เพิ่มเติม
W2700i ติดตั้งเลนส์พร้อมระบบซูม 1.3 เท่า ระยะฉายกึ่ง Short Throw มี Vertical Lens Shift เพิ่มความยืดหยุ่นเวลาติดตั้ง หากเดิมใช้งานโปรเจคเตอร์ BenQ รุ่นเก่า อาทิ W2000, W1090, W1080+, W1070+, W1050, W1110 ฯลฯ สามารถอัพเกรดมาเป็นรุ่นนี้ ไม่ต้องเปลี่ยนขาจับและระยะยึดแขวน ใช้ตำแหน่งเดิมได้เลย แต่อาจต้องเปลี่ยนสาย HDMI ที่มีคุณสมบัติรองรับความละเอียดภาพ 4K HDR ตามความสามารถของรุ่นใหม่
ช่องต่อ USB 3.0 ของ W2700i มาพร้อมความสามารถ Media Reader สามารถอ่านไฟล์วิดีโอ เสียง รูปภาพ และไฟล์เอกสารได้ น่าเสียดายที่ไม่สามารถใช้งานเป็น USB Hub ร่วมกับ QS01 Android TV Dongle การใช้ประโยชน์ก็เลยจำกัดอยู่สักหน่อย ทดลองเล่นไฟล์วิดีโอ รองรับ HDR10 แต่ไม่สามารถเลือกเปลี่ยนเสียง หรือซับไตเติลครับ
การใช้งานร่วมกับ QS01 ทำให้ W2700i กลายเป็น “Smart 4K Projector” ระบบปฏิบัติการ Android TV 9.0 ในทันที หลังติดตั้งเมื่อเปิดเครื่องมาจะพบกับอินเทอร์เฟสหน้า Home กับไอคอนและพรีวิวคอนเทนต์ขนาดใหญ่ที่คุ้นตา
แต่น่าเสียดายช่วงที่ทำการทดสอบ QS01 ยังไม่สามารถติดตั้งแอปดูหนังขวัญใจมหาชนอย่าง Netflix ได้ และไม่รองรับการแคส Netflix จาก Smartphone ด้วย วิธีเดียวที่จะดู Netflix ผ่าน QS01 คือ แคสผ่าน Chrome Browser ด้วย PC แต่วิธีนี้จะไม่รองรับ 4K HDR และระบบเสียงรอบทิศทางครับ
ทดลองเล่นไฟล์ภาพยนตร์ผ่านแอปอย่าง Kodi พบว่าส่วนใหญ่สามารถเล่นได้ สามารถเปลี่ยนเสียงพากย์ และเลือกซับไตเติล รองรับระบบภาพ HDR10 และ ระบบเสียงเซอร์ราวด์ DD 5.1, Atmos/DD+ (กรณีที่เสียบ QS01 ตรงเข้าที่ช่อง HDMI In ของ AVR) แต่เนื่องจาก QS01 ไม่สามารถเชื่อมต่อ USB Storage การเล่นไฟล์จะต้องใช้วิธีก็อปปี้จาก PC หรือดาวน์โหลดจากอินเทอร์เน็ตมาเก็บไว้ที่ Internal Storage ก่อน ซึ่งมีเนื่อที่ว่างเหลือประมาณ 10GB หรือจะสตรีมผ่าน Network ด้วย PLEX Server ก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่า WiFi ที่บ้านเร็ว และเสถียรพอ
“Google Assistant” อีกหนึ่งคุณสมบัติเด่นของ Android TV เป็นระบบโต้ตอบรับคำสั่งเสียงที่จับคำทั้งอังกฤษและไทย ได้ยอดเยี่ยมมาก ผมทดลองพูดว่า “เปิดเพลง One Last Kiss บน YouTube” ระบบของ QS01 ก็โต้ตอบมาดังภาพ พร้อมกับเปิดแอพ YouTube และเล่นคลิปที่ต้องการทันที การตอบสนองถือว่าเร็วในแบบฉบับ Android TV Dongle ไซส์เล็กครับ