02 Jan 2016
Review

(มหา)จักรวาล เพลเยอร์ ?? รีวิว Oppo BDP-105 4K Ready Universal Player


  • ชานม

4K Ready Universal Player
Oppo BDP-105

หลายท่านคงได้สัมผัสประสิทธิภาพของ Oppo BDP-105 4K Ready Universal Player เครื่องนี้กันไปแล้วใน งานบรรยาย Oppo บลูเรย์สไตล์ ของทางทีมงานฯ ณ BAV Hi-End Show 2013 โรงแรมแลนด์มาร์ค เมื่อต้นเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา อันเป็นความตั้งใจของทีมงาน ที่อยากให้ทุกท่านได้รับทราบข้อมูลและผลลัพธ์การใช้งานจริง ทั้งเบื้องหน้า และเบื้องลึก เพื่อใช้เปรียบเทียบ พิจารณา ประกอบการตัดสินใจอย่างครอบคลุมมากที่สุด แต่ด้วยเวลา และข้อจำกัดหลายประการ อาจจะขาดตกบกพร่องในบางประเด็นไปบ้าง เพื่อความชัดเจน ผมจะลงรายละเอียดเพิ่มเติมไปในรีวิว Oppo BDP-105 นี้ อีกครั้งครับ…

ดังที่ทราบดีว่า Oppo BDP-105 สานต่อความสำเร็จมาจาก BDP-95 <<อ่านรีวิว คลิ๊ก>> ซึ่งเป็นบลูเรย์เพลเยอร์ที่มีความโดดเด่นในแง่อเนกประสงค์ กับหน้าที่หลากหลาย ครอบคลุม และในรุ่น 105 ก็เป็นดังเช่นรุ่นใหม่ทั่วไป ที่มีพัฒนาการดีขึ้นกว่าเดิม แต่จะเป็นในจุดใดบ้างนั้น มาชมกันครับ…

พัฒนาการจากรุ่นก่อน…

จากรูป เครื่องบน คือ Oppo BDP-95 และ เครื่องล่าง คือ BDP-105 (New)
ลักษณะรูปลักษณ์ภายนอก อิงของเดิมมาเกือบทั้งหมด แต่ตัวถังของรุ่นใหม่จะสูง (หนา) กว่า
มองโดยรวมจึงดูใหญ่โตกว่าเดิม เหตุผลของความสูงตัวถังนี้ มีที่มา จะแจ้งให้ทราบต่อไป…

แผงหน้า แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะมีเพียงจุดเล็กๆ อย่างการจัดวางตำแหน่งช่องต่อทาง ที่ถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งไปเล็กน้อย และเพิ่มเติมช่องต่อชนิดอื่นเข้ามา จากรูป เป็นช่องต่อที่แผงหน้าของ 105

ช่องต่อที่แผงหน้า เดิมในรุ่น 95 จะมีเพียง USB In จำนวน 1 ช่องเท่านั้น แต่รุ่นใหม่ 105 นอกจาก USB In แล้ว ยังเพิ่มเติมช่องต่อ HDMI In 1 ช่อง (ถ้ารวมด้านหลังด้วย ก็เท่ากับมี HDMI In 2 ช่อง) นับเป็นครั้งแรกของเครื่องเล่นบลูเรย์ที่มี HDMI In ปกติจะเห็นเฉพาะใน TV หรือ AVR เท่านั้น บลูเรย์เพลเยอร์เครื่องนี้จึงเพิ่มความสามารถในการรับสัญญาณภาพจากเครื่องเล่นภาพภายนอก แล้วมา “อัพสเกล” รวมถึงนำสัญญาณเสียงดิจิทัลเซอร์ราวด์มา “ถอดรหัส” ออกทาง Multi-ch/Stereo Analog Audio Out ได้ ในเรื่องของอรรถประโยชน์เพื่อเพิ่มศักยภาพใช้งานระบบภาพและเสียง จึงคาบเกี่ยวครอบคลุมแบบที่พบได้ใน AVR ระดับกลาง-สูงเลยนะ

หมายเหตุ:

– มีความเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในส่วนของ USB Input ที่แผงหน้าของ 105 เมื่อเปรียบเทียบกับ 95 คือ รุ่นใหม่ จะไม่มีจุกยางปิดกันฝุ่น (ความเปลี่ยนแปลงของ USB Input ด้านหน้านี้ เป็นเช่นเดียวกับรุ่น 103)
– หน้าที่ HDMI In ของ Oppo BDP-105/103

– การถอดรหัสสัญญาณเสียง ดิจิทัลเซอร์ราวด์ จากแหล่งโปรแกรมภายนอก ผ่านทาง HDMI In ของ Oppo 105/103 จะรองรับระบบเสียง Dolby Digital และ DTS 7.1 เท่านั้น หากเป็นระบบเสียง Dolby TrueHD และ DTS-HD MA จะต้องเล่นผ่าน Optical Disc Drive, USB หรือ Network ในตัว Oppo 105/103 จึงจะถอดรหัสได้
– การใช้ภาคถอดรหัสเสียง ดิจิทัลเซอร์ราวด์ ภายใน Oppo 105/103 จะเหมาะกับกรณีเชื่อมต่อใช้งานร่วมกับ AVR รุ่นเก่า หรือ Analog Multi-channel Amplifier หรือ Active Speakers ที่ไม่มีภาคถอดรหัสเสียงเซอร์ราวด์

HDMI In ที่แผงหน้าของ 105 นี้ นอกเหนือจากการเชื่อมต่ออุปกรณ์เอวี ผ่านมาตรฐาน HDMI ที่ใช้งานในระบบโฮมเธียเตอร์ทั่วไปแล้ว ยังรองรับมาตรฐาน MHL หรือ Mobile High-Definition Link จึงสามารถเชื่อมต่อรับสัญญาณภาพและเสียง แบบ “ดิจิทัลไฮเด็ฟ” ร่วมกับโทรศัพท์มือถือ หรือ Smart Devices ได้อีกด้วย

ในรุ่นใหม่ (105) ยังเพิ่มเติมช่องต่อ Headphone Out ให้เสียบต่อ “หูฟัง” ได้ทันที แน่นอนว่ามาแบบนี้ ก็ต้องมี “Headphone Amp” ไม่ต้องวุ่นวายหาซื้อเพิ่มต่างหาก คราวนี้จะนำหูฟังรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ แบบครอบหู (Over Ear) หรือแบบยัดหู (In Ear) ก็ใช้งานกับ BDP-105 ได้อย่างลงตัว ศักยภาพของภาคขยายหูฟังที่มากับ 105 ก็ใช่ว่าธรรมดานะ นอกจากนี้การบิลท์อินวงจรมาภายใน ทำให้ทางเดินสัญญาณจากแหล่งสัญญาณ Digital Front-end ไปยัง DAC ต่อเนื่องไปถึงภาคขยายหูฟัง มีระยะทางที่สั้นมาก ตัดปัญหาเรื่องคุณภาพสายสัญญาณภายนอก การคงความบริสุทธิ์ของสัญญาณอันเกี่ยวเนื่องไปถึงคุณภาพเสียง ก็ย่อมจะดี

และยังเพิ่มความสะดวกให้สามารถปรับระดับวอลลุ่มหูฟังได้ โดยปรับที่รีโมตคอนโทรลไร้สายครับ ข้อดี คือ หากนั่งห่างจากตัวเครื่อง ก็สามารถปรับระดับเสียงหูฟังได้แบบชิลๆ แต่ถ้าชอบนั่งใกล้ๆ (แบบประชิดติดเครื่อง) อาจจะไม่ถนัดเท่าไหร่ หากต้องมายกรีโมตชี้ที่หน้าเครื่องเพื่อปรับระดับเสียง

หมายเหตุ: 

– ช่องต่อหูฟังของ 105 เป็นรูเสียบขนาด 1/4″ (6.3mm) กรณีที่จะใช้งานร่วมกับหูฟัง ที่เป็นมาตรฐาน mini jack (3.5mm) ต้องหาอแดปเตอร์มาใช้งานเพิ่มเติม
– การกำหนดระดับเสียง (Volume Level) ของ Headphone Out สามารถกำหนดได้อิสระแยกจากช่องสัญญาณเสียง Analog Out และยังกำหนด Default Volume Level หรือระดับเสียงเริ่มต้น สำหรับการใช้งานหูฟังได้อีกด้วย โดยดำเนินการผ่านตัวเลือกในหน้า Setup Menu –> Audio Processing –> Headphone Volume

ต่อกันที่รายละเอียดทางด้านหลัง เครื่องบน คือ BDP-95 และ เครื่องล่าง คือ Oppo BDP-105 (New)
การจัดวางช่องต่อต่างๆ ทั้งการจัดกลุ่ม และระยะห่าง เอื้อต่อการเสียบต่อสายได้สะดวก จากมุมด้านหัลงนี้จะเห็นอีกว่าพัดลมระบายความร้อนที่เคยมีในรุ่นเก่า ถูกตัดออกไป โดยในรุ่นใหม่ จะแทนที่ด้วยช่องระบายอากาศแทน (ตรงบริเวณซ้ายมือบน) อันเป็นผลจากแนวทางออกแบบที่เรียกว่า “Fanless Architecture”

ผลของ “Fanlees” หรือ “ไร้พัดลม” จึงทำให้มีช่องระบายอากาศเพิ่มเติมที่ด้านบนตัวถังด้วย ประกอบกับทาง Oppo ได้ขยายขนาดตัวถังให้สูงขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่ภายในที่โปร่งเพียงพอให้อากาศผ่านเข้าไปนำพาความร้อน แล้วระบายออก
โดยไม่ต้องใช้พัดลม ผลลัพธ์ คือ ไม่มีเสียงพัดลมรบกวนให้รำคาญโสตประสาท ถึงแม้ของเดิม เสียงพัดลมจะไม่ได้ดังอะไรมากมาย แต่ “ความสงัด” ก็เป็นสิ่งสำคัญมากเวลาฟังเพลง หรือชมภาพยนตร์แบบพิถีพิถัน เน้นคุณภาพ และจะยิ่งเห็นผลชัดเจนเมื่อต้องนั่งใกล้ตัวเครื่อง อย่างเวลาใช้งานหูฟัง

อะนาล็อกออดิโอเอาต์แบบ 2 แชนเนล ที่แยกออกมาต่างหากจาก อะนาล็อกมัลติแชนเนลเอาต์ อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการแยกชิพ DAC คือ ESS SABRE 32 (ES9018) จำนวน 2 ตัว เพื่อผลทางด้านการลดทอนสัญญาณรบกวน

อีกทั้งจุดเด่นอีกประการของ อนาล็อกออดิโอเอาต์แบบ 2 แชนเนล ต่อเนื่องมาจากรุ่น 95 คือ ช่องต่อแบบ Balanced XLR ก็ยังคงมีอยู่ ผลลัพัพธ์ คือ เรื่องของมาตรฐานการเชื่อมต่อที่ป้องกันสัญญาณรบกวนภายนอก (ผ่านสาย) ได้ดีกว่า Unbalanced RCA แต่แอมป์ที่ใช้จะต้องมีช่อง XLR In ด้วยนะครับ จึงจะครบตามข้อกำหนด

ส่วนช่องต่อทางด้านหลังยังคงอิงพื้นฐานช่องต่อ ที่เป็นจุดเด่นของรุ่นก่อน คือ Dual HDMI สำหรับการเชื่อมต่อแบบ Split A/V หรือแยกสาย HDMI 2 ชุด สำหรับระบบภาพ (เชื่อมต่อกับทีวี 1 เส้น) และเสียง (เชื่อมต่อกับ AVR อีก 1 เส้น) เพื่อศักยภาพสูงสุดทางด้านแบนด์วิธ แต่ไม่ใช่เท่านั้น เพราะรุ่นใหม่ยังเพิ่มเติมฟังก์ชั่น ARC (Audio Return Channel) เพื่อรับสัญญาณเสียงจากทีวีผ่านทางสาย HDMI ด้วย

หมายเหตุ: แนวทางการใช้งาน Dual HDMI พร้อมฟังก์ชั่น ARC

ขั้วต่อสายไฟมาตรฐาน IEC ถอดเปลี่ยนสายไฟได้ ในรุ่นใหม่จะติดตั้งขากราวด์มาด้วย
ช่องต่ออีกจุดที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ มีเฉพาะกับ BDP-105 คือ Digital Audio Input
เป็นแนวคิดในการดึงความสามารถของ DAC ภายในบลูเรย์เพลเยอร์เครื่องนี้
ที่ไม่ธรรมดา (ESS ES9018) ออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซึ่งในส่วนของ Oppo 105 นอกจากรับสัญญาณดิจิทัลออดิโอ ตามมาตรฐาน SPDIF ผ่านทาง Coaxial และ Optical แล้ว ยังมี USB Asynchronous DAC เพื่อเชื่อมต่อสัญญาณดิจิทัลออดิโอกับคอมพิวเตอร์โดยตรงผ่านสาย USB
แนวทางนี้ ก็เป็นแนวทางเดียวกับ “Computer Audio” ที่กำลังฮิตกันในปัจจุบันนั่นเอง

จากช่องต่อต่างๆ ที่มีเพิ่มขึ้นของ 105 เมื่อกดปุ่ม Input จึงมีรายการเพิ่มเติมจาก 103 เยอะอยู่ ไม่ว่าจะเป็น Digital In จากอินพุตทั้ง 3 แบบ คือ Optical In, Coaxial In และ USB Audio In

ต่อไป ดูในส่วนของการออกแบบภายใน ส่วนสำคัญที่ส่งผลถึงศักยภาพอันโดดเด่น
ของ Universal Player เครื่องนี้ครับ