28 Apr 2019
Review

รีวิว POLK PSW111 ลำโพง Active Subwoofer ขนาดเล็กกะทัดรัด เบสตึ๊บ เร้าใจ ในราคาสบายกระเป๋า


  • TopZaKo

ราคา 9,900 บาท รับประกัน 5 ปี

หากพูดถึงชุดเครื่องเสียงโฮมเธียร์เตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการดูหนังหรือฟังเพลง สิ่งหนึ่งที่สร้างความสนุกสนาน เร้าใจ สร้างอรรถรสในการรับชมให้เราได้เป็นอย่างดีจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากเสียงเบสนั่นเอง ซึ่งอุปกรณ์หรือลำโพงชนิดหนึ่งที่ถือกำเนิดมาเพื่อให้เสียงเบสโดยเฉพาะก็คือ ลำโพง Subwoofer

ในสมัยก่อนหากเราจะพูดถึงลำโพง Subwoofer ส่วนมากขนาดของตัวตู้ลำโพงนั้นจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป รวมถึงที่พักอาศัยของคนเราในยุคปัจจุบันนั้นเน้นความเล็กกะทัดรัดสะดวกสบายกันเป็นส่วนใหญ่ เหล่าผู้ผลิตเครื่องเสียงต่างๆ จึงหันมาทำเครื่องเสียงที่มีขนาดเล็กลงกันมากขึ้น ลำโพง Subwoofer ก็เช่นกัน วันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Polk PSW111 ลำโพง Subwoofer ขนาดเล็กกะทัดรัด ที่ให้คุณภาพเสียงเบสได้ใหญ่เกินตัว จะเป็นอย่างไรไปดูกันครับ

Design – การออกแบบ

ด้านหน้าของ PSW111

การออกแบบ โดยรวมของตัวลำโพงนั้นมีความเล็กกะทัดรัด ตัวตู้ทำจากวัสดุไม้สังเคราะห์ รูปร่างเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมทำขอบมนๆ ด้านหน้าเป็นหน้ากากลำโพงที่ทำจากผ้าที่สามารถให้เสียงผ่านได้ โดยหากไม่อยากให้อะไรมาบดบังในเรื่องของเสียงก็สามารถถอดแกะได้ ซึ่งจะทำให้เสียงดีขึ้นมาในระดับหนึ่ง ส่วนด้านล่างจะมีขาของตัวลำโพงจะมีท่อคายเบส และขาตั้งเป็นรูปแบบ Spike ทำจากวัสดุยางที่ช่วยให้ตัวลำโพงมีความมั่นคงเมื่อเปิดเสียงในระดับที่ดังพอสมควร

ดอกลำโพงขนาด 8 นิ้ว ขุมพลังเสียงของเราในงานนี้

ในเรื่องของ สเปค ตัวลำโพงเป็น Active Subwoofer มาพร้อมดอกลำโพงขนาด 8 นิ้ว มีแอมป์ภาคขยายเสียงในตัว ให้กำลังขับสูงสุดอยู่ที่ 300W ตอบสนองความถี่ในช่วง 36Hz-250Hz มีขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ประมาณ 31 x 28 x 33 ซม. และมีน้ำหนักของตัวเครื่องเพียง 9.2 กก. เท่านั้น ถือว่าเบาพอสมควรสำหรับลำโพง Subwoofer

ท่อคายเบสบริเวณด้านล่างของตัวตู้

Connectivity – ช่องต่อ

ช่องต่อและปุ่มปรับต่างๆ บริเวณด้านหลัง

แม้ว่าจะเป็น Subwoofer รุ่นเริ่มต้น แต่เรื่องช่องต่อและการปรับเสียงต่างๆ ให้มาแบบครบครันเลยทีเดียว ประกอบไปด้วย Volume เพิ่ม/ลด ความดังเสียง, ที่หมุนจุดตัดความถี่ Crossover ได้ตั้งแต่ 60Hz จนถึง 120Hz กับ Bypass ให้เพื่อใช้สัญญาณเสียง แบบ LFE จาก AVR, สวิตช์ปรับ Phase 0 องศา กับ 180 องศา, สวิตช์ Power ที่มีให้เลือก On Auto กับ Standby, ช่องต่อ Line In L/R ซึ่งถ้าหากเสียงเข้าที่ช่อง R ช่องเดียวระบบจะตัดภาค Crossover ให้เป็นแบบ LFE โดยอัตโนมัติ, ช่องต่อ Speaker In – Out สำหรับผู้ที่นำ Subwoofer ตัวนี้ไปใช้กับเครื่องเสียง เช่น Integrated รุ่นที่ไม่มีช่องต่อสัญญาณ Output และท้ายสุดคือช่องเสียบไฟเข้าตัวเครื่อง

Setup – การติดตั้ง

บรรยากาศในห้องที่ใช้ในการทดสอบ

การติดตั้ง ในการทดสอบครั้งนี้ผมได้ทำการ Set-Up ระบบเสียงเป็นแบบ 5.1 Ch  ทั้งการดูหนังและฟังเพลง โดยผมได้ทำการทดลองการเชื่อมต่อทั้งหมด 2 วิธี ทั้งแบบต่อผ่านช่อง LFE และวิธีที่ 2 ใช้สาย RCA แบบ 1 ออก 2 ต่อเข้า Sub แบบ L/R เพื่อใช้ภาค Crossover ของตัว Sub เอง ซึ่งจากการทดสอบส่วนตัวผมชอบในแบบที่ 2 มากกว่าเพราะเราสามารถปรับแต่งแก้ไขเสียงต่างๆ ปรับ Crossover ปรับ Volume ของตัว Sub ได้ค่อนข้างละเอียด สามารถปรับจูนเสียงให้เข้ากับลำโพงหลักในระบบได้ดีกว่า แถมการต่อแบบนี้ยังทำให้สัญญาณของเสียงมีความดังขึ้น ทำให้เสียงที่ได้จะมีน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย แต่ในการปรับแบบนี้อาจต้องใช้ทักษะในการฟังอยู่บ้าง สำหรับมือใหม่หรือผู้ใช้งานทั่วไปแนะนำให้ต่อแบบ LFE ตามปกติจะสะดวกกว่าครับ

ตัวตู้มีขนาดเล็กกะทัดรัดติดตั้งง่าย