอื้อคือ ความจุแผ่นเพิ่มขึ้น เก็บข้อมูลเสียงได้มากขึ้น และที่สำคัญมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสายสัญญาณภาพและเสียงเป็น HDMI รองรับแบนด์วิดธ์มากขึ้น ทาง Dolby และ DTS ก็เลยพัฒนาระบบเสียงรอบทิศทางให้มีคุณภาพดีขึ้น สามารถเข้ารหัสเสียงที่มีการบีบอัด แต่ไม่มีการสูญเสีย หรือ Lossless (คล้ายๆ การบีบอัดไฟล์ Zip) และเพิ่มบิตเรทให้สูงขึ้นด้วย คือ Dolby TrueHD และ DTS-HD Master Audio

รองรับความละเอียดสูงสุดได้ถึง 24-bit 192 kHz ส่วนค่า Bitrate นั้นจะเป็นแบบไม่คงที่หรือ Variable โดยสำหรับ Dolby TrueHD จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6 Mbps และสูงสุดถึง 18 Mbps ส่วนของ DTS-HD Master Audio จะสูงสุดได้ถึง 24.5 Mbps เลยทีเดียว


ยังไม่หมดแค่นั้นจากยุคก่อนเรารับชมหนังกันในรูปแบบระบบเสียง 5.1 Ch ในยุคนีก็ได้มีการเพิ่มลำโพงเซอร์ราวด้านหลังจากที่มี 2 ตัว มาเป็น 4 ตัว กลายเป็นระบบเสียงแบบ 7.1 Ch ทำให้เสียงบรรยากาศต่างๆ เช่นเสียงดนตรีเพลงประกอบ เสียงฉากรบในสงคราม เสียงรถวิ่งผ่านจากด้านหน้าไปหลัง จะมีชัดเจน มีความโอบล้อมกว่าเดิมมากขึ้น

Dolby Atmos และ DTS : X

มาถึงในยุคปัจจุบันระบบเสียงก็ได้ถูกพัฒนาให้มาเป็นในรูปแบบระบบเสียง 3 มิติ หรือ Immersive Sound นั่นเอง ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ ระบบเสียงในยุคก่อนจะมีแค่ลำโพงในแนวระนาบเท่านั้น แต่ระบบเสียงแบบ Immersive Sound ได้มีการเพิ่มลำโพงในส่วนของด้านสูง หรือว่าง่ายๆ ก็คือลำโพงบนหัวขึ้นมานั่นเอง

โดยมีรูปแบบต่างๆ มากมาย เช่น 5.1.2 หรือ 7.1.4 โดยที่ Dolby Atmos ในระบบ Hometheater รองรับจำนวนลำโพงได้สูงสุดที่ 24.1.10 Ch เลยทีเดียวจุดเด่นของระบบเสียงทั้งสองนี้ คือ เราสามารถได้ยินเสียงประกอบต่างๆ ได้อย่างสมจริงมากขึ้น โดยเฉพาะเสียงในตำแหน่งบนหัวของเรา อย่างเช่น เสียงฝนตก ฟ้าร้อง  เครื่องบินบินผ่านหัว  หรือหนังแอคชั่นที่มีการยิงสาดกระสุน ระเบิดตูมตาม ก็จะให้เสียงได้อย่างเต็มอรรถรสเลยครับ 

ในส่วนของการ Mix เสียงสำหรับผู้ผลิตภาพยนตร์ ในระบบเสียงแบบ Dolby Atmos กับ DTS : X นั้นได้มีการเปลี่ยนจากการ Mix ที่จะต้องมีจำนวน Ch แบบตายตัวหรือที่เรียกว่า Channel Base มาเป็นระบบเสียงแบบ Object  Based ที่สามารถโยนเสียงรอบทิศทาง ในแบบต่างๆ ได้อย่างอิสระ เช่น จากด้านล่างซ้าย ไป ด้านบนขวา หรือ บนลงล่าง ซึ่งถือว่าเป็นอะไรที่ยืดหยุดต่อทั้งผู้ผลิตภาพยนตร์ และผู้ใช้งานแบบเราๆ มาก ว่าง่ายๆ ก็คือไม่ว่าตอน Mix สัญญาณเสียงจะส่งวัตถุเสียงมาจากทิศไหน ตัวเครื่องเสียงหรือ AVR จะทำหน้าที่ถอดรหัสสัญญาณเสียงให้เข้ากับจำนวนลำโพงที่เราติดตั้งให้แบบอัตโนมัติ

ในส่วนของค่า Bitrate นั้นยังไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการออกมา แต่ก็คาดการณ์ได้ว่าต้องมีค่าที่สูงกว่า Dolby TrueHD และ DTS-HD Master Audio อย่างแน่นอน 

***Dolby Atmos บนบริการสตรีมมิ่งอย่าง Netflix จะมาในรูปแบบของ Dolby Digital+ ซึ่งจะมีคุณภาพของเสียงและ Bitrate จะดีกว่า Dolby Digital ปกติเล็กน้อย แต่จะต่ำกว่า Dolby Atmos ของ Dolby True HD ที่อยู่ในแผ่น Blu-ray ***

ทั้งหมดนี้ก็คือระบบเสียงโฮมเธียร์เตอร์ที่ไม่ว่าจะเป็นทางด้านผู้ผลิตภาพยนตร์ต่างๆ รวมถึงผู้ใช้อย่างเรานิยมใช้งานกัน ซึ่งถือว่าเป็นเกร็ดความรู้แบบเล็กๆ น้อยๆ ที่นำมาฝากันให้ผู้ที่กำลังเริ่มเล่นเครื่องเสียงได้เข้าใจกันมากขึ้นนั่นเองครับ

***บทความโดย TopZaKo 1 เมษายน 2563***แก้ไขล่าสุด 27 เมษายน 2563