10 May 2019
Article

มือใหม่โฮมเธียเตอร์ – เลือกลำโพง 5.1 (3.1.2) หรือ 7.1 (5.1.2) ดี?


  • lcdtvthailand

“งบจำกัด” แต่อยากเล่นโฮมเธียเตอร์ระบบเสียงรอบทิศทาง จะเริ่มจาก 5.1 (3.1.2) หรือ 7.1 (5.1.2) แชนเนลดี? ระบบเสียง Immersive Audio คืออะไร? แบบไหนเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบันมากกว่า? วันนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ

สิ่งที่หลายท่านคาดหวังจากระบบโฮมเธียเตอร์ คือ การถ่ายทอดระบบเสียงเซอร์ราวด์รอบทิศทาง เพื่อสร้าง “บรรยากาศเสียงโอบล้อม” เสมือนว่าอยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ตามภาพยนตร์หรือเกมที่กำลังรับชม

การจะได้เสียงโอบล้อม จำเป็นต้องมีลำโพงรับหน้าที่ถ่ายทอดเสียงจากหลายทิศทาง โดยจำนวนลำโพง 1 ข้าง จะทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียง “1 แชนเนล” ตามที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ได้บันทึกมากับฟอร์แม็ตระบบเสียงเซอร์ราวด์นั่นเอง

ที่ผ่านมามาตรฐานระบบเสียงเซอร์ราวด์ คือ 5.1 และ 7.1 แชนเนล สามารถให้เสียงได้ครอบคลุมด้านหน้า-ด้านข้าง-ไปจนถึงด้านหลังโอบล้อมตัวผู้ฟัง แต่ปัจจุบันเมื่อเข้าสู่ยุคของระบบเสียง Immersive Audio มีการพัฒนาเพิ่มแชนเนลเสียงที่มีทิศทางจากด้านบน “เหนือศีรษะผู้ฟัง” เข้ามาอีก ทั้งนี้เพื่อให้ได้บรรยากาศโอบล้อมเป็น 3 มิติ มากยิ่งขึ้น

ฟอร์แม็ตระบบเสียง Immersive Audio สำหรับโฮมเธียเตอร์ที่แพร่หลายในปัจจุบัน คือ Dolby Atmos และ DTS:X

ข้อดีอีกอย่างของระบบเสียง Immersive Audio ยุคใหม่ คือ เทคโนโลยีการบันทึกเสียงและเข้ารหัสแบบ Object-based Audio ซึ่งไม่จำกัดจำนวนแชนเนลลำโพงตายตัวเหมือนก่อน ดังนี้เมื่อเพิ่มจำนวนลำโพง (แชนเนล) มากเท่าไหร่ การชี้ชัดตำแหน่งทิศทางเสียงจะมีความ “แม่นยำ” และให้ความโอบล้อม “ต่อเนื่อง” ได้ดีกว่า ปัจจุบันผู้กำหนดมาตรฐานระบบเสียงเซอร์ราวด์อย่าง Dolby ได้เพิ่มการรองรับแชนเนลลำโพงสำหรับ Dolby Atmos ไว้สูงสุดถึง 34 แชนเนล (24 on floor + 10 overhead speakers) !! เหตุผลเพื่อให้เสียงครอบคลุมพื้นที่กว้างๆ อย่างในโรงภาพยนตร์ที่มีหลายแถวที่นั่งรับชม และยังแยกแยะตำแหน่งทิศทางเสียงได้ละเอียดสมจริงมากยิ่งขึ้นด้วย

แต่แน่นอนว่าจำนวนลำโพงมาก ก็ยิ่งต้องการงบประมาณสูง สำหรับห้องโฮมเธียเตอร์เล็กๆ ในบ้าน คงไม่จำเป็นต้องใช้ลำโพงมากหากงบจำกัด… แล้วควรเริ่มที่จำนวนลำโพงกี่แชนเนลดี?

 ระบบเซอร์ราวด์ขั้นต่ำ สำหรับโฮมเธียเตอร์ 

ปัจจุบันฟอร์แม็ตระบบเสียง “เซอร์ราวด์” ขั้นต่ำสุดจะอยู่ที่ 5.1 แชนเนล ซึ่งก็ตรงกับมาตรฐานความสามารถขั้นต่ำสุดของ AV Receiver ในปัจจุบัน การจัดหาลำโพงรอบทิศทางมาใช้งานจึงควรเริ่มที่จำนวนเท่านี้ (อันที่จริง 2.0/2.1 แชนเนล ก็ใช้งานได้ แต่จะไม่ได้บรรยากาศเสียงโอบล้อมจากภาพยนตร์หรือเกมได้เต็มอรรถรสนัก)

หากพิจารณาในส่วนของคอนเทนต์ ซีรีส์และภาพยนตร์ยอดฮิตอย่าง Netflix จะรองรับ “ระบบเสียงเซอร์ราวด์แบบ 5.1” เป็นพื้นฐาน (โดยเข้ารหัสแบบ Dolby Digital Plus)

AV Receiver “รุ่นเล็กสุด” รวมถึงชุด Home Theater in a Box จะมาพร้อมจำนวนภาคขยายขั้นต่ำที่ 5 แชนเนล สามารถรองรับระบบเสียง 5.1 ขณะเดียวกัน AVR ระดับเริ่มต้นหลายๆ รุ่นในปัจจุบันก็สามารถถอดรหัสเสียง Dolby Atmos และ DTS:X ที่ 3.1.2 แชนเนล ได้อีกด้วย

 5.1 กับ 3.1.2 เลือกอะไรดี? 

การเลือกระบบลำโพงรอบทิศทางระดับเริ่มต้น 2 รูปแบบนี้ ให้ข้อดี-ข้อเสียต่างกัน…

  •  5.1 เป็นมาตรฐานโฮมเธียเตอร์ที่ใช้กันมานาน ปัจจุบันก็ยังตอบสนองในแง่ผลลัพธ์ด้านเสียงที่ดี สามารถถ่ายทอดบรรยากาศเสียงโอบล้อมครอบคลุมจากด้านหน้า เลยไปถึงด้านข้างและด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง อีกทั้งการติดตั้งลำโพง Surround (SL/SR) ในระบบ 5.1 ก็ดำเนินการได้ง่ายกว่าลำโพง Top Surround ของ 3.1.2 ที่ใช้รูปแบบแขวนหรือฝังฝ้าเพดาน

จุดที่ 5.1 เสียเปรียบ 3.1.2 คือ การถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูงจะเบาบางไม่ชัดเจน เนื่องจากไม่มีลำโพงที่รับหน้าที่ถ่ายทอดเสียงจากแชนเนลด้านสูงโดยตรง การรับฟังระบบเสียง Dolby Atmos และ DTS:X ผ่านซิสเต็มลำโพงแบบ 5.1 จึงไม่ได้อานิสงส์จากจุดเด่นของระบบเสียงยุคใหม่มากนัก

  • สำหรับ 3.1.2 จะมีทางเลือกอยู่ 3 รูปแบบ แตกต่างกันที่ลักษณะการติดตั้งลำโพงที่รับหน้าที่ถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูง หรือ Top Surround นี่เอง ซึ่งแต่ละรูปแบบก็ให้ผลลัพธ์ด้านเสียงที่แตกต่างกันด้วย

3.1.2 รูปแบบแรกที่แนะนำ คือ การติดตั้งลำโพงด้านสูงแบบแขวนหรือฝังบนฝ้าเพดาน เรียกว่า Top Middle Surround (TML/TMR) รูปแบบนี้จะให้ทิศทางเสียงด้านสูงได้ชัดเจนที่สุด และยังช่วยบาลานซ์เสียงให้พอมีบรรยากาศโอบล้อมด้านหลังบ้าง ไม่เน้นหนักเฉพาะทิศทางที่มาจากด้านหน้าของผู้ฟังเพียงอย่างเดียว

3.1.2 รูปแบบที่ 2 คือ การติดตั้งลำโพงด้านสูงแบบ Front Height (FHL/FHR) โดยการแขวนลำโพงบนผนังเหนือตำแหน่งลำโพงหลักคู่หน้า (FL/FR) ซึ่งรูปแบบนี้ให้ทิศทางเสียงด้านสูงได้ดี ทว่าน้ำหนักทิศทางเสียงจะเทไปทางด้านหน้าเสียหมด ขาดบรรยากาศเสียงโอบล้อมด้านหลัง

3.1.2 รูปแบบสุดท้าย คือ การติดตั้งร่วมกับลำโพงพิเศษแบบ Upward-firing Speakers หรือเรียกอีกอย่างว่า Dolby Atmos Enabled Speakers รูปแบบนี้จะดำเนินการติดตั้งได้ง่ายที่สุด เพราะแค่นำลำโพงแชนเนลนี้ไปวางบนลำโพงคู่หน้า

หรือง่ายกว่านั้น คือ เลือกลำโพงแบบ Dolby Atmos Enabled Speakers รูปแบบที่ ผนวก Upward-firing Speakers ฝังมากับลำโพงคู่หน้า (FL/FR)เลย อย่างไรก็ดีจุดที่ต้องพิจารณา คือ หลักการยิงเสียงขึ้นไปสะท้อนกับฝ้าเพดานเพื่อสร้างมิติเสียงด้านสูงรูปแบบนี้ดูจะคาดเดาผลลัพธ์ได้ยาก หากสภาพห้องเอื้ออำนวยก็จะได้เอฟเฟ็กต์เสียงที่ดี แต่ถ้าไม่ ผลลัพธ์จะด้อยกว่า 2 รูปแบบแรกอยู่พอสมควร

สรุป

จุดที่ 3.1.2 เหนือกว่า 5.1 คือ ทิศทางความชัดเจนจากการถ่ายทอดแชนเนลเสียงด้านสูงที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในระบบ Dolby Atmos/DTS:X ทว่าด้อยกว่าซิสเต็มลำโพง 5.1 ในแง่บรรยากาศโอบล้อมรอบตัว อันเนื่องมาจากการถ่ายทอดมิติเสียงด้านหลังตำแหน่งนั่งฟังที่ยังไม่ชัดเจนนัก อันเป็นข้อจำกัดเรื่องของตำแหน่งลำโพงในระบบของ 3.1.2…

หากต้องฟันธงระหว่าง 2 รูปแบบนี้ ระบบ 5.1 ให้อรรถรสจากบรรยากาศเสียงโอบล้อมได้เหนือกว่า 3.1.2 จึงเป็นรูปแบบที่แนะนำ หากต้องการ “เน้นคุณภาพเสียงในงบประมาณที่ไม่สูงมาก”

แต่กระนั้นหากมีงบประมาณจำกัดมากจริงๆ เริ่มที่ 3.1.2 แบบ Upward-firing Speakers เป็นอันดับแรกก็สามารถทำได้ เพราะดำเนินการได้ง่ายๆ รูปแบบนี้บางทีมาเป็นชุดสำเร็จแบบ Soundbar ซึ่งมีราคาประหยัด การติดตั้งก็ไม่ยุ่งยากเมื่อเทียบกับซิสเต็มลำโพงเซอร์ราวด์รูปแบบอื่นๆ แถมประหยัดที่ ไม่ต้องลากสายลำโพงยาวๆ ดูไม่เกะกะห้อง เหมาะกับมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มสั่งสมประสบการณ์กับระบบโฮมเธียเตอร์ครับ

*อ่านต่อหน้า 2 – หากเพิ่มงบอีกนิด เลือกระบบ 7.1 หรือ 5.1.2 จะได้อะไรที่ดีขึ้น?*

(ยังไม่ได้ใส่ลิงค์)