30 Aug 2015
Review

ลำโพงมอนิเตอร์ คุณภาพงานสร้างระดับมาสเตอร์พีซ !!? รีวิว KEF LS50


  • ชานม

Mini Monitor Speaker

KEF LS50

ลำโพงมอนิเตอร์
คุณภาพงานสร้างระดับมาสเตอร์พีซ !!?

ขึ้นชื่อว่าคำหวาน แม้บางทีจะเป็นเรื่องโกหกแต่คนส่วนใหญ่ก็ชอบเพราะฟังแล้วรื่นหู ผิดกับความจริง ที่มีทั้งดีและไม่ดี บางทีก็โหดร้าย จนอาจจะรับไม่ได้ บ่อยครั้งคนเราจึงลือกฟังแต่คำหวานเพื่อจะได้หลีกหนีความจริงไปเสีย…

แล้วพฤติกรรมการเลือกลำโพงของเรา เป็นอย่างการเลือกฟังคำหวานไหม?

ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าจะมองหาลำโพงที่ให้แนวเสียงที่ (คิดว่า) ชอบ และในท้องตลาดก็มีลำโพงมากมายหลากหลายแนวให้เลือกตามรสนิยม ในจำนวนนี้หลายๆ รุ่นให้เสียงที่ฟังแล้วติดหูเหมือนเช่น “คำหวาน” แต่เราจะฟังเสียง (ดี?) แบบหลอกๆ ที่บิดเบือนความเป็นจริงอยู่ได้นานแค่ไหน?

ลำโพงมอนิเตอร์ เหมาะสำหรับใช้งานในสตูดิโอเท่านั้นจริงหรือ?
ภาพประกอบจาก stereophile.com

หน้าที่สำคัญของลำโพงมอนิเตอร์ก็เหมือนลำโพงที่ถ่ายทอดดุลเสียงตามความเป็นจริง มันจึงถูกใช้งานในขั้นตอน post production ในสตูดิโอบันทึกเสียง หากบันทึกเสียงมาดี ลำโพงมอนิเตอร์จะถ่ายทอดออกมาว่าดี ครั้นการบันทึกเสียงมีจุดบกพร่อง มันก็จะฟ้องว่าไม่ดี ซึ่งเมื่อรู้แล้วก็สามารถประเมินปัญหาเพื่อค้นหาว่าเป็นเพราะจุดใด จะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ถูกต้องขึ้น ซึ่งถ้าหากใช้งานลำโพงที่มีการบิดเบือนดุลเสียง การฟังเพื่อประเมินผลจะผิดเพี้ยนออกทะเลไปกันหมด

ในประเด็นนี้ KEF เป็นผู้บุกเบิกผลิตลำโพงมอนิเตอร์มาช้านาน รุ่นที่ขึ้นชื่อ คือ LS3/5A ขนาดที่ว่า BBC นำไปใช้อ้างอิงกับงานกระจายเสียง (Broadcast) เลยทีเดียว

เปรียบเทียบลำโพงรุ่น LS3/5A (ซ้าย) ลำโพงมินิมอนิเตอร์ในยุคเริ่มแรกที่สร้างชื่อให้กับ KEF และ LS50
ลำโพงมินิมอนิเตอร์ยุคใหม่ อันเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงจากประสบการณ์ที่สั่งสมมากว่า 50 ปี
ของผู้ผลิตลำโพงสัญชาติอังกฤษนี้ 
ภาพประกอบจาก pinterest.com

ฟังแล้วดูเหมือนว่าลำโพงมอนิเตอร์จะเหมาะกับการใช้งานในสตูดิโอ แล้วจะมีประโยชน์อันใดกับการใช้งานทั่วไปในบ้านพักอาศัย? เคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “การถ่ายทอดเสียงเป็นธรรมชาติ” ไหมครับ? ซึ่งเสียงที่เป็นธรรมชาตินี้จะหาได้เฉพาะกับลำโพงที่มี “สมดุลเสียง” เท่านั้น และลำโพงมอนิเตอร์เตอร์ส่วนใหญ่ ก็ถูกออกแบบมาเพื่อการณ์นี้

KEF LS50 ก็เป็นดังเช่นสายเลือดลำโพงมอนิเตอร์ที่สืบสานมาจาก LS3/5A ผสานกับเทคโนโลยีการออกแบบผลิตลำโพงขั้นสูงยุคใหม่ที่มาจากประสบการณ์ของผู้ผลิตที่สั่งสมมานานกว่า 50 ปี อัดแน่นเข้าไว้ในลำโพงมินิมอนิเตอร์คู่นี้ จนได้ผลลัพธ์เป็นประติกรรมทางเสียงชิ้นเอก ที่แทบไม่น่าเชื่อว่าจะหาได้จากลำโพงระดับราคาครึ่งแสน!

เปรียบเทียบผลการตอบสนองความถี่ในห้องไร้เสียงสะท้อน (Anechoic) ระหว่าง LS3/5A และ LS50 พบว่า LS50 ได้รับการไฟน์จูนจนได้สมดุลเสียงที่มีความเที่ยงตรงยิ่งกว่า LS3/5A ขึ้นไปอีกขั้นจนใกล้เคียงอุดมคติ (ภาพข้อมูลจาก KEF) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีตัวขับเสียงยุคใหม่ที่ถ่ายทอดลงมาจากรุ่นคอนเซ็ปต์เรือธงระดับราคา 7 หลัก อย่าง “Blade”… เห็นอย่างนี้เริ่มสนใจลำโพงมินิมอนิเตอร์รุ่นนี้กันบ้างหรือยังครับ?

Design – การออกแบบ

อะไรที่ทำให้ลำโพงมอนิเตอร์รุ่นนี้เป็นดั่งประติมากรรมชิ้นเอก?

เช่นเดียวกับลำโพงยุคใหม่รุ่นอื่นๆ ของ KEF ที่มีการอิงนวัตกรรมด้านเสียงระดับสูงมาจากรุ่นคอนเซ็ปต์เรือธง จนเป็นเอกลักษณ์ของลำโพงอังกฤษยี่ห้อนี้ คือ เทคโนโลยีตัวขับเสียงที่เรียกว่า Uni-Q

ดังเช่นที่เห็นด้วยตาว่า Uni-Q เป็นเทคนิคที่นำทวีตเตอร์ไปติดตั้งไว้ที่ใจกลางของวูฟเฟอร์ เพื่อต้องการผลลัพธ์ด้านความกลมกลืนของรอยต่อเสียงตามอุดมคติ ให้เป็นดังเช่นเสียงที่ออกมาจากจุดกำเนิดเดียว (Point source)

อย่างไรก็ดี LS50 เป็นลำโพงมินิมอนิเตอร์ที่ Uni-Q Driver จะทำหน้าที่ถ่ายทอดเสียงครอบคลุมตลอดย่านรับฟัง ตั้งแต่ความถี่สูง ไล่ไปจนถึงความถี่ต่ำ มิได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเฉพาะเสียงสูงและกลางแบบ Uni-Q Driver ที่ติดตั้งอยู่ในซีรี่ส์อื่นรุ่นลำโพงตั้งพื้น (ที่มาพร้อมการติดตั้งหลายตัวขับเสียงแบ่งแยกหน้าที่ตอบสนองความถี่)

จากภาระที่หนักกว่าของ Uni-Q Driver ใน LS50 จึงมีการไฟน์จูนเพิ่มเติมเพื่อผลด้านการตอบสนองความถี่ที่ราบเรียบ และมีเสถียรภาพ ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับ Uni-Q Driver ของ KEF R Series จะพบว่าขอบเซอร์ราวด์ของ LS50 จะมีโครงสร้างลอนหยัก มิได้เรียบเนียนเหมือนกับ R Series อันเป็นเทคนิคที่ KEF ไฟน์จูนเพิ่มเติมในส่วนของ “Z-flex”

ถึงแม้จะเป็นเทคโนโลยีเดียวกัน ทว่า Uni-Q Driver ของ LS50 ก็ได้รับการไฟน์จูนเพิ่มเติมในรายละเอียดปลีกย่อย
จนมีความต่างจาก Uni-Q Driver ของลำโพง KEF ซีรี่ส์อื่นๆ
(คลิกที่รูปเพื่อขยาย)

ลักษณะขอบเซอร์ราวด์ Z-flex ที่เพิ่มเติมลอนหยักนี้ KEF ให้เหตุผลเพื่อใช้ควบคุมการกระจายเสียงให้กลมกลืนสัมพันธ์กับหน้าที่ของ Uni-Q Driver ที่ต้องถ่ายทอดตลอดย่านความถี่ ทั้งความถี่สูง กลาง และต่ำ โดยเสียงความถี่สูงจากทวีตเตอร์ทีติดตั้งในใจกลางของวูฟเฟอร์ จะไม่ถูกรบกวนโดยโครงสร้างรอบๆ ที่ทำหน้าที่เป็นวูฟเฟอร์

เมื่อผนวกกับโครงสร้างจีบโลหะแฉกๆ ของทวีตเตอร์โดม ที่เรียกว่า Tangerine Waveguide มุมกระจายเสียงความถี่สูงจะกว้างขวางมากขึ้น sweet spot จะไม่กระจุกตัวอยู่เพียงมุมแคบๆ และยังเพิ่มความไว (Sensitivity) ให้กับทวีตเตอร์ด้วย ซึ่งผลการตอบสนองความถี่ของทวีตเตอร์โดมโลหะของ LS50 สามารถขยายขอบเขตขึ้นไปได้ถึง 40KHz โดยไม่เกิดการเสียรูป ทั้งนี้ด้วยรูปทรงอะลูมิเนียมโดมที่ออกแบบเฉพาะ เสริมด้วยการแดมป์เพิ่มที่บริเวณโดยรอบว้อยซ์คอล์ยอีกชั้นหนึ่ง

ในส่วนของวูฟเฟอร์ไดอะแฟรม ผลิตจากวัสดุโลหะผสม Magnesium/Aluminium ที่มีความแกร่งแต่น้ำหนักเบา เผื่อผลการตอบสนองต่อสัญญาณฉับพลันได้ดี และสามารถตอบสนองเสียงความถี่ต่ำได้ลึกแม้จะมีขนาดเล็ก โครงสร้างโดยรอบเป็นอะลูมิเนียมขึ้นรูป

ทั้งทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์ของ Uni-Q ถูกขับเคลื่อนด้วยวอยซ์คอล์ยภายใต้แม่เหล็ก (นีโอไดเมียมสำหรับทวีตเตอร์ และเฟอร์ไรต์สำหรับวูฟเฟอร์) ขนาดใหญ่ รับกำลังขับจากภาคขยาย ถ่ายทอดไดนามิกได้อย่างเต็มที่ เรียกว่า ให้เสียงได้ใหญ่โตเกินกว่าขนาดตัวเลยทีเดียว