01 Nov 2021
Review

รีวิว BenQ V7050i 4K HDR Ultra Short-throw Laser Projector มาพร้อมลูกเล่นความบันเทิงจาก Android TV


  • ชานม

ภาพ

V7050i ติดตั้ง Digital Micro Mirror Device (Single-DMD) chip พร้อมเทคโนโลยี 4K XPR ซึ่งอาศัย Optical Actuator ทำงานขยับตำแหน่งพิกเซลรวดเร็วมากจนสามารถสร้างเป็นภาพนิ่ง (frame) ที่มีรายละเอียดจำนวนพิกเซลเพิ่มขึ้น รวมกันทั้งสิ้นจะได้ความละเอียดเท่ากับ 8.3 ล้านพิกเซล ตรงตามมาตรฐาน 4K (UHD) ตามการรับรองของ Consumer Technology Association หรือ CTA หากปรับโฟกัสได้ลงตัวแล้วรุ่นนี้ให้ภาพมีความคมชัดดีมาก ส่วนหนึ่งเป็นอานิสงส์จากคุณภาพของเลนส์ การแสดงรายละเอียดจาก 4K/UHD Blu-ray จึงถ่ายทอดออกมาได้โดดเด่นยิ่งกว่า W2700i หรือ W5700 ขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

– SDR –

รุ่นนี้ให้โหมดภาพสำหรับรับชมคอนเทนต์แบบ SDR มา 6 โหมด (รวม Silence) ความแตกต่างจากรุ่นก่อน (V6000/V6050) คือ โหมด Living Room และ Cinema ถูกปรับเปลี่ยนชื่อเป็น Bright Cinema และ Filmmaker Mode ตามลำดับ

ผล Lab Test พบว่าโหมดภาพที่ให้ผลลัพธ์เหมาะกับการรับชม SDR คือ Filmmaker Mode เพราะให้สมดุลและขอบเขตสีใกล้เคียงมาตรฐาน Rec.709 ระดับความสว่างสูงกว่า Bright Cinema เป็นรอง Bright และ User อยู่เล็กน้อย โดยรวมสามารถใช้งานในห้องคุมแสงมืดสนิท หรือในสภาพที่มีแสงรบกวนเล็กน้อยได้

User เป็นตัวเลือกที่ดีหากต้องการความสว่างที่สูงกว่า Filmmaker Mode แม้ความต่างไม่มาก แต่ก็ช่วยให้สู้แสงได้ดีขึ้นอีกหน่อย ความเที่ยงตรงของสีสันย่อหย่อนลงไม่มากนัก ส่วน Bright ให้ความสว่างใกล้เคียง User แต่ความผิดเพี้ยนจะมากกว่า

สำหรับโหมดภาพ DCI-P3 ความสว่างจะต่ำกว่าทุกโหมดราวครึ่งหนึ่ง ทว่าในส่วน Color Space จะถูกกำหนดตั้งค่าแบบ “Wide Color Gamut” มาจากโรงงาน ขอบเขตสีใกล้เคียง DCI-P3 หากจะนำมาใช้รับชม SDR Content ทั่วไป ที่อิงมาตรฐาน Rec.709 สีสันจะติด Over Saturation ไปบ้าง คือ จะดูสดจัดกว่าปกติ และด้วยความสว่างที่ไม่มาก คงไม่เหมาะที่จะใช้รับชมในห้องที่มีแสงรบกวน

Silence เป็นโหมดภาพทางเลือกที่น่าสนใจ ความเที่ยงตรงของสีสันโอเค ความสว่างปรับลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ได้เสียงพัดลมที่เงียบลง สามารถทดลองใช้งานกันดูได้ครับ

หมายเหตุ: อายุการใช้งานแหล่งกำเนิดแสง Laser ของ V7050i อยู่ที่ 20,000 ชม. ไม่ว่าจะใช้งานโหมดภาพใด

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล SDR Calibration Report>

ผล Lab Test ของโหมดภาพ Flimmaker ค่าเดิมๆ จากโรงงาน (Pre Calibration) ดุลสีอยู่ในเกณฑ์ดี อุณหภูมิสีเฉลี่ย 6443K ค่าความผิดเพี้ยนแสงขาว Grayscale Avg dE ที่ 7

หลังปรับภาพ (Post Calibration) ผลลัพธ์ดีขึ้นมาก ค่าความผิดเพี้ยนเฉลี่ยทั้ง Grayscale Avg dE และ Colorspace Avg dE จะลดลงมาเหลือ 1.3 และ 2.9 ตามลำดับ

Rec.709 Color Checker หลังดำเนินการปรับภาพ มีค่าความผิดเพี้ยนเฉลี่ย (Saturation Avg dE) ที่ 2

– HDR –

ค่าความสว่างสูงสุดของ V7050i ที่แจ้งไว้ในสเปค คือ 2500 ANSI Lumens ต่ำกว่ารุ่น V6000 ที่ 3000 ANSI Lumens ความสามารถสู้แสงและให้ความเจิดจรัสเมื่อรับชม HDR จึงต่ำกว่าเล็กน้อย แต่หากใช้งานร่วมกับ Ambient Light Rejecting Screen ภายในห้องคุมแสง ก็ยังขับเน้นแสงเอฟเฟกต์ HDR ออกมาได้

คุณสมบัติด้านการรับชม HDR content ที่เพิ่มเติมเข้ามาในรุ่นนี้ (ไม่มีในรุ่น V6000) คือ เพิ่มตัวเลือกโหมดภาพเมื่อรับชม HDR ให้ 2 โหมด ชื่อว่า HDR10 และ Filmmaker Mode แยกตั้งค่าภาพได้อิสระ จึงเพิ่มความยืดหยุ่นมากกว่ารุ่นก่อน

มีข้อสังเกตเมื่อใช้ V7050i รับชมคอนเทนต์ HDR คือ ค่าตั้งต้นจากโรงงานของทั้งโหมดภาพ HDR10 และ Filmmaker Mode จะ “Off” ตัวเลือก Wide Color Gamut ความสามารถในการแสดงขอบเขตสีจึงทำได้ครอบคลุมราวๆ 75.59/82.45% DCI-P3 (xy/uv) แต่จะให้ระดับความสว่างสูงกว่า

หากต้องการให้ V7050i แสดงขอบเขตสีกว้างขึ้น ให้เปลี่ยนตัวเลือก Wide Color Gamut เป็น “On” จะได้ขอบเขตสี 93.58/95.22% DCI-P3 (xy/uv) หรือเทียบเท่า 69.86/77.58% Rec.2020 (xy/uv) ทว่าต้องแลกกับความสว่างที่ลดลงไปราว 42%

ดังนี้… ถ้าต้องการเน้นความเปรียบต่างของแสงเอฟเฟกต์ HDR ก็แนะนำให้ Off แต่ถ้าเน้นการถ่ายทอดรายละเอียดสีสันก็สามารถ On – Wide Color Gamut ทดลองกันดูว่าชอบแบบไหนครับ

อีกความสามารถของ V7050i คือ Motion Enhancer 4K หรือระบบประมวลผลแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว อันมีส่วนช่วยให้ภาพเคลื่อนไหวโดยเฉพาะคอนเทนต์เฟรมเรทต่ำ ดูไหลลื่นต่อเนื่องขึ้น สามารถกำหนดได้ 3 ระดับ อย่างไรก็ดีการรับชมผ่านโปรเจคเตอร์นั้น แม้จะ Off ตัวเลือกนี้ ก็สามารถรับชมภาพเคลื่อนไหวได้เป็นธรรมชาติ ไม่รู้สึกว่าติดขัดอะไร แต่ทั้งนี้ก็แล้วแต่ความชอบครับ