08 Mar 2016
Article

DTS:X มาแล้ว !!? เตรียมความพร้อมโฮมเธียเตอร์ให้รองรับระบบเสียงใหม่นี้กัน


  • lcdtvthailand

DTS:X มาแล้ว !!?
เตรียมความพร้อมโฮมเธียเตอร์
ให้รองรับระบบเสียงใหม่นี้กัน

ทั้ง Dolby และ DTS ต่างก็พยายามเป็นผู้กำหนดมาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางยุคใหม่สำหรับคอนเทนต์ภาพยนตร์ และในเมื่อ Dolby นำเสนอระบบเสียงใหม่ คือ Dolby Atmos แล้ว มีหรือที่ DTS จะอยู่เฉย… วันนี้เรามาทำความรู้จัก DTS:X ระบบเสียงรอบทิศทางใหม่ถอดด้ามของ DTS นี้ ก่อนใช้งานจริงกันดีกว่า

เหตุใดทั้ง Dolby และ DTS จึงต้องพยายามคิดค้นพัฒนาระบบเสียงรอบทิศทางใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต้องการทลายข้อจำกัดของระบบเสียงเดิมๆ ซึ่งยังให้เสียงโอบล้อมได้ไม่ครอบคลุมดีนัก ซึ่งแนวคิดในการพัฒนาระบบเสียง Dolby Atmos ของทาง Dolby นั้น ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ ทำความรู้จัก Dolby Atmos มาตรฐานระบบเสียงรอบทิศทางใหม่ เพื่อการรับชมภาพยนตร์

จุดเด่นของ DTS:X?

ว่ากันตามตรง ระบบเสียงใหม่ของทั้ง Dolby และ DTS ดูจะใช้พื้นฐานเดียวกัน คือ อาศัยจุดเด่นของเทคโนโลยีดิจิทัลเซอร์ราวด์ยุคใหม่ที่เรียกว่า “Object-based audio” โดย DTS:X จะใช้ชื่อเรียกการเข้ารหัสเสียงแบบใหม่นี้ว่า MDA หรือ Multi-dimensional Audio ซึ่งศักยภาพของ Object-based audio มีความพิเศษ คือ สามารถเก็บข้อมูลทั้งตำแหน่งทิศทาง เวลา และระดับเสียงที่มีความซับซ้อนในขั้นตอนการมิกซ์ และนำไปเล่นกลับผ่านระบบลำโพงรอบทิศทางในโรงภาพยนตร์หรือโฮมเธียเตอร์ได้อย่างยืดหยุ่น

ความยืดหยุ่นของ Object-based audio นี้ ส่งผลชัดเจนในแง่ที่ระบบฯ สามารถนำเสนอสนามเสียงโอบล้อมได้หลายมิติ มิได้จำกัดทิศทางที่มาจากด้านหน้า ด้านข้าง และ/หรือด้านหลัง (อ้างอิงแนวแกน X-Y) เหมือนระบบเสียงยุคก่อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึง “มิติด้านสูง” (เพิ่มเติมแกน Z) เหนือศีรษะผู้ฟังด้วย การนำเสนอเสียงรอบทิศทางจึงเปลี่ยนจากเดิมที่มีเพียงแค่ 2 มิติ บัดนี้ครอบคลุมถึง 3 มิติ !

ระบบเสียง DTS:X ต้องการลำโพงจำนวนกี่แชนเนล?

ระบบเสียงรอบทิศทางยุคใหม่ที่ใช้พื้นฐาน Object-based audio (ทั้ง DTS:X, Dolby Atmos และ AuroMax) จะไม่มีการกำหนดจำนวนแชนเนลลำโพงตายตัวเหมือนระบบเสียงยุคก่อนที่ใช้การอ้างอิงบันทึกเสียงแบบ Channel-based audio (อาทิ DTS-HD MA, Dolby TrueHD, Auro-3D, ฯลฯ)

ที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก ศักยภาพของ Renderer (หรือภาคถอดรหัส) ในระบบ Object-based มีความยืดหยุ่นสูง จึงสามารถ mapping ทิศทางเสียงให้สัมพันธ์กับจำนวนและตำแหน่งลำโพงที่ผู้ใช้มีอยู่ได้หลากหลาย ดังนี้ ไม่ว่าจะติดตั้งใช้งานลำโพงเพียง 7.1 แชนเนล (5.1.2) ไปจนถึง 11.1 แชนเนล (7.1.4, 9.1.2)* หรือมากกว่า ก็จะยังได้รับอานิสงส์การถ่ายทอดทิศทางเสียงโอบล้อมแบบ 3 มิติจาก Object-based audio เหมือนๆ กัน

จำนวนแชนเนลลำโพงที่มากกว่า จะได้อะไรที่ดีกว่า? จำนวนแชนเนลลำโพงที่มากกว่าได้เปรียบในแง่การถ่ายทอดทิศทางเสียงจะมีความความละเอียดลออต่อเนื่องสมจริงมากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่าขอบเขตสนามเสียงจะขยายครอบคลุมพื้นที่รับฟัง (Sweet-spot) ได้กว้างขวางกว่าด้วย

หมายเหตุ * : เป็นจำนวนแชนเนลลำโพงอ้างอิงจากความสามารถของ AVR ปัจจุบัน ในทางทฤษฎีระบบ Object-based audio สามารถรองรับจำนวนแชนเนลลำโพงได้มากกว่านี้ อาจมากถึง 34 แชนเนล (ในระบบโฮมเธียเตอร์) และ 64 แชนเนล (ในระบบโรงภาพยนตร์) เลยทีเดียว

จะติดตั้งลำโพงรอบทิศทาง ให้รองรับระบบเสียง DTS:X อย่างไรดี?

คำโฆษณากล่าวอ้างหนึ่งจากทาง DTS คือ ความพิเศษของ MDA ที่เหนือกว่าระบบ Object-based audio อื่นใดนั้น ส่งผลให้ DTS:X ไม่ต้องการลำโพงพิเศษ หรือรูปแบบการติดตั้งตำแหน่งลำโพงตายตัว

จะใช้งานลำโพง 5.1/7.1 เดิมๆ (ไม่มีลำโพงด้านสูงโดยเฉพาะ) ไปจนถึงการอ้างอิงตำแหน่งลำโพงตามมาตรฐานระบบเสียงยุคใหม่ของคู่แข่ง อย่าง Dolby Atmos หรือ Auro-3D (ซึ่งต้องเพิ่มเติมลำโพงด้านสูงเข้ามา) หรืออาจเป็นรูปแบบจัดวางลำโพงที่ไม่เข้ากับมาตรฐานใดเลย DTS ก็เคลมว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมจากระบบเสียง DTS:X…!?

คำกล่าวอ้างข้างต้นอาจฟังดูโอเวอร์ไปหน่อย แต่ถึงกระนั้นมันก็บ่งบอกถึงความยืดหยุ่นของภาคถอดรหัสเสียง DTS:X ที่ช่วยลดทอนปัญหาความยุ่งยากและสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้เมื่อทำการปรับเปลี่ยนย้ายตำแหน่งลำโพง หรือต้องเพิ่มเติมลำโพงพิเศษเข้ามาได้เป็นอย่างดี และแน่นอนว่าจะช่วยแก้ปัญหาสงครามฟอร์แม็ตลงได้เปราะหนึ่งด้วย

ทว่าในวงการโฮมเธียเตอร์เวลานี้มิได้มีแค่ระบบเสียง DTS:X เท่านั้น… ถ้าเรายังต้องแคร์ระบบเสียงอื่น อย่าง Dolby Atmos หรือ Auro-3D ที่ต้องการตำแหน่งการจัดวางลำโพงตายตัวตามแบบฉบับของตัวเอง ย่อมจะเลี่ยงการจัดวางลำโพงตามมาตรฐานเหล่านั้นไปเสียมิได้

1.) หากอ้างอิง AVR ในปัจจุบัน (2015 – 2016) รูปแบบลำโพง (Speaker Configurations) ที่ผู้ใช้สามารถกำหนดเพื่ออิงการใช้งานร่วมกับ Dolby Atmos หรือ Auro-3D เป็นดังนี้ (ทุกรูปแบบรองรับการใช้งานร่วมกับระบบเสียง DTS:X)

1.1) Dolby Atmos ในภาพแสดงจำนวนลำโพงสูงสุด (7.1.4 แชนเเนล) ที่ Dolby Atmos AVR ในปัจจุบันรองรับ ในการใช้งานจริงอาจลดจำนวนลำโพงลงได้ตามความเหมาะสม

ข้อสังเกต: แม้มิได้อยู่ในข้อกำหนดของทาง Dolby แต่สามารถใช้งานลำโพงแบบ Front Height ร่วมกับระบบเสียง Dolby Atmos ได้ (จะกล่าวถึงต่อไป)

1.2) Auro-3D ในภาพแสดงจำนวนลำโพงสูงสุด (10.1 แชนเนล) ที่ Auro-3D AVR ในปัจจุบันรองรับ ในการใช้งานจริงอาจลดจำนวนลำโพงลงได้ตามความเหมาะสม

ข้อสังเกต: ระบบ Auro-3D ไม่รองรับรูปแบบลำโพง Top Surround (Top Front, Top Middle, Top Rear) และ Dolby Atmos Enabled Speakers ที่ทาง Dolby แนะนำให้ใช้งานกับระบบเสียง Dolby Atmos

2.) แต่หากจะให้รองรับทั้ง Dolby Atmos และ Auro-3D พร้อมๆ กัน (แน่นอนว่ารองรับ DTS:X ด้วย) จะมีไหม? คำตอบคือมี หากอ้างอิงความสามารถของ AVR ในปัจจุบัน จะมีเพียงรูปแบบเดียว ตามรูปด้านบน ซึ่งเป็นการใช้งานลำโพง Front Height ของ Auro-3D ร่วมกับ Dolby Atmos

จะเห็นว่า ถ้าต้องการดึงศักยภาพของระบบเสียง Dolby Atmos หรือ Auro-3D ออกมาอย่างเต็มที่ อาจต้องตัดใจทิ้งความรักพี่เสียดายน้องแล้วเลือกหนทางแน่วแน่ตามข้อ 1.1) หรือ 1.2) จะให้ผลลัพธ์ที่ลงตัวเต็มศักยภาพของระบบเสียงนั้นๆ มากกว่า หรือไม่อาจต้องรอดูอนาคตว่าจะมี “จุดบรรจบ” ของมาตรฐานลำโพงอื่นใดที่สามารถใช้งานร่วมกันทุกระบบเสียงได้ดีกว่านี้อีกหรือไม่

การรับฟังระบบเสียง DTS:X ต้องการอุปกรณ์ใดบ้าง?

1.) อุปกรณ์สำคัญที่สุด คือ AV Receiver หรือ AV Processor ที่มีภาคถอดรหัส DTS:X ซึ่งเริ่มทยอยวางตลาดแล้วหลายรุ่นตั้งแต่ปลายปี 2015 โดยจะต้องทำการอัพเดทเฟิร์มแวร์เสียก่อน ซึ่งปัจจุบันหลายยี่ห้อเริ่มทยอยให้ดาวน์โหลดไปอัพเดทกันแล้ว สำหรับรายชื่อ DTS:X (Upgradable) AVR มีดังนี้

อ้างอิงข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ผู้ผลิต Jul. 2016
อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้สำหรับรุ่นที่ยังไม่มีการเปิดตัวในประเทศไทย

2.) Player ในส่วนของเครื่องเล่นไม่ได้มีความต้องการระบบฮาร์ดแวร์ที่พิเศษกว่าเดิมจึงไม่มีความจำเป็นต้องซื้อใหม่ ข้อสังเกตเบื้องต้น คือ หาก BD Player หรือ HD Player ที่ท่านใช้งานอยู่เวลานี้สามารถ Bitstream ระบบเสียง DTS-HD MA ได้ ก็จะสามารถ Bitstream ระบบเสียง DTS:X ได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดีในอนาคตอันใกล้เราอาจเห็นระบบเสียง DTS:X มาพร้อมกับฟอร์แม็ต “4K/UHD Blu-ray” กรณีนี้คงต้องอัพเกรดเปลี่ยนเครื่องเล่นใหม่เพื่อให้รองรับกับระบบภาพความละเอียดสูงแบบ 4K/Ultra HD (พร้อมทีวีความละเอียด 4K) เสียก่อน จึงจะรับชมได้อย่างสมบูรณ์ครับ

ตัวอย่างชุดลำโพง Klipsch Reference Premiere ที่มาพร้อมเทคโนโลยีถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูง
แบบ Dolby Atmos Enabled Speakers ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกับระบบเสียง DTS:X ได้ด้วย

3.) Surround Speaker Set อันที่จริงระบบลำโพง 5.1/7.1 เดิมๆ ที่ใช้งานแพร่หลายกันอยู่ทุกวันนี้ สามารถใช้รับฟังระบบเสียง DTS:X ได้เช่นเดียวกัน (ตามคำกล่าวอ้างของ DTS) แต่ถ้าต้องการประสิทธิภาพการถ่ายทอดมิติเสียงด้านสูงที่ชัดเจน ก็จำเป็นต้องเพิ่มเติมแชนเนลลำโพงด้านสูงเข้ามาด้วย ซึ่งสามารถใช้งานร่วมกับลำโพง Top Surround (ฝัง/แขวนฝ้าเพดาน) และ Dolby Atmos Enabled Speakers ที่ใช้ในระบบ Dolby Atmos หรือ Front Height/Rear Height ที่ใช้ในระบบ Auro-3D ได้ทั้งสิ้น

4.) DTS:X Content ปัจจุบันคอนเทนต์ระบบเสียง DTS:X อาจจะยังมีจำนวนน้อย แต่ไม่ถึงกับหาไม่ได้ ที่แนะนำให้หามาทดลองก่อนได้ คือ DTS Demo Disc 2015 (Vol.19) และล่าสุด 2016 (Vol.20) แผ่นทดสอบระบบเสียงของทาง DTS นั่นเอง นอกเหนือจาก DTS-HD MA 7.1 แล้ว ในแผ่นนี้จะมีระบบเสียง DTS:X ให้ลองกันด้วย ส่วนภาพยนตร์ Blu-ray เบื้องต้นมีรายนามดังนี้

ที่วางแผงแล้ว ได้แก่ American Ultra, The Big Short, Crimson Peak, Daddy”s Home, Ex Machina, The Last Witch Hunter (มีทั้งเวอร์ชั่น Full HD BD และ UHD BD)

ที่กำลังจะวางตลาด อาทิ Ip Man 3, Zoolander No. 2, Gods of Egypt (Full HD 2D & 3D BD และ UHD BD), Independence Day (UHD BD), London Has Fallen เป็นต้น และแน่นอนว่าคงจะมีคอนเสิร์ตทยอยตามออกมาด้วยเช่นกัน

สำหรับประสิทธิภาพจากระบบเสียง DTS:X จะเป็นเช่นไร ดีสมกับที่รอคอยหรือไม่? ทีมงานจะทยอยรายงานผลจากบททดสอบ DTS:X AV Receiver ในโอกาสต่อไปครับ…

by ชานม !

3/2016