15 Dec 2015
Event

Unseen Japan : บุกสำนักงานใหญ่ Pioneer และโชว์รูม Onkyo แดนญี่ปุ่น เจาะลึกนวัตกรรมสินค้าก่อนใคร


  • lcdtvthailand

“ญี่ปุ่น” ประเทศในฝันของชายไทยหลายท่าน เป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน แฟชั่น ตลอดจนสินค้าเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าใครเพื่อน หากพูดถึงวงการเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์บ้านเรา 2 แบรนด์ยักษ์ใหญ่จากแดนอาทิตย์อุทัยที่เราได้ยินชื่อกันมาแต่เด็กก็คงหนีไม่พ้น Onkyo และ Pioneer ในช่วงปี 2015 ที่ผ่านมาก็เกิดปรากฏการณ์การรวมตัวครั้งใหญ่ขึ้น (ยังกับคอนเสิร์ต) ทางบริษัท Onkyo ได้ร่วมเข้าถือหุ้นบริษัท Pioneer และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Onkyo Pioneer Corporation เท่ากับว่าเป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญในวงการภาพและเสียง ดังนี้เมื่อวันที่ 18-22 ตุลาคมที่ผ่านมาทาง บริษัท เซ็นทรัล เทรดดิ้ง จำกัดผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องเสียงแบรนด์ Onkyo และ Pioneer จึงได้เชิญพลพรรคสื่อมวลชนในวงการภาพและเสียงเดินทางลัดฟ้าไปยังมหานครโตเกียวเพื่อเข้าเยี่ยมชมทั้ง 2 บริษัท และรับทราบถึงทิศทางการดำเนินงาน ตลอดจนนวัตกรรมสินค้าใหม่ๆ เป็นโอกาสอันดีที่ผม “นายโรมัน” จะได้ร่วมสัมผัสสินค้าใหม่ก่อนใคร และเก็บภาพบรรยากาศตลอดทั้งทริปมาฝากแฟนเว็บทุกท่านครับ เชื่อว่าช่วยให้ท่านได้เห็นมุมมองใหม่ๆของทั้ง 2 บริษัท เพราะแต่เริ่มเดิมทีทางเว็บก็จะมีแต่การตะบี้ตะบันรีวิวสินค้าแบบเจาะลึกเพียงอย่างเดียว

Onkyo Pioneer Corporation

:::: Day 1 & 2 ::::

คณะเริ่มเดินทางแต่เช้าวันที่ 18 ตุลาคม จากสนามบินสุวรรณภูมิและมาถึงสนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นในช่วงเย็นใกล้ค่ำของวันนั้น กว่าจะเดินเดินทางเข้าโรงแรมย่านตลาดปลาซึกิจิก็เกือบหมดวันแล้ว รุ่งขึ้นทางคณะก็ได้เริ่มภารกิจเยี่ยมชม บริษัท Pioneer Corporation จำกัด ในวันที่ 19 ตุลาคม ใช้เวลาเดินทางโดยรถไฟใต้ดิน Tokyo Metro และไปต่อรถไฟบนดิน JR สิริรวมแล้วประมาณ 1 ชั่วโมงก็ถึงเมืองคาวาซากิซึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลจากโตเกียวมากนัก ทว่าได้กลิ่นอายความเป็นต่างจังหวัดอยู่มิน้อย สังเกตจากทุ่งหญ้าริมทางระหว่างนั่งรถไฟไปเหมือนดูรายงานเที่ยวญี่ปุ่นตามช้่อง True Visions ยังไงอย่างงั้น พอเข้ามาในอาณาเขต ไม่สิหรือจะเรียกอาณาจักรสำนักงานใหญ่ก็ได้เห็นตัวตึกขนาดใหญ่โตตั้งตระหง่านอยู่ตรงหน้า

สำนักงานใหญ่ของ Pioneer ตั้งอยู่ที่เมืองคาวาซากิ ไม่ไกลจากกรุงโตเกียว
ทางคณะผู้บริหาร Pioneer ออกมาต้อนรับคณะของพวกเราและให้เกียรติถ่ายรูปอย่างเป็นกันเอง
ส่วนโฉมหน้าค่าตาของสื่อมวลชนไทยที่ไปในทริปนี้ขอบอกว่าระดับ “บิ๊กเนม” ทั้งนั้นในวงการภาพและเสียง
บรรยากาศภายในโชว์รูมดูโล่งโปร่งสบาย
เริ่มสำรวจอาณาบริเวณภายในสำนักงานใหญ่ก็ไปปะกับอดีตทีวีที่ดีที่สุดในวงการ Pioneer – Kuro
Kuro อ่านว่า คุโระ แปลว่า “ดำ” เพราะว่า Kuro เป็น Plasma TV ที่ให้ระดับความดำได้ดีที่สุดในยุคนั้น
แต่น่าเสียดายที่ตอนนี้ยุติการผลิตไปหมดแล้ว คงเหลือแต่สินค้าหมวด Home Theater และ Audio
รูปปั้นของคุณมัทสึโมโต้ ผู้ก่อตั้ง Pioneer
ตู้โชว์ “ลำโพงชิ้นแรก” ของ Pioneer ที่ผลิตโดยผู้ก่อตั้งบริษัท คุณโนโซมุ มัตสึโมโต้
เชื่อไหมครับว่าเริ่มผลิตที่โรงรถเล็กๆในบ้านของเขาเอง เพียงก้าวเล็กๆก้าวนี้ก่อให้เกิดความยิ่งใหญ่อย่างไม่น่าเขื่อ

ก่อนที่ทีมงาน Pioneer จะเริ่มต้นการบรรยายไลน์อัพสินค้าของเขา ผมขอแนะนำประวัติของบริษัท Pioneer ให้ทุกท่านทราบพอสังเขป เริ่มต้นในปี 1938 โดยคุณโนโซมุ มันสึโมโต้ จากเพียงแค่การผลิตลำโพงในโรงรถเล็กๆที่บ้าน จนมาในปี 1947 ก็ได้จดทะเบียนก่อตั้งเป็น บริษัท Pioneer Corporation จำกัด โดยปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้าอยู่ที่เมืองไซตามะ ส่วนสำนักงานใหญ่ก็ตั้งอยู่ที่เมืองคาวาซากิ มีจำนวนพนักงานทั้งหมดกว่า 19,000 คน มียอดขายปีล่าสุดกว่า 501,676 ล้านเยน และนอกจากนี้ Pioneer ยังเป็นผู้ผลิต “เจ้าแรกของโลก” ในหลายหมวดสินค้าไม่ว่าจะเป็น LD Player, CD Player, Component Car Stereo , Projection Monitor, XGA Plasma TV, และรวมถึงเจ้า Kuro Plasma TV ขนาด 50″ กับความละเอียดระดับ Full HD เป็นต้น

:::: แนะนำสินค้าเรือธง ::::

เอาหละตอนนี้ทางทีม Pioneer ได้เชิญผมและคณะเข้าห้องทดสอบกันแล้ว โดยเจ้าห้องที่ว่านี้ถูกออกแบบและใช้วัสดุซับเสียงตามหลักอะคูสติกที่ถูกต้องเพื่อทดสอบระบบเสียงแบบจริงจัง รวมถึงการติดตั้งลำโพงบนเพดานเพื่อให้เสียงในระบบ Dolby Atmos ที่กำลังเป็นกระแสนิยมในช่วงนี้ โดยหมวดสินค้าแรกที่ทางญี่ปุ่นจะบรรยายและสาธิตคือ

1) AV Receiver : ปณิธานสูงสุดของ Pioneer ในการออกแบบ AV Receiver คือ “True Realism” ซึ่งคือ การถ่ายทอดภาพและสียงออกมาสมจริงมากที่สุดดั่งที่ผู้กำกับอยากจะให้เป็น  โดยรุ่นที่เขานำเสนอเป็นพิเศษคือรุ่นท็อปตัวเอ้ที่ได้รับรางวัล “ห้าดาว” จากนิตยสาร What HiFi ของฝั่ง UK อย่างรุ่น SC-LX88 ส่วนจุดเด่นได้แก่หลักการออกแบบแบบ Direct Energy Output ที่ผสมผสานหลักการภาคขยายแบบ Class D มีระบบปรับเสียงแบบ MCACC หรือ Multi Channel Acoustic Calibration System ที่จะคอยปรับเสียงและชดเชยเสียงลำโพงแต่ละแชนแนลให้แมตช์กับสภาพห้องที่ต่างกันไป ให้เสียงแต่ละย่านสอดประสานกันอย่างไร้รอยต่อ นอกจากนี้ยังมีระบบ WiFi Dual Band  รองรับการสตรีมมิ่งเพลง Hi-Res แบบไร้สายในคลื่นความถี่แบบ 2.4 GHz และ 5 GHz (สำหรับสตรีมเพลง Hi-Res ที่มีขนาดไฟล์ใหญ่) และยังรอบรับการเชื่อมต่อแบบ Bluetooth ด้วยเช่นกัน ส่วนระบบภาพมี 4K Video Scaler ที่ต่อยอดมาจากตัวเครื่องเล่น Blu-ray BDP-LX88 ที่รองรับการอัพสเกลภาพจาก HD/Full HD ให้เป็นระดับ 4K และทำได้สูงสุดคือ 4K 60p ยิ่งไปกว่านั้นยังรองรับคุณสมบัติแห่งอนาคตออย่าง HDR หรือ High Dynamic Range และมาตรฐานขอบเขตสีแบบใหม่ล่าสุดอย่าง BT.2020 เสียด้วย

ณ ห้องทดสอบของ Pioneer สัมผัสของจริงภาพจริงเสียงจริง
ตัวหลักในการทดสอบได้แก่ AV Receiver รุ่น SC-LX88 และ Blu-ray Player รุ่น BDP-LX88
AV Receiver รุ่นเรือธง SC-LX88 ราคาเปิดตัวอยู่ที่ 79,990 บาท
ด้านหลัง
ผู้บริหาร Pioneer แกยิ้มแฉ่ง Proud to Present แผงวงจรของ SC-LX88

2) Blu-ray Player : ฺBDP-LX88 เป็นเครื่องเล่นแผ่น Blu-ray ตัวท็อป ผมขอเริ่มสรุปจากที่ได้รับฟังบรรยายจากผู้บริหารชาวญี่ปุ่น เริ่มจากโครงสร้างการออกแบบ ตัวถังภายนอกแข็งแกร่งด้วยวัสดุโลหะ มีน้ำหนัก 13.4 กิโลกรัม ส่วนโครงสร้างภายในดูแน่นหนา เครื่องเคราถูกจัดเต็มไว้ภายใน ไม่ได้กลวงโบ๋เหมือนเครื่องเล่นราคาถูกตามท้องตลาดทั่วไป โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักได้แก่

1) Power Supply Block : ภาคจ่ายไฟ 

2) Digital Processing Block : ภาคดิจิตอลและตัวไดรฟ์บลูเรย์

3) Audio Circuit Block : ภาคอนาล็อก

ซึ่งเป็นปกติของเครื่องเล่นระดับไฮเอ็นด์ที่มีการแบ่งเป็นสัดเป็นส่วนแบบนี้เพื่อให้การทำงานและสัญญาณ “ไม่กวนกัน” ส่วนตัวขับเคลื่อนอย่าง BD Drive ก็มีโครงสร้างกันการสั่นสะเทือนเพื่อความสมบูรณ์ในการอ่านแผ่น ในแง่ของคุณภาพการเล่นเพลง มีการออกแบบในส่วนของ Power Supply ให้ตัวหม้อแปลงมีการชีลด์กันสั่นสะเทือนและลดสัญญาณรบกวนด้วยเคสโลหะเคลือบทองแดง โดยเจ้าหม้อแปลงที่ว่าจะจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ภาค Analog โดยตรง จึงได้ความสะอาดและความเสถียรของระบบไฟซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของเสียงอย่างยิ่งยวดทั้งเรื่องไดนามิกและความสงัดของแบ็คกราวนด์ ส่วนชิพ DAC : Digital to Analog Converter ก็ใช้ของ ESS Sabre 32 เบอร์ ES9018 อันเลื่องชื่อ พร้อมขั้วต่อแบบ XLR (Balanced) ส่วนระบบภาพถูกขับเคลื่อนด้วย Pixel Precise HD Engine ที่ช่วยยกระดับคุณภาพของภาพให้ดีขึ้น แถมยังช่วยรบสัญญาณรบกวนพวก Block Noise และ Mosquito Noise อีกด้วย ตัวเครื่องยังสามารถอัพสเกลสัญญาณภาพ Full HD ธรรมดาให้เป็น 4K ด้วยชิพประมวลผลที่มีชื่อว่า 4K Reference Converter การอัพสเกลสัญญาณภาพจะช่วยทั้งเรื่องการดึงรายละเอียดพื้นผิวให้ชัดแจ้งขึ้นและขัดเกลาขอบภาพให้เรียบเนียนขึ้นไร้ซึ่งรอยหยัก

BDP-LX88 หนึ่งใน Blu-ray Player ที่ดีที่สุด ณ นาทีนี้
สนนราคาเปิดตัวอยู่ที่ 39,900 บาท
ด้านหลังมี HDMI Out ให้ 2 ชุด และพอร์ท XLR และ RCA สำหรับฟังเพลงโดยเฉพาะ
ขั้วต่อทั้งหมดมีการ “ชุบทอง” คงถูกใจนักเล่นเส้นสายมิใช่น้อย
รูปโครงสร้างภายในที่แบ่งเป็น 3 ส่วนทั้ง 1) ภาคจ่ายไฟ 2) ภาคดิจิตอล 3) ภาคอนาล็อก
สังเกต “ลำโพงบนเพดาน” ถูกเซ็ตอัพไว้รองรับระบบเสียง Dolby Atmos
ซิสเต็มที่ใช้ทดสอบในวันนี้ทุกอย่างคือสินค้าในเครือ Pioneer 
ทั้ง TAD Speaker (ไฮโซนะเนี่ย) , Pioneer AV Receiver และ Pioneer Blu-ray Player
แผ่น Blu-ray Disc เรื่องต่างๆที่ Pioneer ใช้อ้างอิง ท่านไหนยังไม่มีแผ่นไหนรีบไปซื้อมาประดับบารมีซะ
หนังมิวสิคัลเรื่อง Chicago มีระบบเสียง Dolby Atmos ด้วยนะ
ผมเองรีบตามหาแผ่นนี้โดยด่วนเช่นกัน
ในเมื่อเครื่องเล่นพร้อมและแผ่นก็พร้อม จะรอช้าอยู่ใย เริ่มทดสอบสิครับพี่น้อง !

:::: ทดสอบ ::::

มาดูการทดสอบเสียงจริงภาพจริงกัน ทีม Pioneer เลือกเปิดหนังเรื่อง Jupiter Ascending ระบบเสียงเป็นแบบ Dolby Atmos แท้ๆ ซุ่มเสียงที่ได้ถือว่าให้มิติดีเยี่ยม การโยนเสียงจากแชนแนลสู่อีกแชนแนลทำได้เรียบเนียนไร้รอยต่อ เสียงจากลำโพงบนเพดานช่วยเสริมอรรถรสให้สมจริงในจังหวะยานบินฉวัดเฉวียนข้ามหัวไปข้ามหัวมา น้ำหนักเสียงหนักแน่นแบบพอดีๆ ไม่ได้ทำให้รู้สึกอึดอัด ปลายเสียงชัดเจนจะแจ้ง ความเห็นส่วนตัวได้อารมณ์มากกว่าดูโรงหนังบ้านเราด้วยซ้ำ ถัดไปเป็นหนังมิวสิคัลเรื่อง Chicago ที่มีทำเป็นเวอร์ชั่น Dolby Atmos ในฉากร้องเพลง Cell Block Tango โดยเจ๊แคทเธอรีน ซีต้าโจนส์  (แอบปลื้มในความสวยอมตะ) ทั้งซิสเต็มสามารถขับเคลื่อน “ความยิ่งใหญ่” ทั้งสเกลเสียงร้องและชิ้นดนตรีส่งตรงเข้าโสตสัมผัสของผมและสมาชิกร่วมทริป บีทเพลงและจังหวะเครื่องเคาะเครื่องเป่าเย้ายวนพลันให้ผงกหัวตามไปโดยมิรู้ตัว

ส่วนเรื่องภาพนี่คงไม่ต้องสาธยายถึงคุณภาพนัก จัดว่าใสสะอาด ให้สีสันสวยเป็นธรรมชาติ โมชั่นภาพเมื่อเล่นกับเครื่องฉายนี่ลื่นดีมาก ตอนแรกก็ตั้งสมมติฐานว่าการทำงานร่วมกันระหว่าง AV Receiver และเครื่องเล่น Blu-ray Player ซึ่งเป็น “แบรนด์เดียวกัน” น่าจะให้ผลลัพธ์ที่ดูลงตัวกว่า (ประหนึ่งนักฟุตบอลที่เล่นเข้าขากัน) ซึ่งก็มารู้ทีหลังว่ามันก็เป็นเรื่อง “จริง” หลังจากสอบถามทางวิศวกร เขาให้เหตุผลว่า Pioneer มีเทคโนโลยี PQLS ซึ่งหากใช้เครื่องเล่น Blu-ray Player กับ AV Receiver เข้าด้วยกัน การส่งผ่านสัญญาณดิจิตอลจะเป็นไปอย่างราบลื่นกว่ามากเพราะ PQLS จะช่วยลดทอนปัญหา Jitter ด้วยการปรับสัญญาณนาฬิกาหรือ Clock จากทั้ง 2 อุปกรณ์ให้ตรงกันทำให้คุณภาพภาพและเสียงที่ได้มีควาสมบูรณ์ยิ่งกว่า

หลังจากนั้นทีมงาน Pioneer ก็ได้เปิดเพลง Classic แบบ Hi-Res 96Hz/24Bit โดยนักประพันธ์ Tchaikovsky เพลง Souvenir De Florence. Op 70: I. Allegro Con Spirito ให้ทดสอบกันอย่างต่อเนื่องไปเลย โดยเล่นผ่าน USB ที่รองรับไฟล์ Hi-Res ในตัว ผลลัพธ์ที่ได้ให้เสียงที่โอ่อ่า เวทีเสียงกว้างขวาง เสียงรัวไวโอลินลื่นไหล ฟังสบายในขณะที่ยังคงความหนักแน่นไว้ได้ดี เห็นแบบนี้คำว่า Universal Player ถูกบัญญัติมาให้ BDP-LX88 ได้อย่างเต็มตัว ลบภาพเดิมๆว่า Blu-ray Player ต้องเอามาเล่นแผ่นหนังอย่างเดียวไปเสียจนหมดสิ้น โดยเจ้า BDP-LX88 รองรับการเล่นแผ่นแทบทกุรูปแบบตั้งแต่ BD, DVD, CD Audio, DVD Audio และ SACD และยังรองรับการเล่นมัลติมิเดียไฟล์ผ่านทาง USB อีกด้วย โดยเฉพาะไฟล์เสียง Hi-Res อย่าง FLAC, DSD, WAV, ALAC, AAC เหมาเข่งเล่นได้ทั้งหมด

:::: แล้วเลือกตัวไหนดีหละ ? ::::

สำหรับ Blu-ray Player ของ Pioneer ระดับไฮเอ็นด์นั้นมี 2 รุ่นด้วยกันได้แก่รุ่นท็อป BDP-LX88 ราคา 39,900 บา และรุ่นรองท็อปซึ่งก็คือ BDP-LX58 ราคา 20,900 บา เลยขอฟันธงให้ว่า หากงบประมาณไม่ใช่ปัญหา  อยากไปให้สุดทั้งการดูหนัง+ฟังเพลง LX88 คือคำตอบที่ดีที่สุด อย่างไรก็ตามหากเน้นดูหนังเป็นหลัก ไม่เน้นฟังเพลงมากนัก กับงบประมาณที่มีจำกัด LX58 จะเป็นตัวเลือกที่ให้คุณค่าสูงมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่จ่ายไป

:::: บทสรุป ::::

ทั้งเครื่องเล่น Blu-ray BDP-LX88 และ AV Receiver SC-LX88 ร่วมกันแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างน่าประทับใจ ซึ่งก็มิได้เกินความคาดหมายอะไรนักเพราะทีมวิศวกรชาวญี่ปุ่นของ Pioneer พี่แกเล่นใช้ “ของดี” เซ็ตอัพทุกอย่างให้ดูสมบูรณ์แบบที่สุด ไหนจะอะคูสติคของห้องที่เปรียบดั่งโรงภาพยนตร์ขนาดย่อม ผสานลำโพงเกรดไฮเอ็นด์อย่าง TAD  แต่ก็นั่นแหละที่ทำให้ผมได้มีโอกาสสัมผัสกับ “ศักยภาพที่แท้จริง” ของซิสเต็มนี้โดยปราศจากข้อจำกัดแม้แต่น้อย สุดท้ายก็ได้รับทราบถึงประสิทธิภาพสูงสุดจากทั้ง 2 อุปกรณ์รุ่นเรือธงที่พึงจะเผยออกมาได้ ด้วยคุณภาพระดับนี้ Pioneer จึงน่าจะกลับมา “ผงาด” ในตลาด Home Entertainment บ้านเราได้ไม่ยาก

หลังจากนั้นก็มีการนำเสนอสินค้าอีกหมวดได้แก่ 
3) Integrated Amplifier และ 4) เครื่องเล่น Hi-Res Audio Player ระดับ Hi-Fi 
สมาชิกร่วมทริปมีงัดเอาเพลง Hi-Res ส่วนตัวจากมือถือตัวเองมาร่วมทดสอบ 
และบ้างก็พกแผ่น CD เพลงไทยมาเพื่อฟีเจอริ่งกับเครื่องเสียงญี่ปุ่นโดยเฉพาะ
พลพรรคสื่อมวลชนไปรอช้ารีบเข้าไป “ไทยมุง” เจ้า Pioneer Integrated Amplifier กันอย่างใกล้ชิด
สุดท้ายมีการสาธิตเจ้า 5) Mini Component ซึ่งในปัจจุบันนี้การเล่นเพลงจาก CD Audio อย่างเดียว…
ไม่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าในยุคดิจิตอลแล้ว ทว่าความสามารถ
ในการเล่นเพลงผ่าน Mobile Device ต่างหากเข้ามามีอิทธิพลสำคัญในยุคนี้
ว่าแล้วก็เชื่อมต่อมือถือผ่าน Bluetooth และเล่นเพลงผ่าน iPhone ซะเลย

:::: แล้ว Onkyo VS Pioneer ??? ::::

สำหรับการทัวร์สำนักงานใหญ่ของ Pioneer ที่เมืองคาวาซากิซึ่งใช้เวลาเต็มวันก็สิ้นสุดลง ถือว่า”เต็มวัน” ก็ได้ “เต็มอิ่ม” กับระบบภาพและเสียงที่ไม่บ่อยนักจะได้สัมผัสแบบใกล้ชิดเช่นนี้ รวมถึงมีโอกาสถามคำถามเชิงเทคนิคกับวิศวกรชาวญี่ปุ่นโดยตรง ซึ่งก็ได้รับคำตอบคลายข้อสงสัยทุกประเด็น จึงนำข้อมูลมาเรียบเรียงเป็นบทความให้ทุกท่านได้อ่านกันนี่แหละ และอีกหนึ่งคำถามที่ผมและหลายท่านสงสัยมากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการรวมบริษัท Onkyo และ Pioneer จะมีผลกับสินค้าทั้ง 2 แบรนด์อย่างไร ? คำตอบคือแนวทางการออกแบบสินค้ายังไงก็แบรนด์ใครแบรนด์มัน ทีมออกแบบคนละทีม ปรัชญาการในการออกแบบต่างกัน บุคลิกของเสียงจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนกัน ท่านที่เล่นเครื่องเสียง Pioneer จะทราบดีกว่าบุคลิกเสียงของ Pioneer AV Receiver เสียงเบสจะออกดุดัน ฟังแล้วหนักแน่นตึงตังกว่า ส่วน Onkyo ให้ความละเมียดละไมไหลลื่น เสียงสดใส ฟังสบาย ทั้ง 2 แบรนด์จึงเป็น “ตัวเลือก” ที่ดีสำหรับลูกค้าที่มี “ความชอบแตกต่างกันออกไป” ในขณะที่ประโยชน์ที่ทั้ง 2 บริษัทได้รับไปเต็มๆก็คือเรื่อง Economy of Scale หรือชิ้นส่วนบางอย่างที่สามารถผลิตหรือใช้ร่วมกันได้ จะถูกผลิต/สั่งซื้อในปริมาณที่เยอะขึ้น = ต้นทุนก็จะถูกลง รวมถึง Technology Sharing การถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ซึ่งกันและกันเพื่อต่อยอดพัฒนาสินค้าให้ดีขึ้นกว่าเดิม ผู้บริโภคอย่างเราจึงมีแต่ได้กับได้ เอาหละตอนถัดไปจะพาไปเยี่ยมโชว์รูมของ Onkyo แบรนด์เครื่องเสียงที่ถูกจัดว่าเป็น “อันดับหนึ่งขวัญใจชาวเว็บ LCDTVTHAILAND” จะมีอะไรน่าสนใจบ้าง ? โปรดรีบคลิ๊กอ่านหน้า 2 โดยพลัน