16 Jan 2017
Review

คู่หูจอเกมมิ่ง!! รีวิว Dell S2417DG พร้อม S2716DG จอ 144Hz พร้อมฟังก์ชั่น Gsync


  • boom

ภาพ

กว่า 90% ของจอ 144Hz ในปัจจุบันจะเลือกใช้พาแนล TN เนื่องจากสามารถผลิตให้มี Response Time ที่ต่ำได้ง่าย และมีราคาถูก ซึ่งหากเป็นพาแนล IPS จะมีต้นทุนที่สูงกว่า ทำให้ราคาจอโดดขึ้นไปอีก (เฉลี่ยอยู่ราวๆ 30,000 บาท) ซึ่งนั่นยิ่งทำให้เกมเมอร์ตัดสินใจควักเงินได้ยากขึ้น เพราะเค้าเหล่านั้นน่าจะบาดเจ็บกันมาจากค่าคอมพิวเตอร์ตัวแรงกันมาพอสมควรแล้ว

ซึ่งข้อเสียของพาแนล TN ที่รู้กันก็คือมุมมองการรับชมภาพมีไม่กว้างนัก แค่มองเอียงซ้ายขวานิดหน่อย อาจส่งผลให้สีเพี้ยนได้ ที่สำคัญคือคอนทราสของจอค่อนข้างต่ำ ลักษณะสีสันจึงออกแนว Wash out เล็กน้อย แต่จุดแข็งที่ได้มาก็คือความลื่นไหลที่ IPS ทำไม่ได้นั่นเอง

อะไรคือ G-Sync และ 144Hz?

G-Sync คือระบบการทำงานร่วมกันระหว่างการ์ดจอ และจอมอนิเตอร์ที่ติดตั้งชิพประมวลผลประเภทนี้ไว้ เมื่อทั้งสองอย่างทำงานประสานกัน จะช่วยลดอาการภาพฉีกอันเกิดจากการที่ตัวการ์ดจอทำงานเร็วกว่า Refresh Rate ของจอ

อาการ Screen Tearing ขณะมีการแพนภาพซ้ายขวาเร็วๆ

ส่วน 144Hz ก็คือ Refresh Rate ที่สูงกว่าจอทั่วไป ซึ่งปกติจอส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 60Hz โดยความเร็วที่เพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อความลื่นไหลของภาพบนจอ ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าตาเรามองออกถึงระดับนั้นเลยหรือไม่? จากที่ผมหาข้อมูลงานวิจัยพบว่า เราบอกไม่ได้ว่าตาเราสามารถจับภาพที่ Refresh Rate เท่าไรกันแน่ สิ่งที่ตาเราเห็นคือความลื่นไหลที่เพิ่มขึ้น จากความสั่นไหวของขอบภาพที่ลดลง

144Hz ของมอนิเตอร์ ไม่เหมือนกับระบบ 240Hz ที่ทีวีเคยทำได้?

จอทีวีมีพอร์ต HDMI เป็นมาตรฐานอินพุตหลักแบบดิจิตอล โดยแบนด์วิธสูงสุดของเวอร์ชั่น 1.4 ที่ใช้กันแพร่หลายที่สุดตอนนี้อยู่ที่ 1080p@60Hz ฉะนั้นแล้วระบบ 240Hz บนทีวีจะมาจากการรับเอาสัญญาณภาพ 60Hz มาคำนวณเพิ่มเข้าไปให้ได้ 240Hz ด้วยชิพประมวลผลบนทีวี ทำให้ดูลื่นแบบหลอกตานิดหน่อย อ่านเพิ่มเติมที่นี่

แต่บนมอนิเตอร์มีพอร์ตอีกตัวนึงที่เรียกว่า DisplayPort ซึ่งสามารถอัดแบนด์วิธได้สูงถึง 165Hz ที่ความละเอียด 1080p และ 1440p เลยทีเดียว เท่ากับว่าต้นทางมายังไงก็ได้แบบนั้น ทำให้ภาพที่ได้เป็นความลื่นไหลแบบ “ของแท้” ตั้งแต่ต้นทางจนออกมาเป็นภาพที่จอ

ฉะนั้นแล้วความพริ้วของภาพบนจอมอนิเตอร์ที่เป็นภาพความเร็ว 144Hz แท้ๆ
จึงไม่มี Ghost ขึ้นให้รบกวนจิตใจเหมือนในจอทีวีนั่นเอง


สำหรับการทดสอบนั้นผมจะเสียบจอทั้งสองผ่านทางสาย DisplayPort เข้าที่การ์ดจอ แล้วก็ไปตั้งค่าให้ตัวคอมพิวเตอร์ปล่อยสัญญาณภาพที่ 144Hz แล้วก็เทสด้วยแพทเทิร์น UFO ยอดฮิตจาก www.testufo.com กันก่อนเลย

วิดีโอด้านบนผมถ่ายด้วย iPhone ในโหมด Slo-Mo ที่ 720p@240fps น่าจะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างที่ค่อนข้างชัดเจนว่าจอ 144Hz เมื่อเจอกับคอนเทนต์แบบ 144fps จะช่วยให้ภาพดูลื่นไหลเนียนสนิท ไม่สั่นเป็นเจ้าเข้าเหมือนสองอันล่าง ยิ่งมองด้วยตาเปล่าก็จะยิ่งสังเกตุเห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจนขึ้นไปอีก

ด้วยความที่ผลลัพธ์ทางด้านความลื่นไหลเหมือนกันแบบนี้ ผมเลยขอเปิด Steam ลุยเล่นเกมกันเลยละกันครับผม เริ่มที่เกมแรก Call of Duty : Advanced Warfare

ปรับความเร็วไปที่ 144Hz เพื่อเร่งความเร็วเต็มที่
พอเราสามารถเหวี่ยงจอได้แบบไม่มีอาการสั่น ขอบภาพที่เบลอก็จะหายไป ทำให้เราเล็งยิ่งได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น

เฟรมเรตขณะเล่นจะวิ่งอยู่ในช่วง 110-144 fps ซึ่งความแตกต่างที่ได้คือความนิ่งเวลามีการเหวี่ยงปืนไปในทิศทางต่างๆ การสั่นไหวของขอบตัวละครจะหายไป ช่วยให้เราเล็งยิงได้อย่างมั่นคงมากขึ้น

สลับไปเล่นแนว RPG อย่าง Diablo 3 ซึ่งเล่นดูแล้วไม่ค่อยเห็นประโยชน์ของความลื่นไหลที่ได้เพิ่มเข้ามาสักเท่าไร การที่พวกแสงสีเอฟเฟ็คดูลื่นไหลขึ้นนั้น ไม่ได้สร้างความแตกต่างในระดับที่ทำให้เรารู้สึกว้าวได้เท่ากับเล่นเกม FPS

กรณีด้านบนยังรวมไปถึงพวกเกม Open World มุมมองบุคคลที่สามอย่าง Rises of Tomb Raider หรือ Just Cause 3 เป็นต้น แน่นอนว่าจอมีส่วนช่วยเพิ่มความลื่นไหลทำให้โมเดลตัวละครดูนิ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นข้อดีในด้านความบันเทิง ไม่ได้ส่งผลให้เราเล่นง่ายขึ้นนั่นเองครับ

หากคุณเป็นคนที่คลุกคลีกับพาแนล IPS อยู่ตลอด น่าจะต้องสังเกตเห็นความแตกต่างได้อย่างแน่นอนเมื่อสลับมาใช้จอพาแนล TN สิ่งแรกที่พบก็คือมุมมองมีผลต่อสีบนจอค่อนข้างมาก รวมไปถึงคอนทราสต์ที่ไม่มากทำให้สีสันจะออกจางๆ นิดหน่อย เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนถึงประสิทธิภาพ เราเลยทำการต่อเครื่องปรับภาพเข้ากับจอเพื่อวัดอุณหภูมิสีกันไปเลย โดยผลลัพธ์ออกมาดังด้านล่างครับ

ค่าอุณหภูมิสีก่อนทำการคาลิเบรต ค่อนข้างกระเจิงทีเดียว
หลังปรับสีเรียบร้อยแล้วดูเข้าลู่เข้ารอยขึ้นมาหน่อย

ค่าด้านบนเป็นผลที่ได้จากการวัด S2716DG นะครับ สำหรับ S2417DG คาดว่าน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกัน เพราะมาสาย Gaming ตระกูล S เหมือนกัน (สำหรับรุ่นที่เน้นสีสันจะมีรหัสนำชื่อรุ่นเป็นตัว U ซึ่งมาจาก Ultrasharp)

ตัวจอสามารถปรับตั้งค่าสีพื้นฐานเองได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเพียงพอที่จะจูนเอาความเที่ยงตรงกลับมาได้บ้าง แต่ส่วนตัวผมคิดว่า คนที่จริงจังทางด้านการเล่นเกม อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้จอที่มีสีสันที่แม่นยำอะไรขนาดนั้น เพราะแม้ว่าบนจอปกติเราจะพบว่าภาพอาจมีความคลาดเคลื่อนของสีให้เห็น แต่พอได้เข้าเกมปั๊บ ส่วนใหญ่สมาธิของก็เราจะจดจ่ออยู่กับสถานการณ์ตรงหน้า มากกว่ามานั่งสังเกตุเรื่องสีสันเสียอีก