22 Dec 2022
Article

Hz vs FPS คืออะไร ต่างกันตรงไหน ?


  • Dear_Sir

เชื่อว่าจะต้องมีหลายคนที่สงสัยความแตกต่างระหว่าง Refresh Rate ที่มีหน่วยวัดเป็น Hz กับ FPS ว่ามันต่างกันยังไง เพราะสองค่านี้แสดงออกถึงความสามารถในการแสดงภาพเหมือน ๆ กัน เพียงแต่ดันพบเจอกับในสเปกบนอุปกรณ์ที่แตกต่างกันเสียได้ !

Refresh Rate คือ อัตราการแสดงผลภาพ ต่อ 1 วินาที ซึ่งค่านี้เราจะพบกันได้ในบนสเปกของอุปกรณ์ที่สามารถแสดงผลภาพได้ เช่น ทีวี หรือ มอนิเตอร์ เป็นต้น มีหน่วยวัดเป็น Hz เช่น ทีวี A มีอัตรา Refresh Rate 240Hz นั่นหมายความว่าทีวี A มีความสามารถในการแสดงภาพ 240 ภาพ ภายใน 1 วินาที*

*อัตรา Refresh Rate มักแปรผันไปตามความละเอียดของภาพ ยิ่งอุปกรณ์แสดงผล รับสัญญาณภาพที่มีความละเอียดต่ำ ค่า Hz ที่ได้ก็จะสูงตามไปด้วย

ภาพประกอบจากทาง BenQ

FPS ย่อมาจาก Frame Per Second ความหมายก็ตรงตามตัวเลย คือ จำนวนภาพใน 1 วินาที ยิ่งค่า FPS มาก ภาพที่แสดงผลออกมาก็ยิ่งลื่นไหล เช่นในวงการภาพยนตร์ หากเป็นภาพยนตร์ทั่วไป เวลาถ่ายทำ และบันทึกภาพ ก็จะใช้ค่า FPS อยู่ที่ 24 FPS แต่ก็มีภาพยนตร์บางเรื่องที่ถ่ายทำแบบ HFR ซึ่งก็จะมีค่า FPS อยู่ที่ 48 FPS ขึ้นไป ส่วนถ้าวงการเกมแน่นอนยิ่ง FPS ยิ่งสูง ภาพก็ยิ่งลื่น ไม่สะดุด ซึ่งจุดนี้ก็ต้องอาศัยใบบุญของกราฟิกการ์ด

Avatar 2 หนึ่งในภาพยนตร์ที่ฉายแบบ HFR

เมื่อเรารู้ความหมายของค่าทั้งสองแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าระหว่าง อัตรา Refresh Rate กับ FPS มีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันอยู่ ลองคิดดูว่าถ้าคอมพิวเตอร์ หรือเกมคอนโซลของเรา สามารถทำเฟรมเรตเอาท์พุตภาพออกไปได้ถึง 120FPS แต่อุปกรณ์แสดงผล หรือก็คือพวก ทีวี มอนิเตอร์ ดันมีค่า Refresh Rate แค่ 60Hz ทำให้ภาพที่เราเห็นใน 1 วินาที ก็จะมีแค่ 60 ภาพเท่านั้น เพราะมันเกิดอาการ “อั้น” ที่อุปกรณ์แสดงผลภาพปลายทางนั่นเอง

สรุปสุดท้ายนี้ทุกคนคงจะรู้แล้วว่าเวลาเราจะเลือกซื้ออุปกรณ์แสดงผลอย่าง ทีวี หรือมอนิเตอร์ ก็ควรจะคำนึงถึงอัตรา Refresh Rate กันสักหน่อย ยิ่งถ้าได้เป็น 4K 120Hz ก็ยิ่งดี เพราะเกมคอนโซลทุกวันนี้ก็สามารถเอาท์พุตภาพแบบ 4K 120Hz ได้แล้ว นอกจากนี้ถ้าอุปกรณ์แสดงผลรองรับเทคโนโลยี VRR (Variable Refresh Rate) ด้วยก็จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะจะช่วยลดการเกิด “Screen Tearing” หรือ “ภาพฉีกขาด” ที่มีสาเหตุมาจาก FPS กับ Refresh Rate ไม่ตรงกัน

ภาพประกอบจาก playerassit.com