01 Jan 2014
Review

อีกหนึ่ง AV Receiver สำหรับยุคนี้ !!! รีวิว Onkyo TX-NR1008


  • ชานม

Network AV Receiver

Onkyo TX-NR1008

อีกหนึ่ง AV Receiver
สำหรับยุคนี้ !!!

แต่ไหนแต่ไร AV Receiver เปรียบเสมือนศูนย์กลางของระบบโฮมเธียเตอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบความบันเทิงทางภาพและเสียง ด้านเสียงนั้น ด้วยการบรรจุภาคถอดรหัสเสียงดิจิทัลรอบทิศทาง รวมไปถึงฟีเจอร์ปรับแต่ง ออดิโออินพุตทั้งดิจิทัล อะนาล็อก และภาคขยายสำหรับระบบลำโพง ทางด้านภาพก็มีการติดตั้งวิดีโอสเกลเลอร์เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพของภาพวิดีโอให้ดูดียิ่งขึ้น การเชื่อมต่ออุปกรณ์ระบบภาพและเสียงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งโปรแกรม จอภาพ และระบบลำโพง ทั้งหลายเหล่านี้จึงรวมศูนย์อยู่ที่ AVR ทั้งสิ้น ล่าสุดเมื่อถึงยุคที่ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู แน่นอนว่า AVR มีบทบาทเป็นอย่างมากในยุคที่โฮมเธียเตอร์ก้าวเข้าสู่ระบบความบันเทิงผ่านโฮมเน็ตเวิร์ก ว่าแล้วก็มายลโฉมพระเอกของงานในครั้งนี้กันหน่อย

Onkyo TX-NR1008 คือ Network AV Receiver ระดับสูง รองจาก 5008 และ 3008 ซึ่งถ้าหากคุ้นเคยกับยี่ห้อนี้มาก่อนจะพบว่ารุ่น “เลข 4 ตัว” บ่งบอกถึง “ความเทพ” มาช้านาน… นอกจากนี้ยังพ่วงความสามารถในการเป็น Network AVR ด้วยฟีเจอร์ที่สนับสนุนการใช้งานภายใต้ระบบเครือข่าย อันที่จริงการแสดงตัวตนด้วยการกำหนดตัวอักษร “NR” ที่ชื่อรุ่น ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะที่ผ่านมาผู้ผลิตได้นำรุ่นที่ใช้รหัส NR ซึ่งรองรับฟังก์ชั่น “เน็ตเวิร์ก” ออกสู่ตลาดมาหลายปีแล้ว และในครั้งนี้ก็เป็นการสานต่อจากรุ่นเดิม ทว่าปรับปรุงบางประเด็นให้ดียิ่งขึ้น

แผงหน้าเน้นเหลี่ยมมุม ดูแข็ง ๆ ทว่าบึกบึน ของ Onkyo AVR อันเป็นเอกลักษณ์ที่น่าจะคุ้นเคยกันดี เนื่องจากเป็นดีไซน์ที่มิได้เปลี่ยนแปลงมานาน หากสังเกตจะพบว่ารุ่นเลขท้าย 4 ตัว อย่าง 1008 จะมีสัญลักษณ์ THX และ ISF ขนาบซ้ายขวาจอแสดงสถานะ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์อีกจุดที่มักจะถูกใช้เพื่อบ่งบอกถึง “ความเทพ” ของอุปกรณ์โฮมเธียเตอร์

ปัจจุบันแม้ว่าจะเห็น THX Certified ติดหราให้เห็นเต็มไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ AVR รุ่นระดับกลางถึงเล็ก จนกลายเป็นสิ่งที่ดูพื้น ๆ คำถาม คือ มันสำคัญกับผู้ใช้อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มากน้อยแค่ไหน ? อันที่จริงก็มิได้เป็นสิ่งยืนยันว่า เครื่องที่มี จะต้องดีกว่า เครื่องที่ไม่มีสัญลักษณ์ดังว่านี้เสมอไป ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงมีผลค่อนข้างมากสำหรับประเด็นในเชิงการรับรอง “คุณภาพ” แต่ปัจจุบันหากเปรียบเทียบในระดับราคาเดียวกัน (จากผู้ผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ) แม้มิได้การรับรองจาก THX ทว่าคุณสมบัติต่าง ๆ รวมไปถึงคุณภาพการผลิตอาจมิได้แตกต่าง เรียกว่าตอบสนองการใช้งานได้ดีเหมือน ๆ กันนั่นแหละ มันจึงดูเหมือนเป็นสัญลักษณ์เชิงการตลาดเสียมากกว่า อย่างไรก็ดีต้องยอมรับว่ามาตรฐาน THX มีส่วนในการสร้างความตื่นตัวแก่ผู้ผลิตในประเด็นเรื่องของการออกแบบคัดสรรอุปกรณ์ และพัฒนามาตรฐานการการผลิต เพื่อตอบสนองการใช้งานแก่ผู้ใช้อุปกรณ์โฮมเธียเตอร์อยู่มากพอดู อีกทั้งฟีเจอร์บางอย่างที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น การกำหนดปรับเปลี่ยนค่าพารามิเตอร์ทางด้านระบบภาพและเสียง (ที่ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการปรับเซ็ต) มีส่วนในการตอบสนองการใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่น มากยิ่งขึ้น (รายละเอียดจะกล่าวถึงอีกครั้งในช่วงท้าย)

หมายเหตุ : สำหรับมาตรฐาน THX ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางด้านระบบเสียง อย่างไรก็ดีในสินค้าบางประเภทจะพบว่า THX ได้กำหนดมาตรฐานการรับรองด้านระบบภาพด้วยเช่นเดียวกัน ส่วน ISF หรือ Imaging Science Foundation โฟกัสในเรื่องของระบบภาพ

ด้านล่างมีบานพับปิดบังปุ่ม และอินพุตต่าง ๆ เพื่อความเรียบร้อยเวลามิได้ใช้งาน อันเป็นรูปแบบเฉพาะสำหรับรุ่นใหญ่ ทั้งนี้จุดเชื่อมต่อต่าง ๆ ในบริเวณนี้มีช่องต่อหูฟัง, Audyssey Setup Mic Input, USB Input, HDMI, Analog AV และ Digital Optical Input ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือถอดเคลื่อนย้ายบ่อย ๆ (ไม่ต้องพยายามมุดไปเสียบทางด้านหลัง AVR)