05 May 2019
Review

รีวิว Pioneer BDP-X300 – เครื่องเล่น 3D Blu-ray 4K 24p Upscaling รองรับการถ่ายทอดเสียงระดับพรีเมียม


  • raweepon

Pioneer BDP-X300

Premium image and sound performance

Pioneer 3D Blu-ray Player รุ่น BDP-X300
ราคา 17,900บาท

หลังจากที่ Pioneer ห่างหายการออกเครื่องเล่น Blu-ray Player มาอยู่สักพักหนึ่ง ซึ่งผนวกกับช่วงตั้งแต่กลางปี 2016 ที่ผ่านมาตลาดในประเทศไทยต่างก็หันไปให้ความสนใจกับเครื่องเล่น Blu-ray Player ที่รองรับการเล่นแผ่น 4K กันอย่างฮือฮา จึงทำให้เหล่าบรรดาแบรนด์ระดับไฮเอ็นด์ต่างพากันดึงเชิงดูเทรนด์ของตลาดกันอยู่นานพอสมควร

ซึ่งการมาของคอนเทนท์ที่มีความคมชัดระดับ 4K ในไทยช่วงที่ผ่านมานั้นก็เริ่มมีให้ได้เลือกซื้อมารับชมอยู่ค่อนข้างบางตาและยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าใดนัก เนื่องด้วยตัวแผ่นคอนเทนท์ยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงอยู่พอสมควร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าจากแบรนด์ Pioneerอย่าง CMG (Central Marketing Group) จึงได้เข็นเจ้า Pioneer รุ่น BDP-X300 ซึ่งเป็นเครื่องเล่น Blu-ray Player ที่เน้นประสิทธิภาพทางด้านเสียงในระดับพรีเมียมออกมาทำตลาด เพื่อมาเอาใจกลุ่มผู้เล่นระดับกลางโดยเฉพาะ

Pioneer BDP-X300 ถือว่าเป็นเครื่องเล่นอีกตัวหนึ่งที่รองรับการเล่นแผ่น Blu-ray 3D และยังรองรับความสามารถ Ultra HD (4K/24p) Upscaling อีกด้วย ซึ่งถ้าหากคุณผู้อ่านท่านใดใช้งานทีวี 4K อยู่ก็สามารถใช้ฟังก์ชัน 4K Upscaling คอนเทนท์จากแผ่น BD/DVD ให้มีความคมชัดมากยิ่งขึ้นไปได้อีก พร้อมกันนี้ตัวเครื่องเองก็ยังรองรับ Wi-Fi, Miracast และการเล่นไฟล์ผ่านทาง LAN บนเทคโนโลยี DLNA อีกด้วยเช่นกัน

สเปคคร่าวๆ ของ Pioneer BDP-X300 มีดังนี้

VIDEO FEATURES  
– Ultra HD (4K/24p) Upscaling (BD/DVD/PC File) 
– Blu-ray 3D Playback 
– 36-bit Deep Colour, “x.v.Colour”

AUDIO FEATURES  
– Exclusive Audio DAC Board with 192 kHz/24-bit DAC 
– 192 kHz/24-bit Audio Playback (WAV, FLAC, ALAC) 
– Multi-Channel (5.1ch, 5.0ch) Audio Playback (WAV, FLAC, DSD) 
– Dolby TrueHD/Dolby Digital Plus 
– DTS-HD Master Audio/DTS-HD High Resolution Audio/DTS-ES/DTS 96/24 
– HQ Sound for Clear Audio Transmission via HDMI 
– Shielded Power Supply (SMPS) Circuit Board 
– Anti-Standing Wave Insulators (Rear Insulators Only)

NETWORK FEATURES  
– DLNA Certified*1 (1.5) with Trick Play Features (Fast/Slow Forward, Fast/Slow Rewind) 
– Built-in Wi-Fi (IEEE802.11 b/g/n) 
– Miracast via Wi-Fi Direct

Design – การออกแบบ

มาเริ่มดูกันที่ส่วนของงานดีไซน์กันก่อนเลย สำหรับรูปร่างหน้าตาหากเทียบกับรุ่น BDP-100 และ BDP-180 ที่อยู่ในไลน์อัพเดียวกันแล้วล่ะก็ต้องขอบอกเลยว่าหน้าตาเหมือนกันเด๊ะๆ แต่ต้องขอบอกก่อนเลยว่าเจ้า Pioneer BDP-X300 นั้นมีความพิเศษกว่าจริงๆ แต่ไม่ได้พิเศษตรงที่มีตัวอักษร “X” นำหน้านะ ซึ่งเดี๋ยวถ้าตามอ่านกันไปเรื่อยๆ จะต้องร้อง อ๋อ! กันอย่างแน่นอน

ตัวเครื่องที่ทางเราได้มารีวิวจะเป็นรุ่นสีดำ ซึ่งจากที่ได้แอบเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของ Pioneer พบมีรุ่นที่เป็นสีเงินโลหะด้วย แต่เข้าใจว่าในไทยจะเอาเข้ามาจำหน่ายอยู่สีเดียวคือสีดำ

ด้านหน้าตัวเครื่องจะเป็นหน้ากากพลาสติกสีดำมีการขัดลายออกแนวโลหะนิดๆ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้

1. ปุ่ม Power สำหรับ เปิด/ปิด ตัวเครื่องเล่น Blu-ray Player
2. ถาดสำหรับใส่แผ่น  BD, DVD, CD และ SACD
3. หน้าจอ LED สำหรับแสดงสถานะของตัวเครื่องเล่น
4. ปุ่มสำหรับกดให้ถาดรับแผ่นคอนเทนท์เด้งเข้าเด้งออก
5. ปุ่ม Stop สำหรับหยุดเล่นคอนเทนท์
6. ช่องต่อ USB 2.0 รองรับการจ่ายไฟ 5V/0.5A จำนวน 1 พอร์ต
7. ปุ่มสำหรับกด Play เพื่อสั่งเล่นคอนเทนท์

เมื่อซูมเข้ามาที่ส่วนทางด้านขวาของตัวเครื่องเล่นจะเห็นว่ามีการบอกรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน แถมที่ด้านใต้ยังมีการเสริมส่วนที่เป็นขาตั้งแยกออกมาโดยเฉพาะ เพื่อให้มีพื้นที่ช่องว่างสำหรับระบายความร้อนได้สะดวก
พลิกกลับมาที่ด้านหลังของตัวเครื่องเล่น Blu-ray Player กันต่อเลย

โดยที่จุดนี้มีการจัดเรียงพอร์ตเชื่อมต่อต่างๆ ไว้ได้อย่างสวยงามและเป็นระเบียบดี ซึ่งอย่างที่บอกไปว่าเครื่องเล่นตัวนี้จะมีความพิเศษกว่า BDP-100 และ BDP-180 ก็ตรงที่ส่วนที่เป็นพอร์ต HDMI Out, Coaxial และ Analog Audio Out นั้นจะได้รับการเคลือบพื้นผิวด้วย “ทองคำ” อีกชั้นนึงนั่นเอง

นอกจากพอร์ตสำคัญๆ ทางด้านเสียงจะถูกเคลือบพื้นผิวด้วยทองคำแล้ว ภายในตัวของเครื่องเล่นยังมาพร้อมกับระบบลดสัญญาณรบกวนต่างๆ อีกด้วย
พอร์ตเชื่อมต่อที่อยู่ด้านซ้ายทางด้านหลังของตัวเครื่องหลักๆ แล้วจะอยู่ที่บริเวณแถบนี้

ในส่วนของพอร์ตอื่นๆ ตามภาพด้านบนจะประกอบด้วย

1. พอร์ต LAN ที่รองรับความเร็วสูงสุดที่ 100Mbps
2. พอร์ต USB 2.0 รองรับการจ่ายไฟที่ 5V/0.5A จำนวน 1 พอร์ต ซึ่งสามารถต่อเข้ากับ External Hard Disk ได้สบายๆ
3. พอร์ต HDMI Out จำนวน 1 พอร์ต
4. พอร์ต Coaxial จำนวน 1 พอร์ต
5. พอร์ต Optical จำนวน 1 พอร์ต

ถัดมาที่ส่วนทางด้านขวาจะเป็นที่อยู่ของพอร์ต Analog Audio Out จำนวน 1 ชุด และพอร์ตสำหรับเชื่อมต่อเข้ากับสายไฟหลัก
รีโมทคอนโทรลก็ไม่ได้มีหน้าตาอะไรที่หวือหวามากนัก ซึ่งเน้นที่การใช้งานได้ง่ายเสียมากกว่า โดยทาง Pioneer ก็ได้หยิบปุ่มลัดอย่างเช่น Miracast, Audio, Subtitle และ Video มาใส่ไว้บนรีโมทคอนโทรล เพื่อให้ง่ายต่อการปรับเปลี่ยน