21 Nov 2016
Review

วัสดุเยี่ยม ม้วนเก็บได้ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า รองรับการใช้งานยืดหยุ่น !? รีวิว Vertex Premium Motorized Projection Screen 100″


  • ชานม

Motorized Projection Screen

Vertex Premium Motorized Projection Screen 100″

ราคา 17,200  

บาท (ขนาด 100 นิ้ว 16:10, ยังไม่รวม vat)

วัสดุเยี่ยม ม้วนเก็บได้ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า รองรับการใช้งานยืดหยุ่น

จอรับภาพโปรเจ็คเตอร์ที่ผนวกทั้งความยืดหยุ่นด้านการติดตั้ง พร้อมๆ กับลักษณะที่ดูดี จะซ่อนหรือโชว์ก็ได้ คงไม่พ้นรูปแบบจอแขวนแบบมอเตอร์ไฟฟ้า หรือ Electric Motorized Projection Screen ทั้งนี้เวลาใช้งานสะดวกสบายเพราะสามารถสั่งเลื่อนจอลงมาหรือม้วนขึ้นเก็บด้วยระบบมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีความนุ่มนวลเพียงกดสวิตช์ หรือจะสั่งการผ่านรีโมตไร้สาย (เป็นอุปกรณ์เสริม) ก็ได้เช่นกัน

แน่นอนว่าความสามารถของ Electric Motorized Projection Screen ม้วนจอขึ้น-ลงได้นี้ มีประโยชน์หลายประการ ไม่ว่าจะเอื้อกับการใช้งานแบบ “ไฮบริด” สำหรับใครที่อยากใช้งานโปรเจ็คเตอร์สลับกับทีวี เพราะสามารถติดตั้งทีวีกับจอรับภาพโปรเจ็คเตอร์ที่ตำแหน่งเดียวกันได้ เวลาจะใช้งานโปรเจ็คเตอร์ก็เลื่อนจอลงมา หากไม่ใช้ก็เลื่อนจอเก็บง่ายๆ

ตัวอย่างการใช้งานแบบ “ไฮบริด” โดยติดตั้งใช้งาน “จอโปรเจ็คเตอร์” ร่วมกับ “ทีวี”

หรือเอื้อกับสภาพการตกแต่งห้องแบบอเนกประสงค์ ต้องการซ่อนจอโปรเจ็คเตอร์เอาไว้เพื่อใช้งานบางเวลาเท่านั้น ขณะเดียวกันการเก็บซ่อนจอรับภาพโปรเจ็คเตอร์ก็เหมือนกับเป็นการเก็บดูแลรักษา ป้องกันความเสียหายโดยไม่คาดคิด อาทิ การใช้งานในบ้านที่มีเด็กเล็ก เป็นต้น

Premium Motorized Projection Screen ถือเป็นจอแขวนแบบมอเตอร์ไฟฟ้าระดับสูงของทาง Vertex ด้วยการเลือกใช้วัสดุ-ส่วนประกอบที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังออกแบบมาให้มีความคงทน สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน ปัจจุบันมีให้เลือกทั้งอัตราส่วน 4:3, 16:9, และ 16:10 เช่นเดียวกับขนาดจอที่หลากหลาย ตั้งแต่ นิ้ว ไปจนถึง 120 นิ้ว

สำหรับชนิดของเนื้อจอ (Fabric) ที่มีให้เลือกสำหรับ Vetex Premium Motorized Projection Screen นั้น หากเป็นรุ่นอัตราส่วน 16:9 จะมีเฉพาะ Matte White สีขาว เท่านั้น ในขณะที่อัตราส่วน 4:3 และ 16:10 มีให้เลือกทั้ง Matte White และ HD Gray

หมายเหตุ:

– ชนิดของเนื้อจอแบบ HD Gray ที่ทาง Vertex ให้มากับรุ่น Premium Motorized Projection Screen จะมีความแตกต่างจาก HD Gray ที่ให้มาในรุ่น Fixed Frame Screen รายละเอียดเพิ่มเติมในจุดนี้ ดูได้ที่หัวข้อ Picture คุณภาพของภาพ

– ถึงแม้มีลักษณะเป็นจอรับภาพแบบมอเตอร์ไฟฟ้าเหมือนกัน แต่ Premium Motorized Projection Screen มีความแตกต่างจากรุ่น Tab Tension Motorized Screen (<<คลิ๊กเพื่ออ่านรายละเอียดและรีวิว) ตรงที่ไม่มีโครงสร่างขึงตึง ดังนี้จอรับภาพแบบ Tab Tension จึงตึงตัวอยู่ได้สมบูรณ์แบบกว่า

ดีไซน์

Vertex Premium Motorized Projection Screen มีลักษณะเป็นกระบอกโลหะสีขาว แม้จะดูยาวตามขนาดจอรับภาพที่ใหญ่ถึง 100 นิ้ว แต่มิติด้านสูงและลึกกลับกะทัดรัด ดูไม่เทอะทะ ซึ่งเมื่อแรกนำออกมาจากหีบห่อจะเห็นสายรัดสีดำ เป็นอุปกรณ์ป้องกันมิให้จอรับภาพด้านในเลื่อนออกมาโดยไม่ตั้งใจระหว่างขนส่ง จึงช่วยป้องกันความสียหายได้

Vertex Premium Motorized Projection Screen รุ่นที่ทำการทดสอบครั้งนี้มีขนาดจอรับภาพ 100 นิ้ว อัตราส่วน 16:10 ขนาดของจอรับภาพ (รวมแถบดำ) มีความยาวทั้งสิ้นราว 216 ซม. แต่ถ้าวัดความยาวของตัวกระบอกโลหะจะยาวเลยระยะข้างต้นออกไปอีกเล็กน้อย น้ำหนักต้องถือว่ามากพอสมควร ทั้งนี้เพราะมีโครงสร้างมอเตอร์ติดตั้งอยู่ภายใน

มีโลโก้ยี่ห้อ Vertex กำกับไว้ที่ฝั่งขวาของกระบอกโลหะ และแน่นอนว่าจอแบบมอเตอร์ไฟฟ้าทุกรุ่นของ Vertex จะมีสวิตช์ควบคุมปรับระยะจอขึ้น-ลง ติดตั้งมาพร้อมโดยติดตั้งอยู่ทางฝั่งขวานี้เช่นกัน ทั้งนี้การใช้งานสวิตช์ปรับควบคุมจอภาพขึ้น-ลงนี้ ที่ปลายสายจะมีปลั๊กไฟสำหรับเสียบเข้ากับเต้ารับไฟบ้านได้โดยตรง

หมายเหตุ: กรณีที่ต้องการควบคุมปรับระยะขึ้น-ลงของจอรับภาพด้วยรีโมตคอนโทรลแบบไร้สาย สามารถทำได้โดยเพิ่มเติมอุปกรณ์เสริม (ต้องซื้อเพิ่ม)

มอเตอร์ที่ใช้เลื่อนจอภาพขึ้น-ลง ทำงานได้ลื่นไหล สามารถหยุดได้ทุกตำแหน่ง และเมื่อจอลงมาที่ตำแหน่งต่ำสุดหรือเมื่อเลื่อนขึ้นเก็บในกระบอก ระบบมอเตอร์จะหยุดทำงานเองโดยอัตโนมัติ (ถึงแม้จะกดสวิตช์ค้างไว้) ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายของมอเตอร์และเพิ่มความสะดวกเวลาใช้งานได้เป็นอย่างดี

การติดตั้ง

ด้วยการที่เป็นจอแขวนผนังหรือแขวนฝ้าเพดานก็ได้ การติดตั้งจึงต้องทำการเจาะยึดสักเล็กน้อย ซึ่งดำเนินการได้ไม่ยากจนเกินไป ใช้เวลาไม่นาน แต่ทางที่ดีควรจะมีสัก 2 คนช่วยกัน เนื่องจากขนาดและน้ำหนักที่มาก

Vertex Premium Motorized Projection Screen จะแยกขาแขวนออกมาต่างหากจากกระบอกจอ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถปรับระยะจุดยึดแขวนได้อย่างยืดหยุ่น ซึ่งขาแขวนนี้ออกแบบมีให้รองรับการยึดผนังหรือฝ้าเพดานได้ในตัวเดียวกัน (คำเตือน – การยึดกับฝ้าเพดาน ต้องมั่นใจก่อนว่าโครงสร้างสามารถรับน้ำหนักได้)
ด้านหลังของกระบอกจอจะมีร่องอยู่ ซึ่งร่องนี้ใช้ติดตั้งขาแขวนนั่นเอง โดยทำเผื่อไว้ให้ปรับระยะยึดขาเขวนได้ตามต้องการเกือบตลอดความยาวของกระบอกจอ
โครงสร้างพลาสติกสีดำของขาแขวนที่เห็น คือ ตัวล็อคขาแขวนนี้เข้ากับกระบอกจอนั่นเองโดยใช้เพียงการบีบล็อค ไม่ต้องยึดสกรูใดๆ เข้ากับกระบอกจอ
จะเห็นว่าเมื่อติดตั้งขาแขวนเข้ากับกระบอกจอแล้ว จะมีจุดให้ยึดแขวนได้สองตำแหน่ง คือ ด้านหลัง (ยึดผนัง) และด้านบน (ยึดกับฝ้าเพดาน)