03 Jan 2016
Review

มหากาฬ 3D ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์ !!! รีวิว Oppo BDP-95


  • ชานม

Universal 3D Blu-ray Player
Oppo BDP-95

มหากาฬ
3D ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์ !!!

“อเนกประสงค์” คือ สุดยอดของความต้องการที่ผู้ใช้คาดหวังจะได้จากอุปกรณ์ใด ๆ และก็เป็นความท้าทายของผู้ออกแบบ (และผู้ผลิต) ในการบริหารจัดการ “อรรถประโยชน์” เหล่านั้น กับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ซึ่งขึ้นอยู่กับว่า ประโยชน์มากหลายที่ให้มานั้น “โดนใจ” ผู้ใช้มากน้อยเพียงใด

ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์ เป็นคำเรียกขานถึง เพลเยอร์ที่มีความสามารถเหนือกว่าเพลเยอร์ทั่วไป ในประเด็นการเล่นซอฟต์แวร์ที่หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันคอนเทนต์ฟอร์แม็ตระบบภาพและเสียง มีมากมาย มิได้จำกัดเพียงแค่ บลูเรย์ ดีวีดี หรือ ซีดี อย่างไรก็ดี อรรถประโยชน์ที่ท่านจะได้รับจาก “ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์” ที่ผมจะกล่าวถึงในบทความนี้ มีมากกว่าจะเรียกว่าเป็น ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์ปกติ มิใช่แค่ประเด็นเรื่องของฟีเจอร์ และประโยชน์ใช้สอย แต่รวมถึง “คุณภาพ” ที่สูงกว่ามาตรฐานเพลเยอร์ในระดับราคาเดียวกัน

บน – BDP-93, ล่าง – BDP-95 ความแตกต่างที่สังเกตได้ชัด คือ ความหนาของตัวถังที่มากกว่าของรุ่น 95 ซึ่งมีเหตุผล ไม่ใช่ใหญ่แต่เปลือกไว้เพื่อข่มขวัญ แต่ดูข้างในกลับกลวงโบ๋ แผงหน้ามีการลบเหลี่ยมบ้างนิดหน่อยเพื่อลดความทื่อลงไปบ้าง ดีไซน์โลโก้ Oppo ไม่ได้เป็นแค่โลโก้เหมือนเดิม แต่ทำหน้าที่เป็นสวิทช์เพาเวอร์ไปพร้อม ๆ กัน เวลาจะใช้งานทีก็ต้องจิ้ม Oppo หนึ่งที ได้อารมณ์ดีนะ ฮา ส่วนสวิทช์ควบคุมเป็นระบบสัมผัส (เมื่อเปิดใช้งานจะเรืองแสงขึ้นมา) ในขณะที่รุ่นเล็กเป็นปุ่มกดธรรมดา

อยากบันเทิงก็ต้องจิ้มกด Oppo กันหน่อย
ดูกันใกล้ ๆ กับปุ่มควบคุมหลัก “แบบสัมผัส” ในขณะที่ปุ่ม Eject เป็นแบบปุ่มกด (เช่นเดียวกับ 93)
ข้าง ๆ กันเป็นตำแหน่งเซ็นเซอร์รีโมตอินฟราเรด ขวามือสุดเป็นช่องต่อ USB (มีฝาปิดอยู่)
เมื่อเป็นยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์ อ็อปติคัลดิสก์ไดรวฟ์จึงอ่านได้หลายฟอร์แม็ต ทั้ง BD, SACD, DVD และ CD
บั้นท้ายเมื่อเทียบกับรุ่นเล็ก ดูไฮเอ็นด์ขึ้นไม่น้อยเลยทีเดียว

จุดแรกที่แสดงถึงความ “โปร” คือ อะนาล็อกเอาต์พุตแบบบาลานซ์ (XLR)
ที่ “หายาก” สำหรับบลูเรย์เพลเยอร์ระดับราคานี้

นอกเหนือจากอินพุต USB จำนวน 2 ช่อง แล้ว จุดที่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก คือ ช่องต่อ eSATA แม้จะเห็นกันจนชินกับ HD Player แต่ไม่เคยมีในบลูเรย์เพลเยอร์แบบ stand-alone เห็นอย่างนี้ก็คงจะเดาได้ถึงอเนกประสงค์อีกจุดที่ซ่อนอยู่ภายใต้ตัวถังของยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์เครื่องนี้แล้วกระมัง… อ้อ อีกจุดหนึ่งที่เรียกว่าไม่ธรรมดา คือ Dual HDMI ประโยชน์ของจุดเชื่อมต่อเหล่านี้คืออะไร ผมจะทยอยแจ้งให้ทราบต่อไปครับ

มัลติแชนเนลอะนาล็อกเอาต์พุต 7.1 แชนเนล อันบ่งบอกถึงการบรรจุภาคถอดรหัสเสียงดิจิทัลรอบทิศทางให้กลายมาเป็นรูปแบบอะนาล็อก จึงสามารถเชื่อมต่อใช้งานร่วมกับอะนาล็อกมัลติแชนเนลแอมปลิฟายเออร์ได้โดยตรง ไม่ต้องพึ่งภาคถอดรหัสเสียงภายใน AVR ดังนั้นถึงแม้จะใช้งาน AVR หรือ AV Pre Processor รุ่นเก่า ที่ไม่มีภาคถอดรหัสเสียงเซอร์ราวด์ไฮเด็ฟก็จะได้อานิสงส์ตรงนี้ไปด้วย อ้อ สิ่งที่พิเศษกว่า 93 หรือบลูเรย์เพลเยอร์รุ่นเล็ก ๆ ทั่วไป คือ รูปแบบการจัดวางออดิโออะนาล็อกเอาต์พุตที่มีระยะห่างกำลังดี ก็อย่างที่ทราบว่า วิธีการเชื่อมต่อลักษณะนี้ต้องใช้สายสัญญาณหลายเส้น หากเผื่อพื้นที่เอาไว้ เวลาเสียบถอดสายย่อมสะดวกกว่า ที่เห็นทั่ว ๆ ไปมักจะวางกระจุกรวมกันจะเสียบก็ยาก จะดึงก็ลำบาก โดยเฉพาะเมื่อใช้กับ “เส้นสาย” ระดับบิ๊ก ๆ ทั้งหลาย

หากสังเกตเปรียบเทียบกับช่องต่อสายไฟเอซีกับรุ่น 93 จะพบข้อแตกต่างหนึ่ง แม้ทั้งคู่จะเป็นมาตรฐาน IEC Inlet เหมือนกัน แต่รุ่น 95 มีขากราวด์ ในขณะที่ 93 ไม่มี อันนี้มิได้เกี่ยวข้องกับการลงกราวด์ที่แตกต่างกันแต่อย่างใด เพราะถึงแม้ของ 95 จะมีขากราวด์ แต่ก็ลอยเอาไว้ มิได้เชื่อมกับตัวถัง ซึ่งเป็นรูปแบบปกติโดยทั่วไปสำหรับเพลเยอร์ในปัจจุบัน ประเด็นมันจึงกลายเป็นเรื่องของการเสียบต่อสายไฟต่างหากล่ะครับ ทั้งนี้ขาที่ 3 ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ แต่มันก็ช่วยเพิ่มความมั่นคงในการเสียบต่อมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะเมื่อใช้งานกับสายไฟเส้นโต น้ำหนักมาก

อุปกรณ์แอ็คเซสซอรี่ส์ใส่กล่องแยกไว้เป็นกิจจะลักษณะอย่างดี แบบนี้ดูดีมิใช่น้อย (ดีกว่าใส่ปน ๆ กันมาในกล่องใหญ่ หากเปิดกล่องไม่ดี มีอะไรร่วงหล่น เดี๋ยวไอ้นู่นหาไม่เจอ ไอ้นี่ก็หายไปไหนไม่รู้)

ภายในบรรจุไปด้วยอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ คือ รีโมตคอนโทรล และสายไฟเอซี ที่ถึงแม้จะเป็นสายแถมแต่ก็ให้หน้าตัดตัวนำใหญ่กว่ามาตรฐานที่เห็นทั่ว ๆ ไป (3 x 2.0 sq.mm.) แถมสาย HDMI มาให้ด้วย ส่วนที่เด็ด คือ USB Wireless Adapter คลับคล้ายคลับคลาว่าจะเป็นมาตรฐาน Wireless N150 ในกรณีที่พื้นที่ใช้งานไม่ได้เตรียมเดินสาย LAN เอาไว้ ก็ใช้แบบ Wireless นี่เลย สะดวกดี อ้อ ผู้ผลิตให้สายต่อในกรณีไม่อยากเสียบ Wireless Adapter นี้ กับตัวเครื่องโดยตรง อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ให้มานอกเหนือจากที่อยู่ในกล่องดำ คือ คู่มือการใช้งาน (สำคัญ) ขนาดประมาณ A4 อ้อ ยังมีกระเป๋าผ้าอีก 1 ใบ (ไม่มีแสดงในรูป) ขนาดพอใส่ตัวเครื่องได้พอดิบพอดี เวลาจะยกไปไหนก็ใส่หิ้วไปเลย สะดวกดี

รีโมตคอนโทรลหน้าตาคุ้นเคยกันดี เพราะใช้มาตั้งแต่รุ่นก่อน (83) รวมไปถึงยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์บางเจ้า (ที่เป็น OEM จาก Oppo) แม้ว่าขนาดจะค่อนข้างใหญ่ แต่ก็ส่งผลให้ขนาดปุ่มกดใหญ่โตตามไปด้วย นอกจากกดได้สะดวกแล้ว สัญลักษณ์หรือตัวอักษรกำกับก็มองเห็นได้ชัด ที่สำคัญ คือ Backlit สีส้ม เห็นสะดวกแม้ในห้องมืด