31 Dec 2013
Review

Let The SKYFALL !!! รีวิว B&W 684 Theatre 5.1


  • ชานม

Home Theater Speaker System

B&W 684 Theatre 5.1

Let The SKYFALL !!!

(When it crumbles, we will stand tall ?)

หากสอบถามความเห็นถึงแบรนด์ลำโพงในฝัน เชื่อว่า B&W หรือ Bowers & Wilkins จากประเทศอังกฤษ คงเป็นหนึ่งในรายชื่อขวัญใจของใครหลายๆ คน แน่นอนว่าชื่อเสียงของลำโพงที่สั่งสมมาอย่างยาวนานจนเป็นที่เลื่องลือนั้น เป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการถ่ายทอดคุณภาพเสียงของลำโพง ที่ถูกกล่าวขานต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

หากเป็นงานยนตกรรม ก็มี Concept Car การออกแบบลำโพงเองก็มี Concept Speakers เช่นกัน เรียกว่าผู้ผลิตมีเทคโนโลยี แนวคิด และประสบการณ์เหนือล้ำอย่างไร ก็มักทุ่มใส่ของดีเหล่านั้นลงไปแบบไม่เกี่ยงงบประมาณ เพื่อให้ได้ลำโพงที่ถ่ายทอดคุณภาพเสียงเป็นเลิศ (ใกล้เคียงกับคำว่า “เพอร์เฟ็กต์” มากที่สุด) และ Concept Speakers นี้ ก็กลายเป็นเครื่องหมาย “เชิงสัญลักษณ์” ของลำโพงยี่ห้อนั้นไปโดยปริยาย และเช่นเดียวกันว่า แนวทางดำเนินการข้างต้นจะถูกใช้เป็น “ต้นแบบ” ในการพัฒนาลำโพงในซีรี่ส์รองๆ ลงมา…

จากแนวทางข้างต้น หากจะอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน คงไม่มียี่ห้อใดเป็นตัวอย่างได้ดีเท่า B&W ซึ่งความเหนือล้ำของเทคโนโลยี ความสามารถในการผลิตลำโพง โดดเด่นพอๆ กับความหวือหวาของรูปทรงลำโพงที่เห็นนั่นแล ทั้งนี้ Concept Speakers ของ B&W นั้น หลายท่านคงจะได้ยลโฉมและได้รับฟังเสียง Nautilus หรือลำโพงหอย (โข่ง?) นี้ กันแล้วจากงาน BAV Show 2012 ที่ผ่านมา…

ผมคงไม่ลงรายละเอียดของ Nautilus ในบททดสอบนี้มากนัก (เพราะนี่มิใช่บททดสอบลำโพง Nautilus) แต่ที่หยิบยกรายละเอียดของมันขึ้นมา (บางส่วน) เพราะต้องการอ้างอิงถึง “ที่มา” ของ B&W 600 Series

“Skyfall is where we start,
a thousand miles and poles apart…”

Design – การออกแบบ

ถึงแม้จะเป็นรุ่นแรกเริ่ม ที่เน้นความคุ้มค่าสำหรับซิสเต็มลำโพงบ้านของ B&W แต่ทางผู้ผลิตก็เอาใจใส่กับการออกแบบ 600 Series ในทุกขั้นตอน เท่าที่งบประมาณกำหนด เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์จับต้องได้ง่าย แต่พยายามคงศักยภาพของลำโพงที่ดี ในแง่ของเทคโนโลยีที่ช่วยให้ได้เสียงที่เที่ยงตรง

เทคโนโลยีหลายๆ อย่างที่ใช้กับลำโพงซีรี่ส์ 600 นี้ เป็นการส่งผ่านมาจาก Nautilus ตั้งแต่เทคโนโลยีไดรเวอร์ หรือตัวขับเสียง อันเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะเป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการกำเนิดเสียงโดยตรง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผู้ผลิตลำโพงพยายามเลือกสรรวัสดุที่ดีที่สุด ประเด็นเรื่องความแกร่ง เพื่อป้องกันการเสียรูป (Break up) ต้นเหตุของการเกิดเสียงที่ผิดเพี้ยน คือประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรก…

การนำโลหะอย่าง “อะลูมิเนียม” มาใช้ทำทวีตเตอร์อาจมิใช่เรื่องแปลกใหม่ ที่ผ่านมาก็มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย และปัจจุบันก็สามารถหาวัสดุที่มีความแกร่งกว่าอะลูมิเนียม เพื่อใช้ผลิตทวีตเตอร์โดมได้ แต่ถึงกระนั้นอะลูมิเนียมก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของตัวขับเสียงที่ให้ผลลัพธ์ที่ดี (จากเทคนิคการปรับจูนของ B&W) จุดที่แตกต่างเด่นชัดของ B&W Aliminium Tweeter นอกเหนือจากส่วนประกอบละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ คือ โครงสร้างส่วนท้ายที่เป็นทรงกรวยปลายแหลม แน่นอนมันเป็นเทคนิคจาก Nautilus โดยโครงสร้างดังกล่าวจะทำหน้าที่สลายเสียงส่วนเกิน (ที่เกิดขึ้นด้านหลังไดอะแฟรม) สำหรับรูปแบบที่ใช้กับรุ่น 600 Series แม้จะลดรูปลงมา แต่ก็ให้ผลลัพธ์ไปในแนวทางเดียวกับต้นฉบับ มันจึงสามารถใช้ชื่อเรียกว่า Nautilus Tube Loaded Aluminium Dome Tweeter ได้เช่นเดียวกัน

หมายเหตุ: อย่างไรก็ดี จุดหนึ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับลำโพงที่ใช้ทวีตเตอร์โดมแข็งแบบนี้ (ที่ไม่มีโครงสร้างปิดบังป้องกัน) คือ ต้องระมัดระวังความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากแรงกระทำภายนอก ไม่ว่าจากความบังเอิญหรือตั้งใจ อย่างการถูก “นิ้วจิ้ม” หรือโดนวัตถุอื่นใดกระแทก เนื่องจากลักษณะโครงสร้างวัสดุ อาจทำให้เกิดความเสียหายถาวรกับตัวโดม คือ เมื่อยุบแล้วไม่อาจคืนรูปกลับมาได้ หรือได้แต่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งประเด็นนี้จะแตกต่างจากทวีตเตอร์โดมอ่อน (ผ้า) ดังนั้นการตั้งวางลำโพงในพื้นที่ที่มีการสัญจรหนาแน่น อย่างเช่น ห้องรับแขก ควรใส่หน้ากากลำโพงไว้เสมอ หรือถอดหน้ากากออกเฉพาะบางเวลาที่จำเป็น หากเป็นไปได้พยายามตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างจากมือเด็ก (หรือผู้ใหญ่มือบอน)

Woven Kevlar คืออะไร? เหตุใดมันจึงถูกนำมาใช้กับลำโพง B&W อย่างยาวนาน

อันที่จริง Woven Kevlar ก็เหมือนกับผ้า มีพื้นฐานมาจากเส้นใยสังเคราะห์จำนวนมากถักทอเข้าด้วยกัน แต่มีความประณีตแน่นหนาจนก่อเกิดเป็นโครงสร้างที่แข็งแรงเหนียวแน่นระดับหยุดกระสุนปืนได้ คงไม่ต้องอธิบายถึงความแกร่งเพิ่มเติมให้มากความ ซึ่งความสามารถระดับนี้ แม้แต่เหล็กกล้า (ที่ความหนาเท่ากัน) ยังทำไม่ได้เลย และเหนืออื่นใดคือความเบา เมื่อนำคุณสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้มาประยุกต์เป็นไดรเวอร์ลำโพง จึงตอบรับกับระดับสัญญาณฉับพลันได้ดี เพราะไม่หน่วงการขยับตัวของไดอะแฟรม เสริมด้วยความแกร่งที่ช่วยป้องกันการผิดรูป นี่ย่อมจะส่งเสริมการทำงานในแง่ของอุปกรณ์ที่รับหน้าที่สร้างเสียงได้เป็นอย่างดี

หมายเหตุ: ในลำโพงตั้งพื้น และเซ็นเตอร์รุ่นใหญ่สุดของซีรี่ส์ 600 คือ 683 และ HTM61 จากลักษณะที่เป็นลำโพง 3 ทาง จะเพิ่มความพิเศษยิ่งขึ้นด้วยการใช้ไดรเวอร์ Woven Kevlar แยกทำงานในย่านเสียงกลางเฉพาะ โดยมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า FST ซึ่งทดแทนขอบเซอร์ราวด์ด้วยวงแหวนโฟม อันเป็นอีกหนึ่งเทคนิคปรับจูนเพิ่มศักยภาพโครงสร้างการทำงานของไดรเวอร์ให้เหมาะสมกับหน้าที่

แม้ว่า Nautilus จะมิได้เป็นรูปแบบลำโพงตู้เปิด แต่ลำโพงซีรี่ส์เล็กใหญ่มากมายหลากหลายรุ่นของ B&W ได้รับการออกแบบเป็นลำโพงตู้เปิด ซีรี่ส์ 600 ก็เช่นเดียวกัน แน่นอนเมื่อพูดถึงลำโพงตู้เปิด (Bass reflex) ก็จำเป็นต้องมีช่องเปิด หน้าที่ของมันเพื่อใช้ปรับแรงดันอากาศภายในตัวตู้ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสัมพันธ์กับทิศทางการขยับของวูฟเฟอร์ ประโยชน์ของท่อเปิดนอกจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ (Sensitivity) ของวูฟเฟอร์ในการผลิตเสียงย่านความถี่ต่ำแล้ว ยังใช้ในการจูนอัตราการตอบสนองความถี่ต่ำ (โดยใช้หลักการกำทอนของความยาวท่อ) ไปในตัว

โดยหลักการพื้นฐานข้างต้นจากการใช้ท่อเปิดนั้น อาจจะเหมือนกับลำโพงตู้เปิดอื่นๆ ในท้องตลาด แต่จุดที่แตกต่าง คือ ท่อเปิด ที่ทาง B&W เรียกว่า Flowport บริเวณส่วนปลายท่อจะมีหลุมมากมายคล้ายผิวของลูกกอล์ฟ จากแนวคิดที่ว่า ในเมื่อมีอากาศ (ลม) ผ่านเข้าออกบริเวณท่อเปิดนี้เกือบตลอดเวลาเมื่อใช้งานลำโพง (เมื่อวูฟเฟอร์มีการขยับ) ดังนั้นท่อเปิดที่ดีควรทำหน้าที่เป็นช่องทางให้การเคลื่อนตัวของอากาศเหล่านั้นผ่านได้อย่างสะดวกราบรื่น ซึ่งกรณีของท่อเปิดทั่วไปนั้น ทาง B&W พบว่ามีอุปสรรคขัดขวาง คือ แรงต้านอากาศที่เกิดขึ้นบริเวณปลายท่อ ที่มาของหลุมข้างต้น มีเหตุผลเพื่อลดทอนแรงต้านของอากาศบริเวณปลายท่อนั่นเอง (หลักการหน้าที่ก็เช่นเดียวกับหลุมบนผิวของลูกกอล์ฟ ที่ถูกนำมาใช้ในการลดแรงต้านของลมปะทะ) และแน่นอนว่าจะช่วยป้องกันเสียงแปลกปลอมอันมีต้นเหตุจากลมหวนที่ไม่พึงประสงค์นี้ ได้อีกด้วย

เมื่อทราบความพิเศษของเทคโนโลยีที่ B&W เลือกใช้กับลำโพงซีรี่ส์ 600 แล้ว ทีนี้มาดูหน้าตาจริงของพระเอกในบททดสอบนี้กัน สำหรับชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์ในซีรี่ส์ 600 ที่ท่านกำลังจะได้อ่านบททดสอบ ประกอบไปด้วย ลำโพงคู่หน้า คือ 684, ลำโพงเซอร์ราวด์ 685, ลำโพงเซ็นเตอร์ HTM62 และแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ ASW610