08 May 2014
Review

ใต้ฝุ่นหมายเลข 8 มาร์คทู!! รีวิวซับวูฟเฟอร์ลูกใหม่จากแบรนด์ Magnet


  • boom

ถ้าจะเอ่ยถึงโฮมเธียเตอร์…หลายคนจะนึกถึงอะไรครับ? แน่นอนว่าต้องมี AVR, ลำโพงรอบทิศทาง และ “ซับวูฟเฟอร์” ที่ต้องเน้นกันขนาดนี้เพราะผมเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะดูหนังจากชุดโฮมฯโดยปราศจากซับวูฟเฟอร์(ยกเว้นคนซื้อ Jamo ชุดนี้นะ) เหตุผลก็เพราะว่าแรงปะทะอัดอากาศอันเกิดจากเสียงระเบิด, เสียงปืน, เสียงรถชน,​ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่มีเสียงย่านความถี่ต่ำเป็นฐานเสียงทั้งสิ้น ถ้าอยากจะได้แรงอัดกระหน่ำให้ขี้หูระเบิดเข้าถึงอรรถรสหนังก็ต้องพิถีพิถันเลือกใช้งานซับวูฟเฟอร์กันพอสมควร

Magnet ชื่อนี้มักจะได้ยินบ่อยๆในวงการเครื่องกรองไฟ ที่ดีไซน์อุปกรณ์มาได้หนักแน่นและเปี่ยมไปด้วยคุณภาพ แต่มีไม่กี่คนหรอกที่รู้ว่าแบรนด์แม่เหล็กแบรนด์นี้เค้าก็ทำลำโพงมาขายเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะซับวูฟเฟอร์ที่เราจะมารีวิวกันในวันนี้ในชื่อว่า Magnet Typhoon 8 Mk II ที่เป็นรุ่นต่อยอดเติมสต๊อคจาก Typhoon 8 ครั้นเมื่อเคยออกมาถล่มตลาดไปเมื่อหลายปีก่อน จนเป็นที่กล่าวขวัญกันในหลายเว็บบอร์ดไฮไฟ

Magnet Typhoon 8 Mk II
ราคาตั้ง 18,800 บาท

Design – การออกแบบ

แอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ลูกสีดำตัวนี้มาพร้อมกับขนาดไม่ใหญ่โตพิกัดน้ำหนักสุทธิอยู่ที่ 23.2 กก. มีขนาด กว้างxยาวxสูง ด้านละไม่เกิน 45 ซม. เป็นทรงสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ด้านเท่า ที่ติดตั้งไดร์เวอร์แบบช่วงชักยาว (Long Throw Woofer) ขนาด 8 นิ้ว ไว้ตรงด้านข้างสองตัวด้วยกัน นอกจากนี้ยังพกเอากำลังขับ 145 วัตต์ต่อเนื่อง (8 โอห์ม) และ 200 วัตต์ต่อเนื่อง (4 โอห์ม) มาเสร็จสรรพ

“Typhoon Eight MK II” การันตีความใหม่ล่าสุด

ด้านหลังมีปุ่มปรับค่าต่างๆเรียงรายมาให้มากมาย เพิ่มความละเอียดในการปรับจูนเสียงได้ ชนิดที่ว่าหาได้ยากในซับวูฟเฟอร์ระดับราคานี้ นอกจากนี้ยังมีฮีทซิงค์ติดตั้งมาช่วยในการระบายความร้อนออกจากตัวลำโพงมาให้อีกตัวช่วยยืดอายุการใช้งานตัวไดร์เวอร์และแผงวงจรภายในจากความร้อนสะสม

มือใหม่หลายคนอาจจะเริ่มสงสัยว่าตัวปรับแต่ละอย่างนั้นมีหน้าที่ไว้ทำอะไร ผมจึงขอยกคำอธิบายแต่ละตัวจากคู่มือมาไว้คร่าวๆดังนี้ละกัน ไล่จากบนลงล่างกันเลยนะครับ

1. MODE (Move/Music) เป็นตัวปรับบุคลิกของเสียงเบสที่ถูกขับออกมาให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทการรับชม ไม่มีข้อมูลเชิงลึกบอกไว้ว่ามันจะช่วยเรื่องไหนเอาเป็นว่าเดี๋ยวเรามาลองกันทีหลัง
2. BASS LEVEL ตัวปรับระดับความดังของเสียงจากตัวซับฯ
3. LPF FREQ (Low Pass Filter Frequency) ทำหน้าที่ในการปรับจุดตัดความถี่ของวงจร LPF Bass Correction ให้มีการตอบสนองที่สอดคล้องกับลำโพงหลักในระบบ
4. LPF SLOPE เป็นตัวปรับอัตราความลาดชันของเสียงต่ำที่ออกมาให้เหมาะสมกับลำโพงอื่นๆและสภาพอะคูสติกของห้อง พูดง่ายๆถ้าตั้งไว้ชันๆ เบสก็จะเก็บตัวเร็วม๊ากกมาก ตั้งไว้ลาดๆเบสก็จะย้วยๆ ต้องเลือกจูนเอาครับ
5. PHASE ปุ่มนี้ไว้สำหรับปรับจุดตัดของวงจร High-Pass Filter ในตัวลำโพงให้มีความกลมกลืน โดยจะส่งผลค่อนข้างมากต่อเสียงที่ได้รับเพราะมันจะช่วยเพิ่มและลดความถี่ในย่านอื่นๆไปด้วย
6. HPF FREQ ทำหน้าที่เลือกปรับความถี่จุดตัดของวงจร Active High-Pass Filter สำหรับปรับจูนความถี่ให้เข้ากับเซ็ตลำโพงคู่หน้า

Connectivity – ช่องต่อ

ด้านล่างถัดจากปุ่มปรับจูนค่าต่างๆจะเป็นช่องต่อสำหรับเสียบสายสัญญาณกับแหล่งต่างๆ ซึ่งถ้าหากใครเน้นใช้ AV Receiver เป็นหลักก็จะเสียบกับช่อง LINE INPUT เพียงอย่างเดียวครับ ส่วนรูปแบบอื่นๆนั้นก็จะเป็นการต่อจากช่อง OUTPUT ของปรีแอมป์หรือ AVR มาเข้าที่ LINE INPUT ที่หลังซับวูฟเฟอร์แล้วเอ้าท์พุตออกจากช่อง HPF OUTPUT ไปเข้าที่พาวเวอร์แอมป์ เพื่อที่จะใช้วงจร High-Pass Filter ที่ตัวซับฯ ในการปรับจูนจุดตัดความถี่ (ระหว่างลำโพงหลัก และซับฯ) ได้สะดวกมากขึ้น แนวทางการเชื่อมต่อตามภาพด้านล่างครับ

แผนผังแสดงการเชื่อมต่อเมื่อต้องการใช้งานวงจร High-Pass Filter