08 May 2014
Review

เพชรนี้เลอค่า… อมตะ ?? รีวิว Wharfedale Diamond 100 Series HomeTheater Speakers


  • ชานม

Home Theater Speaker System

Wharfedale Diamond 100 Series

เพชรนี้เลอค่า เกินราคา ??

หากไล่ดูรายชื่อลำโพงเก่าแก่ที่กุมหัวใจนักเล่นเครื่องเสียงอย่างยาวนาน จะต้องมียี่ห้อ “Wharfedale” อยู่ในอันดับต้นๆ ที่สร้างชื่อเสียงมายาวนานในฐานะลำโพงที่ให้เอกลักษณ์เสียงในแบบ “อังกฤษ” อย่างชัดแจ้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Wharfedale Diamond Series อันเป็นที่ถูกอกถูกใจของนักเล่นชาวไทย ไม่ว่าหน้าใหม่ หรือมือเก๋า ด้วยระดับราคาที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง

ย้อนกลับไปในราวปี 1982 ลำโพง Wharfedale Diamond คู่แรกถือกำเนิดขึ้น ด้วยรูปทรงตัวตู้ขนาดกะทัดรัด ปริมาตรประมาณ 5 ลิตร ติดตั้งตัวขับเสียง คือ ทวีตเตอร์โดมผ้า ขนาด 19 มม. และวูฟเฟอร์ช่วงชักยาวขนาด 120 มม. สิ่งที่ถูกกล่าวขวัญกันในวงการขณะนั้น คือ คุณภาพเสียงในการถ่ายทอดสเตริโออิมเมจอย่างโดดเด่นในงบประมาณที่แสนคุ้มค่า จนสร้างปรากฏการณ์ “ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า” นับแต่นั้นมา Diamond Series ก็ยังคงเป็นซีรี่ส์ลำโพงของ Wharfedale ที่ขายดีที่สุดต่อเนื่องยาวนาน ดูท่าจะไม่สิ้นสุด… บัดนี้เราจะมาพิสูจน์กันครับว่า เพราะเหตุใด

Design – การออกแบบ

Wharfedale Diamond 100 Speaker Series มีจำนวนลำโพงทั้งสิ้น 8 รุ่น
เป็นลำโพงตั้งพื้นเสียเยอะ ถึงครึ่งหนึ่ง คือ 4 รุ่น ส่วนลำโพงวางหิ้งมี 2 รุ่น และเซ็นเตอร์อีก 2 รุ่น

สำหรับรุ่นที่จะทำการทดสอบในครั้งนี้ คือ Diamond 155, 121 และ 101C
โดยจะเป็นลำโพงไซส์เล็กที่สุดของแต่ละหมวด (ตั้งพื้น-วางหิ้ง-เซ็นเตอร์) แต่ดูจากขนาดแล้วก็พูดว่าเล็กได้ไม่เต็มปาก

155 ซึ่งเป็นลำโพงตั้งพื้นนั้น รับหน้าที่เป็นลำโพงคู่หน้า 121 เป็นลำโพงเซอร์ราวด์ และ 101C เป็นลำโพงเซ็นเตอร์ ตามลำดับ และจะมีลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์จากซีรี่ส์ POWERCUBE SPC-10 มาให้ใช้เข้าคู่กันอย่างดิบดีด้วยครับ (รายละเอียดของลำโพงซับวูฟเฟอร์จะกล่าวถึงต่อไป) ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อใช้งานเป็นลำโพงโฮมเธียเตอร์ 5.1 นั่นเอง แต่ก่อนจะไปว่ากันเรื่องของผลลัพธ์อย่างคุณภาพเสียง มาดูคุณสมบัติของลำโพง Wharfedale ตระกูล Diamond รุ่นล่านี้กันก่อน ว่ามีอะไรเด่นบ้าง

เริ่มกันที่ตัวขับเสียง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสียง และ Diamond 100 Series ก็เป็นก็ดังเช่นลำโพงของ Wahrfedale รุ่นอื่นๆ ที่ยึดมั่นกับทวีตเตอร์โดมผ้ามาโดยตลอด โดยมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่ 25mm แต่จุดที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ทวีตเตอร์โดมผ้านี้ ถูกติดตั้งไว้ภายในโครงสร้าง “เวฟไกด์” แบบใหม่

ลักษณะของเวฟไกด์ดังกล่าวมองเผินๆ คล้ายๆ กรวยของวูฟเฟอร์ (เป็นหลุมเว้าลึกเข้าไป มีขอบนอกนูนเหมือนกับขอบเซอร์ราวด์ด้วยนะ) แต่อันที่จริงเป็นวัสดุสังเคราะแข็ง หล่อขึ้นเป็นรูปทรงเพื่อควบคุมมุมกระจายเสียงของทวีตเตอร์ต่างหาก

กล่าวถึงทวีตเตอร์ไปแล้ว คราวนี้มาดูในส่วนของวูฟเฟอร์มิดเรนจ์/เบส กันบ้าง… ก็อีกเช่นกันว่า ท่านใดที่คุ้นเคยกับลำโพงของ Wharfedale มาก่อน จะทราบว่าเจ้านี้เขาเลือกใช้วูฟเฟอร์ที่นำเอาวัสดุ “ถักสาน” ทำเป็นไดอะแฟรมมาช้านาน สำหรับ Diamond Series ก็ยึดมั่น Woven Kevlar เช่นเคย ใช้มาไล่ตั้งแต่ Diamond 8, 9, 10 จนมาถึง Diamond 100 ก็ยังคงใช้ Woven Kevlar… แต่ทว่า

มีลักษณะบางอย่างของ Kevlar Cone ใน Diamond 100 ที่เปลี่ยนแปลงไปจากรุ่นก่อน
อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการผนวกเทคโนโลยีการพัฒนาไดรเวอร์ที่ถ่ายทอดลงมาจากลำโพงระดับ
Audiophile Class รุ่นล่าสุด อย่าง “Jade” Series

Wharfedale Jade Series

ขอแนะนำหน้าตาของ Wharfedale “Jade” Series (ในรูป คือรุ่น Jade 7 ตัวท็อปของซีรี่ส์ ราคา 1 แสนพอดีเป๊ะ) ลำโพงระดับ “Audiophile Class” กันก่อน ซึ่งบรรจุไว้ด้วยเทคโนโลยีการผลิตลำโพงขั้นสูง โดยในส่วนของเทคนิคการออกแบบตัวขับเสียงบางจุด อย่างการผนวกโครงสร้างพิเศษเข้ากับรูปแบบการถักสานเพื่อขึ้นรูปโคนวูฟเฟอร์นั้น ถูกถ่ายทอดจากซีรี่ส์นี้ ลงมายัง “Diamond 100” ด้วยแหละ

สังเกตวูฟเฟอร์ของ Jade ที่ผมนำรูปมาลงก่อนหน้า กับของ Diamond 100 ที่รูปนี้ จะพบการเชื่อมโยงคล้ายคลึงกัน

ประการแรก ลวดลายถักสานที่ไดอะแฟรม (โคน) เหมือนกัน โดยวัสดุสานนี้ก็คือ “เคฟล่าร์” สำหรับ Diamond 100 (ส่วน Jade เป็น Acufiber) แต่ที่พิเศษ คือ ผนวกลักษณะโครงสร้าง “ลายแฉก” จากรูปทรงครึ่งวงรี (Semi-elliptical) วางเรียงในแนวรัศมี ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทาง Wharfedale ใช้เสริมเพิ่มความแกร่งให้กับตัวโคน ป้องกันการเสียรูป

นอกจากนี้ในส่วนขอบเซอร์ราวด์ของวูฟเฟอร์ Diamond 100 ก็ยังมีลวดลายเป็นเส้นตัดไขว้กันไปมา เหมือนกากบาท ทาง Wharfedale เรียกว่า “Diamond Pattern” ซึ่งเทคนิคเสริมขอบเซอร์ราวด์นี้ เริ่มใช้ตั้งแต่รุ่น Diamond 10 แล้วครับ อันเป็นเทคนิคเพิ่มเสถียรภาพของเซอร์ราวด์เพื่อลดปัญหาคลื่นสั่นค้าง ช่วยให้ไดรเวอร์หยุดตัวได้ดีขึ้น (เขาว่างั้นนะ)

ซ้าย : Wharfedale Diamond 100 (New) และ ขวา : Wharfedale Diamond 10

ไหนๆ ก็อ้างถึง Diamond 10 (รุ่นก่อน รูปขวามือ) แล้ว หากเทียบวูฟเฟอร์ของ Diamond 100 (รูปซ้าย) จะเห็นลักษณะโครงสร้างถักสานที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังมีจุดที่ต่างกัน คือ โครงสร้าง Dust Cap ที่เป็นจุกแหลมๆ ผนวกเข้ามาตรงใจกลาง Woven Kevlar Mid/Bass Cone ในรุ่นก่อนๆ (ซึ่งใช้มาตั้งแต่ Diamond 8) ตอนนี้ถูกแทนที่ด้วย “Dust Cap ทรงโดม” ผมไม่แน่ใจเรื่องของวัสดุ แต่มันให้ความหยุ่นตัวสูง (เอานิ้วกดเบาๆ แล้วเด้งกลับขึ้นมาได้) ถูกทำหน้าที่ในการจูนเสียง โดยเฉพาะย่านกลางสูงเพื่อให้มีความกลมกลืนต่อเนื่องกับเสียงของทวีตเตอร์

ซ้าย : Wharfedale Diamond 100 Series และ ขวา : Wharfedale Jade Series
เทคโนโลยีเด็ดซึ่งถ่ายทอดลงมาจากรุ่น Jade อีกประการ คือ การออกแบบโครงสร้างตัวตู้ด้วย

เมื่อเทียบโครงสร้างตัวตู้ของ Diamond 100 Series (ซ้าย) กับ Jade Series (ขวา) จะเห็นว่าคล้ายกันมาก เทคนิคการดามตัวตู้บริเวณกึ่งกลางด้วยโครงทรงบวก (+) และคาดโครงแนวขวางทางด้านหน้า และหลังตู้นั้น เหมือนกันเลย แต่จุดหนึ่งจากทั้งคู่ ที่ออกจะแปลกกว่าทุกครั้ง คือ การปรับจูนตัวตู้แบบ Bass-reflex ที่มิได้ใช้ “ท่อ” แบบทุกครั้งที่เห็นในลำโพงทั่วๆ ไป

หากมองเผินๆ อาจนึกว่า Diamond 100 เป็นลำโพงตู้ปิดทึบ (Acoustic Suspension) เนื่องจากมองมุมไหนก็ไม่ยักเห็นท่อเปิด ทว่าอันที่จริงช่องเปิดมันซ่อนอยู่ข้างใต้ตัวตู้ลำโพงครับ โดยลักษณะจะเป็นช่องด้านล่างตัวตู้ 2 จุด จึงต้องมีการเว้นช่องว่างให้อากาผ่านเข้าออก เพื่อปรับความดันอากาศ ด้วยช่องว่างระหว่างตัวตู้ด้านล่างกับแผ่นฐาน (plinth) เทคนิคนี้มิได้ประยุกต์ใช้งานเฉพาะกับรุ่นตั้งพื้น (Floorstanding) เท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงรุ่นวางหิ้ง (Bookshelf) ด้วย

ในส่วนของเซ็นเตอร์จะแปลกออกไปเล็กน้อย เนื่องจากไม่มีแผ่นฐาน จึงเปิดให้เห็นตำแหน่งท่อด้านล่างตัวตู้โดยตรง และติดตั้งขายางยกตัวตู้ให้สูงจากพื้นเล็กน้อย เพื่อให้มีช่องว่างให้อากาศผ่านได้ จากจุดนี้จะเห็น Acoustic Foam ซึ่งอันที่จริงก็มีติดตั้งในรุ่นอื่นๆ ด้วยเช่นกัน (สำหรับเซ็นเตอร์สามารถดึงโฟมออกได้ แต่แนะนำให้อุดเอาไว้)

อีกจุดหนึ่งที่อาจไม่เกี่ยวกับเสียง ทว่าส่งผลกับคุณค่าของลำโพงแม้กระทั่งเวลาที่ไม่ได้เปิดฟังเสียง

บางที่การที่มีลำโพงสีพื้นๆ เดิมๆ ซ้ำกันไป ซ้ำกันมา อยู่แค่ไม่กี่สีในตลาด ก็ออกจะน่าเบื่อ ในจุดนี้ต้องนับว่า Wharfedale ใจกว้างมากๆ ทำผิวตัวตู้ลวดลายไม้สำหรับ Diamond 100 Series ให้เลือกกันถึง 7 สี มณี 7 แสง เลยทีเดียว แม้จะยังใช้ไวนีลอยู่ ยังไม่ใช่ผิวไม้แท้ แต่เท่านี้ก็สวยได้ใจ งานประกอบเองก็สมราคาครับ
(แต่ไม่แน่ใจว่าทางตัวแทนจำหน่ายนำเข้ามากี่สีนะครับ)

อีกหนึ่งจุดประดับเล็กๆ อย่างขอบโลหะสีเงินเงา กับแผงหน้าสีดำซึ่งเป็นวัสดุสังเคราะห์มีผิวด้าน
ดูแล้วก็ตัดกัน โดดเด่นดี

เมื่อผสานกับหน้ากากผ้า ที่มีขนาดพอดีกับขนาดไดรเวอร์ (และขอบโลหะ) ที่กล่าวไปเมื่อกี๊ จึงไม่ถูกหน้ากากบดบังไป เรียกว่าถึงใส่หน้ากากผ้าไว้ ก็ยังดูเก๋ดีทีเดียว แบบนี้นำไปตั้งวางในห้องแล้วดู “ขึ้น” อยู่นะ

ลำโพงทุกรุ่นของ Diamond 100 Series มาพร้อมขัวต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์ 2 ชุด แบบไบไวร์ ดูดีอย่างที่เห็น
แต่ที่พิเศษ คือ การจัดวางชั้วลำโพงเป็นเอกลักษณ์ไขว้สลับกันในแนวตั้ง ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการเสียบต่อสายลำโพงได้ดีมากๆ พร้อมจัมเปอร์โลหะชุบทองขนาดใหญ่ตามรูป

ดูรายละเอียดโดยรวมของ Wharfedale Diamond 100 Series ไปแล้ว ต่อไปเจาะในส่วนของลำโพงในชุด
แยกแต่ละรุ่นกันบ้างครับ ว่าเป็นอย่างไร