24 Jun 2019
Review

รีวิว Polk Audio HTS10 Active Subwoofer ขนาด 10 นิ้ว เบสชัดหนักแน่น ฟังเพลงก็ดี ดูหนังก็แจ๋ว


  • TopZaKo

Polk Audio HTS10 Active Subwoofer ราคา 15,900 บาท

ชุดเครื่องเสียง Home Theater เป็นสิ่งที่ผู้คนที่รักการรับชมภาพยนตร์เป็นชีวิตจิตใจมักจะมีไว้ในครอบครองกันสักชุดอย่างแน่นอน โดยชุด Home Theater นั้นจะประกอบไปด้วยอุปกรณ์หลักต่างๆ ได้แก่ AV Receiver, ลำโพง และอีกสิ่งหนึ่งที่คาดไม่ได้ สำหรับอุปกรณ์ที่จะคอยมาช่วยเสริมพลังของเสียงให้มีน้ำหนัก ดูหนังก็มัน ฟังเพลงก็สนุก สิ่งนั้นจะเป็นอะไรไปไม่ได้เลย นอกจากลำโพงที่เกิดมาเพื่อสร้างเสียงเบสโดยเฉพาะอย่าง Subwoofer นั่นเอง

วันนี้ผมจะพาทุกคนไปรู้จักกับ Polk Audio HTS10 ลำโพง Active Subwoofer สัญชาติอเมริกา ขนาด 10 นิ้ว ที่มีน้ำเสียง ลูกเล่นและการออกแบบที่ไม่ธรรมดา ตามมาอ่านกันในรีวิวนี้ได้เลย !!!

หมายเหตุ : ในรีวิวนี้จะมีบางช่วงบางตอนที่นำลำโพง Polk Audio HTS10 ไปเปรียบเทียบกับ Polk Audio HTS12 ที่ผมได้รีวิวไปแล้วก่อนหน้านี้ เพื่อให้เห็นความแตกต่างของลำโพง Subwoofer ทั้ง 2 รุ่นครับ

*** ส่วนที่เปรียบเทียบระหว่างรุ่น HTS12 กับ HTS10 จะใช้เป็นตัวเอียงสีเทานะครับ ***

Design – การออกแบบ

ด้านหน้าของ Polk Audio HTS10 สวยงาม หล่อเหลาไม่เบา

Polk Audio HTS10 ตัวนี้เป็นลำโพง Active Subwoofer ขนาดลำโพง 10 นิ้ว มาพร้อมภาคขยายในตัวเป็นแอมป์ Class D ให้กำลังขับอยู่ที่ 100W (กำลังขับสูงสุด 200W) ตอบสนองความถี่ได้ที่ 25 ถึง 180Hz เรียกว่าจัดเต็มครบทุกย่านเสียงเบส เบสลึกก็ดี เบสต้นก็เอาอยู่

ซึ่งจุดนี้หากเรานำมาทียบกับรุ่นใหญ่อย่าง HTS12 ที่มีขนาดลำโพงอยู่ที่ 12 นิ้ว มีกำลังขับอยู่ที่ 200 W (กำลังขับสูงสุดที่ 400W วัตต์) และตอบสนองเบสย่านต่ำได้ตั้งแต่ 22 ถึง 180Hz อาจจะดูเจ้า HTS10 ของเรามีความสามารถที่เบาบางกว่ารุ่นใหญ่สักเล็กน้อย แต่ขอบอกเลยว่าถึงเป็นรุ่นเล็กกว่าก็มีจุดเด่นที่เหนือกว่าเหมือนกัน ซึ่งจะบอกในส่วนถัดไปครับ

ตัวอย่างลำโพงรุ่นอื่นๆ ในตระกูล Signature Series

การออกแบบตัวตู้นั้นมาในแนวเดียวกับลำโพงในตระกูล Signature Series นั่นเอง โดยตัวตู้ใช้การออกแบบเป็นลายไม้ ที่ด้านหน้าจะเป็นส่วนของดอกลำโพงขนาด 10 นิ้ว ที่สามารถถอดหน้ากากได้ ซึ่งดอกลำโพงนั้นจะมาในโทนสีเทาที่ตัดกับสีของตัวตู้ให้ความสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ตัวตู้เป็นลายไม้ดูเรียบหรูสวยงาม
ดอกลำโพงสีเทาตัดกับตัวตู้ได้อย่างลงตัว

ขนาดตัวตู้ถือว่ามีขนาดที่กำลังดี ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ จนเกินไป มีขนาดความสูงอยู่ที่ 16.6 นิ้ว ความกว้าง 15.1 นิ้ว ความยาว 16.1 นิ้ว และมีน้ำหนักอยู่ที่ 17.1 กิโลกรัม ถือว่ามีน้ำหนักที่กำลังดีสำหรับลำโพง Subwoofer ระดับกลาง

เทียบขนาดระหว่าง HTS10 (ด้านซ้าย) และ HTS12 (ด้านขวา)
HTS10 (ด้านซ้าย) และ HTS12 (ด้านขวา) ขณะใส่หน้ากากลำโพงไว้

อีกหนึ่งจุดที่เป็นเอกลักษณ์ของการออกแบบทางด้านเสียงของลำโพงในตระกูล Signature Series ที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ การออกแบบท่อระบายเบสที่เรียกว่า Power Port โดยจะเป็นการออกแบบให้ตัวตู้ยกขึ้นจากพื้น แล้วยิงเสียงผ่านท่อระบายเบสที่ยิงเสียงลงด้านล่าง และมีการออกแบบให้มีแท่งที่มีลักษณะเหมือนกรวยหัวแหลมตั้งขึ้นไปในท่อเบส ซึ่งการออกแบบลักษณะนี้จะทำให้เสียงเบสที่ออกมานั้นมีความแผ่กระจายไปทั่วทั้งห้องแต่ก็ยังคงมีความคมของเสียงอยู่ เรียกได้ว่าเป็นลูกผสมของ Subwoofer แบบ Down Firing ผสมผสานกับแบบ Front Firing ทำให้เสียงที่ได้ดีกว่าการออกแบบแบบทั่วไป

ท่อระบายเบสแบบ Power Port

Connectivity – ช่องต่อ

ในส่วนของช่องต่อนั้นก็ถือว่าครบครันต่อการใช้งาน ประกอบไปด้วย สวิตช์ เปิด/ปิด(Auto) ตัวเครื่อง, สวิตช์ ปรับเฟส 0 องศา กับ 180 องศา, ช่องต่อ Line In L/R, ช่องต่อ LFE, Volume ปรับความดัง, ที่หมุนปรับ Cross Over ตั้งแต่ 40Hz ไปจนถึง 160 Hz และ ช่องต่อกับอุปกรณ์ส่งสัญญาณแบบไร้สาย โดยรุ่นนี้จะไม่มีช่องต่อแบบ Hi-Level ที่เป็นสายลำโพง เหมือนกับในซีรีส์ PSW มาให้แล้ว อาจจะทำให้ไม่สามารถนำไปใช้งานร่วมกับ Integrated Amplifier บางรุ่นได้

ด้านหลังของตัวเครื่อง

Setup – การติดตั้ง

มาทดสอบการใช้งานจริงกันครับ

ในการทดสอบครั้งนี้ ผมได้ทำการ Set Up ระบบเสียงไว้ในรูปแบบ 5.1 CH เข้ากับ AVR พร้อมชุดลำโพง จากทาง Onkyo โดยทำการเชื่อมต่อสัญญาณเสียงจากช่อง Subwoofer Out ของ AVR มาเข้าที่ช่อง LFE ของตัวลำโพง Subwoofer HTS10 ซึ่งผมได้เลือกตัด X-Over (Cross Over) บนตัว AVR ไว้ที่ 50Hz เนื่องจากลำโพงคู่หน้าเป็นลำโพงตั้งพื้น และให้ Sub ทำหน้าที่เป็นตัวช่วยเสริมความถี่ต่ำโดยรวมของระบบแทน ซึ่งผมได้ทำการหมุนปุ่มปรับ Cross Over ของตัว Sub ไว้ที่ 180 Hz (Bypass) เพื่อใช้จุดตัดความถี่จากตัว AVR เลยนั่นเองครับ

ข้อแนะนำ : หากใครที่มีประสบการณ์ในการเล่นเครื่องเสียงมาระดับหนึ่ง ผมแนะนำให้ทำการเชื่อมต่อแบบ สาย RCA 1 ออก 2 จากช่อง Subwoofer Out ที่ตัว AVR เข้าที่ช่อง L/R ของ ตัว Sub เพื่อที่เราจะสามารถใช้ภาค Cross Over ของตัว Subwoofer ที่จะสามารถปรับได้ละเอียดกว่าบน AVR แถมการต่อแบบนี้ยังให้เนื้อเสียงและน้ำหนักของเสียงที่ดีกว่าการต่อแบบ LFE ปกติด้วยครับ