12 Jun 2018
Review

รีวิว Sony 65A8F 4K HDR OLED TV ถอดแบบ A1 ในราคาท้าให้เป็นเจ้าของได้ง่ายยิ่งกว่า !!?


  • ชานม

Sony 65A8F 4K/UHD HDR OLED TV

ถอดแบบ A1

ในราคาท้าให้เป็นเจ้าของได้ง่ายยิ่งกว่า !!?

หลังจากเปิดตัว OLED TV เครื่องแรกของโลก (XEL-1 ขนาดจอภาพ 11 นิ้ว) เมื่อปี 2008 ก็หายหน้าไปจากตลาด OLED TV อยู่พักใหญ่ๆ ทว่าในปี 2017 Sony กลับมาทวงคืนบัลลังก์ได้อย่างเต็มภาคภูมิด้วยรุ่นเรือธง A1 และพยายามตอกย้ำความสำเร็จอีกครั้งด้วย “A8F” รุ่นใหม่ล่าสุดประจำปี 2018 นี้

โลกนี้ไม่มีสิ่งใดเพอร์เฟ็กต์ มันอาจจะดีในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ด้วย “พัฒนาการ” จึงทำให้มีของใหม่ที่ดีกว่า และหน้าที่ของผู้ผลิตที่ดีก็คือ การปรับปรุงสินค้าให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ หากทำได้ ย่อมประสบความสำเร็จและได้ไปต่อ… ถึงแม้การวางตำแหน่งรุ่น A8F ของ Sony ทำให้เป็นรองในแง่ของความพรีเมียมเมื่อเทียบกับ A1 (ปัจจุบันยังคงเป็นรุ่นเรือธงของแบรนด์จวบจนถึงวันนี้) แต่ในเมื่อเป็นสินค้าเทคโนโลยี “รุ่นใหม่” ย่อมได้เปรียบในหลายแง่มุม จุดเด่นของ A8F จะมีอะไรบ้าง เดี๋ยวมาพิสูจน์กันครับ

ดีไซน์

ขอย้อนกลับไปดูดีไซน์ของ A1 สักหน่อย “ความพิเศษ” ในอีกมุมหนึ่งก็มาพร้อมความซับซ้อนที่สร้างความยุ่งยากเวลาติดตั้งอยู่บ้าง ที่ชัดเจนเลย คือ โครงสร้างขาพับด้านหลังที่ทั้งหนาและหนัก เมื่อกางขาออกจะกินพื้นที่ความลึกของชั้นวางพอตัวที่ประมาณ 33.9 ซม. ซึ่งมากกว่าความต้องการของทีวีปกติทั่วไปอยู่สักหน่อย แต่ประเด็นเหล่านี้คงไม่เป็นปัญหาสำหรับผู้ใช้ทั่วไป เพราะคงไม่มีใครยกย้ายตำแหน่งทีวีกันบ่อยๆ เตรียมการครั้งแรกทีเดียวก็คงตั้งยาว

ดีไซน์ของ A8F กันบ้าง การเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการปรับปรุงแก้ไขปัญหาความยุ่งยากในการติดตั้งที่ผ่านมาของ A1 หลายท่านเห็น A8F แล้ว อาจไม่รู้สึกหวือหวาตื่นเต้นเท่ากับรูปลักษณ์ของ A1 แต่เชื่อว่ายังดูพรีเมียมบนพื้นฐานของความเรียบง่าย (Minimalist Design) จากวัสดุและรูปทรงที่ให้ความกลมกลืนเข้ากับสภาพแวดล้อมตามคอนเซ็ปต์ “Slice of Living”

ฐานตั้งถูกเปลี่ยนมาใช้รูปแบบแผ่นโลหะบางเฉียบรองรับแนบชิดใต้ส่วนล่างของจอภาพ มองเผินๆ ในบางมุมก็เหมือนว่าแผ่นจอทีวีตั้งอยู่บนพื้นชั้นวางตรงๆ ภาพลักษณ์ดูคล้าย “One Slate” ของ A1 อยู่เหมือนกัน
ผลพลอยได้สำคัญของการเปลี่ยนโครงสร้างฐานตั้งเป็นลักษณะนี้ คือ การประกอบติดตั้งที่ทำได้ง่ายกว่ารูปแบบบานพับของ A1 แถมน้ำหนักเบา ไม่เทอะทะ กินเนื้อที่ชั้นวางไม่มาก ต้องการความลึกเพียง 25.5 ซม. และยังทำให้จอทีวีตั้งตรง ไม่ได้บังคับเอนหลัง 5 องศา แบบ A1 (ซึ่งไม่ว่าเอนหลังหรือตั้งตรงก็เป็นทั้งข้อดี และข้อเสียในเวลาเดียวกัน ขึ้นกับระดับความสูงของชั้นวางและระยะรับชม แต่รูปแบบตั้งตรงดูบริหารจัดการในสภาพการติดตั้งใช้งานทีวีโดยทั่วไปได้ง่ายกว่า)

และเมื่อแขวนผนัง เพียงถอดฐานรองรับออก โครงสร้างโดยรวมของจอทีวีจะมีความบางเพียง 7.6 ซม. ดูแนบชิดกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับผนังมากยิ่งขึ้น

รูปลักษณ์ที่ลงตัวจากความบางของโครงสร้างจอรับภาพ 65A8F ยืนยันกันด้วยรูปนี้
การคำนึงถึงความสวยงามด้านหลังทีวีด้วยโครงสร้างปิดบังช่องต่อโดยแบ่งฝาครอบออกเป็น 3 ชิ้น เพื่อช่วยในการจัดระเบียบซ่อนสายสัญญาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยดูสะอาดตาที่ด้านหลังของทีวีดูไม่รกรุงรัง
สวิทช์เพาเวอร์ติดตั้งทางด้านหลังส่วนล่าง เยื้องไปทางฝั่งขวา (เมื่อมองจากด้านหลัง)