19 Oct 2014
Review

รีวิว BenQ F5 อีกหนึ่งสมาร์ทโฟนราคาประหยัดสุดลื่นไหลที่รองรับ 4G LTE


  • boom
จอสีสันสดใสสว่างสู้แสงภายนอกได้สบายๆ

มาเริ่มใช้งานกันเลยดีกว่าครับผม เมื่อเปิดเครื่องมาเราก็จะพบกับ หน้าจอหลัก Q Launcher ซึ่งมีหน้าตาตามรูปด้านบนครับ สำหรับแอปพลิเคชั่นที่ติดเครื่องมาก็จะมีแอปพื้นฐานของ Google ได้แก่พวก Gmail, YouTube, Hangouts, etc. เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะเป็นในส่วนของ BenQ Select ที่เป็นแอปฯที่ทาง BenQ ใส่เพิ่มเข้ามาให้หรือที่เรียกว่า ส่วนแอปที่เราทำการโหลดเพิ่มเองจะมาอยู่ที่ New Comer ทั้งหมดครับ

มองเผินๆ จะพบว่า Q Launcher ไม่มีปุ่มสำหรับเข้า App Drawer มาให้ เนื่องจากเค้าได้เอาทุกอย่างออกมาไว้ข้างนอกหมดแล้วนั่นเอง สำหรับหน้าตาของตัว Launcher อันนี้ ส่วนตัวผมว่าค่อนข้างจะดูคลาสสิคไปเสียนิด ซึ่งดูจะสวนทางการดีไซน์กับตัวใหม่ๆ ในปัจจุบันอย่าง Google Now Launcher เป็นต้นครับ ในจุดนี้ผู้ใช้สามารถทำการดาวน์โหลดเพิ่มเติมได้อยู่แล้วครับสำหรับท่านที่ไม่ชอบ

ก่อนอื่นก็จับมา Benchmark กันก่อนเลยครับ ผลคะแนนออกมาประมาณ 17640 ถือว่าเป็นคะแนนที่ค่อนข้างโอเคสำหรับมือถือระดับกลางแบบนี้ ทว่า ตัวเลขการ Benchmark ไม่ใช่ทุกสิ่งครับ ประสบการณ์การใช้งานจริงก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน เราจึงต้องมาลองใช้งานจริงกันครับ

ผมลองโหลดเกมยอดฮิตต่างๆ มาติดตั้งเพื่อทดสอบประสิทธิภาพกับเฟรมเรตที่ได้ เริ่มจาก Summoner War เกม 3D MMORPG ชื่อดัง การเรนเดอร์ภาพต่างๆ ก็ออกมาลื่นไหลไม่มีสะดุด ลองเปลี่ยนมาเล่นเกมสามมิติอีกเกม Flick Soccer ก็ไม่มีสะดุดเช่นเดียวกันครับ สลับมาเป็น Brave Frontier ที่มักจะมีอาการสะดุดให้เห็นเมื่อมีการแสดงเอฟเฟ็กต์หนักๆ ซึ่งประสิทธิภาพบน BenQ F5 ก็ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจครับ แม้ว่าจะมีอาการสะดุดให้เห็นบ้างซึ่งจะพบเฉพาะช่วงที่เอฟเฟ็กต์หนักหนาอลังการจริงๆ เท่านั้น

Flick Soccer มินิเกมปัดลูกบอลเข้าโกล์ เกมสามมิติง่ายๆ ที่ใครก็เล่นได้
Summoner War ลื่นไหลใช้ได้ ไม่มีอาการกระตุกให้พบเห็น
เจอกราฟฟิคหนักๆ แบบนี้ก็มีกระตุกให้เห็นแน่นอนครับสำหรับสเปคเครื่องระดับนี้

หมดจากเรื่องเกมมาลองกล้องถ่ายภาพกันบ้างครับ สำหรับฟีเจอร์ที่มีมาให้ปรับแต่งก็มากมายจนเล่นไม่หมดครับ ไม่ว่าจะเป็นการ Pre-Process หรือ Post-Process ตัวสมาร์ทโฟนก็มีพารามิเตอร์มาให้ปรับมากมายตามรูปด้านล่าง โดยค่าความละเอียดเริ่มต้นจากโรงงานนั้นจะถูกปรับมาเป็นแบบ 16:9 10MP ที่เป็นอัตราส่วนแบบ Widescreen แต่ถ้าใครอยากได้แบบใหญ่สะใจมาขยายแปะฝาบ้านก็สามารถปรับเป็น 4:3 13MP ที่เป็นอัตราส่วนแบบรูปถ่ายปกติได้เช่นเดียวกัน

เราสามารถเลือกปรับ Effects, White Balance, ISO, EV, etc. ได้อย่างอิสระซึ่งค่อนข้างจะเจ๋งอยู่พอตัวสำหรับคนชอบปรับนู่นนี่ แต่สำหรับใครที่ไม่ชอบการปรับตั้งค่าอะไรมากมาย ก็กดถ่ายให้กล้องมันคิดให้เลยหรือจะเลือกปรับ Scene แบบอัตโนมัติก็ได้

ถ้าแสงสว่างเพียงพอก็ปั้นรูปงามๆ ได้ไม่ยาก แต่ส่วนใหญ่คนใช้สมาร์ทโฟนน่าจะเน้นการหยิบมาถ่ายมากกว่า
ระบบโฟกัสในที่แสงสว่างเพียงพอทำได้ค่อนข้างเร็ว น่าพอใจกับมือถือระดับราคานี้
ส่วนการโฟกัสในที่แสงน้อยไฟสลัว ทำได้ช้ากว่าที่สว่างนิดหน่อยครับ
ตัวแอป Camera มีระบบการแต่งรูปเบื้องต้นติดตัวมาให้ อย่างเช่นการใส่ฟิลเตอร์เก๋ๆ และครอปภาพเป็น 1:1 แบบ Instagram ประมาณนี้

อีกประเด็นสำคัญที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของแบตเตอรี่ครับ ตัวเครื่องใช้แบตเตอรี่ขนาด 2520 mAh ถ้าว่ากันด้วยปริมาณต่อขนาดจอถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่มากไม่น้อยกำลังดี จากที่ผมได้ทดลองใช้งานเป็นเครื่องหลักจำนวน 1 วันเต็มๆ เปิด 3G และ Wi-Fi ทิ้งไว้ตลอด ถ่ายรูปบ้าง เล่นเกมบ้าง ตลอดเวลาตั้งแต่ 10.00 – 21.00 พบว่าหมดวันต้องเสียบปลั๊กชาร์จไฟพอดี ซึ่งถ้าหากมีการใช้งานอื่นๆ เพิ่มเติมผลที่ได้ก็อาจจะแตกต่างกันออกไป

เพิ่มเติม

นอกจากประสบการณ์การใช้งานอันลื่นไหลที่ทาง BenQ ได้เสิร์ฟมาให้แน่นเครื่องแล้ว ทางผู้ผลิตยังได้ใส่ใจในเรื่องของการถนอมสายตาผู้ใช้ด้วยการใส่เอาโหมดภาพแบบ Low Blue Light ที่ช่วยลดปริมาณการแสดงผลแสงสีฟ้า ซึ่งทาง BenQ เคลมว่าช่วยให้ดวงตาของเราไม่อ่อนล้าจากการใช้งานติดต่อกันนานๆ โดยเราสามารถเปิดใช้งานได้ที่ Setting > Display > Low blue light mode ซึ่งจะมีให้เลือกใช้งานทั้งหมด 3 โหมด ได้แก่ Multimedia, Web Surfing และ Reading

มองเผินๆ จะเห็นว่าเมื่อ Off จอจะอมฟ้าแตกต่างจากหมวดอื่นอย่างเห็นได้ชัดครับผม
ลองเอาโหมด Web Surfing มาเทียบกับจอสมาร์ทโฟนตัวอื่น อาจจะดูว่าสีอมเหลืองหน่อยๆ

มองด้วยตาเปล่าก็คงจะเห็นต่างเพียงแค่สี ถ้าจะรีวิวตามสไตล์ LCDTVTHAILAND เห็นที่ต้องหยิบ Color Meter มาวัดกันแบบถึงลูกถึงคนกันไปเลยว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้างเมื่อเปิดใช้งาน Low Blue Light Mode

คว้าโทรศัพท์มาติดตั้งแพทเทิร์นสีแล้วเปิดขึ้นมาบนจอ จากนั้นก็เอาเครื่องวัดมาจิ้มอ่านค่าสีไปเลย ค่าที่ได้ก็จะออกมาตามตารางด้านล่างเลยครับ

ผลที่ได้ออกมาต้องบอกว่าน่าสนใจไม่ใช่น้อยเลยครับ ค่าอุณหภูมิสีที่ได้ในแต่ละโหมดค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจนครับ สำหรับท่านที่ไม่ค่อยเก็ทกับค่า CTT, Gamma และ Luminance ผมขอแจกจงอธิบายคร่าวๆ ดังนี้ครับ

CTT = ค่าอุณหภูมิสีเฉลี่ย เป็นตัวเลขที่บอกถึงความแม่นยำในการแสดงผลของจอภาพ ค่าที่ถูกต้องที่สุดคือ 6500K (เคลวิน)
Gamma = ค่าการไล่เฉดความสว่าง ถ้าค่ายิ่งต่ำเรายิ่งเห็นรายละเอียดของส่วนมืดได้เยอะ ปัจจุบันอ้างอิงกันที่ 2.2
Luminance = ค่าความสว่างของหน้าจอยิ่งมากก็คือยิ่งสว่างครับ

โดยในโหมด Multimedia จะให้สีสันที่เที่ยงตรงมากที่สุด และเมื่อเรามาวัด RGB Balance ให้ละเอียดเข้าไปอีกก็เห็นได้ชัดว่าปริมาณสีฟ้าในโหมด Multimedia มีค่าน้อยกว่าตอนที่ไม่ได้เปิดใช้งาน Low Blue Light อย่างชัดเจน

ผลการวัดประสิทธิภาพหน้าจอก่อนที่จะเลือกใช้งาน Low Blue Light
อันนี้เป็นโหมด Low Blue Light > Multimedia

ส่วนเรื่องที่มันสามารถถนอมสายตาได้จริงหรือไม่ทาง BenQ ได้ชี้แจงว่าเนื่องจากแสงสีฟ้าเป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นสั้น จึงมีพลังงานสูง ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมองแสงสีฟ้านานๆ สายตาเราจะอ่อนล้าได้ง่ายกว่าการมองแสงที่มีพลังงานต่ำนั่นเอง ฉะนั้นก็จะเหมือนกับว่านอกจากโหมด Low Blue Light จะช่วยให้ตาเราไม่ล้าแล้ว ยังช่วยให้จอมือถือแสดงสีสันได้เที่ยงตรงอีกด้วย ถ้าจะเปิดใช้งานก็แนะนำให้เป็น Multimedia ตอนใช้งานปกติทั่วไป แต่ถ้าใช้ในการอ่านข้อความปริมาณมากๆ หลายบรรทัดแนะนำให้เป็น Reading จะสบายตาที่สุด