14 Dec 2019
Article

Sony A9G VS LG C9 | ศึก OLED TV รุ่นที่ดีที่สุดแห่งปี ???


  • lcdtvthailand

คำถามยอดฮิตว่าจะซื้อทีวีหากไปจะไปให้สุดกับทีวี OLED เลือกซื้อระหว่าง Sony A9G หรือ LG C9 ดี ? เพราะผลรีวิวออกมาดีทั้งคู่ แถมสำนักรีวิวเมืองนอกก็ตัดสินกันแบบได้คนหละหมัด ผลัดกันเข้าวิน วันนี้ผมจะสรุปแบบละเอียดด้วยมาตรฐานการทดสอบภาพและเสียงแบบ LCDTVTHAILAND ซึ่งอิงจากสถาบันภาพอย่าง ISF/THX/PVA พร้อมแชร์ประสบการณ์การใช้งานจริง ย้ำว่า “ใช้งานจริง” เพื่อให้ทราบจุดเด่นและข้อจำกัดของแต่ละตัวนะครับ

> คลิ๊กอ่านรีวิว Sony 65A9G

> คลิ๊กอ่านรีวิว LG 65C9

ภาพ | Picture

แนวภาพ : คาแรกเตอร์ภาพก่อนปรับภาพจะเทไปคนละทิศทางซักนิดนึง Sony จะเป็นแนว Studio Look เป็นธรรมชาติ สุขุม ลุ่มลึก คล้ายจอ Studio Monitor อ้างอิงของตัวเอง ในขณะที่ LG จะดูเปิดสว่าง รุกเร้า โดดเด้ง อย่างไรก็ตามเมื่อปรับจูนภาพให้ถูกต้อง ทั้งคู่จะมีคาแรกเตอร์ภาพที่ใกล้เคียงกันมากยิ่งขึ้น

ภาพของ Sony จะสุขุมนุ่มลึก ส่วน LG จะเปิดสว่าง

ความสว่างสูงสุด : LG C9 จะได้เปรียบเพราะสว่างเกิน 800 nits ++ ส่วน Sony จะทำได้ราว 600 nits ++  เมื่อเร่งความสูงสุดให้ LG ภาพจะดูเปิดสว่างกว่า Sony ซักครึ่งก้าว ส่งผลให้พวกแสง HDR ดูเจิดจรัสกว่า เพราะทำ HDR Tone Mapping ระหว่างคอนเทนต์กับจอแสดงผลได้ในสเกลที่กว้างกว่า ส่วน Sony จะกำหนดเพดานไว้ประมาณนี้ จึงจะออกแนวสุภาพ ดูสบายตา ไม่เน้นรุกเร้าขนาดนั้น

สังเกตได้ว่าความสว่างของ LG จะมากกว่า
หากชม Netflix Sony จะมี Netflix Calibrated Mode มาให้ด้วย

ความดำ : ขึ้นชื่อว่า OLED เม็ดพิกเซลทั้ง 8.29 ล้านพิกเซลจะเปิด/ปิดตัวเองได้ทุกเม็ด ทำให้สร้างระดับความดำได้ดำสนิท 100% ทั้งคู่ จะต่างกันเล็กน้อยที่ Sony จะคุมระดับความดำสนิทของพื้นหลังของคอนเทนต์ Dolby Vision HDR ใน Netflix ในทุกโหมดภาพได้เนียนสะอาดกว่า LG ซักขยักนึง

สีสัน : Sony เน้นเป็นธรรมชาติ ใสกิ๊ง ลุ่มลึก น้ำหนักสีเป็นแบบพอดีๆไม่มีโดด ส่วน LG จะได้น้ำหนักสีที่อิ่มแน่น เตะตา เร้าใจ

โมชั่นภาพเคลื่อนไหว : เดิมที Sony จะเด่นจุดนี้แบบไร้คู่แข่ง แต่ในปีนี้เมื่อปรับระดับ TruMotion ของ LG ให้ถูกต้องตามที่รีวิวแนะนำไป บอกได้เลยว่าจับชนได้แล้ว ไม่หนีกัน

อัพสเกล : ดีใช้ได้พอๆกัน ดูพวกคลิป Full HD / HD คมกำลังดี แถมมีตัวช่วยเช่นการเพิ่มระดับ Sharpness ให้พอเหมาะหรือเปิดตัวช่วยอย่าง Reality Creation ช่วยให้ภาพองค์รวมดูชัดขึ้น

การอัพสเกลไม่หนีกัน โทนภาพไม่ต่างกันมาก

เล่นเกมส์ : LG ให้ค่า Input Lag ที่ต่ำกว่าอยู่ประมาณ 13.3 – 33 ms เท่านั้น ที่มีช่วงแปรผันเพราะต้องเปิดรอไปซักระยะก่อนค่าจะค่อยต่ำลงเรื่อยๆเอง ซึ่งโดยรวมยังตอบสนองได้ไวกว่า Sony ขยักเล็กๆซึ่งมีค่าอยู่ประมาณ 26.5 ms แต่ต้องเปิด Game Mode ทั้งคู่ด้วยนะ (หมายเหตุ – ค่า Input Lag ควรต่ำกว่า 40 ms = ถือว่าตอบสนองได้ฉับไว ซึ่งทั้งคู่ทำได้ดีมาก)

เสียง | Sound

Sony จะยืนหนึ่งเรื่องนี้ ลำโพง Acoustic Surface กำลังขับ 80 Watts ยิงเสียงออกจากหน้าจอ มีความอิ่มแน่น เบสเป็นลูกชัดเจน สเกลเสียงใหญ่โตโอ่อา เปิดเทียบแล้วขี่เจ้าอื่นแทบทุกตัว ไม่ต้องซื้อลำโพง Soundbar เสริมยังได้ ส่วน LG จะเป็นแบบ Down Firing กำลังขับ 40 Watts ยิงเสียงลงล่าง สเกลเสียงก็หลดหลั่นลงมา จริงๆคุณภาพก็ถือว่าดีนะหากเทียบกับลำโพงยิงลงล่างด้วยกัน โดยทั้งคู่สามารถเอาต์พุตเสียง Dolby Atmos แบบ Bit Rate สูงทาง HDMI eARC ไปยังชุดแอมป์หรือ Soundbar ได้

กำลังขับ และคุณภาพเสียงของ Sony A9G ดีมาก
จนสามารถใช้แทนลำโพงเซ็นเตอร์ได้เลย

การเชื่อมต่อ | Connectivity

หากดูผิวเผินจะดูสูสีทั้งคู่ คือมีชนิดละจำนวนพอร์ทเชื่อมต่อสายสัญญาณที่ใกล้เคียงกัน ต่อบลูทูธไร้สายได้ทั้งคู่ แต่ !!! LG จะมีคุณสมบัติของ HDMI 2.1 หลายประการ ทั้ง VRR, ALLR และ eARC อนาคตน่าจะรับสัญญาณ 4K 120Hz ได้ด้วย ส่วน Sony แม้จะมี eARC เพิ่มเข้ามา แต่ยังคงอิงคุณสมบัติ เวอร์ชั่น HDMI 2.0 อยู่ดี

HDMI ของ LG C9 มีคุณสมบัติของ HDMI 2.1

สมาร์ททีวี | Smart TV

เป็นหัวข้อที่สำคัญอย่างยิ่งยวด ทว่าหลายสำนักมักละเลยการทดสอบ แล้วไปให้น้ำหนักเรื่องคุณภาพของภาพเพียงอย่างเดียว ที่ว่าสำคัญเพราะมันคือ “การใช้งานจริง” ในการหาคอนเทนต์โปรดไม่ว่าจะเป็นหนัง, ละครซีรีส์, กีฬา และ เกมส์ มาเสพบนจอ แปลง่ายๆคือ “ประตูสู่ความสุข” นั่นเอง ซึ่งเป็นการปะทะกันระหว่างความไฮเทคของ Sony Android 9.0 VS การใช้งานง่ายเว่อร์วังของ LG ThinQ AI (webOS) !

แอพส์ : ขอยกให้ Android TV เข้าวิน จะมีทั้งคุณภาพและปริมาณของแอพส์เยอะที่สุด ล่าสุดมีพวก LINE TV เข้ามาอีก แบบเสียงตังค์ก็มี โดยเฉพาะเกมส์ที่ต่อจอย PS4 Dual Shock เล่นแบบไร้สายได้ด้วย จะลงแอพส์เสริม .apk แบบเล่นแร่แปรธาตุก็ทำได้ ส่วน LG ก็จะมีพอประมาณ คัดแอพส์วีดีโอคอนเทนต์หลักมาให้ครบ มีแอพส์เกมส์แบบเบสิคที่ใช้ Magic Control มาเล่นแก้เบื่อให้นิดหน่อย

Android OS ระบบที่มีแอพฯ หลากหลาย

รีโมท : LG Magic Remote ยืนหนึ่ง เคลื่อนไหวอิสระแบบแอร์เมาส์ด้วยลูกศรตัวใหญ่ จัดว่าใช้ง่ายที่สุดในสามโลก ส่วน Sony ถึงแม้จะอัพหน้าตารีโมทมาใหม่พร้อมการเชื่อมต่อแบบบบลูทูธ แต่ความสามารถจริงยังแอบเดิมๆ ผ่าม !!

การใช้งาน : หากเน้นใช้งานง่าย LG webOS เขาวินแบบเต็มๆ แถบเมนูหลักดูง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้เคียงคู่ Magic Remote เด็กใช้ได้ผู้ใหญ่ใช้ดี ส่วน Android จริงๆมันก็ไม่ยาก…แต่ก็ไม่ง่ายขนาดนั้น เด็ก สตรี และคนชรา ต้องเรียนรู้ซักพักหากจะเจาะลึก เพราะมันมีรายละเอียดปลีกย่อยเชิงเทคนิคมากกว่านั่นเอง

Magic Remote รีโมทที่สามารถเปลี่ยนเป็น Air Mouse ได้
รีโมทของ Sony แบบใหม่

สั่งงานทีวีด้วยเสียง : Sony A9G คือทีวีที่ไฮเทคและฉลาดล้ำที่สุด รองรับคำสั่งเสียงไทย/อังกฤษได้ค่อนข้างแม่นยำ ช่วยให้เข้าถึงคอนเทนต์โปรดได้ง่าย มีรูไมโครโฟนฝังอยู่หน้าเครื่อง พูดสั่งใส่ทีวีโดยตรงได้เลยแบบแฮนด์ฟรี หรือจะพูดใส่รีโมทก็ได้เหมือนกัน แถมยังรองรับการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Smart Device ภายนอก เช่น หลอดไฟอัจฉริยะ ผ่าน Google Assistant ได้อีกด้วย ใช้ทีวีเป็น Control Center คุมทุกสรรพสิ่งได้เลย | ส่วน LG C9 จะสั่งผ่านไมโครโฟนบนรีโมทได้อย่างเดียว รองรับภาษาไทยได้ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทว่าความแม่นยำก็จะเป็นรองซักหนึ่งขยัก 

เชื่อมต่อมือถือ : Android 9.0 มี Chromecast รองรับการ Cast จากแอพวีดีโอหลากหลายจากมือถือทั้ง Android/iOS เช่น YouTube, Netflix , Line TV (ละคร วาไรตี้), True ID (บอลพรีเมียร์ลีก), BeIn Sports Connect (บอลสเปน), AIS Play (หนังและซีรีส์) หรือแม้กระทั่งแอพดูมวยปล้ำ WWE ส่วนสาวก Apple เมื่ออัพเดทเป็น Android 9.0 แล้วก็สามารถใช้งาน Airplay ที่ติดมากับเครื่องได้เลย | ส่วน LG ThinQ AI จะรองรับการ Cast แอพส์หลักอย่าง YouTube และ Netflix อย่างเดียว เสริมด้วย Airplay จาก Apple อย่างเป็นทางการมาให้แล้ว รองรับการโคลนภาพบนหน้าจอ iPhone/iPad ไปแสดงบนจอทีวีได้ค่อนข้างสมบูรณ์

LG C9 รองรับ AirPlay แล้ว
Sony A9G มี Chromecast ในตัว

อัพเกรด OS : ตามหลักแล้วระบบปฏิบัติการ Android จะรองรับการอัพเกรดไปอีกถึง 3 เวอร์ชั่นข้างหน้า เช่น 9.0 => 10.0 => 11.0 ทว่า ThinQ AI ที่มีพื้นฐานเป็น webOS น่าจะจบที่ปีต่อปีเฉกเช่นรุ่นที่ผ่านๆมา\

ดีไซน์ | Design

ด้านหน้า : สวยและมีประโยชน์กันคนละแบบ ฟาก Sony เรียบหรูแบบ Minimal เหมือนมีกระจกแผ่นเดียววางเอาไว้ ข้อจำกัดมันจะแนบชิดชั้นวางมากๆอาจจะเสริมซาวด์บาร์ลำบากนิดนึง แต่ก็แลกกับความสามารถที่ยิงเสียงคุณภาพสูงออกจากหน้าจอโดยตรงแต่แรก ส่วน LG ก็จะเรียบหรูแบบ Solid ตัววัสดุดูหรูหราไฮเอ็นด์ มีขาตั้งสี่เหลี่ยมคางหมูยกตัวจอสูงขึ้นมาเล็กน้อย 

ดีไซน์ของ Sony 65A9G
ดีไซน์ของ LG 65C9

ด้านหลัง : LG จะดูสวยหรูด้วยผิวโลหะขัดมัน ส่วน Sony จะเปนผิวสีดำด้านลายตารางหมากฮอส และมีฝาปิดโซนช่องต่อถึง 4 ชิ้น ช่วยซ่อนสายสัญญาณให้ดูสะอาดตาขึ้น

ด้านหลังของ Sony 65A9G
ด้านหลังของ LG 65C9

ราคา | Price

ราคาเปิดตัวของทั้งสองรุ่นนี้เท่ากัน แต่ราคาขายจริง LG จะถูกกว่านิดๆหน่อยๆ ทั้งไซส์ 55”/ 65” ส่วนประกันจะอยู่ที่ 3 ปีเท่ากัน

สรุป | Conclusion

เป็นปีแรกที่ขอตัดสินให้ Best OLED TV มีผลออกมาที่ “เสมอกัน” ไม่ได้กั๊กนะ แต่ครั้นให้ทีมนักรีวิวแต่ละคนเลือกตัวที่ดีที่สุดในใจ ก็ยังเสียงแตกออกมาเท่ากันอยู่ดี เพราะประสิทธิภาพในแต่ละด้านมันคู่คี่กันเหลือเกิน ต่างจากปีสองปีที่ผ่านมาที่ยังมีปัจจัยรองที่มาช่วยตัดสินเมื่อปัจจัยหลักดันเทียบเคียงกัน เช่นคุณภาพของภาพสูสีแบบหายใจรดต้นคอ แต่ระบบสมาร์ทและระบบเสียงยังห่างชั้นกันมาก

สองรุ่นนี้ภาพสูสีกินกันยากจริงๆ

ฟันธงให้ว่าคุณภาพของภาพดีเลิศทั้งคู่ จะต่างที่คาแรกเตอร์ภาพนิดหน่อย ชอบธรรมชาติ สุขุม ลุ่มลึก ก็ Sony หากชอบสดสว่าง ซู่ซ่า บ้าพลังหน่อยก็ LG ส่วนระบบสมาร์ทก็เป็นการเปิดหน้าแลกระหว่างความล้ำสุดขีดจาก Android 9.0 พร้อม Google Assistant กับการใช้งานง่ายเวอร์วังของ ThinQ AI พร้อมเมจิครีโมท ซึ่งถือว่าดีคนละมุมทั้งความความไฮเทค VS เป็นมิตรกับผู้ใช้ สรุปแล้ว “คุณภาพ” ดีเลิศสูสีกันกันทั้งคู่ (Reference) จึงอยากให้ใช้ “ลักษณะการใช้งาน” และ “ความชอบ” (Preference) เป็นตัวตัดสินเลือกทีวี OLED TV ให้เหมาะกับตัวเราครับ