23 Jan 2019
Review

รีวิว Epson EB-L610W ย่อส่วน Professional Laser Projector เพื่องานมัลติมีเดียขนาดย่อม !!?


  • ชานม

ภาพ

โครงสร้างของระบบสร้างภาพภายในรุ่น EB-L610W ก็ใช้หลักการอิงตาม Laser Projector ระดับสูงของ Epson ตั้งแต่เลือกใช้ Laser Diode Package ที่ปรับปรุงโครงสร้างการจัดเรียงแบบใหม่เพิ่มความสว่างได้ถึง 2.5 เท่า ในขณะที่ขนาดโดยรวมเล็กลง ซึ่งในรุ่นนี้ให้ความสว่างสูงถึง 6,000 ANSI Lumens! ผนวกการใช้สารประกอบแบบอนินทรีย์ (Inorganic) ในส่วนของล้อเรืองแสง (Phosphor Wheel) และ 3LCD Panel จึงให้ความทนทาน อายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า
EB-L610W ใช้พาเนลแบบ 3LCD ความละเอียด (Native Resolution) WXGA หรือ 1280 x 800 60Hz อัตราส่วน 16:10 แต่สามารถรับสัญญาณภาพความละเอียดสูงสุด 1080p 60Hz ไปจนถึง 720p ฯลฯ ได้
คุณภาพเลนส์ฉายของรุ่นนี้ไม่ธรรมดา ให้ความคมชัดดีตลอดทั่วทั้งจอ และบริเวณมุมหรือใกล้ขอบๆ จอ ก็ไม่พบปัญหาขอบม่วง หรือ CA (Chromatic Aberration) รบกวน ในส่วนของขนาดพิกเซลที่ความละเอียด 1280 x 800 อาจจะสังเกตเห็นได้ถ้าระยะรับชมใกล้เกินไป แต่ที่ระยะใช้งานปกติกับจอรับภาพทั่วไปที่มักจะนั่งห่างสัก 2.5 – 3 ม. จะไม่พบปัญหาใดๆ ครับ
EB-L610W ให้โหมดภาพสำเร็จรูปทั้งสิ้น 6 ตัวเลือก ซึ่งรวมโหมดภาพพิเศษเพิ่มความหลากหลายรองรับงานเฉพาะด้าน อย่าง DICOM SIM และ Multi Projection
ในแง่สมดุลสีโหมดภาพจากโรงงานถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีทุกโหมดครับ แต่โหมดภาพที่ให้สีสันได้เที่ยงตรงใกล้เคียง D65 มากที่สุด เหมาะสำหรับงานที่จริงจังเรื่องของความถูกต้องของสี แนะนำโหมดภาพ sRGB โดยอุณหภูมิสีเฉลี่ยวัดได้ที่ 6544K และมีค่าความผิดเพี้ยนของสี (dE) อยู่ที่ 4.0 จะนำไปใช้งานโดยไม่ปรับภาพเพิ่มเติมก็ยังได้ ในส่วนของขอบเขตสี (Color Space) ทำได้ครอบคลุมที่ 84.6% ของมาตรฐาน sRGB/Rec.709
Epson เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ดำเนินการไฟน์จูนปรับภาพ EB-L610W ได้ละเอียดไม่แพ้รุ่นท็อปๆ เลยครับ โดยสามารถปรับได้ทั้ง 2-point White Balance, Color Management System (CMS) และ Gamma ผลลัพธ์ที่ได้ก็แน่นอนว่าให้ความเที่ยงตรงดียิ่งขึ้น ความผิดเพี้ยนของสมดุลสีภายหลังปรับภาพ ลดต่ำลงมาเหลือเพียง 2.58
มีข้อสังเกตคือ โหมดภาพ sRGB (รวมถึง DICOM SIM และ Multi Projection) ขอบเขตสี (Color Space) จะถูกจูนมาให้แม็ตช์กับการแสดงผลตามมาตรฐาน sRGB/Rec.709 การรับชม SDR content หรือเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อใช้งานกราฟิกทั่วไปที่เน้นความเที่ยงตรง จึงแนะนำโหมด sRGB ส่วนตัวเลือกโหมด Dynamic, Presentation หรือ Cinema ขอบเขตสีของ EB-L610Wจะปรับขยายกว้างสุดเท่าที่โปรเจคเตอร์เครื่องนี้ทำได้ (Native) ซึ่งขอบเขตบางจุดจะกว้างเลยออกไปจากมาตรฐาน sRGB/Rec.709
ผลก็คือ การรับชมด้วยโหมดภาพ Dynamic, Presentation, Cinema จะให้สีสันที่สดจัดกว่า ทั่วไปเมื่อใช้อ้างอิงรับชม SDR Content อาจจะดูสีโอเวอร์ไปจากความเป็นจริงอยู่บ้าง แต่ก็ขึ้นกับความชอบส่วนบุคคลถ้าถูกใจจะใช้งานก็ไม่ว่ากันครับ นอกจากนี้โหมดภาพ 3 ตัวเลือกนี้ จะให้ระดับความสว่างที่สูงกว่า sRGB ราว 10% (Cinema) – 40% (Dynamic) หากต้องการดึงศักยภาพของ EB-L610W ให้สว่างสู้แสงสุดๆ หรือนำไปรับชมคอนเทนต์ที่ระบบบันทึกภาพอิงสีสันแบบ Wide Color Gamut โหมดภาพ Dynamic, Presentation หรือ Cinema จะตอบสนองได้ดีกว่า sRGB ครับ
EB-L610W สามารถปรับระดับความสว่างผ่านตัวเลือก Light Source Mode ได้ 4 แบบ (รวมตัวเลือก Custom) หากต้องการสู้แสงจัดๆ จัดไปที่ระดับ Normal แต่ถ้าเป็นการใช้งานรับชมในห้องมืด แนะนำให้ปรับมาที่ตัวเลือก Quiet (เสียงเงียบที่สุด) หรือ Extended (เงียบไม่เท่า Quiet แต่ได้อายุการใช้งานแหล่งกำเนิดแสงเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 30,000 ชม.) ความจ้าจะลดลงไปบ้างแต่ก็สว่างเพียงพอครับ ระดับนี้ยังถือว่าสว่างมาก สว่างกว่า Home Theater Projector หลายๆ รุ่นที่ปรับความสว่างแหล่งกำเนิดแสงไว้สูงสุดเสียอีก

Light Source Mode ตัวเลือก Quiet และ Extended ส่งผลให้ระดับความสว่างจะลดลงประมาณ 30% เมื่อเทียบกับ Normal แต่แน่นอนว่าช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ จากประมาณ 280 วัตต์ เป็น 187 วัตต์ ลดลงคิดเป็น 30% เช่นกันครับ

ทดลองรับชมภาพยนตร์ Antman ในฟอร์แม็ต 4K HDR Blu-ray Disc โดยให้ Oppo 203 ทำหน้าที่ downscale ความละเอียดภาพลงมาที่ 1080p SDR BT2020 โดยสลับการรับชม EB-L610W ร่วมกับโหมดภาพ Presentation และ Cinema พบว่าให้ผลลัพธ์ที่ดี ด้วยความสว่างที่สูงมาก จึงมีความเจิดจ้า บางช่วงของการทดสอบทดลองเปิดไฟในห้องไว้ ก็ยังได้ภาพที่เจิดจ้าชัดเจนดี อานิสงส์จากขอบเขตสีที่กว้างกว่าของ 2 โหมดนี้ ช่วยให้การรับชม 4K HDR Blu-ray (downscale to 1080p SDR BT2020) ได้สีสันที่ลึกเข้มและสว่างกว่าโหมดภาพ sRGB เล็กน้อย
ด้วยระดับความสว่างที่สูงมาก และรุ่นนี้ยังไม่มี Dynamic Iris เพื่อช่วยปิดบังแสงลอด การรับชมในห้องทดสอบที่คุมแสงรบกวนมืดสนิทจะพบว่า ระดับ Black Level ที่ทำได้ไม่ลึกเข้มมากนักเมื่อเทียบกับมาตรฐาน Home Theater Projector แต่จุดนี้แก้ไขได้ด้วยการเลือก Light Source Mode – Quiet (เสียงพัดลมเงียบลงด้วย) หรือ Extended เพื่อลดความสว่างให้แสงลอดต่ำลง หรือจะให้ดีใช้ จอรับภาพแบบ “เกนต่ำ” (Low Gain Screen) เนื้อจอเทาหรือดำยิ่งดี ไม่ต้องกังวลว่าภาพจะดิมลงจนเสียอรรถรสเมื่อใช้กับโปรเจคเตอร์รุ่นนี้ ระดับคอนทราสต์จะดีขึ้นจากระดับ Black Level ที่ลึกเข้มยิ่งขึ้นครับ