08 Jan 2016
Review

Brings depth and realism to your TV !!! รีวิว Oppo BDP-103D 4K 60Hz Ready Universal Player


  • ชานม

4K/60Hz Ready Universal Player

Brings depth
and realism to your TV !!!

หลังจาก Oppo Blu-ray Player วางตลาดมา นับตั้งแต่ BDP-93/95 ต่อเนื่องมาเป็น BDP-103/105 ก็กวาดตำแหน่ง “เครื่องเล่นครอบจักวาล” ติดต่อกันโดยหาคู่แข่งที่ให้ทั้งประสิทธิภาพและความคุ้มค่าครอบคลุมเช่นเดียวกันได้ยาก จุดเด่นสำคัญ คือ ความสามารถอันหลากหลาย นอกจากเป็นเครื่องเล่นบลูเรย์แล้ว ยังรองรับฟอร์แม็ตอ็อพติคัลดิสก์ไฮเอ็นด์อย่าง SACD/DVD-A/HDCD ไปจนถึงไฟล์ HD Video และ Hi-resolution Audio ครอบคลุม Online/Network Features แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ คุณสมบัติด้านภาพและเสียงอันโดดเด่น จากการคัดสรรอุปกรณ์ที่ส่งผลในแง่การถ่ายทอดได้อย่างโดดเด่น บัดนี้เมื่อ BDP-103 ตัวคุ้มค่าของปี 2012-2013 ได้รับการอัพเกรดเป็น “BDP-103D”จุดที่พัฒนาขึ้นในรุ่นใหม่ จะสร้างความประทับใจไปได้อีกหรือไม่ เพียงใด เราจะมาพิสูจน์กันครับ

Design – การออกแบบ

ถามว่า 103D กับ 103 ต่างกันตรงไหน? จากรูปนี้ถ้าท่านสามารถแยกแยะได้ว่าตัวบน-ตัวล่างเป็นรุ่นอะไร ต้องขอซูฮกเลยครับ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นลักษณะเลย์เอาต์ ปุ่มควบคุม และอินพุตก็เหมือนกันทั้งหมด
หากพิจารณาดูอินพุตที่แผงหน้า ซึ่งทั้งคู่มีเหมือนกัน คือ USB In และ MHL/HDMI In*

หมายเหตุ: * HDMI In ถูกเพิ่มเติมเข้ามาตั้งแต่ตอนช่วงเปลี่ยนรุ่นจาก 93 มาเป็น 103 ซึ่งการที่มี HDMI In นี้เอง ทำให้ Oppo BD Player มีคุณสมบัติที่โดดเด่นแตกต่างจาก BD Player ทั่วไป

ด้านหลังเองก็ไม่ต่างเช่นกัน จำนวนอินพุต-เอาต์พุตเท่าเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยน
(รายละเอียดช่องต่อ จะกล่าวถึงอีกครั้งช่วง Connectivity – ช่องต่อ)

จากที่เห็นเรียกว่าถ้าไม่สังเกตที่ชื่อรุ่นที่กำกับไว้ คงจะแยกไม่ออกว่าเครื่องไหนรุ่นใหม่ เครื่องไหนรุ่นเก่า… ว่ากันตามตรง ส่วนหนึ่งที่ทาง Oppo ยังคงอิงตัวเลขรุ่น 103 อยู่ เป็นการบอกนัยๆ ว่า “พื้นฐาน” ก็ยังเป็น BDP-103 นั่นเอง ดังนี้แล้ว ความต่างจริงๆ ของ 103D vs. 103 คืออะไรกันแน่?

หากจะสังเกตความแตกต่าง คงต้องดูด้านใน (คลิกที่รูปเพื่อขยาย)
จากภาพอาจจะยังเห็นไม่ชัดเจนนัก คือ เป็นความแตกต่างเล็กๆ และบางจุดที่สามารถสังเกตได้ ก็ถูกบดบังอยู่
(ซ้าย – BDP-103; ขวา – BDP-103D)

จุดที่เปลี่ยนแปลงเป็นหลักใหญ่สำคัญจริงๆ ของ 103D คือ Video Processor Chip ที่เปลี่ยนจาก Marvell Qdeo เดิม มาเป็นการผนวก 2 เทคโนโลยีชิพประมวลผลวิดีโอจาก Darbee Visual Presence และ Silicon Image VRS ClearView โดยตำแหน่งชิพ* นั้นจะติดตั้งอยู่บนบอร์ดหลัก ใต้บอร์ดอะนาล็กออดิโออีกที จึงมองเห็นยากสักหน่อย

จะว่าไปแล้วที่มาของตัวอักษร “D” ที่ต่อท้ายชื่อรุ่นของ 103D นั้น ก็มาจาก “Darbee” ที่กล่าวไปข้างต้นนี่แหละ

หมายเหตุ: * ALTERA Cyclone IV เป็น FPGA ที่ได้รับการโปแกรมให้ทำหน้าที่ Video Processor โดยอาศัยเทคโนโลยีจาก Darbee ตำแหน่งใกล้เคียงกันนี้ในรุ่น 103 เป็นจุดติดตั้งชิพจาก Marvell (Qdeo)

สำหรับชื่อของ Darbee Visual Presence สำหรับแวดวง Video Processor/Scaler อาจไม่เป็นที่คุ้นเคยกันนัก อย่างไรก็ดี Mr. Paul Darbee ที่ควบตำแหน่งผู้ก่อตั้งและ CEO คร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานนมตั้งแต่สมัยที่สัญญาณวิดีโอยังเป็นอะนาล็อกอยู่เลย ปัจจุบันชายผู้มีอายุอานามเลยวัยเกษียณผู้นี้ ถือสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้อกับระบบภาพดิจิทัล ระบบโฮมออโตเมชั่น และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่มากมาย ในส่วนของระบบภาพนั้น ตัวที่ขึ้นชื่อของ Darbee คือ Darblet DVP-5000 Stand-alone Video Scaler ขนาดเล็กกว่าฝ่ามือ แต่ความสามารถไม่ธรรมดา จึงได้รับการกล่าวขานกันอย่างเซ็งแซ่โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ จนทำให้ Darbee มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักขึ้นมา

แต่มิใช่เฉพาะ Darbee เท่านั้น ระบบ Video Scaler ที่ติดตั้งมากับ 103D ยังผนวกรวมเทคโนโลยี VRS ClearView จาก Siligon Image เข้ามาด้วย ซึ่งชื่อชั้นของ VRS กับ Video Processor Technology นั้น มีประวัติยาวนาน ความสัมพันธ์ของ Oppo ก็เริ่มต้นมาด้วยเทคโนโลยี VRS (สมัยที่ยังใช้ชิพ Anchor Bay กับ Player รุ่นแรกๆ ของ Oppo) ทว่าชื่อนี้ก็ถูกเบียดบังห่างหายไประยะหนึ่งจากการมาของ Qdeo

ปัจจุบัน VRS ได้รับการอัพเกรดเป็น VRS ClearView ที่ได้รับการปรับปรุง
เพื่อการใช้งานร่วมกับมาตรฐาน Hi-def (และ 4K/UHD)

อัพเดท 06/2014 : เมื่ออัพเกรดเฟิร์มแวร์ใหม่แล้ว 103D/105D จะสามารถอัพสเกล 4K/60Hz ได้

ทั้ง Darbee และ VRS ClearView ที่กล่าวมานี้ คือ จุดเปลี่ยนสำคัญของ 103D โดยจะส่งผลในแง่การปรับปรุงสัญญาณภาพในฐานะ Video Scaler นั่นเอง ส่วนผลลัพธ์จะเป็นเช่นไรเดี๋ยวไปดูกันในการทดสอบช่วงท้ายครับ

ในส่วนของรีโมตคอนโทรลเองก็มีรูปลักษณ์คงเดิม แต่ในรุ่นใหม่จะมีจุดที่ต่างไปเล็กน้อย
โดยในรุ่นใหม่จะแทนที่ปุ่ม “DARBEE” เข้ามา เพื่อเป็นช็อตคัทเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงเมนูปรับภาพจาก Darbee
โดยตรง เรียกว่าอำนวยความสะดวกให้ใช้คุณสมบัติใหม่กันเต็มที่

ปุ่มที่หายไป คือ 3D ซึ่งคุณสมบัติการตั้งค่าในส่วนนี้ไม่ได้หายไปไหน
แต่ต้องดำเนินการผ่าน Setup Menu แทน

เมื่อกดปุ่ม DARBEE ที่รีโมตปุ๊บ ก็จะมีเมนูขึ้นมาให้ปรับตั้งค่าดังภาพ
กดปุ่มนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเข้าเซ็ตอัพเมนูหลายขั้นตอนให้วุ่นวาย