25 Oct 2015
Review

ขาวสวย เสียงรวยเสน่ห์ !!? รีวิว Wharfedale Diamond 200 Series Home Theater Speakers


  • ชานม

Home Theater Speaker System

Wharfedale Diamond 200 Series

ขาวสวย เสียงรวยเสน่ห์ !!?

หากไล่ดูรายชื่อลำโพงเก่าแก่ที่กุมหัวใจนักเล่นเครื่องเสียงอย่างยาวนาน จะต้องมียี่ห้อ “Wharfedale” อยู่ในอันดับต้นๆ และซีรี่ส์ที่สร้างชื่อเสียงมายาวนานในฐานะลำโพงที่ให้เอกลักษณ์ทางเสียงในแบบ “อังกฤษ” อย่างชัดแจ้ง คือ Diamond Series!

การปรับปรุงของ Wharfedale Diamond Series มีให้เห็นกันทุกปี จาก Diamond 100 ในปี 2014 ก็กลายมาเป็น “Diamond 200” ในปี 2015… สิ่งแรกของ Diamond 200 ที่เตะตาตั้งแต่แรกเห็นก็คือ “รูปลักษณ์” สีพื้นอย่างสีขาวและสีดำ บวกกับขอบโลหะ และรูปทรงที่ดูเรียบง่าย กลับดูสะดุดตาเป็นพิเศษ

Wharfedale Diamond 200 Speaker Series จะมีจำนวนลำโพงทั้งสิ้น 6 รุ่น
เป็นลำโพงตั้งพื้น 3 รุ่น ลำโพงวางหิ้ง 2 รุ่น และเซ็นเตอร์ 1 รุ่น
(น้อยกว่า Diamond 100 ที่มี 8 รุ่น)

สำหรับรุ่นที่ตัวแทนจำหน่ายส่งมาทดสอบในครั้งนี้ คือ Diamond 230 ลำโพงตั้งพื้นขนาดเล็กสุดของซีรี่ส์
Diamond 210 ลำโพงวางขาตั้งขนาดเล็กสุดของซีรี่ส์เช่นกัน และ Diamond 220C ลำโพงเซ็นเตอร์หนึ่งเดียวของซีรี่ส์ บวกกับ WH-D10 ลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์สีขาวเข้าชุดกัน

Design – การออกแบบ

สิ่งแรกของ Diamond 200 ที่เตะตาตั้งแต่แรกเห็นก็คือ รูปลักษณ์
สีพื้นอย่างสีขาวและสีดำ บวกกับขอบโลหะ และรูปทรงที่ดูเรียบง่าย กลับดูสะดุดตาเป็นพิเศษ

แผงหน้าเคลือบผิวมันเงา ในขณะที่ตัวตู้โดยรอบปิดผิวด้วยไวนีลผิวด้าน ความหรูหราอาจจะสู้พวกรุ่นแพงๆ ที่ทำผิวเปียโนทั้งตัวไม่ได้ แต่เทียบกับระดับราคาแล้ว Wharfedale Diamond 200 ดูดีมากทีเดียว โดยส่วนตัวผมชอบสีขาว เข้ากับการตกแต่งห้องสมัยใหม่อย่างลงตัว ทว่าคงต้องดูแลรักษามากหน่อย เพราะอาจจะเปื้อน หรือสีเปลี่ยนแล้วสังเกตง่ายกว่าสีอื่น

ตัวขับเสียงยังคงรูปแบบเดียวกับเจนฯ ก่อน (Diamond 100 Series) ทวีตเตอร์เป็นโดมผ้า ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 25mm ติดตั้งไว้ภายในโครงสร้าง “เวฟไกด์” วัสดุสังเคราะแข็ง หล่อขึ้นเป็นรูปเป็นหลุมเว้าลึก รอบนอกมีขอบนูนเพื่อทำหน้าที่ควบคุมมุมกระจายเสียงของทวีตเตอร์

ส่วนของวูฟเฟอร์มิดเรนจ์/เบส อิงโครงสร้างบางอย่างมาจาก Jade Series

Wharfedale Jade Series ต้นแบบเทคโนโลยีด้านเสียงที่ถ่ายทอดลงมายัง Diamond 100
ต่อเนื่องมาถึง Diamond 200 Series

ลวดลายถักสานที่ไดอะแฟรม “เคฟล่าร์” ของ Diamond 200 ผนวกลักษณะโครงสร้าง “ลายแฉกรูปทรงครึ่งวงรี (Semi-elliptical)”วางเรียงในแนวรัศมี ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทาง Wharfedale ใช้เสริมเพิ่มความแกร่งให้กับตัวโคน ป้องกันการเสียรูป ส่วนใจกลางมี “Dust Cap ทรงโดม” วัสดุให้ความหยุ่นตัวสูง (เอานิ้วกดเบาๆ แล้วเด้งกลับขึ้นมาได้) ทำหน้าที่ในการจูนเสียง โดยเฉพาะย่านกลางสูงเพื่อให้มีความกลมกลืนต่อเนื่องกับเสียงของทวีตเตอร์

นอกจากนี้ในส่วนขอบเซอร์ราวด์ของวูฟเฟอร์ Diamond 200 ก็ยังมีลวดลายเป็นเส้นตัดไขว้กันไปมาเหมือนกากบาท ทาง Wharfedale เรียกว่า “Diamond Pattern” อันเป็นเทคนิคเพิ่มเสถียรภาพของเซอร์ราวด์เพื่อลดปัญหาคลื่นสั่นค้าง ช่วยให้ไดรเวอร์หยุดตัวได้ดีขึ้น

Wharfedale Diamond 100/200 Series Wharfedale Jade Series

Diamond 200 ใช้วิธีจูนเบสด้วยการเจาะช่องไว้ด้านล่างของตัวตู้ลำโพงเช่นเดียวกับ Diamond 100 อันเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดลงมาจากรุ่น Jade

หากสังเกตจะเห็นช่องว่างระหว่างแผ่นฐาน (plinth) กับตัวตู้ลำโพง เพื่อให้มวลอากาศสามารถผ่านเข้าออกได้ เทคนิคนี้มิได้ประยุกต์ใช้งานเฉพาะกับรุ่นตั้งพื้น (Floorstanding) อย่างรุ่น 230, 240 และ 250 เท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงรุ่นวางหิ้ง (Bookshelf) อย่าง 220 ด้วย

ลำโพงทุกรุ่นของ Diamond 200 Series (ยกเว้น 210) ติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์ 2 ชุด แบบไบไวร์ จัดวางแบบไขว้สลับกันในแนวตั้ง ซึ่งเพิ่มความสะดวกในการเสียบต่อสายลำโพง และให้ความมั่นดีมากทีเดียว พร้อมจัมเปอร์โลหะชุบทองขนาดใหญ่ตามรูป

ต่อไป ดูรายละเอียดของลำโพงแต่รุ่นที่ส่งมาทดสอบครั้งนี้กันครับ