01 Jan 2014
Review

มาเสียบ หัวกล้วย กันเถอะ !!! รีวิว Velocita Banana Speaker Plugs


  • ชานม

Banana Speaker Plugs

Velocita Banana Speaker Plugs

มาเสียบ “หัวกล้วย” กันเถอะ !!

วันนี้จะขอเปลี่ยนแนว พาไปดู “กล้วย” ที่ไม่ได้เอาไว้ให้ลิงกิน… แต่เป็นอุปกรณ์เสริมที่มีประโยชน์ สำหรับซิสเต็มเครื่องเสียง และโฮมเธียเตอร์ครับ !!

เชื่อว่าผู้ที่ใช้งานซิสเต็มเครื่องเสียง และโฮมเธียเตอร์ทุกท่านจะต้องเคยสัมผัสกับ “สายลำโพง” มาแล้วทั้งสิ้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า หน้าที่มีไว้เชื่อมต่อสัญญาณจากแอมป์ (หรือภาคขยาย) ไปยังลำโพง ถ้าไม่มีสายลำโพงนี้ ลำโพงก็จะไม่มีเสียงนะเออ

ลักษณะพื้นฐานของสายลำโพงที่ใช้งานกันมักจะเป็นรูปแบบปอกปลายเปลือย อันเป็นรูปแบบมาตรฐานที่เสียบต่อกับขั้วต่อสายลำโพงของแอมป์ และลำโพง ได้เกือบทุกยี่ห้อ ทุกรุ่น หากจะว่าไปแล้ว สายลำโพงปอกปลายเปลือย น่าจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับการเชื่อมต่อสายลำโพงในเชิงการส่งผ่านสัญญาณตามอุดมคติ เนื่องจากตัวนำของสายจะสัมผัสกับขั้วลำโพงโดยตรง ไม่มีตัวกลางคั่น แต่การใช้งานในความเป็นจริงนั้น พบว่ามีปัจจัยที่ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จากสายลำโพงปอกปลายเปลือย ไม่เป็นไปตามอุดมคติ…

ข้อเสียสำคัญที่พบอย่างแรก คือ ปกติตัวนำสายสัญญาณทองแดง/เงิน เมื่อสัมผัสกับอากาศนานๆ บวกกับปัจจัยแวดล้อมที่เป็นตัวเร่งอย่างความความชื้น (ซึ่งภูมิอากาศประเทศไทยเหมาะเลย) ก็จะเกิดปฏิกริยาที่เรียกว่า “ออกซิเดชั่น” ขึ้นที่ผิวตัวนำ สีตัวนำที่เคยสุกสว่าง เปล่งปลั่งเงางาม จะหมองลง เช่นเดียวกับคุณสมบัติการนำสัญญาณที่ต่ำลงเช่นกัน

คู่ซ้ายสายลำโพงปลายเปลือยที่ผ่านการใช้งานแล้ว โดยเฉพาะที่ผ่าน “การยัด” ลงขั้วลำโพงที่ไม่เหมาะสม (มักเกิดกับสายตัวนำใหญ่ แต่ขั้วลำโพงเล็ก); 
คู่ขวาสายลำโพงที่ผ่านการใช้งานมานาน ตัวนำจะเริ่มหมองและดำ อันเกิดจากสิ่งสกปรกที่เคลือบอยู่บนผิวทองแดง

ข้อเสียอีกประการของสายลำโพงปอกปลายเปลือย คือ ขั้นตอนติดตั้ง !

ประเด็นนี้จะส่งผลมากกับผู้ใช้ที่ต้องมีการถอดเสียบสายลำโพงบ่อยๆ ทั้งนี้ตัวนำสายลำโพงปอกปลายเปลือยที่ผ่านการขันยึดล็อคใดๆ ไปแล้ว เมื่อคลายสายออกมาจะพบว่า ตัวนำ (ฝอย) จะไม่เรียงตัวแนบชิดเป็นระเบียบเหมือนก่อน และสิ่งที่มักจะพบตามมา คือ “การหักงอ หรือแตกปลาย” อันจะส่งผลให้ขนาดหน้าตัดของตัวนำ “บาน” ขึ้นกว่าเดิม หากเป็นสายที่มีขนาดหน้าตัดตัวนำค่อนข้างใหญ่อยู่ก่อน โอกาสจะสอดกลับไปยังขั้วลำโพงอย่างเป็นระเบียบอีกครั้ง ก็จะทำได้ยากขึ้น

โดยทั่วไปการแก้ปัญหาตัวนำหักงอ แตกปลายแบบบ้านๆ ก็คือการใช้นิ้วมือ รวบและบิดเกลียวตัวนำให้มันกลับเข้าที่ ซึ่งก็ช่วยได้บ้าง แต่ทุกครั้งที่ใช้นิ้วทำการรวบตัวนำสายลำโพง ไขมัน เหงื่อ รวมไปถึงสิ่งสกปรกอื่นๆ ที่นิ้ว จะไปเคลือบอยู่ที่ผิวตัวนำ อันเป็นตัวเร่งให้เกิดออกไซด์เร็วขึ้น หรือขัดขวางคุณสมบัติการนำสัญญาณลงไปไม่มากก็น้อย

อีกประเด็นสำหรับการติดตั้ง ปกติตำแหน่งติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงของแอมปลิฟายเออร์จะอยู่ทางด้านหลัง ซึ่งมักจะเป็นตำแหน่งที่ทำการเสียบต่อได้ลำบาก โดยเฉพาะเมื่อวางแอมป์ไว้ในชั้น ในตู้ วางแนบผนัง ฯลฯ การมุด อ้อมมือเพื่อเสียบสายลำโพงปลายเปลือยที่ต้องอาศัยทั้งการสอดสายลงตำแหน่งเฉพาะ พร้อมทั้งขันล็อคให้แน่นหนา ย่อมจะทำได้ลำบาก การสังเกตความเรียบร้อยก็จะทำได้ยากด้วย

บางทีมองไม่ถนัด สายลำโพงก็หลายเส้น แหย่ผิด แหย่ถูก เข้าบ้างไม่เข้าบ้าง บ่อยครั้งก็มักจะจบลงด้วย “การฝืนยัด” ซึ่งตัวนำสายลำโพงมักจะไม่เข้าที่เรียบร้อย หรือไม่เข้าล็อค ผลก็คือ หน้าสัมผัสระหว่างตัวนำของสาย และขั้วลำโพงจะด้อยลง บางจุดตัวนำอาจจะสัมผัสกับขั้วลำโพงได้ไม่แนบสนิทดี บวกกับการขันล็อกที่ไม่แน่นหนาก็มีโอกาสที่จะคลายตัวจนสายหลุดออกมาได้ ยิ่งถ้ามีการสัมผัสกับตัวนำเส้นอื่น หรือตัวนำแตะโดนตัวถังโลหะ อาจสร้างความเสียหายแก่อุปกรณ์ภาคขยายได้

“คอนเน็กเตอร์” หรือ “หัวต่อสายลำโพง” จะช่วยแก้ปัญหาที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้น กล่าวคือ จะช่วยปกป้องตัวนำของสายลำโพง ให้เกิดกระบวนการอ็อกซิเดชั่นได้ยากขึ้น ตัดการสัมผัสจากนิ้วมือได้เบ็ดเสร็จ อีกทั้งการถอดเสียบสายจะทำได้รวดเร็ว และง่ายกว่า เพราะแค่เสียบเบาๆ ไม่ต้องฝืนยัด ไม่ต้องหมุนขันใดๆ แถมมองดูเรียบร้อยสวยงามเป็นระเบียบกว่าด้วยครับ

คอนเน็กเตอร์สำหรับสายลำโพงนั้น มีมากมายหลากหลายชนิดให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น บานาน่า (Banana), หางปลา (Spade) บ้างก็เรียกว่า ก้ามปู, แบบเข็ม (Pin) ฯลฯ ในส่วนของหัวบานาน่านั้น ก็ยังมีชนิดแยกย่อยลงไปอีก เช่น แบบมาตรฐานที่เป็นโครงสร้างเหมือนกล้วยหอมตามชื่อ หัวแบบ BFA คล้ายปากฉลาม ฯลฯ

ถัดไปจะมาดูแนวทางการใช้งานหัวบานาน่ากัน โดยอ้างอิงจาก Velocita Banana Plugs ครับ
แต่ก่อนอื่นมาดูรายละเอียดของมันกันก่อนว่ามีหน้าตาเป็นเช่นไร

Design – การออกแบบ

Velocita Banana Speaker Plugs ในแพ็คขนาดย่อม มีหัวบาบาน่าทั้งหมด 4 อัน
แยกเป็นสีดำ และแดง จำนวน 2 คู่ สำหรับเข้าได้ทั้งหัว และท้ายสายลำโพง

ด้านหลัง มีรายละเอียดกำกับเล็กน้อย

โครงสร้างหัวบานาน่าเคลือบทองเงางาม และมีปลอกพลาสติกเงาหุ้มภายนอก ปอกพลาสติกนี้นอกจากช่วยให้แยกแยะขั้วบวกลบได้ชัดเจนแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันการแตะสัมผัสระหว่างโลหะตัวนำ อีกทั้งยังกันฝุ่น กันสิ่งสกปรกจากภายนอก และเป็นจุดที่เอาไว้จับดึง มิต้องดึงที่ตัวนำด้านใน และหากจะทำความสะอาดก็สามารถถอดเฉพาะปลอกพลาสติกออกมาเช็ด ล้าง ได้

เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วถือว่ารูปลักษณ์โดยรวมของ Velocita Banana Speaker Plugs ดูดีทีเดียว

ด้านในกับโครงสร้างยึดล็อคตัวนำสายลำโพงนั้น ใช้วิธีการขันล็อคด้วยสกรู 2 จุด ซึ่งให้ความแน่นหนา ทนต่อแรงดึงได้ดี ตัวนำไม่หลุดออกมาง่ายๆ และที่สำคัญ คือ วิธีการขันล็อกด้วยสกรูนี้ สามารถดำเนินการได้เองง่ายๆ ไม่ต้องมีสกิลแอดวานซ์ใดๆ ใครๆ ก็ทำได้ อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีแค่ไขควงปากแบนขนาดเล็กเท่านั้นครับ ไม่ต้องใช้ตะกั่วบัดกรี ไม่มีหัวแร้ง หรือต้องใช้อุปกรณ์เข้าหัวพิเศษใดๆ ให้วุ่นวาย

(ขั้นตอนวิธีการติดตั้ง จะกล่าวถึงในหน้าถัดไป)

ตัวนำสายลำโพงขนาดใหญ่สุดที่รับได้ ราว 12AWG (ประมาณ 3.3 sq.mm.)
ซึ่งถือว่ารองรับสายลำโพงได้ค่อนข้างใหญ่ทีเดียว

ต่อไป มาทดลองติดตั้งใช้งาน Velocita Banana Speaker Plugs กันครับ