01 May 2014
Review

ลำโพงแอ็คทีฟระดับโปรฯ กับความสามารถด้านเสียงที่ต้องเหลียวมอง !!! รีวิว Elac AM150 Studio Active Speakers


  • ชานม

Studio Active Monitor

Elac AM 150

ลำโพงแอ็คทีฟระดับโปรฯ
กับความสามารถด้านเสียงที่ต้อง เหลียวมอง!!

หากกล่าวถึงลำโพงสตูดิโอ หรือลำโพงมอนิเตอร์นั้น แน่นอนวัตถุประสงค์หลักมีไว้เพื่อใช้งานในห้องสตูดิโอบันทึกเสียง อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตดนตรี-ภาพยนตร์ ให้เราๆ ท่านๆ รับฟังกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งด้วยหน้าที่อันสูงยิ่ง ศักยภาพของลำโพงสตูดิโอย่อมไม่ธรรมดา หากจะลองนำมาใช้งานทดแทนชุดเครื่องเสียงบ้านดูบ้างล่ะ จะตอบสนองการใช้งาน และให้ความโดดเด่นมากน้อยเพียงใด?

ลำโพงสตูดิโอนั้นมีหลากหลาย หากจะแบ่งกว้างๆ ก็มีทั้งที่เป็นลำโพงแบบแอ็คทีฟ (Active Speakers) และพาสซีฟ (Passive Speakers) ก่อนอื่นมาดูกันก่อนว่า ลำโพงแอ็คทีฟ คืออะไร? หากนำมาใช้งานในแบบซิสเต็มเครื่องเสียงบ้าน จะแตกต่างจากซิสเต็มเครื่องเสียงทั่วไปอย่างไร?

ปกติซิสเต็มเครื่องเสียงโดยทั่วไปประกอบไปด้วย ต้นทาง คือ แหล่งโปรแกรมจำพวกเครื่องเล่นต่างๆ จากนั้นเชื่อมต่อสัญญาณเสียงมายังภาคขยายเพื่อทำหน้าที่ขยายสัญญาณผ่านไปยังลำโพงที่ทำหน้าที่ขับขานเสียงออกมาให้เราได้สดับรับฟัง (ดังเช่นรูปบน) เมื่อเปรียบเทียบอุปกรณ์ในซิสเต็มที่ใช้งานลำโพงแอ็คทีฟ (รูปล่าง) ความแตกต่างระหว่าง 2 ซิสเต็ม คือ ซิสเต็มลำโพงแอ็คทีฟจะมีจำนวนอุปกรณ์น้อยกว่า ที่หายไป คือ อุปกรณ์ภาคขยาย ซึ่งอันที่จริงมันไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกผนวกรวมเข้าไว้ในตัวลำโพงแล้วนั่นเอง

“Active Speaker”
(Amplifier + Speaker)

จากลักษณะข้างต้น หากจะอธิบายง่ายๆ ว่าลำโพงแอ็คทีฟ คืออะไร?

ลำโพงแอ็คทีฟ ก็คือการนำภาคขยายกับลำโพงมารวมเข้าไว้ด้วยกันนั่นเอง เวลาใช้งานก็แค่เชื่อมต่อสายสัญญาณจากแหล่งโปรแกรมเสียง ตรงเข้าที่ลำโพงได้เลย ไม่ต้องไปซื้อหาแอมปลิฟายเออร์ภายนอกมาเพิ่มเติมอีก

ประโยชน์ คือ?

ผลเกี่ยวเนื่องจากแนวทางนี้ คือ จำนวนอุปกรณ์ในระบบ และขั้นตอนการเชื่อมต่อสายสัญญาณระหว่างอุปกรณ์ก็จะน้อยลงไปอย่างมีนัยสำคัญ (ไม่มีสายลำโพง) เมื่อสายสัญญาณน้อยลง ปัจจัยเรื่องของผลกระทบจากคุณภาพสาย ที่จะบิดเบือนคุณภาพเสียงของซิสเต็ม ก็จะน้อยลงตามไปด้วย

ข้อดีสำคัญอีกประการของซิสเต็มลำโพงแอ็คทีฟ นอกเหนือจากลดความยุ่งยากในเรื่องของจำนวนอุปกรณ์ดังที่กล่าวไปแล้ว ยังมีประเด็นที่ผู้ผลิตสามารถออกแบบปรับจูนเลือกภาคขยายที่มีคุณสมบัติส่งเสริมการทำงานของลำโพง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตอบสนองการใช้งานในแง่การถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้อย่างเหมาะสม ตรงตามมาตรฐานมาเลย

ตรงนี้มิได้หมายความว่าภาคขยายในตัวลำโพงแอ็คทีฟ จะมีคุณภาพดีกว่า หรือตอบสนองการใช้งานได้ดีกว่าภาคขยายภายนอกเสมอไป ทว่าด้วยแนวทางของลำโพงแอ็คทีฟ มีส่วนช่วย “ลดความผิดพลาด” อันอาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้ทำการแม็ตชิ่งภาคขยายไม่เหมาะสมกับลำโพง อีกทั้งในต้นทุนที่เท่ากัน เมื่อไม่ต้องเจียดงบประมาณให้กับตัวถังและอุปกรณ์ตกแต่งเพิ่มเติมในส่วนของภาคขยาย จึงสามารถนำงบส่วนนี้ไปเสริมเพิ่มในส่วนของคุณภาพวงจรอิเล็กทรอนิกส์ภายใน (ภาคขยาย/ภาคจ่ายไฟ) และ/หรือ คุณภาพของลำโพง (ตัวขับเสียง ครอสโอเวอร์ ตัวตู้) ให้ดีขึ้นได้ แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ การกำหนดคุณสมบัติที่เอื้อต่อการถ่ายทอดดุลเสียงที่เที่ยงตรง อันรวมไปถึงศักยภาพในการปรับจูนให้เสียงที่เที่ยงตรงนั้นคงอยู่ แม้ว่าปัจจัยแวดล้อมอย่างลักษณะพื้นที่ใช้งาน และการติดตั้งของผู้ใช้ จะบิดเบือนเบี่ยงเบนไปจากอุดมคติบ้างก็ตาม

แล้วมีข้อจำกัดไหม?

ในประเด็นเมื่อเทียบกับซิสเต็มเครื่องเสียงแยกชิ้น แนวทางของลำโพงแอ็คทีฟอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ประการแรก คือ พื้นที่ภายในตู้ลำโพงอันจำกัด ต้องบรรจุวงจรอิเล็กทรอนิกส์รวมเข้าไว้ด้วยมากมาย การออกแบบเลือกใช้วงจรภาคขยาย หรือภาคจ่ายไฟที่มีโครงสร้างขนาดใหญ่จึงไม่อาจติดตั้งเข้าไปได้ (ซึ่งก็ต้องไปดูอีกทีว่ามีความจำเป็นกับขนาดที่ใหญ่โตนั้นหรือเปล่า) ประการที่สอง คือ การทำงานของลำโพงที่มีชิ้นส่วนขยับเคลื่อนไหวตลอดเวลา อาจจะส่งผลกระทบรบกวนวงจรอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดวางอยู่ใกล้เคียงกัน และอาจรวมถึงการรบกวนทางไฟฟ้าระหว่างวงจรอิเล็กทรอนิกส์ด้วยกัน

และในมุมมองของ “นักเล่น” เครื่องเสียง ที่ชอบค้นหา สลับปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ในซิสเต็มอยู่เรื่อยๆ แนวทางของลำโพงแอ็คทีฟอาจไม่ถูกจริต เนื่องจากไม่สามารถปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หลักในระบบ คือ ภาคขยาย และ/หรือ ลำโพง โดยการแยกส่วนออกจากกันได้ อีกทั้งในแง่การขยับขยายซิสเต็ม แม้ลำโพงแอ็คทีฟจะให้ความหลากหลายเรื่องของรูปแบบอินพุต (Input Standard) แต่จำกัดในเรื่องของจำนวน กล่าวคือ ลำโพงแอ็คทีฟสามารถสลับสับเปลี่ยนช่องสัญญาณจากแหล่งโปรแกรมได้ในจำนวนที่จำกัด ไม่เหมือนกับการเชื่อมต่อแหล่งโปรแกรมผ่านแอมปลิฟายเออร์ภายนอก ที่มาพร้อม Input Selector สามารถปรับเปลี่ยนเลือกแหล่งสัญญาณอินพุตได้ในจำนวนที่มากกว่า

อย่างไรก็ดี การตัดสินว่ารูปแบบใดดีกว่า คงต้องพิจารณาจากปัจจัยที่สามารถตอบสนองการใช้งานได้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือไม่ (ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมจะมีวัตถุประสงค์ต่างกัน) แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า ผลลัพธ์ในแง่การถ่ายทอดคุณภาพเสียงว่าทำได้ดีเพียงใดนั้น จะเป็นคำตอบที่หลายๆ ท่านใฝ่หา แต่ก่อนจะไปว่าถึงเรื่องนั้น ขอกลับมาที่พระเอกของงานนี้ คือ คุณสมบัติพื้นฐานของ Elac AM 150 ให้พิจารณากันก่อน

Design – การออกแบบ

Elac ผู้ผลิตลำโพงจากเยอรมันที่นักเล่นเครื่องเสียงชาวไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี กับการทำตลาดในประเทศไทยมานานกว่า 2 ทศวรรษ ชื่อเสียงจากการถ่ายทอดคุณภาพเสียงอันขึ้นชื่อลือชา ได้ถูกกล่าวขานมาช้านาน โดยเฉพาะลำโพงไฮไฟแบบพาสซีฟ แต่ขณะเดียวกัน Elac ก็มีลำโพงแบบ “แอ็คทีฟ” ไว้บริการเช่นเดียวกัน ซึ่งศักยภาพนั้นมิได้น้อยหน้าลำโพงแบบพาสซีฟเลย แต่ที่เด็ดกว่า คือ “งบประมาณ” กับการเป็นซิสเต็มลำโพง+ภาคขยายที่พร้อมใช้งานแล้วนี่แหละ

ปัจจุบันลำโพงแอ็คทีฟของ Elac ภายใต้ซีรี่ส์ “AM” มีทั้งหมด 3 รุ่น ไล่ตั้งแต่ AM 50, AM 150 และ AM 180

AM 150 จึงถือเป็นรุ่นระดับกลางของซีรี่ส์ โดยมีพื้นฐานสำคัญไม่แพ้รุ่นพี่ AM 180 ในขณะที่ระดับราคานั้น
สามารถจับจ่ายซื้อหามาใช้งานกันได้ไม่ลำบาก ขณะทดสอบทราบว่า ตัวแทนจำหน่ายทำราคาลงมาอยู่ไม่ถึง 2 หมื่นบาท (ต่อคู่) ด้วยแล้ว ในงบเท่านี้ การจะหาซิสเต็มภาคขยายและลำโพงแบบแยกชิ้นที่ได้คุณภาพทัดเทียม นับว่ามีตัวเลือกจำกัดมาก

Elac AM 150 ได้รับการออกแบบ “Fully-active speaker” กล่าวคือ ลำโพงแต่ละข้างจะมีลักษณะเป็นลำโพงแอ็คทีฟแบบจัดเต็มทุกประการ ซึ่งไม่ใช่แค่ไดเมนชั่นภายนอก ลักษณะ และการจัดวางตัวขับเสียง ทว่ารวมถึงลักษณะภายใน ทั้งการติดตั้งภาคขยาย รวมถึงภาคจ่ายไฟ และวงจรเกี่ยวข้องอื่นๆ แยกอิสระโดยเฉพาะของใครของมันสำหรับลำโพงแต่ละข้าง

ตรงนี้ AM 150 จึงแตกต่างจากลำโพงแอ็คทีฟบางรุ่น ที่วางวงจรภาคขยายไว้ในลำโพงข้างใดข้างหนึ่ง (อีกข้างจึงมีลักษณะเป็นลำโพงพาสซีฟ) ปริมาตรอากาศ น้ำหนักตัวตู้ (โดยรวม) รวมถึงสภาพด้านในอันเกี่ยวเนื่องถึงสภาพอะคูสติกของลำโพงทั้ง 2 ข้าง จึงไม่เหมือนกัน จุดนี้หากผู้ผลิตทำการปรับจูนไม่ดีพอ อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างของบาลานซ์เสียงจากลำโพงทั้งสองข้างบ้างไม่มากก็น้อย ทว่ากับ AM 150 หมดกังวลไปได้เลย จากสภาพทั้งภายนอกและภายในลำโพงทั้งสองข้างที่เหมือนกัน ทุกประการ!

เอกลักษณ์ของลำโพงแอ็คทีฟเรียกว่าเป็นของคู่กัน (จะไม่เห็นในลำโพงแบบพาสซีฟ) คือ จุดเชื่อมต่อสายสัญญาณต่างๆ และสายไฟ ซึ่งในส่วนของ AM 150 จัดวางจุดเชื่อมต่อทั้งหมด และแผงควบคุมต่างๆ ไว้ด้านหลังลำโพงทั้งสิ้น (รายละเอียดช่องต่อ จะลงรายละเอียดอีกครั้งช่วง Connectivity – ช่องต่อ)

ส่วนหนึ่งอันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการติดตั้งภาคขยาย (เข้าใจว่าจะเป็น Class AB) และภาคจ่ายไฟไว้ในตัวลำโพง คือ ฮีทซิงก์ระบายความร้อน โดยติดตั้งไว้บริเวณส่วนบน จากการใช้งานต่อเนื่องพบว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นไม่มากมายแต่อย่างใด สามารถจับซิงก์ได้สบาย แค่อุ่นๆ เท่านั้นครับ

ภาคขยายที่ติดตั้งมา นอกจากแยกอิสระสำหรับลำโพงแต่ละข้างแล้ว ข้างในยังแยกเป็น 2 ชุด เพื่อแยกขับตัวขับเสียงทั้งสอง หรือที่เรียกว่า “ไบ-แอมป์” กำลังขับตามสเป็กเท่ากับ 50 วัตต์ สำหรับวูฟเฟอร์ และ 25 วัตต์ สำหรับทวีตเตอร์ แม้ตัวเลขไม่ได้แจ้งไว้โอเวอร์แบบมโหฬารมหาศาลบ้าพลัง ทว่าภาคขยายสามารถเติมเต็มการใช้งานได้เป็นอย่างดีครับ (รายละเอียดการใช้งานจะกล่าวถึงอีกครั้ง ช่วงรายงานการทดสอบ)

แอบดูข้างในกันพอหามปากหอมคอ จากรูป จะเห็นแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ถูกจัดวางในพื้นที่ด้านหลังตู้ลำโพง
โดยจะกั้นพื้นที่แยกส่วนต่างหากออกจากห้องที่กั้นไว้สำหรับติดตั้งตัวขับเสียงด้านหน้าอีกที ด้านล่างจะเห็นหม้อแปลง EI ขนาดประมาณกำปั้น ขุมกำลังหลักสำหรับจ่ายกระแสให้กับภาคขยายได้อย่างเพียงพอ

มีสวิตช์เพาเวอร์ On/Off เมื่อกดไปในตำแหน่ง On ไฟสถานะสีฟ้าที่แผงหน้าลำโพง (อยู่บริเวณกึ่งกลางระหว่างทวีตเตอร์และวูฟเฟอร์) จะติดสว่างขึ้น หมายถึงลำโพงแอ็คทีฟ พร้อมใช้งาน แต่เมื่อเลิกใช้งานจะต้องปิดสวิตช์ด้านหลังนี้ทุกครั้งครับ เนื่องจากไม่มีโหมด Auto Standby ส่วนช่องยาวๆ ข้างล่างสุดนั้น เป็นท่อ Bass-reflex ที่ผู้ผลิตออกแบบมาเพื่อปรับจูนการตอบสนองย่านความถี่ต่ำ

ต่อไป ดูรายละเอียดในส่วนของ “ตัวขับเสียง” กันครับ