17 Jul 2018
Review

รีวิว BenQ W1700 4K HDR DLP Projector เพื่อระบบ Home Cinema ในราคาเอื้อมถึงได้


  • ชานม

ภาพ

BenQ เป็นแบรนด์แรกที่นำเสนอ DLP Projector มาพร้อมกับเทคโนโลยีการแสดงผลแบบ 4K XPR (พ่วงด้วย THX Certified) ในรุ่น W11000 (อ่านรีวิวได้ >>ที่นี่<<) ซึ่งข้อดีของ DLP 4K XPR (Single DMD chip) คือ รายละเอียดความคมชัดของภาพจากการที่ไม่มีปัญหาสีเหลื่อม หรือ Misconvergence รบกวนโดยสิ้นเชิง (หากโฟกัสได้เป๊ะ) และไม่มีความจำเป็นต้องทำ Panel Alignment ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนใช้งานที่ค่อนข้างยุ่งยาก

หลักการของ 4K XPR ในรุ่น W11000 จะอาศัย Single DMD (Digital Micromirror Device) Chip จาก Texas Instrument ขนาด 0.66 นิ้ว ที่มี micromirrors หรือกระจกขนาดเล็กจำนวนทั้งสิ้น 2716 x 1528 = 4.15 ล้านชิ้น เป็นตัวหักเหแสงเพื่อสร้างภาพในแต่ละพิกเซล แสงที่สะท้อนจาก micromirrors ดังกล่าวจะถูกนำมาผ่าน “Optical Actuator” ที่ทำงานรวดเร็วมากจนสามารถสร้างเป็นภาพนิ่ง (frame) ที่มีรายละเอียดจำนวนพิกเซลเพิ่มขึ้น 2 เท่า รวมกันทั้งสิ้นจะได้ความละเอียดเท่ากับ 8.3 ล้านพิกเซล ตรงตามมาตรฐาน 4K (UHD) จากการรับรองของ Consumer Technology Association หรือ CTA

สำหรับ W1700 (และรุ่นต่ำกว่าอย่าง TK800) ก็อิงเทคโนโลยี 4K XPR เหมือนเช่น W11000 แต่ต่างกันตรง Single DMD chip ที่ใช้ จะมีขนาดเล็กกว่าที่ 0.47 นิ้ว และมีจำนวน micromirrors ทั้งสิ้น 1920 x 1080 = 2 ล้านชิ้น กระบวนการนำแสงสะท้อนผ่าน Optical Actuator จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการเพิ่มรายละเอียดจำนวนพิกเซลขึ้น 4 เท่า! เป็น 8.3 ล้านพิกเซล

จุดที่ W1700 แตกต่างจาก W11000 อีกประการ คือ คุณภาพเลนส์ฉายที่ลดทอนลง (จากข้อจำกัดเรื่องของขนาดเลนส์ที่ต้องไม่ใหญ่จนเกินบอดี้เครื่องฉายขนาดเล็ก) จึงพบอาการฟุ้งนิดๆ แต่จะสามารถสังเกตเห็นได้ต้องเพ่งมองในระยะใกล้เท่านั้น ระยะรับชมทั่วไปมิได้มีนัยนัก เพราะสังเกตความแตกต่างได้ยากครับ แนะนำโฟกัสให้เป๊ะ ความฟุ้งจะน้อยลงมาก ทั้งนี้ผลลัพธ์ที่ได้หากอิงราคาค่าตัวของ W1700 ที่ต่ำกว่า 4 เท่า!! (เมื่อเทียบกับราคาเปิดตัว W11000) ก็นับว่าคุ้มค่ามาก

หมายเหตุ: กรณีที่ปลดล็อคในส่วนของ ISFccc จะมีโหมดภาพเพิ่มเติมเข้ามาอีก 2 โหมด ได้แก่ ISF Night และ ISF Day

W1700 ให้โหมดภาพสำเร็จรูปพื้นฐานเมื่อรับชม SDR Content มาทั้งสิ้น 6 ตัวเลือก (นับ User 1 และ 2 รวมกัน) ซึ่งเป็นจำนวนเท่ากับรุ่น TK800 แต่หากสามารถเปิดใช้งาน ISFccc Mode ได้ (ต้องมี ISF Calibrator Password) จะมีโหมดภาพเพิ่มขึ้นมาอีก 2 โหมด คือ ISF Day และ ISF Night 

โหมดภาพสำเร็จรูปพื้นฐาน ที่ให้ความเที่ยงตรงเหมาะสำหรับการรับชมภาพยนตร์ในห้องโฮมเธียเตอร์ (คุมแสงได้) คือ Cinema โหมดนี้ถึงแม้ให้ระดับความสว่างต่ำกว่าโหมดอื่นราว 17% (เทียบกับโหมด Vivid TV โดยอ้างอิงที่ Lamp Mode – Normal เหมือนกัน) แต่จะให้สมดุลสีใกล้เคียงมาตรฐานอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (ค่าอุณหภูมิสีใกล้เคียง D65 มากกว่าโหมดอื่นๆ) เบื้องต้นหากทำการปรับลดระดับ Contrast ลงมาที่ราวๆ 37-38 เพื่อแก้ปัญหาอาการภาพโพลนช่วง Highlight details และชดเชย Gamma อีกเล็กน้อย พร้อมปรับลด Sharpness ลงอีกหน่อย จะได้ไดนามิกเรนจ์และรายละเอียดที่ครบถ้วนจาก SDR Content ดียิ่งขึ้นจนเป็นที่พอใจมากครับ 

ผลการทดสอบการรับชมสัญญาณภาพ SDR กับโหมดภาพโรงงาน Cinema พบว่า W1700 ให้สมดุลสีอยู่ในเกณฑ์ดี อมเขียวนิดเดียว อุณหภูมิสีเฉลี่ย 6414K (หากอ้างอิงที่ Light Mode – Normal แต่จะได้ 6551K เมื่อปรับ Light Mode – Eco) ระดับ Gamma ที่โรงงานกำหนดมาอาจทำให้ Shadow Detail ติดโพลนนิดนึง แต่สามารถแก้ไขได้ ขั้นตอนในการคาลิเบรทไม่ยุ่งยากครับ ค่าความผิดเพี้ยนของสมดุลสี (dE) อยู่ที่ 6.17 ส่วนขอบเขตสีหรือ Color Space ทำได้ครอบคลุมราว 95.4% ของมาตรฐาน sRGB/Rec.709
W1700 รองรับการปรับภาพละเอียด โดยสามารถไฟน์จูนในส่วนของ White Balance (2-point), CMS และ Gamma เพิ่มเติมได้ ซึ่งภายหลังดำเนินการพบว่าให้ผลลัพธ์ความเที่ยงตรงดีเยี่ยม จุดนี้เองที่ทำให้ W1700 เหนือกว่า TK800 ชัดเจน ซึ่งค่าความผิดเพี้ยนของสมดุลสี (dE) หลัง Calibrate จะลดต่ำเหลือเพียง 1.76 เท่านั้น ขอบเขตสีจะขยายกว้างขึ้นอีกนิดหนึ่งเป็น 96.9% Rec.709/sRGB แต่สำคัญตรงที่มันเที่ยงตรงขึ้นด้วย
ความเที่ยงตรงด้านการถ่ายทอดสีสันของ W1700 นี้ ส่วนหนึ่งต้องยกอานิสงส์ให้ 6-segment RGBRGB Color Wheel (แบบเดียวกับที่ใช้ในรุ่น Hi-End W11000) พร้อมเทคโนโลยี CinematicColor ของ BenQ ในการควบคุมแสงสีในทุกๆ การไล่ระดับความสว่างเหนือกว่ารุ่นเริ่มต้นอย่าง TK800 ซึ่งในการรับชมภาพยนตร์นั้น ความสมบูรณ์ของสมดุลสีจะช่วยให้ภาพมีความสมบูรณ์แลดูเป็นธรรมชาติกว่าในทุกมิติ แต่ที่สังเกตได้ชัดก็จากสกินโทน นอกจากนี้ Rainbow Effect ยังน้อยมากๆ ท่านที่การรับรู้ไวกับประเด็นนี้จึงสบายใจได้ เพราะสามารถดูได้สบายตาเลยล่ะ
ความเที่ยงตรงของสมดุลสีนี้ นอกเหนือจากการรับชมภาพยนตร์แล้ว ยังพบว่า สามารถนำมาใช้อ้างอิงกับงาน Graphic/Presentation เมื่อเชื่อมต่อกับ PC ได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลสเป็กที่ BenQ เผยแพร่ แจ้งว่ารุ่นนมีระดับความสว่างอยู่ที่ 2200 ANSI Lumen ซึ่งต่ำกว่ารุ่น TK800 ที่ 3000 ANSI Lumen แต่ผลการใช้งานจริงพบว่า หากเลือกโหมดภาพอื่น เช่น Bright (ไม่แนะนำเพราะสีเพี้ยนมาก), Vivid TV, Sport หรือ Football ก็ยังสู้แสงได้ดีใกล้เคียง TK800 แต่ความสว่างของ W1700 ที่ต่ำกว่าก็นับว่าเป็นข้อดีที่เอื้อต่อการรับชมในห้องโฮมเธียเตอร์ที่คุมแสงได้มืดสนิท เพราะมีส่วนช่วยให้โปรเจคเตอร์สามารถควบคุมระดับแสงลอดได้ง่ายกว่า ถึงแม้ผลลัพธ์จะยังเป็นรอง Hi-End Home Theater DLP Projector ที่มีระบบ Dynamic Iris แต่พูดได้ว่าระดับ Black Level ของ W1700 จะดูดำลึกกว่า TK800 ขึ้นอีกระดับหนึ่งครับ
การใช้งานในห้องโฮมเธียเตอร์ที่คุมแสงได้มืดสนิทนี้ ระดับความสว่างของ W1700 ถือว่าให้ความชัดเจนเจิดจ้าได้เพียงพอ จนอาจกำหนดปรับลด Light Mode จาก Normal เป็น Eco เพื่อยืดอายุหลอดไฟออกไปได้ถึง 10,000 ชม. (จาก 4,000 ชม.) และประหยัดไฟลง 25% (238 วัตต์ เทียบกับ 316 วัตต์) โดยแลกกับความสว่างที่ลดลงราว 34% แต่ถ้าต้องการให้เสียงพัดลมระบายความร้อนเงียบลงอย่างมีนัยสำคัญ แนะนำให้ On ตัวเลือก Silence ครับ