เป็นอีกครั้งที่ LCDTVTHAILAND ร่วมกับ Samsung จัดงานบรรยายให้ความรู้ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบด้านภาพและเสียงได้มาสัมผัสของจริงกับสิ่งที่ไม่สามารถเห็นได้จากรีวิว หรือการตั้งโชว์ในห้างร้านทั่วไป โดยรอบนี้จัดกันในหัวข้อ “Samsung OLED Workshop 2024” จุดเด่น คือการนำ OLED TV หน้าจอรุ่นใหม่ แบบด้าน VS แบบเงา มาตั้งเทียบให้เห็นกันเลยว่าต่างกันอย่างไร แบบไหนที่ใช่สำหรับคุณ
สามารถรับชมแบบวีดีโอจากคลิปด้านบนนี้ได้เลย
คุณโรมัน กล่าวทักทายแฟนคลับที่มาร่วมงานอีกครั้งอย่างเป็นทางการ
เช่นเคยว่า งานบรรยายของ LCDTVTHAILAND ทุกครั้ง มาแล้วได้ความรู้ เมื่อกลับบ้านก็มีโอกาสได้ของติดไม้ติดมือกลับไปด้วย ซึ่งรอบนี้มีของชำร่วยสุดพิเศษจากทาง Samsung มาให้ลุ้นกันครับ อยู่กันไปเรื่อย ๆ จนจบนะครับ
ผ้าที่เช็ดทีวีแล้วคมชัดระดับ 8K ฮ่าๆ…
และที่ขาดไม่ได้ก็ต้องมีแจก LCD HDMI ทั้ง 3 รุ่น Hogan, Hitman และ Jericho อย่างละ 1 เส้น มารอดูกันว่าท้ายงานใครจะได้ไป
อุปกรณ์ที่ใช้สาธิตรอบนี้ครบครันเช่นเคย มาทั้งเครื่องเล่นแผ่น Oppo Blu-ray 4K, สตรีมมิ่งจาก Apple TV และเครื่องเกม PlayStation 5 เชื่อมต่อกับ HDMI Splitter ส่งภาพออกพร้อมกันหลายจอเพื่อเปรียบเทียบ ซึ่งเดี๋ยวจะได้เห็นภาพจริงกัน
แนะนำพระเอกของงานครั้งนี้กันก่อน คือ S95D เป็น Samsung OLED TV รุ่นท็อปสุด ประจำปี 2024 จุดเด่นมาพร้อมพาเนล QD-OLED พร้อมเคลือบผิวจอพิเศษแบบด้าน (Glare Free) ที่จะช่วยลดแสงสะท้อนจากแหล่งกำเนิดแสงรบกวนต่าง ๆ ภายในห้องได้ แต่จะทำได้ดีเพียงใด ติดตามกันต่อไป
ถัดมา คือ S90D เป็น Samsung OLED TV รุ่นรอง ที่มาพร้อมหน้าจอแบบดำเงาที่คุ้นเคยกันดี อีกจุดหนึ่งที่ต่างจากรุ่นท็อป คือ รุ่นนี้หากเป็นขนาด 83 (ตัวในภาพ), 77 และ 48 นิ้ว จะใช้พาเนล W-OLED ซึ่งจะมีความแตกต่างด้านภาพอย่าไร เดี๋ยวมีให้ชมครับ
อีกหนึ่งทีวีตัวเด็ดรอบนี้ กับการนำตัวต้นแบบเทคโนโลยีจอภาพระดับท็อป อย่าง Micro LED ที่มีขนาดเล็ก 38 นิ้ว มาให้ยลกันเป็นที่แรก ! หากใครได้มาเห็นตัวจริงบอกเลยว่า ภาพสว่างพุ่งมาก ! แถมยังดำสนิทด้วย แต่ก็มาพร้อมค่าตัวหลักล้าน !!!
แน่นอนว่าเทคโนโลยีจอภาพต่างกัน ความโดดเด่นของการแสดงผลก็ย่อมต่างกัน ในภาพเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นโครงสร้าง Sub-pixel ของ QD-OLED vs W-OLED รวมถึงยังมีของ Neo QLED และ Micro LED ให้ได้เห็นในงานกันด้วย ซึ่งทั้งหมดเป็นเทคโนโลยีจอภาพที่ทาง Samsung ใช้ผลิตจอทีวีจำหน่ายในปีนี้
เมื่อเข้าใจทฤษฎีจอภาพแบบต่าง ๆ แล้ว ก็มีของจริงให้ดูเปรียบเทียบแบบจะ ๆ กันด้วยตามสไตล์ LCDTVTHAILAND
ปัจจุบันทีวีมีความละเอียดสูงขึ้น การจะมองเห็นโครงสร้าง Sub-pixel ได้ ก็ต้องพึ่งแว่นส่องพระกันหน่อย กำลังขยายพอจะช่วยให้แยกแยะความต่างของพาเนลแต่ละชนิดด้วยตาได้
ส่องเลข เอ้ย!!! ส่องความต่างของพิกเซลกันให้เห็นแบบจะ ๆ ไปเลย
ตั้งใจส่องกันแบบสุดๆ
น้องจิ๋วสุดเทพ Micro-LED ของเราก็ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน
ก่อนดูภาพเปรียบเทียบ คุณชานม ขอกล่าวถึงโหมดภาพที่ใช้สักเล็กน้อย… ถึงแม้เทคโนโลยีจอภาพจะต่างกัน แต่เป้าหมายสุดท้ายนั้นเหมือนกัน คือ ต้องถ่ายทอดภาพต้นฉบับจากภาพยนตร์ หรือคอนเทนต์อื่นใด ให้ออกมาอย่างครบถ้วนไม่บิดเบือน นี่จึงเป้นที่มาของ “Filmmaker Mode” ซึ่งเกิดขึ้นจากการรวมตัวเรียกร้องของเหล่าผู้กำกับระดับตัวท็อปของวงการ อาทิ Christopher Nolan, James Cameron, J. J. Abrams ฯลฯ ที่ต้องการให้ทั้งผู้ผลิตทีวี และ ผู้ใช้งาน คำนึงถึงภาพที่เที่ยงตรงตามมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์และความบันเทิงด้านภาพ
โหมดภาพที่ดีในมุมมองของผู้กำกับ คือ โทนสีเที่ยงตรง ไม่ถูกบิดเบือนด้วยการเร่งแสงสีความคมชัด หรือลบน้อยส์จนเกินพอดี และต้องไม่ใช้โมชั่นจำลองแทรกเฟรมภาพ… เพื่อให้เห็นความแตกต่างว่า โหมดภาพ ที่ผู้กำกับเห็นว่าดี และไม่ดี เป็นอย่างไร ทีมงานจึงปรับโหมดภาพ 2 จอ เทียบระหว่าง Filmmaker Mode (ซ้าย) และ Standard (ขวา)
ความบิดเบือนที่เห็นได้ชัดจากโหมดภาพ Standard คือ โทนสีผิวที่ดูผิดธรรมชาติ รายละเอียดรูขุมขนและเส้นผมหยาบกร้านเกินจริงจากการเร่ง Contrast และ Sharpness
ภาพนิ่งไปแล้ว มาเทียบแบบดู “ภาพเคลื่อนไหว” กันบ้าง แน่นอนว่า ถ้าจะใช้คอนเทนต์อ้างอิง ก็ต้องมาจากผู้กำกับตัวพ่อ หนึ่งในตัวตั้งตัวตีเรียกร้องให้มี Filmmaker Mode อย่าง “คริสต์โตเฟอร์ โนแลน” ผ่านแผ่น 4K Blu-ray เรื่อง “Oppenheimer”
โทนสีของโหมดภาพที่ต่างกัน นอกจากสื่ออารมณ์ภาพในซีนสำคัญได้แตกต่างกันแล้ว การแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหวจำลอง แม้จะช่วยให้ได้ความต่อเนื่องจากภาพยนตร์ที่มี 24 เฟรมภาพต่อวินาที ได้ดูสมูทกว่า แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่าความรู้สึกของการแทรกโมชั่น ภาพจะดูเหมือนละครทีวี มากกว่าภาพยนตร์
เมื่อพิเคราะห์รายละเอียดในภาพ มองเผิน ๆ เหมือน Standard ภาพคมกว่า แต่เมื่อพินิจดูแล้วผลจากการเร่ง Sharpness จะทำให้รายละเอียดภาพดูหยาบ นอกจากนี้การเร่ง Contarat สูง ยังลดทอนรายละเอียดเล็ก ๆ ทั้งในส่วนสว่าง (Highlights) และในเงามืด (Shadows) ให้หายไปด้วย จากตัวอย่างในภาพฉากนี้จะทำให้บริเวณไรผมดูดำมากกว่าปกติซึ่งผิดไปจากความตั้งใจของผู้กำกับ
จบจากเรื่องโหมดภาพ มาต่อกันด้วยเรื่องความสามารถกันแสงสะท้อนบนหน้าจอระหว่าง จอด้าน (ซ้าย) และ จอเงา (ขวา) ซึ่งในภาพ สังเกตดี ๆ จะเห็นว่าจอเงาด้านขวา สะท้อนแสงโลโก้ Samsung จากชั้นวางทีวีที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ ชัดเจน แต่ในจุดนี้ไม่เกิดกับจอด้านทางซ้าย
จำลองส่องแสงไฟเล็ก ๆ เข้าหาจอภาพดูบ้าง ใช้แสงแฟลชจากกล้องโทรศัพท์นี่แหละ พบว่า จอเงาจะเห็นดวงไฟสะท้อนชัดเจนกว่าจอด้าน
อย่างไรก็ดี หากเป็นแหล่งกำเนิดแสงขนาดใหญ่ ความสว่างสูง จ่อเข้าตรง ๆ จอทั้ง 2 แบบ จะเกิดการรบกวนที่ขัดขวางการรับชมได้ ความต่าง คือ จอด้านแสงสะท้อนจะออกฟุ้งกระจาย ในขณะที่จอเงาแสงสะท้อนจะคม ข้อสรุปตรงนี้ เท่ากับว่าหากจะให้ได้ผลลัพธ์การรับชมที่ดีที่สุด การจัดการแสงรบกวนภายในห้องยังคงต้องให้ความสำคัญ ทั้งกับจอด้านและเงา
มาลองดูแบบภาพเคลื่อนไหวกันบ้างว่า จอด้าน vs จอเงา ส่งผลกระทบกับการแสดงแสงสีบนจอหรือไม่ อ้างอิงจากแผ่นภาพยนตร์ Sonic 2 ที่ใช้คนจริงแสดงร่วมกับตัวละครอนิเมชั่น อัดเอฟเฟ็กต์แสงสี HDR กันแบบเจิดจรัส
ลักษณะการเคลือบผิวหน้าจอไม่ได้ส่งผลชัดเจนมากเท่ากับเทคโนโลยีจอภาพ จากภาพ S95D ที่เป็น QD-OLED (ซ้าย) ถ่ายทอดบางสีสันออกมาได้โดดเด้งกว่าเล็กน้อย อันเป็นผลจากความสามารถแสดงขอบเขตสีที่กว้างใกล้เคียง Rec.2020 และการให้ระดับความสว่าง HDR Peak Brightness ที่สูงกว่า ตามสไตล์ตัวท็อป ทั้งคู่ด้วยความที่เป็น OLED สามารถคุมดำได้ลึกสนิทไม่ต่างกัน แต่ด้วยลักษณะจอเงาของ S90D ขนาด 83 นิ้ว (ขวา) อาจจะรู้สึกดำลึกกว่าเล็กน้อยหากใช้งานในห้องสว่าง
โดยรวมทีวีทั้ง 2 รุ่นเรียกว่าอยู่ในเกณฑ์ ‘ดีเลิศ’ แต่จะเลือกใช้ตัวไหน ก็ขึ้นกับวิจารณญาน พิจารณาตามความเหมาะสมที่ตรงกับความชอบของแต่ละบุคคล ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ ที่ทุกท่านได้รับชมไปในครั้งนี้ ทั้งในเรื่องของ จอเงา vs จอด้าน, QD-OLED vs W-OLED ไปจนถึงโหมดภาพ Filmmaker vs Standard น่าจะช่วยให้การตัดสินใจทำได้ง่ายขึ้น…
ทดสอบการเล่นเกม ไปพร้อมกิจกรรมร่วมสนุกชิงรางวัล LCD HDMI : JERICHO รุ่น Top มูลค่า 2,490 บาท
ขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะ ได้สาย HDMI ติดไม้ติดมือกลับบ้านกันไปเลย
กลับมาช่วงให้ความรู้กันต่อ ในงานไม่ได้จะมีแต่ OLED TV มาสาธิตเพียงอย่างเดียว อีกหนึ่งตัวเด็ดของ Samsung คือ NEO QLED ที่ใช้หลอดไฟ mini LED Backlight เป็นแหล่งกำเนิดแสง
สรุปกันด้วยผลเปรียบเทียบเชิงตัวเลข กับความสามารถถ่ายทอดภาพของทีวีแต่ละรุ่น ทั้งระดับความสว่าง, ขอบเขตสี, Input Lag, จำนวนช่องต่อ HDMI 2.1 ฯลฯ
มาถึงช่วงสุดท้ายที่ทุกคนรอคอย กับ Lucky Draw จับฉลากชิงรางวัล
ตอนประกาศว่าใครเป็นผู้โชคดีนี่เรียกว่าลุ้นกันทุกรางวัลเลยทีเดียว
ทางผู้บริหาร Samsung ให้เกียรติมอบของชำร่วยสุดพิเศษ ให้กับผู้โชคดี
ผู้โชคดีอีก 2 ท่าน ได้รางวัลเป็นสาย LCD HDMI 2 รุ่นเล็กอย่าง HOGAN กับ HITMAN
และรางวัลใหญ่สุด LCD HDMI รุ่น JERICHO
ทางผู้บริหาร Samsung ให้เกียรติกล่าวปิดงาน พร้อมขอบคุณแฟน ๆ ทุกท่าน ที่มาร่วมงานบรรยายครั้งนี้พร้อมกับสนับสนุนแบรนด์ Samsung ด้วยดีมาโดยตลอด
แถมภาพผู้โชคดีที่ได้ Gift Set จาก Samsung เพิ่มเติม
และอีกหนึ่งท่านสุดท้ายในงานนี้
ทีมงาน LCDTVTHAILAND ต้องขอขอบคุณทาง Samsung รวมถึงแฟนๆ ที่มาร่วมฟังงานบรรยายในครั้งนี้ทุกท่าน ที่ช่วยให้เกิดงานบรรยายดี ๆ ที่ได้ทั้งความรู้ ความสนุก แล้วพบกันใหม่ในครั้งหน้า สวัสดีครับ…