20 Mar 2017
Review

รีวิว BenQ X12000 Worlds First 4K DLP Home Cinema Projector with HLD LED Light Source!!


  • ชานม

Hi-End Home Theater Projector

BenQ X12000

Worlds First 4K DLP Home Cinema Projector with HLD LED Light Source !!

ก่อนสิ้นปี 2016 BenQ สร้างแรงกระเพื่อมให้กับวงการโฮมเธียเตอร์ไฮเอ็นด์ด้วยการเปิดตัว W11000 DLP Home Cinema Projector ตัวท็อป (เวลานั้น) พร้อมเทคโนโลยี 4K XPR และพ่วง THX HD Certified Display เป็นเครื่องแรกของโลก แต่ความเทพยังไม่หยุดยั้งเพียงเท่านั้น เพราะบัดนี้ผู้ผลิตฯ ได้นำเสนอ X12000 ด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า สมกับการเป็น “รุ่นเรือธง” อย่างแท้จริง!

ด้วยดีกรี >>The Best Projector Award<< ประจำปี 2016 ศักยภาพของ W11000 ย่อมไม่ธรรมดา แต่เมื่อมี X12000 ที่มีศักยภาพเหนือกว่าออกมา… ก็ได้เวลาทดสอบเพื่อหาคำตอบถึงความเหนือชั้นของรุ่นเรือธงกัน

พิ้นฐานเทคโนโลยีแสดงผลของ X12000 ใช้หลักการเดียวกับ W11000 นั่นเอง คือ 4K UHD DMD Chip ที่มีจำนวน micromirrors ทั้งสิ้น 2716 x 1528 หรือเท่ากับ 4.15 ล้านพิกเซล ผนวกกับเทคโนโลยีการแสดงผลแบบ XPR ซึ่งใช้ Optical Actuator ที่ทำงานรวดเร็วมากจนสร้างเป็นภาพนิ่ง (frame) ที่มีรายละเอียดจำนวนพิกเซลเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า หรือรวมกันทั้งสิ้นเท่ากับ 8.3 ล้านพิกเซล ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับความละเอียด 4K ที่เราคุ้นเคยนี่เอง… 

หลักการนี้ได้การรับรองจาก Consumer Technology Association หรือ CTA ซึ่งเป็นสมาคมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังงาน Consumer Electronic Show หรือ CES ที่เราๆ ท่านๆ รู้จักกันดี

ผลเกี่ยวเนื่องจากแนวทาง 4K XPR ข้างต้นนี้ BenQ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นอกจากรายละเอียดของภาพที่สูงขึ้นกว่า Full HD Projector อย่างชัดเจนแล้ว ยังไม่ทำให้เกิดปัญหา Screen-door Effect หรือการรบกวนของเส้นตารางพิกเซล

อีกทั้งยังไม่มีปัญหา Misconvergence หรืออาการเหลื่อมสี ที่อาจพบได้กับเทคโนโลยีการแสดงผลของโปรเจ็คเตอร์รูปแบบอื่น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ได้รับการยืนยันจากผลการทดสอบ W11000 แล้วว่า เป็นความจริง! (อ่านรีวิวได้ >>ที่นี่<<) ว่าแต่อะไร ที่ทำให้ X12000 เหนือกว่า W11000 ขึ้นไปอีกขั้น?

ปัจจัยหลักที่ส่งให้ X12000 มีศักยภาพเหนือกว่า W11000 คือ การผสานเทคโนโลยี CinematicColor เข้ากับเทคโนโลยีแหล่งกำเนิดแสงล่าสุด ColorSpark HLD LED จาก Philips ด้วยระดับความสว่างที่สูงกว่าเทคโนโลยีแหล่งกำเนิดแสงแบบ LED ทั่วไปถึง 3 เท่า แต่ที่พิเศษ คือ “คุณภาพแสง” อันส่งผลถึงการแสดงขอบเขตสีของโปรเจ็คเตอร์ที่กว้างขวางครอบคลุมถึงมาตรฐาน DCI-P3 เหนือกว่าความสามารถของ W11000 ที่ทำได้ครอบคลุมที่มาตรฐาน Rec.709

จุดนี้สามารถยืนยันได้อีกเช่นเคยกับผลการทดสอบ CIE Color Gamut ตามภาพ บ่งบอกถึงศักยภาพของ X12000 ว่าเหนือกว่า W11000 จริง ขณะเดียวกันแหล่งกำเนิดแสง HLD LED ยังมีประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงานสูงกว่า มีอายุการใช้งานยาวนานมากกว่าถึง 3 เท่าเป็นอย่างน้อย (อ้างอิงที่ 20,000 ชม.) เรียกว่าใช้นานไม่ต่างจากทีวีเลย และค่าดูแลรักษาในระยะยาวก็ย่อมจะต่ำลงด้วย

รายละเอียดและคุณสมบัติด้านภาพของ X12000 เพิ่มเติม จะกล่าวถึงอีกครั้ง แต่ก่อนอื่นมาดูในส่วนของดีไซน์-รูปลักษณ์ภายนอก กันก่อนครับ

ดีไซน์

เริ่มจากรูปลักษณ์ภายนอก จะเห็นว่า X12000 ถอดแบบมาจากรุ่น W11000 มาแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นขนาดที่ใหญ่โตตามแบบฉบับรุ่นสูง วัสดุสีสัน เท็กเจอร์ที่ดูดี หรือแม้แต่การออกแบบจัดวางตำแหน่งชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ก็เหมือนกัน โดยรุ่นนี้จัดวางตำแหน่งเลนส์ฉายภาพไว้กึ่งกลาง เพื่อให้ง่ายในการอ้างอิงจุดติดตั้งโดยเฉพาะเมื่อยึดเข้ากับขาแขวนเพดาน

จุดเชื่อมต่อสายสัญญาณต่างๆ ถูกจัดวางไว้ด้านข้างเช่นเดียวกับ W11000 ซึ่งเอื้อสำหรับการเชื่อมต่อสายกรณีที่จำเป็นต้องติดตั้งโปรเจ็คเตอร์ชิดผนังด้านหลัง อย่างไรก็ดีไม่มีฝาครอบหรือช่องสำหรับเก็บซ่อนสายแต่มิได้เป็นปัญหาใหญ่… ใกล้กันเยื้องลงมาด้านล่างจะเป็นแผงสวิตช์ควบคุม สามารถเลื่อนฝาปิดได้เมื่อมิได้ใช้งาน ซึ่งดูลงตัวดี

รีโมตคอนโทรลดูพรีเมียม ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ W11000  มี Back-lit สีส้ม สว่างเห็นชัดทุกปุ่มแม้ใช้งานในห้องมืด และที่ตัวเครื่องโปรเจ็คเตอร์ติดตั้งเซ็นเซอร์รับสัญญาณทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ในบางสถานการณ์ไม่จำเป็นต้องชี้รีโมตตรงไปที่ตัวโปรเจ็คเตอร์ก็ยังควบคุมได้ดีมาก

จุดที่ต่างจาก W11000 พอให้สังเกตได้มีเพียงเล็กน้อย หนึ่งในนั้น คือ “การตัดขอบด้วยสีทอง” ของ X12000 ที่ตำแหน่งเลนส์ฉาย

ด้านหลังตัวเครื่องของ X12000 เป็นตะแกรงโปร่ง มิได้ปิดทึบเหมือนรุ่น W11000

ซึ่งการเปิดช่องด้านหลังนี้เป็นการปรับเปลี่ยนระบบระบายลมร้อนใหม่ให้แตกต่างจากรุ่น W11000 กล่าวคือ X12000 จะใช้หลักการนำลมเย็นเข้าจากด้านหลังทั้ง 2 ฝั่งซ้าย-ขวา แล้วระบายออกทางด้านหน้า ทางเดินของมวลอากาศที่ไหลผ่านจึงสั้นกว่า W11000

นอกจากนี้โลโก้มาตรฐานต่างๆ ที่กำกับไว้บนตัวเครื่องสำหรับรุ่น X12000 จะไม่มี THX HD Display Certified Logo แตกต่างจากที่เคยมีในรุ่น W11000 ซึ่งรายละเอียดในจุดนี้จะส่งผลกับคุณภาพของภาพหรือไม่ จะกล่าวถึงอีกครั้งตอนรายงาน “คุณภาพของภาพ” ครับ