19 Oct 2017
Review

รีวิว Acer V9800 โปรเจ็คเตอร์ 4K HDR รุ่นใหญ่ ในราคาต่ำกว่าทีวีตัวท็อป 65 นิ้ว !!


  • ชานม

ภาพ

เริ่มแรกทดสอบ V9800 กันที่ประเด็นเรื่องของการแสดงผลสัญญาณความละเอียด 4K ก่อนเลยผ่านแพทเทิร์นทดสอบ Resolution พบว่า สามารถแสดงรายละเอียดได้ครบถ้วนตามมาตรฐาน 4K (UHD) ภาพมีความคมชัดไม่มีปัญหาเหลื่อมสี หรือ Misconvergence อันเป็นอานิสงส์จากเทคโนโลยี 4K XPR ส่วนประเด็นที่หลายท่านกังวลเกี่ยวกับเทคโนโลยี DLP คือ Rainbow Effect พบว่า V9800 สอบผ่านฉลุย ไม่มีการรบกวนให้รำคาญตาเวลารับชมครับ

เคล็ดลับการถ่ายทอดภาพที่คมชัดของ V9800 อยู่ที่การโฟกัสให้เข้าเป๊ะ ซึ่งการปรับระยะซูมและโฟกัสของ V9800 ต้องดำเนินการโดยใช้มือหมุนวงแหวนหน้าเลนส์แบบแมนวล อาจจะไม่สะดวกเท่าโปรเจ็คเตอร์ไฮเอ็นด์บางรุ่นที่ใช้มอเตอร์ควบคุมและสั่งการผ่านรีโมตคอนโทรลไร้สาย แต่ก็ไม่ถึงกับลำบากยากเย็นอะไรนัก ผลลัพธ์ที่ได้ภายหลังดำเนินการก็ให้ความเที่ยงตรงดีมาก

V9800 ให้จำนวนโหมดภาพสำเร็จรูปมากถึง 11 ตัวเลือก อย่างไรก็ดีความแตกต่างของแต่ละโหมดจะไม่มากนัก ผลลัพธ์ด้านความเที่ยงตรงดีมาก ค่าอุณหภูมิสีทำได้ยอดเยี่ยมใกล้เคียง 6500°K เกือบทุกโหมดภาพ ส่วนหนึ่งน่าจะได้อานิสงส์จากการรับรองมาตรฐาน ISFccc จะเว้นก็แต่โหมด Bright แม้ให้ระดับความสว่างสูงที่สุดแต่สีเพี้ยนค่อนข้างมาก

ในจำนวนโหมดภาพทั้ง 11 ตัวเลือก จะมีโหมด ISF Day และ ISF Night รวมอยู่ด้วย ความเที่ยงตรงดีตามคาด แต่ดังที่เรียนไปแล้วว่า เกือบทุกโหมดภาพของ V9800 ให้ความเที่ยงตรงดีไม่ต่างกันนัก การใช้งานโหมดอื่น อาทิ Standard, Game (เหมาะกับการเชื่อมต่อ PC หรือรับชมภาพยนตร์ในห้องที่มีแสงรบกวนเล็กน้อยเพราะให้ความสว่างสูง) และ Rec.709 (เหมาะกับการรับชมภาพยนตร์ในห้องมืด) จะให้ความยืดหยุ่นในการรับชมสูงกว่า ISF ทั้ง 2 โหมด
หมายเหตุ: โหมด ISF Day และ ISF Night ของ V9800 มีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถ On ในส่วนของตัวเลือก HDR ได้ จึงเหมาะกับการรับชมคอนเทนต์มาตรฐาน SDR เท่านั้น และอีกหนึ่งข้อสังเกต (อ้างอิงช่วงเวลาทดสอบ) คือ ผลลัพธ์จาก ISF 2 โหมดนี้ดูจะกลับกัน คือ ISF Day ภาพค่อนข้างมืดทึม ในขณะที่ ISF Night กลับให้ระดับความสว่างสูงกว่า ในจุดนี้เข้าใจว่าน่าจะได้รับการแก้ไขผ่าน Firmware ในภายหลัง
ผลการทดสอบการรับชมคอนเทนต์ SDR กับโหมดภาพ Standard พบว่าให้สมดุลสีอยู่ในเกณฑ์ดีมาก จะอมแดงช่วงไฮไลท์บ้างก็เล็กน้อยมาก ส่วนขอบเขตสีหรือ Color Space ทำได้ครอบคลุมเกินกว่า 100% ของมาตรฐาน sRGB/Rec.709

อีกหนึ่งทางเลือกโหมดภาพเมื่อรับชมในห้องที่คุมแสงได้มืดสนิท คือ  Silent ซึ่งโหมดนี้แม้ระดับความสว่างต่ำกว่าโหมดอื่นก็จริง (ต่ำกว่าราว 33% เมื่อเทียบกับโหมด Standard) อันเป็นผลจากตัวเลือก Lamp Mode = Eco แต่จะยืดอายุหลอดไฟออกไปได้ถึง 6,000 ชม. อีกทั้งระดับเสียงของพัดลมระบายความร้อนที่เดิมค่อนข้างเงียบอยู่แล้วก็จะเบาเงียบยิ่งขึ้น และยังประหยัดพลังงานมากที่สุดด้วย (อัตรากินไฟต่ำกว่าโหมดอื่นราว 26%)

โหมดภาพจากโรงงานนั้นยอดเยี่ยมก็จริง แต่เชื่อว่าหลายท่านยังคงต้องการสิ่งที่เรียกว่า “เพอร์เฟ็กต์” ในแง่ของความเที่ยงตรงในการถ่ายทอดสีสันอิงตามมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ด้วยฟีเจอร์จาก ISFccc สามารถไฟน์จูน V9800 จนได้ค่าภาพที่ยอดเยี่ยมเข้าขั้นเพอร์เฟ็กต์เลยทีเดียว โดยสามารถไฟน์จูนในส่วนของ White Balance (2-point), CMS และ Gamma
ตัวอย่างเมนูในส่วนของการไฟน์จูนภาพละเอียดบางส่วนของ V9800 ทั้งนี้ในส่วนของ Gamma สามารถแยกปรับในส่วนของ Black Level Adjustment และ White Level Adjustment เพิ่มเติมได้ ผลลัพธ์ด้านความเที่ยงตรงจึงสูงกว่า
นอกจากผลลัพธ์อันยอดเยี่ยมของ V9800 ในการรับชมคอนเทนต์ SDR แล้ว รุ่นนี้ยังรองรับการแสดงผล HDR ด้วย แต่จะต้องเปิดตั้งค่าในส่วนของตัวเลือก HDR อยู่ในเมนูหลักหัวข้อ Color เสียก่อน (ไม่แนะนำให้เปิดใช้ตัวเลือก HDR กับการรับชมคอนเทนต์ SDR)
หลังจากเปิดใช้ในส่วนของตัวเลือก HDR ในเมนูตั้งค่าของ V9800 แล้ว เมื่อรับชมคอนเทนต์ 4K HDR อาทิ 4K HDR Blu-ray Disc จะมี Info แสดงขึ้นมาดังภาพ (HDR On ที่กลางภาพ และ HDR10 ที่มุมซ้ายบน) หมายถึงระบบตรวจพบสัญญาณ HDR10 และแม็ตช์การแสดงผลให้เรียบร้อย
ทดสอบคอนเทนต์ 4K HDR ด้วยสารคดียอดเยี่ยม “Planet Earth II” และภาพยนตร์สุดมัน “Kingsman: The Secret Service” ร่วมกับ Oppo UDP-203 เครื่องเล่น 4K/UHD Blu-ray Player พบว่า V9800 ให้ความเปรียบต่างของแสงได้โดดเด่นมากทีเดียว ถึงแม้ความเจิดจรัสจะไม่เจิดจ้ากระแทกตาเท่ากับเทคโนโลยีจอภาพแบบ Direct-view (Flat panel) Display หรือ “ทีวี” ที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยกัน แต่ถ้าเทียบกับเทคโนโลยีโปรเจ็คเตอร์ด้วยกันต้องถือว่าน่าตื่นตายิ่งนัก โดยเฉพาะเมื่อรับชมในห้องที่คุมแสงได้มืดสนิท บนจอรับภาพขนาด +/-100 นิ้ว ระดับความสว่างที่ได้ก็เพียงพอแล้ว
คำแนะนำสำหรับตัวเลือกตั้งค่า HDR ของ V9800 คือ HDR1 เหมาะสำหรับการรับชมในห้องที่มืดสนิทเท่านั้น หากสภาพแวดล้อมมีแสงรบกวน จะทำให้ Shadow Detail จมหายไป การแยกแยะรายละเอียดในที่มืดจะทำได้ยาก ในขณะที่ HDR2 สามารถใช้งานได้ทั้งห้องมืดสนิท หรือในสภาพแวดล้อมที่มีแสงรบกวนเล็กน้อย เพราะในโหมดนี้การแยกแยะ Shadow Detail ทำได้ง่ายกว่า