04 Jan 2016
Review

Oppo บลูเรย์สไตล์ !! รีวิว Oppo BDP-103 4K Ready Universal Player


  • ชานม

4K Ready Universal Player
Oppo BDP-103

Oppo บลูเรย์สไตล์ !!

ราว 2 ปีที่แล้ว ไม่มีใครคาดคิดว่าบลูเรย์เพลเยอร์หน้าใหม่ ชื่อยี่ห้อแปลกๆ จะมาแรงแซงโค้งแบรนด์ดังยักษ์ใหญ่ต่างๆ ที่อยู่ในตลาดขณะนั้น แน่นอนว่าปัจจัยหลัก คือ เรื่องของศักยภาพการใช้งานอันโดดเด่นเกินตัว ทั้งรุ่นเล็ก BDP-93 และโดยเฉพาะพี่ใหญ่ BDP-95 นั้น ต้องยกฉายา “มหากาฬ 3D ยูนิเวอร์แซลเพลเยอร์” ให้ไปเลย…

ล่าสุดทาง Oppo ได้วางตลาดบลูเรย์เพลเยอร์ 2 รุ่นใหม่ คือ BDP-103 และ BDP-105 แต่จะสืบสานตำนานต่อเนื่องจากรุ่นเดิมมาได้หรือไม่? อย่างไร? ที่ท่านได้อ่านต่อไปนี้ จะเผยรายละเอียดในส่วนไล่ไปจากรุ่นเล็ก คือ BDP-103 ก่อน แล้วตามด้วย BDP-105 หากมีรายละเอียดในจุดใดที่คล้ายคลึงกัน ผมจะอ้างถึงไปด้วยกันเลย รวมถึงการเปรียบเทียบในจุดที่ต่าง (รุ่นเก่า-รุ่นใหม่, รุ่นเล็ก-รุ่นใหญ่) ดังนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา แนะนำให้อ่านทั้ง 2 รีวิว ต่อเนื่องกัน

Design – การออกแบบ

พัฒนาการจากรุ่นก่อน…

ก่อนอื่นมาดูลักษณะภายนอกเปรียบกับรุ่นก่อน
จากรูปด้านหน้า เครื่องบน คือ Oppo BDP-103 (New) และ ล่าง คือ BDP-93
(ที่เห็นรายละเอียดหน้าปัดตัวล่างชัดกว่า เป็นเพราะแสงสะท้อนนะครับ ที่จริงแล้วไม่ต่างกัน)

รูปลักษณ์ภายนอกอิงรูปแบบเดิมมา มิได้ต่างกันมากมายนัก จะมีแค่รายละเอียดในจุดเล็กๆ อย่างการเซาะร่องรอบๆ ปุ่มกด ผิดกับรุ่นก่อนที่พยายามทำปุ่มกดให้เรียบเสมอกับแผงหน้า ปุ่ม Eject รุ่นใหม่มีไฟเรือง ไม่มีจุกยางปิดช่อง USB และเพิ่มช่องต่อ คือ HDMI In (รองรับ MHL หรือ Mobile High Definition Link ไว้เชื่อมต่อกับ Smart Phone ด้วย) ประโยชน์ของ HDMI In จะลงรายละเอียดอีกครั้ง >> หน้า 2)

ด้านหลัง เครื่องบน คือ Oppo BDP-103 (New) และ ล่าง คือ BDP-93
จะเห็นความแตกต่างของช่องต่อในบางจุดเช่นกัน
ซูมใกล้ชิดขึ้นอีกหน่อย ให้เห็นรายละเอียดช่องต่อทางด้านหลังที่สำคัญของรุ่นใหม่ (BDP-103)
ที่เด่นชัดเลย คือ HDMI In (อีกหนึ่งช่อง) ที่เพิ่มเติมเข้ามา ส่วน Dual HDMI Out ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม

แต่ขณะเดียวกัน จะพบว่าอะนาล็อกวิดีโอเอาต์ที่เคยมีในรุ่นก่อน คือ Component และ Composite ถูกตัดออกไปทั้งยวง วิดีโอเอาต์พุตทีเหลือ จึงมีเพียง Dual HDMI Out เท่านั้น นอกจากนี้ eSATA In ที่เคยมี ก็ถูกแทนที่ด้วย USB 2.0 เมื่อรวมทั้งหมดแล้ว USB จึงมีทั้งหมดถึง 3 ช่อง (รวมด้านหน้า) จากเดิมที่มีเพียง 2

ข้อสังเกตุ:

– การที่ Oppo ตัดอะนาล็อกวิด๊โอเอาต์ออกไป ไม่น่าส่งผลเสียอะไร เนื่องจากปัจจุบันจอภาพ และโฮมเธียเตอร์ที่วางจำหน่ายในปัจจุบัน ต่างก็ต้องมี HDMI Input เป็นภาคบังคับหมดแล้ว และหากจะดึงประสิทธิภาพการใช้งาน BD Player ในด้านแสดงภาพและเสียงแบบ Digital Hi-Definition ก็ควรเชื่อมต่อสัญญาณทาง HDMI เท่านั้น

– เช่นเดียวกับ eSATA ที่เดิมมิได้ส่งผลกับการใช้งานชัดเจนนัก โดยศักยภาพของ USB 2.0 กับการทรานส์เฟอร์ข้อมูล 3D Video + TrueHD Audio ก็ไหลลื่น มิได้ติดขัดอะไร 

– Dual HDMI Out เป็นการส่งเสริมศักยภาพการใช้งานช่องต่อ HDMI ในส่วนของเพลเยอร์ได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าเพื่อแยกสัญญาณเอาต์พุตภาพและเสียง (A/V Split) หรือ Dual Display และในรุ่นใหม่ยังเสริมอรรถประโยชน์ของ Dual HDMI ให้รองรับ ARC จากทีวีด้วย รายละเอียดเพิ่มเติม >> หน้า 3

– ช่องต่อสัญญาณเสียงออก ในรูปแบบดิจิทัล SPDIF ทั้ง Coaxial และ Optical รวมถึงรูปแบบช่องต่อพื้นฐานที่สุด อย่างอะนาล็อกออดิโอ (7.1) เป็นอีกทางเลือกเมื่อต้องการใช้งานร่วมกับโฮมเธียเตอร์รุ่นเก่า ที่ไม่รองรับ HDMI Audio

– ช่องต่อ DIAG (Diagnostic) Video Out ที่ Oppo ให้มาในรุ่น 103/105 เป็นรูปแบบเดียวกับ Composite Video แต่จะแสดงเฉพาะภาพอินเทอร์เฟสเมนูเท่านั้น (ไม่แสดงภาพวิดีโอจากคอนเทนต์ใดๆ) หน้าที่มีเผื่อไว้แก้ไขตั้งค่าวิดีโอ เมื่อ HDMI Out เกิดมีปัญหา ภาพไม่ขึ้น

– USB Wi-Fi Dongle ที่แถมมาตั้งแต่รุ่นก่อน (มีฐานต่อเชื่อมแยกมาให้ด้วยนะ) รุ่นใหม่ก็มีเช่นเดิม โดยเป็นมาตรฐาน N150 ซึ่งรองรับการใช้งาน Online Content และเน็ตเวิร์กสตรีมมิ่งทั่วๆ ไปได้ แต่จำกัดเฉพาะไฟล์ฟอร์แม็ตที่มีอัตราบิตเรตไม่สูงนัก ดังนั้นเพื่อศํกยภาพสูงสุด อาจจะจำเป็นต้องพิจารณาสาย LAN

– สายไฟ และสาย HDMI ที่แถมให้มา มีหน้าตัดใหญ่กว่ามาตรฐานสายแถมทั่วไปเช่นเดิม

– AACS LA (Advanced Access Content System Licensing Administrator) ประกาศข้อกำหนดให้ Cinavia Technology เป็นมาตรฐานสำหรับ Blu-ray Player ที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 55 เป็นต้นมา รวมถึง Oppo 103/105 นี้ด้วย

รีโมตคอนโทรลไร้สาย (ซ้าย ของรุ่น 103/105, ขวา 93/95) ดูคล้ายคลึงกับของเดิม
ขนาดความสูง (หนา) จะลดลง แต่ยาวขึ้นนิดหน่อย

ตำแหน่งปุ่มต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย แต่ยังอิงของเดิมอยู่ ปุ่มใหม่ที่เพิ่มเข้ามา ย่อมอิงตามฟีเจอร์ใหม่ หลักๆ คือ ปุ่ม “Input” (ใช้ในการเลือก HDMI Input หน้า-หลัง และ ARC), “3D” (สำหรับปรับ 2D to 3D Mode และ SBS/Top-Bottom) และปุ่ม Online Content Shortcut ไปยังผู้ให้บริการ “Netflix” และ “Vudu” (แต่ส่วนนี้ไม่เปิดให้บริการในบ้านเรา) ส่วน Back-lit เปลี่ยนจากเดิมไฟสีส้ม เป็นสีขาว ยังคงสว่างไสวดี

เมื่อกดปุ่ม Input ที่รีโมต จะปรากฏรายการอินพุตบนหน้าจอทีวี
ครอบคลุม HDMI/MHL In และ ARC ผ่าน HDMI In/Out ทั้ง 2 ช่องของ Oppo 103/105
และเมื่อกดปุ่ม 3D ก็จะเป็นการเรียก 3D Mode คือ จำลองภาพ 2D ให้เป็น 3D หรือแสดง 3D แบบ SBS
และ Top-Bottom โดยรวมภาพในตัวเพลเยอร์ได้ (แต่ยังไม่สามารถแปลง 3D ให้เป็น 2D ได้)
ทั้ง 2 ส่วนนี้ เป็นฟีเจอร์เด่นล่าสุด ของบลูเรย์เพลเยอร์ Oppo 2 รุ่นใหม่นี้

ในส่วนของ Home Menu เป็นจุดที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน (บน จากรุ่น 103/105, ล่าง 93/95) นอกจากตำแหน่งไอคอนแล้ว จำนวน Online Content ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วย ถึงแม้จะใช้งานจริงได้ไม่กีอย่าง เพราะบริการไม่ครอบคลุมถึงประเทศไทย ที่เพิ่มขึ้น คือ CinemaNow และ Rhapsody จากเดิมที่มี

Netflix, VUDU HD, Film Fresh, Pandora, Picasa และ YouTube รายละเอียดของ Online Content จะกล่าวถึงอีกครั้ง >> หน้า 4

ต่อไป ลงดีเทลในเรื่องของอรรถประโยชน์เด่นล้ำ จาก Oppo บลูเรย์สไตล์ !! กันครับ

หมายเหตุ: Official Firmware ล่าสุด ที่ใช้อ้างอิงในการทดสอบ คือ BDP-103 = BDP10X-38-1220; BDP-93 = BDP9X-74-0908