17 Mar 2018
Event

มีอะไรใหม่ ?? เจาะลึก Samsung QLED TV 2018 และ The Wall ทีวีจอยักษ์ 146 นิ้ว


  • lcdtvthailand

7 มีนาคม 2018 “นายโรมัน” ได้รับหมายเชิญจาก Samsung ประเทศไทย ให้บินลัดฟ้าไปร่วมงานเปิดตัว QLED TV รุ่นใหม่ปี 2018 และ The Wall – Micro LED จอยักษ์ 146″ ที่มหานครนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งสื่อด้านภาพ-เสียงและเทคโนโลยีชั้นนำของโลกก็ล้วนมารวมตัวกันกันที่นี่ โดยงานจัดขึ้นที่ American Stock Exchange Building ใจกลางย่านธุรกิจในเกาะแมนฮัตตัน ผมจึงมีโอกาสเก็บภาพไฮไลท์และข้อมูลความรู้ใหม่มาฝากแฟนเว็บ LCDTVTHAILAND ทุกท่านเช่นเคย หรือท่านไหนขี้เกียจอ่านก็มุ่งตรงไปยังวีดีโอสรุปได้เช่นกัน (ฮา)

ชื่องานในวันนี้คือ The First Look 2018 ชื่องานก็แปลตรงตัว
แปลว่าทีมนักข่าวในห้องก็จะได้เห็นโฉม All New Samsung QLED TV 2018 ครั้งแรกและกลุ่มแรกก่อนใคร
บินลัดฟ้าสู่มหานครนิวยอร์ค ภาพมุมสูงนี้จากตึก One World Trade Center
พาทุกท่านเข้างานกันเลย Lets Go !

QLED TV คืออะไร ?

ต้องขอปูพื้นฐานก่อนว่ามันย่อมาจาก Quantum Dot LED คือ LED TV ที่ใช้เทคโนโลยี Quantum Dot มาช่วยอัพเกรดคุณภาพของภาพในด้าน “ความสว่างและสีสัน” ให้เหนือชั้นกว่า LED TV ทั่วไป ฉะนั้นหากต่อไปเราได้ยินศัพท์คำว่า QLED TV ก็ให้นึกเสมอเลยว่าเป็น “อีกขั้นของทีวีที่เหนือกว่า” ของ LED TV สามารถให้ระดับความสว่างที่เจิดจรัสและขอบเขตของสีสันที่กว้างและสดอิ่มขึ้น ในปีที่ผ่านมาการการทดสอบ QLED TV รุ่น Q9F ของ Samsung เองก็จัดว่าเป็นทีวีประเภท LED TV ที่ดีที่สุด วัดการแสดงผลทั้ง 2 ค่าด้วยเครื่องมือก็ทำได้ดีเกินหน้าเกินตาชาวบ้านอยู่พอสมควร เป็นการรันตีว่าเจ้าเทคโนโลยี Quantum Dot นี่สามารถช่วยให้ภาพ “ขึ้น จริงได้อีกสเต็ป

ระดับทีวี 4K ของ Samsung

1) QLED TV = ตัวไฮเอ็นด์ คุณภาพดีที่สุด เช่น Q9F Q8C Q7F Q6

* C = Cuvred จอโค้ง และ F = Flat จอตรง 

2)Premium UHD TV = ทีวี 4K ระดับพรีเมี่ยมกลางค่อนบน เช่นพวกซีรีส์ 8500, 8000 และ 7000

3)UHD TV = ทีวี 4K รุ่นเริ่มต้น พวกซีรีส์ 6000

มาในปี 2018 นี้ Samsung ยังคงสานต่อคำว่า QLED TV เฉกเช่นปีที่ผ่านมา เหตุเพราะเป็นตัวอักษรที่เข้าใจง่าย Q = Quantum Dot มีความหมายตรงๆไปเลย ไม่อ้อมค้อมอย่าง SUHD TV ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่หลายท่านยังคงหาคำตอบของคำว่า S มันย่อมาจากอะไรกันแน่ ? ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้กัน (ฮา) ซึ่งตัวที่ Samsung นำมาจัดแสดงแสงยานุภาพบนเวทีก็ได้แก่พระเอกอย่าง Q9F (จอตรง) และ Q8C (จอโค้ง)

จุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดคือทั้ง Q9F และ Q8C สองตัวท็อปอัพเกรดมาใช้โครงสร้างหลอดไฟกำเนิดแสงแบบ Full Array LED Backlight ซึ่งข้อดีคือสามารถดิมไฟเป็นโซนๆอย่างละเอียดเพื่อสร้างระดับความดำให้ดำสนิทขึ้นกว่าเดิม ตลอดจนการระเบิดพลังความสว่างได้แบบเต็มใบ ในขณะที่รุ่นรองมาอย่าง Q7F และ Q6F จะใช้หลอดไฟแบบ Edge LED คือติดตั้งหลอดไฟ LED ไว้ที่ขอบบนและล่างแทน เป็นโครงสร้างหลอดไฟที่นิยมที่สุด จะได้เรื่องโครงสร้างที่เรียบง่ายและระดับความบางเฉียบของตัวเครื่องแทน

QLED TV ปี 2018 มีทั้งหมด 4 ซีรีส์
Q9F (65”), Q8C (55”, 65”, 75”), Q7F (55”, 65”, 75”) และ Q6F (55”, 65”)
โครงสร้างหลอดไฟแบบ Full Array LED Backlight วางหลอดไฟ LED เต็มหลังจอ
ช่วยให้ดิมไฟเป็นโซนได้แม่นยำขึ้น สร้างระดับสีดำที่ดำสนิทขึ้น

ดีไซน์

ยังคงมาในคอนเซปต์เรียบหรู ทั้งจอตรงและจอโค้ง ที่ดีคือให้ออพชั่นขาตั้งแบบพิเศษทั้ง Gravity Stand ทรงกลมแนวอวกาศ และ Studio Stand ทรงสามแฉกแนวขาตั้งกรอบรูปในพิพิธภัณฑ์ มาให้เช่นเดิม หากอยากไปด้านอาร์ทให้สุดก็ต้อง 2 แบบนี้เป็นออพชั่นเสริม แต่ไฮไลท์ที่ทาง Samsung ภูมิใจนำเสนอคือการเชื่อมต่อสายสัญญาณแบบล่องหนด้วย One Invisible Connection สายไฟเบอร์ออพติคสีใสเส้นจิ๋วที่เชื่อมต่อกับกล่องศูนย์รวมช่องต่อ One Connect Box ซึ่งคราวนี้ไม่ได้ไม่ได้รวมแค่เพียงสายสัญญาณด้านภาพและเสียงไว้เพียงอย่างเดียว แต่ถึงขั้นผนวก “สายไฟ” เข้าไปด้วยได้แล้ว ดีไซน์คลีนมาก เปลี่ยนให้ด้านหลังทีวีนั้นโล่งของจริง ปราศจากเส้นสายกองรุงรังหลังเครื่อง

รูปนี้คือ Q9F รุ่นท็อปจอตรง เน้นดีไซน์เรียบหรู
หากเบื่อขาตั้งแบบเดิม ก็ลองอัพเกรดเป็น Gravity Stand ขาตั้งทรงกลมอวกาศ ปรับหมุนซ้าย-ขวาได้
สาย One Invisible Connection เวอร์ชั่น 2.0 
ยาวสุดได้ 15 เมตร (ซื้อเพิ่ม) ส่วนความยาว 5 เมตรแถมฟรีให้ในเซ็ต
ซึ่งคราวนี้ควบรวม “สายไฟ” ไว้ในนี้เส้นเดียวพร้อมกับ “สายสัญญาณ” ได้เลย
เป็น Solution “ซ่อนสาย” ขวัญใจสถาปนิกและช่างออกแบบภายในทั่วราชอาณาจักร
สายบางๆข้างต้นเพียงเส้นเดียวก็จะมาเชื่อมกับศูนย์รวมช่องต่อ One Connect Box ตัวนี้
ยิ่งผนังของท่านเป็นสีขาวหรือเทา ก็แทบจะไม่เห็นสายเคเบิลล่องหนที่ห้อยลงมาอยู่เลย
แขวนปุ๊บ = เรียบเนียนปั๊บ เนียนยิ่งกว่าตบแป้งพัฟเสียอีก (ฮา)

ภาพ

แน่นอนว่าทุกตัวมีความละเอียด 4K Ultra HD หรือ 3840 x 21ุ60 พิกเซล โดยใช้พาแนลตัวใหม่ที่มีชื่อว่า Ultra Black Elite ที่ช่วยเสริมระดับความดำเงาพร้อมลดแสงสะท้อนบนหน้าจอ พร้อมโครงสร้างหลอดไฟ Full Array LED Backlight สำหรับรุ่น Q9F และ Q8C และ Edge LED สำหรับรุ่น Q7F และ Q6F ขึ้นชื่อว่า Q ก็แปลว่าทุกตัวใช้เทคโนโลยี Quantum Dot ทั้งหมด เห็นพวก Demo ตามงานเปิดตัวหรือตัวโชว์ห้างร้านว่า “สีมันสดมาก” ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากมันคือเรื่องดี เพราะพวกคอนเทนต์ Demo นั้นถูกผลิตมาอย่างดีมาก ขับทุกศักยภาพออกมาได้อย่างหมดจดไม่ว่าจะแสงหรือสีก็ตาม พร้อมรองรับมาตรฐานภาพ HDR แบบใหม่นั่นก็คือ HDR10+ ซึ่ง Samsung เป็นผู้สร้างขึ้นมาเอง

ภาพเป็นอย่างไร ?  ดีแค่ไหน ? 
ผมยืนสลอนแถวหน้าสุดเพื่อดูวิทยากรเขาบรรยายสรรพคุณกันแบบติดริงไซด์
 อยากจะถามตัวเองว่า “กับการเรียนหนูทุ่มเทอย่างนี้บ้างไหมลูก ???”
QLED TV ปี 2018 จะมีเพิ่มขนาดใหญ่จัมโบ้เข้ามาด้วยอย่าง 75″ ซีรีส์ 9 ตัวนี้
ซึ่งใช้โครงสร้างหลอดไฟแบบ Full Array LED Backlight
ส่วนเรื่องสีสันนั้นก็ยังเคลมว่าสามารถให้ปริมาตรสีหรือ Color Volume ได้ 100%
สังเกตได้ว่าเมื่อเร่งความสว่างสูงสุดเช่นในรูป 
สีสันของ QLED TV ทั้ง 3 ตัวบนเวทีจะแผ่ความเอิบอิ่มออกมาได้ดี

Ambient Mode : โหมดแอมเบี้ยน

อีกหนึ่งของเล่นใหม่ในปีนี้คือ Ambient Mode หรือ โหมดสร้างบรรยากาศใหม่ๆให้กับทีวียามปิดเครื่อง เชื่อว่า Samsung คงต่อยอดไอเดียจาก The Frame หรือทีวีกรอบรูป ซึ่งเมื่อเรา “ปิดทีวี” โหมดรูปภาพ งานศิลป์” จะถูกแสดงผลบนหน้าจออัตโนมัติ แต่ Ambient Mode เป็นอีกคอนเซปต์ใหม่ กล่าวคือเมื่อ “ปิดทีวี” จอภาพจะแสดงลวดลายปรากฏให้กลมกลืนเหมือนกับ “ลวดลายบนกำแพง” ประหนึ่งทีวีกับกำแพงคือสวยกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน ตัวอย่างคือในรูปด้านล่างนี้เป็นลายอิฐบล็อคเหมือนกัน โดยตัวเครื่องสามารถโคลนนิ่งลวดลายผนังด้านหลังเพื่อมาแสดงผลบนจอได้ผ่านการถ่ายรูปและคำนวณโดยแอพ Smart Things (ไปดาวน์โหลดมารอซะ) นอกจากนี้ก็ยังสามารถนำพยากรณ์อากาศ วันที่/เวลา และข่าวสารต่างๆมาแสดงผลบนหน้าจอควบคู่ไปด้วยได้เช่นกัน

Ambient Mode โคลนนิ่งลวดลายบนกำแพงมาแสดงบนหน้าจอ
ทำให้การปิดทีวีมิใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป อีกหนึ่งฟีเจอร์ขวัญใจเหล่าอาร์ทตัวพ่อ
โคลนนิ่งได้ทั้งสีและแพทเทิร์น โดยใช้กล้องมือถือถ่ายรูปผนังคู่ทีวีผ่านแอพ SmartThings 
ประเดี๋ยวมันจะคำนวณสร้างลวดลายขึ้นมาเอง !
หรือจะเลือกแสดงผลเป็น “วันที่และเวลา” บนมุมซ้ายบนของจอแบบนี้ก็ได้
ซึ่งมาพร้อมภาพฉากหลังเป็นรูปเมฆสไตล์เบาๆ

.

.

.

.
แต่หากอยากได้งานศิลป์แบบฮารด์คอร์ ขอเชิญดูอีกหนึ่งทางเลือกด้านล่างได้เลย

.

.

.

.

แต่หากจะไปแนวกรอบรูปภาพเช่นนี้ ท่านก็ต้องหันมาซบ The Frame ทีวีกรอบรูปตัวนี้แทน
เพราะ Samsung เขาแยกฟีเจอร์ของเล่นไว้ชัดเจน 
QLED TV = มี Ambient Mode // ส่วน The Frame = มี Art Mode

เป็นยิ่งกว่า Smart ฉลาด คือ Intelligent อัจฉริยะ

สำหรับลูกเล่นอัจฉริยะที่เพิ่มขึ้นมาก็ได้แก่ Bixby Voice Assistant หรือฟีเจอร์ผู้ช่วยอัจฉริยะซึ่งรองรับการสั่งงานด้วยเสียง จะว่าไปแล้วก็มีความคล้ายคลึงกับพวก Google Assistant และ Amazon Alexa คือพูดคุยสั่งมันได้แทบทุกอย่าง คือจะสั่งเปลี่ยนช่อง, เปลี่ยน Input, ค้นหาคลิปวีดีโอ, เข้าแอพส์ต่างๆ, ถามพยากรณ์อากาศ ก็ทำได้หมด และยังรวมถึงแอพพลิเคชั่น SmartThings ของมือถือที่ช่วยให้การเซ็ตอัพทีวีตอนเริ่มต้นเป็นเรื่องง่าย อาทิการเชื่อมต่อ WiFi ให้ทีวีในครั้งแรก โดยปกติเราต้องกดรีโมทของทีวี แล้วเข้าไปกดใส่ Password ยาวเยื้อย จะค่อนข้างเสียเวลามาก แต่นี่ทำได้ง่ายโดยใช้ชุดข้อมูลของมือถือที่เชื่อมต่อ WiFi วงนั้นในขณะนั้นเลย หรือพวกแอพส์ดูวีดีโอคอนเทนต์บนทีวีก็ไม่ต้องใส่ Password เพื่อ Login ให้ซ้ำซ้อน เพราะอาศัยชุดข้อมูลจากแอพบนมือถือเช่นกัน เป็นอีกลูกเล่นที่ช่วยให้ทีวีก้าวข้ามผ่านคำว่า Smart ไปสู่ยุค Intelligent เสียที !

หากโหลดแอพ SmartThings ก็สามารถใช้มือถือของเราตั้งค่าทีวีตอนเริ่มต้นได้เลย
ส่วน Bixby คือฟีเจอร์ผู้ช่วยอัจริยะซึ่งรองรับคำสั่งเสียง ไม่จำกัดว่าแค่ค้นหาคลิปวีดีโออย่างเดียวอีกต่อไป
เช่น What is the forecast in New York this week ?
มันก็จะเอาผลลัพธ์พยากรณ์อากาศมาโชว์บนหน้าจอทีวี

ปิ๊งป่อง ! หมายเหตุว่าฟีเจอร์ Bixby ในช่งแรกยังเปิดให้บริการในโซนอเมริกาและเกาหลีเท่านั้น ส่วนไทยแลนด์บ้านเฮาอดใจรอกันไปก่อนเด้อ


The Wall : มาตรฐานใหม่โรงหนังภายในบ้าน

หากพูดถึงทีวีจอใหญ่ ในบ้านเรามีขายจริงก็แค่ขนาด 86″ หรือหากอยากใหญ่กว่านั้นเช่น 100″ ขึ้นไป ก็ต้องมุ่งหน้าสู่สายโปรเจกเตอร์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเทคโนโลยีจอแสดงผลทั้ง 2 แบบก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันออกไป เช่น ทีวีจะสว่างและสู้แสงได้ดีกว่า แต่ขนาดจอจะเล็กกว่ามาก ในขณะที่โปรเจกเตอร์ได้จอใหญ่เบิ้มทันที ปรับย่อขยายขนาดได้อิสระ แต่ก็ดันไม่ค่อยสู้แสงรบกวนเท่าที่ควร หากจะได้ภาพสดสวยก็ต้องคุมแสงได้ 100% เท่านั้น ดังนี้ทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการจอใหญ่และยังคงคุณภาพของภาพได้ดีในทุกสภาพแสงนั้น ก็ยังไม่มีจอชนิดไหนทำได้ ทว่า…..จวบจนเริ่มได้ข่าวของ Samsung The Wall ในงาน CES ที่ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

The Wall คือ ทีวีจอยักษ์ติดกำแพง (แปลตรงตัวอีกแล้ว) มีขนาดใหญ่ถึง 146″ ความละเอียด 4K Ultra HD ซึ่งใช้เทคโนโลยี Micro LED หลอดไฟ RGB LED 3 สีรวมกันเป็น 1 พิกเซลเปล่งแสงออกมาโดยตรง แผงหน้าจอเป็นโครงสร้าง “โมดูล” เป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเอามาต่อเรียงกันเพื่อประกอบออกมาเป็นจอใหญ่ เราสามารถเลือก Customize ทั้งขนาดและสัดส่วนของจอภาพตามใจนึกได้เหมือนตัวต่อ Lego

ข้อดีของมันคือเจ้าเม็ดพิกเซลนี่แหละเปล่งแปสงสีเองได้โดยตรง ไม่ใช่หลอด LED Backlight แบบ LED TV ทั่วไปซึ่งคอยส่องแสงเพื่อให้มาลอดผ่านชั้นฟิลเตอร์สีเพื่อกำเนิดออกมาเป็นภาพสีสันต่างๆอีกทีอีกที ดังนี้ Micro LED จึงสามารถสร้างระดับความสว่างได้สูงมาก สีสันสดใสทุกมุมมอง รวมถึงเมื่อต้องการแสดงเป็นสีดำก็ทำได้ดำสนิท ปราศจากแสงลอด ตามหลักการแล้วมันเป็นจอภาพใน “อุดมคติ” ที่ต่อยอดหลักการมาจากจอ Cinema LED ที่กำลังใช้จริงในโรงหนังจริง ในบ้านเราที่พารากิน ซีนีเพล็กซ์ก็ใกล้เปิดตัวแล้ว จะเรียกได้ว่าเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่จากโรงหนังจริงสู่โรงหนังภายในบ้านอย่างแยบยล โดยที่ไม่ต้องกระโดดลงไปสมรภูมิโปรเจกเตอร์กับเขาเลยแม้แต่น้อย

* ข้อจำกัด : ยังไม่สามารถผลิตในขนาดที่เล็กลงมาได้ เช่นจะประกอบโมดูลให้เป็นซัก 55″ หรือ 65″ ก็จะไม่ได้ความละเอียดหน้าจอแบบ 4K

The Wall ขนาดยักษ์ 146″
ทำงานโดยหลอดไฟ LED 3 สีแดง เขียว น้ำเงิน เปล่งแสงออกมาโดยตรง

ความรู้สึกแรกกับ The Wall ก็ขอบอกว่า “อลังการ” ตอนแรกสุดก็แอบปรามาสว่า “คงสว่างโร่” แทบทะละุตาเหมือนจอ LED ป้ายโฆษณาตามท้องถนน ที่จัดเรียงพิกเซลกันถ่างและห่าง แลดูหยาบเว่อร์วัง แต่พอได้มาดู The Wall – Micro LED เข้าจริงก็กลับพบว่าขนาด 146″ความละเอียด 4K กับการยืนถอยมาซัก 4 เมตรขึ้นไป ก็เห็นภาพได้สว่างใสกำลังดี สู้ชนะได้ทุกสภาพแสง แต่ละพิกเซลก็ดูเรียงกันเรียบเนียนจนแทบไม่เห็นไร้รอยต่อ สีสดทุกมุมมอง สีดำทำได้ดีเลยแหละ ก็แหงหละ…แค่ปิดหลอดไฟลงไปก็ดำสนิทแล้วหนิ ส่วนข้อจำกัดผมยังเป็นเรื่องราคาทีอาจจะยังจับต้องไม่ได้ในช่วงแรก โดยส่วนตัวผมชื่นชมทุกการเปลี่ยน นวัตกรรม” ให้เป็น “สินค้าขายจริง” (อัพเดทว่าเดือน 8 พร้อมวางขายที่อเมริกาที่แรก)

Micro LED คือสิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดในงานนี้ เพราะมันคือมาตรฐานใหม่ของวงการจอใหญ่ในอนาคตที่ให้สามารถให้ภาพได้ตามอุดมคติ ข่าวล่าสุดคือ Christie ผู้ผลิตโปรเจกเตอร์ระดับเวิลด์คลาส ก็กระโดดมาร่วมวงผลิตเทคโนโลยี LED Modular Display กับเขาแล้วเช่นกัน ผมจึงกล้าฟันธงแบบไม่กลัวหน้าแตกเลยว่ามันกำลังจะเป็น “มาตรฐานใหม่ของจอใหญ่ภายในบ้าน” เร็วๆนี้อย่างแน่นอน !

ขนาดของคน VS The Wall – Micro LED

สรุป

ผมเป็นคนกระดี๊กระด๊ากับทุกนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆในวงการภาพและเสียงอยู่แล้ว ครั้งนี้ที่ลงทุนบินไกลมาถึงเมืองลุงแซมก็ไม่ได้ทำให้ผิดหวัง ได้เห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นของ QLED TV ทั้งเรื่องภาพ ดีไซน์และความฉลาดล้ำด้านลูกเล่น ที่ขาดไม่ได้ขาใหญ่ประจำซอยอย่างเจ้า The Wall ขนาด 146″ เห็นครั้งแรกนี่ภาพใหญ่สะท้านโสตมาก จนคิดว่าจะต้องนำมันมาโชว์ในบรรยายเปิดตัวให้แฟนเว็บเราได้เห็นเป็นกลุ่มแรกๆให้จงได้ เชื่อเหลือเกินว่างคงถูกใจกันแน่นอน แต่ให้ทำใจว่าในช่วงแรกอาจไม่เป็นมิตรกับกระเป๋าสตางค์เท่าไหร่นัก ส่วนกำหนดการวางขาย QLED TV ก็น่าจะเริ่มเข้าไทยซักเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ส่วน The Wall จะเริ่มขายที่อเมริกาก่อนในเดือนสิงหาคม ส่วนบ้านเราหากมีกำหนดการที่แน่นอนก็จะแจ้งให้ทราบกันอีกที (ขอให้เข้าจริงเถอะ สาธุ๊) ลากันด้วยภาพ “นายโรมัน” ยิ้มแฉ่งกันแลนด์มาร์คประจำเมืองอย่างหอไอเฟล เอ้ย ! เทพีเสรีภาพ โปรดติดตามรีวิว QLED TV รุ่นใหม่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าครับ สวัสดี !

สรุปจุดเด่นใหม่ QLED TV 2018 ภายในภาพเดียว (คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดจริง)
ลากันด้วยภาพยิ้มแฉ่งปะทะแลนด์มาร์คประจำเมือง “เทพีเสรีภาพ”
พบกันใหม่งานหน้า สวัสดีครับ ^ ^