21 Mar 2023
Review

รีวิว KEF LS60 Wireless ขั้นสุดของลำโพงไร้สายระดับไฮเอ็นด์ ตำนานที่คู่ควรแก่การเฉลิมฉลอง 60 ปี !


  • ชานม

หากให้ไล่รายชื่อผู้ผลิตลำโพง ที่อยู่คู่วงการเครื่องเสียงมาอย่างยาวนาน ต้องมี KEF อยู่ในลำดับต้น ๆ แน่นอน ถามว่าเก๋าแค่ไหน ก็ดูจากอายุที่เพิ่งฉลองครบรอบ 60 ปี ไปหมาด ๆ พร้อมกับปล่อยของเด็ด LS60 Wireless ลำโพงรูปสวยเสียงดีระดับตำนาน คู่นี้ !

60 Years of Defining Tomorrow

LS60W มีดีอย่างไร ? คงต้องเท้าความกันยาวหน่อย… หากจะรังสรรค์ลำโพงสักคู่เพื่อเฉลิมฉลอง 60 ปี ทั้งที มันต้องเป็นผลงานระดับ “มาสเตอร์พีซ” !

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อรูปลักษณ์สวยงามสะดุดตาของ LS60W คือ Michael Young นักออกแบบผลิตภัณฑ์ระดับโลก ซึ่งฝากผลงานระดับรางวัลมาแล้วมากมาย แต่แน่นอนด้วยความที่ KEF คือ ผู้ผลิตลำโพงระดับแนวหน้า ที่มาของรูปลักษณ์ที่เห็นจึงมิได้โดดเด่นแค่ในเชิงศิลป์ แต่ “ลึกล้ำด้านเทคนิคในเชิงวิศวกรรม” ให้สมกับการเป็นลำโพงรูปสวยเสียงดีระดับตำนาน !

โจทย์การออกแบบลำโพง LS60W ของ KEF คือ ลำโพงประสิทธิภาพสูงที่บ่งบอกถึงตัวตน KEF อย่างเด่นชัด กล่าวคือ จะต้องถ่ายทอดคุณภาพเสียงอย่างยอดเยี่ยมในแบบฉบับ High-Fidelity โดยใช้เทคนิคออกแบบลำโพงระดับสูงทั้งหมดที่มี ขณะเดียวกันการใช้งานจะต้องตอบโจทย์สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ใช้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งแนวทางนี้ เราได้เห็นมาแล้วกับ LS50W ที่ KEF ออกแบบไว้เมื่อครั้งเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี แต่แน่นอนว่า 60 ปี มันจะต้องเพอร์เฟ็กต์ยิ่งกว่า

แม้ว่า LS50W ยอดเยี่ยมในแง่การเป็นลำโพงเล็กเสียงดี อันมีที่มาจากเทคโนโลยีการออกแบบลำโพงขั้นสูงของ KEF ขนาดที่กะทัดรัดยังช่วยเรื่องความสะดวกในการติดตั้ง ให้เสียงที่กลมกลืนกับสภาพห้องได้ง่าย พร้อมบิลท์อินฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์กับพฤติกรรมของผู้ใช้ยุคสตรีมมิ่ง เรียกว่าจบในตัวไม่ต้องจัดหาอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นใดให้ยุ่งยาก

แต่ด้วยข้อจำกัดของปริมาตรตู้ลำโพงขนาดเล็กแบบวางขาตั้ง การถ่ายทอดย่านเสียงจึงไม่ถึงกับสมบูรณ์แบบ เสียงความถี่ต่ำลึกยังให้ได้ไม่เต็มที่ นี่จึงเป็นที่มาว่า หากจะเติมเต็มในจุดที่ LS50W ขาด ลำโพงฉลองครบรอบ 60 ปี จึงต้องมีลักษณะเป็น “ลำโพงตั้งพื้น” เพราะปริมาตรตัวตู้ที่ใหญ่ขึ้น เป็นหนึ่งหัวใจสำคัญต่อการถ่ายทอดเสียงความถี่ต่ำ (ที่มีคุณภาพ) อีกทั้งพื้นที่ด้านในยังเพิ่มทางเลือกในการติดตั้งอุปกรณ์คุณภาพสูงได้ยืดหยุ่นหลากหลายกว่า ศักยภาพโดยรวมรองรับการใช้งานในพื้นที่ห้องขนาดใหญ่ได้ดีกว่า สามารถเปิดได้ดังกว่าด้วยระดับความเพี้ยนที่ต่ำ

หากสรุปคุณสมบัติเบื้องต้นของ LS60W ที่เหนือกว่า LS50W จะมีดังนี้

1. ลำโพงตั้งพื้น 3 ทาง เทคโนโลยีตัวขับเสียงแอดวานซ์กว่า จัดวางแบบ SAS (Uni-Q with MAT + Uni-core)

2. ภาคขยายในตัว 3 ชุด ต่อข้าง (Tri-amp) แยกเป็น LF: Class D 500W, MF: Class D 100W และ HF: Class AB 100W (Total 700W/ch)

3. ย่านตอบสนองความถี่ครอบคลุมกว่า เบสลงได้ลึกกว่า เปิดได้ดังขึ้นในขณะที่ความเพี้ยนต่ำ (31Hz – 24kHz; +/-3dB @1m), Max SPL 111dB (@1m)

4. แม้เป็นลำโพงตั้งพื้น แต่ยังคงมีขนาดที่ค่อนข้างกะทัดรัด จัดวางไม่กินพื้นที่ ดูสวยงามทันสมัย ลงตัวกับห้องได้ง่าย

5. ความสามารถด้านการเชื่อมต่อและสตรีมมิ่งครบจบในตัวเหมือนกัน ไม่ต้องยุ่งยากเรื่องอุปกรณ์เสริมอื่นใด

Design – การออกแบบ

หากมองเผิน ๆ คงพอจะเดาได้ว่ารูปลักษณ์ของ LS60W ถอดแบบมาจากรุ่น Blade อีกหนึ่งผลลัพธ์ด้านนวัตกรรมการออกแบบลำโพงระดับเรือธงของ KEF โดยใช้เทคนิคการจัดวางตัวขับเสียงที่เรียกว่า Single Apparent Source (SAS) เป็นความพยายามให้เสียงทุกย่านออกมาจากจุดกำเนิดเดียวกัน ! เพื่อเป้าหมายความต่อเนื่องกลมกลืนตลอดย่านเสียงแบบไร้รอยต่อดังเช่นแหล่งกำเนิดเสียงตามอุดมคติ ดำเนินการผ่าน 2 แนวทางสำคัญ คือ นำตัวขับเสียงกลาง-แหลม มาไว้ในใจกลางโครงสร้างเดียว เรียกว่า Uni-Q และ ติดตั้งตัวขับเสียงต่ำ 4 ชุด ประกบซ้าย-ขวา แบบ Uni-core

จะเห็นว่าแนวทาง Uni-Q และ Uni-core นี้ นอกจากเป็นวิธีที่นำตัวขับเสียงทั้งหมดมาอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงจุดกำเนิดเดียวกันได้มากที่สุดแล้ว ยังเอื้อต่อการออกแบบแผงหน้าตู้ลำโพงให้ “แคบลง” ด้วย

ลำโพงหน้าแคบดีอย่างไร ? โดยปกติลำโพงทุกคู่จะเกิดปัญหาการหักล้างทางเสียงที่เกิดจากเสียงสะท้อนแผงหน้าตู้ลำโพง เรียกว่า Diffraction effect ซึ่งกระทบกับความเที่ยงตรงของเสียงมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกัน หลายผู้ผลิตจึงแก้ปัญหาโดยพยายามลดพิ้นที่แผงหน้าตู้ให้แคบลงและลบขอบมุม หรือออกแบบรูปทรงตู้ลำโพงแบบพิเศษที่ช่วยคุมการสะท้อนเสียงจากแผงหน้าได้ (แบบ LS50 และ Blade)

กรณี LS60W จากผลวิจัยของ KEF พบว่า การเลือกใช้ไดรเวอร์ Uni-Q ขนาด 4 นิ้ว เป็นการแก้ปัญหาที่ใช้ต้นทุนไม่สูงแต่ช่วยให้หน้าตู้ลำโพงของ LS60W มีพื้นที่สะท้อนเสียงน้อยลง จนผลกระทบจาก Diffraction อยู่ในระดับต่ำ (Figure 3) ตู้ลำโพงหน้าแคบยังเอื้อให้การถ่ายทอดย่านเสียงในแนวตั้ง (Vertical Dispersion) ของ Uni-Q มีความสมบูรณ์เที่ยงตรงใกล้เคียงอุดมคติขึ้นด้วย (Figure 4) ซึ่งประเด็นนี้มักจะเป็นจุดอ่อนของลำโพงตั้งพื้นส่วนใหญ่ที่จัดวางตัวขับเสียงไล่เรียงลงมาแบบ Line-array

หน้าตาไดรเวอร์ Uni-Q ของ LS60W มองเผิน ๆ คล้ายกับที่ใช้ในรุ่น LS50W (Mk I) ก็จริง แต่เทคโนโลยีภายในได้รับการปรับจูนเพิ่มเติมให้เอื้อต่อการถ่ายทอดเสียงได้เที่ยงตรงมากยิ่งขึ้น โดยเสริม Damping Materials ในหลาย ๆ จุดสำคัญ

แต่ที่ล้ำสุดเห็นจะเป็น Metamaterial Absorption Technology (MAT) ทำหน้าที่ซับสลายเสียงรบกวนส่วนเกินที่เกิดขึ้นด้านหลังของทวีตเตอร์ ครอบคลุมย่านความถี่ตั้งแต่ 840 Hz ขึ้นไป ผลที่ได้รวม ๆ แล้วลดทอนเสียงรบกวนที่ไม่ต้องการได้กว่า 99% เลยทีเดียว ล้ำกว่าวัสดุซับเสียงแบบใยสังเคราะห์ที่อยู่ในตู้ลำโพงทั่วไปแบบเทียบไม่ติด !

ถัดจาก Uni-Q มาดูในส่วนของ Uni-core หัวใจสำคัญของการถ่ายทอดเสียงย่านต่ำของ LS60W กันบ้าง…

ดังที่เกริ่นไปว่า KEF พยายามให้หน้าตู้ลำโพง LS60W แคบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หากนำเทคนิคติดตั้งเบสไดรเวอร์ 2 ชุด ประกบหลังตรง ๆ (back-to-back) แบบรุ่น Blade ตัวตู้ลำโพงจะต้องมีความหนามากกว่าที่ตั้งใจไว้ (Figure 7) วิศวกรของ KEF จึงจำเป็นต้องออกแบบเบสไดรเวอร์แบบ Uni-core มาโดยเฉพาะสำหรับ LS60W

หลักการของ Uni-core คือ วูฟเฟอร์ 2 ชุด จะใช้แกนแม่เหล็กที่ออกแบบโครงสร้างใหม่ร่วมกัน (Figure 8 – 9) ประสิทธิภาพที่ได้ใกล้เคียงกับวูฟเฟอร์แกนแม่เหล็ก 2 ชุด ที่วางประกบหลัง แต่ใช้พื้นที่ติดตั้งน้อยกว่า และโดยหลักการ SAS ที่มีวูฟเฟอร์รวมทั้งหมดถึง 4 ชุด ทำงานสอดประสานกัน ย่านการตอบสนองความถี่ต่ำจึงลงได้ลึก ไม่แพ้วูฟเฟอร์ขนาดใหญ่กว่าแต่มีจำนวนเพียง 1 หรือ 2 ชุด อีกทั้งวูฟเฟอร์เล็กยังให้การตอบสนองที่ฉับไว เพราะมีน้ำหนักเบา

Uni-core ของ LS60W ใช้เบสวูฟเฟอร์ขนาด 5.25 นิ้ว วัสดุโคนผลิตจากอะลูมิเนียม พร้อมขอบเซอร์ราวด์แบบ “P-Flex” ที่ได้รับการพัฒนามาเป็นเจนเนอเรชั่นที่ 2

เดิมทีลักษณะขอบเซอร์ราวด์โค้งแบบเรียบ ๆ ที่เห็นกับลำโพงทั่วไป หากวิเคราะห์ดูจะพบว่ามันเป็น “ตัวยึดรั้ง” ให้วูฟเฟอร์ขยับเคลื่อนตัวได้ไม่เต็มที่ (Figure 14) และเมื่อเร่งเสียงให้ดังขึ้นก็อาจเป็นเหตุให้เกิดความเพี้ยนขึ้นได้ KEF จึงแก้ไขด้วย P-Flex โครงสร้างขอบเซอร์ราวด์แบบจับจีบเป็นช่วง ๆ เป็นลักษณะที่เอื้อให้วูฟเฟอร์ขยับเคลื่อนตัวได้ราบรื่นกว่า มีระยะชักลึกขึ้น ตอบสนองต่อสัญญาณที่รุนแรงได้ดีกว่า เมื่อผนวกกับ Smart Distortion Control System วงจรตรวจจับและควบคุมการทำงานของวูฟเฟอร์แบบ Hybrid (Figure 15) ความเพี้ยนทางฮาร์มอนิกรวม (THD) ที่เกิดขึ้นกับย่านเสียงความถี่ต่ำจึงลดต่ำลง แม้ลำโพงต้องทำงานในระดับความดังสูง (Figure 16)

Lab Test

เทคนิคการออกแบบต่าง ๆ ที่กล่าวไปทั้งหมด คงไม่มีประโยชน์อันใดหากพิสูจน์ไม่ได้ว่าส่งผลดีกับคุณภาพเสียงจริง… ซึ่งในจุดนี้ KEF ยืนยันจากผล Lab Test การตอบสนองความถี่ (Frequency Response) ของ KEF LS60W ที่เที่ยงตรงใกล้เคียงอุดมคติ ! ตรงตามโจทย์ความต้องการลำโพงที่ถ่ายทอดเสียงที่ครบถ้วนต่อเนื่องตลอดย่านรับฟังโดยสมบูรณ์ ส่วนสำคัญมาจากการคำนึงถึงผลกระทบของเสียงที่ไม่พึงประสงค์จากการออกแบบลำโพงรูปแบบเดิม ๆ ซึ่งได้รับการแก้ไขจนมีระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

Frequency Response (ซ้าย) และ Horizontal & Vertical Dispersion Plots (ขวา) ของ LS60W – อ้างอิงจากเอกสารเผยแพร่ของ KEF

อานิสงส์จากแนวคิด Single Apparent Source (SAS) ผสานตู้ลำโพงหน้าแคบ กับเทคนิคจัดวางทวีตเตอร์และมิดเรนจ์วูฟเฟอร์แบบ Uni-Q และบาลานซ์เบสวูฟเฟอร์ขนาบข้างแบบ Uni-Core ยังช่วยขจัดปัญหาการหักล้างทางเฟสและเสียงสะท้อนจาก Diffraction จนแทบเป็นศูนย์ได้จริง ยืนยันจากผลการตรวจวัดการกระจายเสียงที่ยอดเยี่ยมทั้งในแนวนอน และแนวตั้ง (Horizontal & Vertical Dispersion Plots) LS60W จึงให้ Sweet spot ที่กว้าง หากจัดวางตำแหน่งลำโพงภายในห้อง ที่จัดการกับสภาพแวดล้อมและการก้องสะท้อนอย่างเหมาะสม ผู้ฟังจะได้ผลลัพธ์ด้านเสียงที่ดีใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะไม่ได้นั่งอยู่ตรงกับแนวตำแหน่งไดรเวอร์ลำโพง (On Axis) พอดี

Features – ลูกเล่นพิเศษ

สถานะการทำงานของ LS60W ต้องสังเกตจากสีไฟดวงเล็ก ๆ ที่แผงหน้าส่วนบนของลำโพง Primary (ข้างขวา) รุ่นนี้ไม่มีแผงควบคุมที่ตัวลำโพง การเปิด-ปิด เพิ่ม-ลดระดับเสียง และสลับแหล่งสัญญาณ จะต้องทำผ่านรีโมทไร้สาย หรือควบคุมด้วย Smartphone ผ่านแอปฯ KEF Connect (จำเป็นต้องเชื่อมต่อลำโพงกับระบบเครือข่ายบ้าน)

เห็นลำโพงบาง ๆ แต่น้ำหนักมากถึง 62.4 กก. ซึ่งในส่วนของฐานลำโพงทำจากเหล็กหล่อทั้งชิ้น เป็นรากฐานที่เพิ่มความมั่นคงเวลาตั้งวางได้ดีไม่ต้องกังวลว่าลำโพงจะล้ม ในส่วนของยางรองสีดำ 4 จุด สามารถสลับเปลี่ยนเป็นเดือยแหลมปรับระดับ (Spike) ได้ เหมาะกับพื้นปูพรม หรือพื้นห้องที่ไม่ได้ระดับดี

การสลับเปลี่ยนใส่เดือยแหลมที่ฐาน จะต้องใช้อุปกรณ์คล้าย ๆ ประแจ (มีให้มาในกล่อง) เพื่อขันยางรองสีดำออกก่อน จากนั้นก็ขันเดือยแหลมเข้าไปแทน

อุปกรณ์ที่ให้มา จะแยกเป็นกล่องย่อย 2 ชุด (แยกใส่มาในกล่องลำโพง Primary และ Secondary อย่างละกล่อง) ประกอบไปด้วย รีโมตคอนโทรล (IR), สายไฟ AC (ท้าย IEC) 2 เส้น, สาย Interspeaker Connection (RJ45) 1 เส้น, เดือยแหลมปรับระดับ สำหรับติดตั้งกับฐานลำโพง พร้อมประแจ และเอกสารคู่มือใช้งาน

Connection – การเชื่อมต่อ

ลำโพง LS60W ทั้ง 2 ข้าง ออกแบบให้แม็ตชิ่งรูปลักษณ์เหมือนกัน มองเผิน ๆ จะดูไม่ต่างกัน การแยกแยะว่าลำโพงข้างไหนเป็น Primary หรือ Secondary ต้องดูที่ด้านหลัง

Primary (ลำโพงข้างขวา) ที่เป็นศูนย์กลางของระบบ จะมีจำนวนช่องต่อมากกว่า ประกอบไปด้วย HDMI eARC (up to 24-bit/192kHz, PCM), Digital Optical In (up to 24-bit/96kHz, PCM), Digital Coaxial In (up to 24-bit/192kHz, PCM), Analog AUX In (RCA), SW Out, P/S Connection Port (Wired Interspeaker Connection) และ Ethernet In พร้อมรองรับการเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Wi-Fi (2.4/5GHz) และ Bluetooth 4.2 ได้อีกด้วย

Secondary (ลำโพงข้างซ้าย) จะมีแค่ช่องต่อ SW Out และ P/S Connection Port (ช่อง USB มีไว้สำหรับ Service เท่านั้น)

Interspeaker Connection (Wireless vs Wired)

LS60W เป็นลำโพงแอ็คทีฟที่ใช้งานแบบสเตอริโอ คือ มีลำโพง 2 ข้าง วางในตำแหน่งซ้าย – ขวา การเชื่อมต่อระหว่างลำโพง (Interspeaker Connection) จะใช้รูปแบบสัญญาณ “ดิจิตอล” เพื่อสะดวกต่อการเชื่อมต่อทั้งแบบ “ไร้สาย” และ “ใช้สาย”

หลักการส่งสัญญาณดิจิตอลระหว่างลำโพงด้วยเทคนิคดังกล่าว LS60W จะประมวลสัญญาณจากอินพุตแหล่งสัญญาณเสียงใด ๆ ที่ส่งเข้ามา (ไม่ว่าจะเป็น analog หรือ digital) ให้อยู่ในรูปแบบ Digital PCM (Pulse Code Modulation – Uncompressed) ก่อนจะส่งไปยังลำโพงอีกข้าง (Secondary Speaker)

กรณีเชื่อมต่อแบบไร้สาย (Wireless Interspeaker Connection) ระบบจะ Resampling สัญญาณ PCM ที่ 24-bit/96kHz

แต่หากเชื่อมต่อแบบใช้สาย (Wired Interspeaker Connection) ก็จะ Resampling สัญญาณ PCM ได้สูงกว่า ที่ 24-bit/192kHz เพราะสายเคเบิลที่ KEF เลือกใช้ (ช่อง P/S Connection Port แบบ RJ45 ลักษณะเดียวกับ Ethernet) รองรับ Bandwidth ของการส่งผ่านข้อมูลเสียงดิจิตอล “แบบไม่บีบอัด” ได้สูงกว่าการเชื่อมต่อไร้สายครับ

แล้วควรจะเลือกแบบไหน ? อันนี้ก็ขึ้นกับความสะดวก… แม้ว่า ใช้สาย ให้คุณภาพเสียงดีกว่า แต่ ไร้สาย ก็สะดวกดี คุณภาพเสียงไม่ได้ลดทอนลงมากนัก ถ้าชอบให้ห้องดูคลีน ๆ มินิมอล ไม่อยากเชื่อมต่อสายยาว ๆ ให้รุงรัง ไร้สายก็ได้ หากมีโอกาสก็ลองทั้ง 2 แบบ เพื่อเทียบเสียงดูก่อนแล้วค่อยตัดสินใจครับ

ปกติค่าตั้งต้น Interspeaker Connection จากโรงงานของ LS60W จะกำหนดมาแบบ “ไร้สาย” กรณีที่ต้องการเชื่อมต่อแบบ “ใช้สาย” ต้องไปตั้งค่าในแอปฯ KEF Connect ก่อน (ทำการ On – Cable mode) ตามภาพครับ

KEF Connect app

การควบคุม LS60W นอกจากทำผ่านรีโมทคอนโทรลแล้ว ยังสามารถดำเนินการผ่าน Smartphone app ที่ชื่อ KEF Connect โดยต้องเชื่อมต่อ LS60W เข้ากับเครือข่ายบ้านผ่านแอปฯ Google Home ก่อน

การควบคุมผ่านแอปฯ ทำได้ยืดหยุ่นทีเดียว สามารถทดแทนรีโมตได้เลย ที่เหนือกว่า คือ เพิ่มทางเลือกปรับจูนตั้งค่าลำโพงเชิงลึกได้ นอกจากนี้ยังใช้สตรีมมิ่งเพลงเพื่อฟังกับลำโพง LS60W ได้ด้วย

บริการออนไลน์สตรีมมิ่งที่รองรับได้แก่ Apple Music (AirPlay 2), Amazon Music, Deezer, Qobuz, QQMusic (Qplay), Spotify (Spotify connect) และ TIDAL (TIDAL connect) ไปจนถึง Internet Radio และยังรองรับคุณสมบัติ Chromecast Built-in และ Roon ready ด้วย

ทดสอบสตรีมเพลงจากแอปฯ TIDAL จะเห็นว่าที่ตัวเลือก Cast Device นั้น LS60W รองรับ “TIDAL connect” ใช้ยืนยันในเบื้องต้นว่าคุณภาพเสียงที่ได้จะดีกว่ารูปแบบ Chromecast หรือ AirPlay แน่นอน (DAC ในตัว LS60W ถอดรหัส MQA ได้)

แต่หากใครไม่ได้ใช้บริการเพลงออนไลน์ จะสตรีมแบบออฟไลน์ผ่าน UPnP ก็ได้นะครับ (via mconnect, JRiver, Roon, NAS, etc.) ซึ่ง LS60W จะรองรับข้อมูลเพลงผ่านเน็ตเวิร์กในแบบ Lossless/Hi-res ได้สูงสุดถึง 24-bit/384kHz เลย

Setup – การติดตั้ง

ถึงแม้ KEF จะใส่ระบบปรับจูนผ่าน EQ Settings ในแอปฯ KEF Connect เพื่อชดเชยเสียงของลำโพงกรณีที่สภาพตั้งวางลำโพงไม่เอื้ออำนวยได้ อย่างไรก็ดีหากทำการปรับจูนตำแหน่งลำโพงและสภาพแวดล้อมภายในห้องให้เหมาะสมลงตัว ก็จะดึงศักยภาพของลำโพงคู่นี้ออกมาอย่างเต็มที่ เชื่อเถอะว่าเป็นขั้นตอนที่เมื่อได้ผลลัพธ์กลับมาคุ้มค่ากับเวลา และค่าตัวของลำโพงที่เสียไปอย่างแน่นอนครับ

ด้วยขนาดห้องและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ตำแหน่งลำโพงที่เหมาะสมจึงไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่สิ่งหนึ่งที่แนะนำได้ คือ พยายามวางลำโพงทั้ง 2 ข้าง ให้ห่างกันอย่างเหมาะสม สัมพันธ์กับระยะห่างจากจุดนั่งฟัง เบื่องต้นอาจอิงตำแหน่งลำโพงและจุดนั่งฟังจากระยะสามเหลี่ยมด้านเท่าก่อน ฟังผล แล้วทดลองปรับเพิ่ม-ลดระยะ และอาจเอียงหน้าลำโพง (Toe-in) ร่วมด้วย

นอกจากนี้ควรเว้นระยะของลำโพงจากผนังรอบข้าง การดึงลำโพงให้มีระยะห่างจากกันและเว้นระยะจากผนังทุกด้านอย่างเหมาะสม ห่างจากสิ่งกีดขวางโดยรอบเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากจะช่วยปรับสมดุลเสียงแล้ว ยังช่วยให้มิติเวทีเสียงมีความกว้างและถ่ายทอดระยะตื้น-ลึก เป็น 3 มิติ ผลที่รับรู้ได้จริง คือ การแจกแจงตำแหน่งนักร้องและชิ้นดนตรีจะมีความชัดเจนสมจริงมากยิ่งขึ้นนั่นเอง

การอ้างอิงผลลัพธ์อาจใช้เพลงที่ฟังประจำ หรือใช้คลิปทดสอบตำแหน่งเสียงสเตอริโอโดยเฉพาะ หากฟังแล้วตำแหน่งเสียงถูกต้องก็ถือว่าผ่าน แต่ถ้า Test tone ที่ได้ยินไม่สัมพันธ์กับตำแหน่งตามคลิป เช่น เอียงหนักไปข้างใดข้างหนึ่งมากเกินไป อาจเกิดจากปัจจัยแวดล้อมบางอย่างภายในห้อง ที่ส่งผลกระทบกับเสียงของลำโพงแต่ละข้างไม่เท่ากัน หรืออาจมีสิ่งกีดขวางบดบังเสียงของลำโพงเป็นต้น กรณีนี้ให้หาทางแก้ไข หากย้ายอุปกรณ์อื่นไม่ได้ อาจทดลองปรับเปลี่ยนระยะลำโพงทั้ง 2 ข้าง กับระยะห่างจากผนังแต่ละด้านและจุดนั่งฟัง จนได้ผลลัพธ์เป็นที่พอใจ

หากจะประเมินการเซ็ตอัพลำโพงให้แอดวานซ์ขึ้น อาจใช้แทร็คที่ 47 General Image and Resolution Test จากอัลบั้ม Best of Chesky Jazz & More Audiophile Tests, Vol. 2 ในการอ้างอิงมิติเสียง แม้มีลำโพงเพียง 1 คู่ จัดวางในแบบสเตอริโอ แต่หากตำแหน่งตั้งวางเหมาะสมในสภาพห้องที่เอื้ออำนวยจะสามารถถ่ายทอดระนาบตื้น-ลึก และให้ทิศทางเสียงโอบล้อมรอบตัวครอบคลุมมาถึงด้านหลังตำแหน่งนั่งฟังได้ ผลลัพธ์จะออกมาโดดเด่นชัดเจนเพียงใด นอกจากตำแหน่งลำโพงแล้ว คุณภาพของซิสเต็ม และสภาพอะคูสติกภายในห้องก็เป็นปัจจัยที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

Sound – เสียง

เรียนให้ทราบก่อนว่ารีวิวทดสอบ LS60W นี้ ผมจะขอโฟกัสที่ “การฟังเพลง” เป็นหลักนะครับ สำหรับผลการใช้งานประกอบการรับชมภาพยนตร์ สามารถดูเพิ่มเติมได้จากวิดีโอรีวิว โดยคุณโรมัน ตามลิงค์ด้านบนครับ

ถ้าเอาลำโพงคู่นี้อยู่ บอกเลยว่าประทับใจเสียงที่ได้ยินแน่นอน ประสิทธิภาพแบบลำโพงตั้งพื้นสามารถฟังเพลงได้หลากหลายแนวกว่าลำโพงวางขาตั้งชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ Full-size orchestra ที่ LS60W ถ่ายทอดเสียงออกมาได้ยิ่งใหญ่อลังการเกินตัว

เป็นการผสมผสานจุดเด่นจากการถ่ายทอดย่านเสียง ไล่ตั้งแต่ย่านต่ำ 30Hz ขึ้นไป ซึ่งน่าจะครอบคลุมเสียงของเครื่องดนตรีส่วนใหญ่ เสียงกลองไปจนถึงเครื่องเคาะต่าง ๆ ให้น้ำหนักกระชับแน่น ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะแนวทางของ KEF ที่จัดการกับระดับความเพี้ยนได้เป็นอย่างดี รวมถึงการแม็ตชิ่งภาคขยายที่มีกำลังสำรองมากพอกับสภาวะการทำงานของลำโพง สัมพันธ์กับการตอบสนองของไดรเวอร์ที่ฉับไว

หมายเหตุ: ระดับเสียงส่วนใหญ่ที่รับฟังภายในห้องทดสอบขนาดประมาณ 24 ตร.ม. จะอยู่ที่ราว 60 – 70 ยังเร่งเสียงให้ดังเพิ่มขึ้นได้หากต้องการ ศักยภาพเพียงพอกับขนาดห้องตามบ้านส่วนใหญ่แน่นอน สิ่งที่ต้องคำนึงมากกว่า คือ หากเร่งเสียงดังขึ้นแล้วพบว่าตำแหน่งชิ้นดนตรีกลืนกันโฟกัสได้ยาก ยิ่งเร่งเสียงยิ่งตีรวนมั่วไปหมด สำหรับ LS60W สามารถสันนิษฐานได้ว่าไม่ได้เกิดจากลำโพง แต่เป็นที่การจัดการกับสภาพห้องยังไม่ลงตัวครับ

เมื่อเทียบกับลำโพงเล็กแบบลำโพงวางขาตั้งย่านเสียงจำกัด การเติมเต็มย่านเบสลึกของ LS60W ยังช่วยให้บรรยากาศเสียงดูใหญ่กว่า เมื่อผสานกับการออกแบบมุมกระจายเสียงที่เที่ยงตรงเป็นอิสระจากการคิดคำนวณมาเป็นอย่างดี การถ่ายทอดเวทีเสียงจึงโดดเด่นทั้งแนวกว้างและลึก การแจกแจงตำแหน่งชิ้นดนตรีมีความชัดเจน หลาย ๆ เพลง สามารถโฟกัสตำแหน่ง แยกระนาบตื้นลึกเป็น 3 มิติ ได้อย่างน่าทึ่ง

การแยกเลเยอร์ของเสียงร้องเป็นอิสระจากเสียงดนตรีหรือเสียงแวดล้อมอื่น ๆ เป็นพื้นฐานสำคัญของลำโพงไฮเอ็นด์ที่มีระดับความเพี้ยนต่ำ เมื่อบวกกับถ่ายทอดย่านเสียงได้อย่างสมดุล จึงรับรู้รายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอื้อให้โฟกัสส่วนประกอบต่าง ๆ ในเพลงได้ง่ายกว่า จุดเด่นนี้รับรู้ได้ตั้งแต่ช่วงแรกของการรับฟัง ซึ่งไม่ได้รู้สึกแค่กับแนวดนตรีที่ซับซ้อน กับเพลงร้องทั่วไป หรือแม้แต่เสียงบรรยาย-เสียงสนทนาเมื่อดูละคร ฟังข่าว (หากจะเชื่อมต่อกับทีวี) ก็ยังฟังออกไม่ยากว่ามาจากพื้นฐานการถ่ายทอดเสียงที่ดีของ LS60W

ด้วยความที่เสียงมีการปรุงแต่งน้อยออกไปทางลำโพงมอนิเตอร์ อาจเป็นคุณสมบัติที่จะขัดใจบ้างเมื่อจับความแตกต่างได้ว่าคอนเทนต์ไหนบันทึกเสียงมาไม่ดี ประเด็นนี้ส่วนตัวผมมองมันเป็นจุดเด่นนะ เป็นคุณสมบัติที่ลำโพงที่ดีควรจะฟ้องออกมา ในอีกแง่หนึ่งหากคอนเทนต์บันทึกเสียงมาดีตามมาตรฐาน (ไม่จำเป็นต้องถึงกับระดับออดิโอไฟล์ก็ได้) ลำโพงลักษณะนี้จะปลดปล่อยเสียงออกมาได้ดีเป็นพิเศษ เสียงไม่พึงประสงค์ปะปนออกมาน้อย เหมาะกับใครที่ชอบความพอดีตรงไปตรงมา ไม่เน้นย่านเสียงใดย่านเสียงหนึ่งมากหรือน้อยไป

แต่ถ้าต้องการจะเพิ่มหรือลดเสียงบางย่านตามแต่รสนิยมก็ทำได้นะครับ KEF เปิดโอกาสให้ปรับแต่งเพิ่มลดเสียง Treble trim/Bass extension ผ่านแอปฯ ได้ เป็นความยืดหยุ่นนอกเหนือจากการปรับชดเชยแก้ไขดุลเสียงจากกรณีตำแหน่งตั้งวางไม่เอื้ออำนวย

การเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์ เป็นหนึ่งแนวทางการอัพเกรดเพื่อความสมบูรณ์แบบ ถึงแม้การฟังเพลงผมเห็นว่า ลำพัง LS60W ก็มีศักยภาพถ่ายทอดย่านเสียงครอบคลุมเพียงพอต่อการฟังเพลงหลากหลายแนว เบสคุณภาพแบบลำโพงตั้งพื้น แม้ไม่ลึกเท่าซับวูฟเฟอร์ หรือลำโพงใหญ่ขนาดบิ๊กเบิ้ม แต่ในแง่ความกลมกลืนของย่านความถี่ต่ำไม่มีที่ติ ไม่ต้องกังวลเรื่องของรอยต่อเสียงจากการเซ็ตอัพซับวูฟเฟอร์ที่ไม่ลงตัว เบื้องต้นแนะนำให้ลองฟังเสียง LS60W พร้อม ๆ กับเอาใจใส่เรื่องการเซ็ตอัพดูสักหน่อยก็น่าจะจบในตัวได้โดยไม่ต้องเพิ่มซับวูฟเฟอร์ อย่าเพิ่งปรามาสขนาดลำโพงที่เห็น

แต่ถ้าใครลองฟังแล้วเห็นว่าเบสยังไม่จุใจ หรือต้องการเน้นใช้งานรับชมภาพยนตร์ด้วย การเพิ่มลำโพงซับวูฟเฟอร์เพื่อเติมเต็มเบสลึกสุดใจ (โดยเฉพาะย่านเสียง LFE จากภาพยนตร์) ก็ทำได้ LS60W ถูกออกแบบมาเผื่อไว้แล้ว สามารถเชื่อมต่อที่ช่อง SW Out รองรับ Single SUB (ใช้งานซับวูฟเฟอร์ 1 ตู้) หรือ Dual SUB (ซับวูฟเฟอร์ 2 ตู้) ได้ทันที

หากจับคู่กับซับวูฟเฟอร์ของ KEF เอง ก็รองรับการเชื่อมต่อซับวูฟเฟอร์แบบไร้สายด้วย (ใช้งานร่วมกับอุปกรณ์เสริม KW1 Wireless Subwoofer Adapter) พร้อมฟีเจอร์ตั้งค่าไฟน์จูนซับวูฟเฟอร์ผ่านแอปฯ ได้สะดวก

Conclusion – สรุป

ค่าตัว 2 แสนกว่า ไม่ใช่ราคาที่ถูก แต่ถ้าวิเคราะห์หลักการที่มา อันเกิดจากการคิดค้นและพัฒนาแบบจัดเต็มของ KEF พร้อม ๆ กับได้ฟังเสียงที่ได้ยินผ่านหูก็พูดได้เต็มปากว่า สมกับราคาครับ ใครกำลังมองหาลำโพงน้ำเสียงเที่ยงตรงในแบบ High-Fidelity ความเพี้ยนต่ำ กับรูปทรงกะทัดรัดดูสลิมสวยเด่นพร้อมด้วยตัวขับเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ไม่ต้องกังวลในการแม็ตชิ่งภาคขยายว่าจะดึงศักยภาพของลำโพงออกมาสุดหรือไม่ และไม่อยากวุ่นวายเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่อพ่วงมากมาย LS60W จะเป็นตัวจบ ควรค่าแก่การเป็นเจ้าของครับ

จุดเด่นของ LS60 Wireless

  • ลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็ก รูปลักษณ์โดดเด่นสะดุดตา เทคนิคการออกแบบเอื้อกับคุณภาพเสียงแบบจัดเต็ม
  • ให้ย่านเสียงเที่ยงตรง ปริมาณเบสครอบคลุม รองรับการฟังเพลงหลากหลายแนว
  • เวทีเสียงใหญ่ อิมเมจเสียงชัดเจนแบบจับวาง แจกแจงตำแหน่งชิ้นดนตรีได้อย่างน่าทึ่ง
  • DAC ในตัวถอดรหัส MQA (รองรับ Tidal Connect) และ DSD ได้
  • ช่องต่อรับสัญญาณหลากหลาย อาทิ eARC ต่อกับทีวี อัพเกรด SUB Out ได้ พร้อมเชื่อมต่อเครือข่าย รองรับบริการเพลงแบบสตรีมมิ่ง
  • การตั้งค่าลำโพงผ่านแอปฯ ทำได้ยืดหยุ่น

ข้อจำกัดของ LS60 Wireless

  • ลำโพงตั้งพื้นขนาดกะทัดรัดก็จริง แต่หากต้องการให้ปลดปล่อยศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่ ควรมีพื้นที่สำหรับตั้งวาง และจัดการสภาพแวดล้อมภายในห้องอย่างเหมาะสม
  • ไม่มีแผงควบคุมพื้นฐานที่ตัวลำโพงอย่าง Power On/Standby, Input Selector, Play/Pause, etc. แต่สามารถควบคุมผ่านรีโมต หรือแอปฯ แทนได้
  • ช่องต่อ AUX Input ไม่มีภาค Phono หากจะเชื่อมต่อกับ Turntable จะต้องเป็นรุ่นที่มี Phono ในตัว หรือใช้ Phono Preamp แยก
  • หากถามว่าอยากเพิ่มอะไรให้ลำโพงคู่นี้เพอร์เฟ็กต์ที่สุด ผมอยากให้มันรับสัญญาณ Analog Balanced XLR Input ทั้งที่ลำโพง Primary และ Secondary (รับสัญญาณตรงเข้าวงจรภาคขยายแยกอิสระแต่ละข้าง) เพื่อเพิ่มทางเลือกใช้งานให้ยืดหยุ่นยิ่งขึ้นครับ

ราคา KEF LS60 Wireless

269,000 บาท

References: KEF LS60W Whitepaper