23 Mar 2022
Review

รีวิว Integra DRX-3.4 + Klipsch RP-8000F 5.1.2 Dolby Atmos Pack พลิกโฉมพรีเมียมโฮมเธียเตอร์ จัดเต็ม HDMI 2.1


  • ชานม

Features – ลูกเล่นพิเศษ

DRX-3.4 ติดตั้ง EI Transformer และ Low Impedance Capacitor (Custom for Audio) ขนาด 10000 uF จำนวน 1 คู่ จ่ายกระแสต่อเนื่องให้โมดูลภาคขยาย 9 แชนเนล กำลังขับ 100 วัตต์ต่อแชนเนล (8-ohm, 20-20k Hz, 2-ch driven, FTC) ในส่วนของพัดลมจะทำงานตลอดเวลาหลังจากเปิดใช้งาน AVR ได้สักพัก เสียงพัดลมเบา ที่ระยะนั่งฟังในห้องใช้งานจริงจะไม่ได้ยินเสียงใด ๆ รบกวนแน่นอนครับ
ขึ้นชื่อว่าเป็น Network AV Receiver จึงมาพร้อมคุณสมบัติเชื่อมต่อเครือข่ายบ้าน และอินเทอร์เน็ต รองรับการเล่นเพลงผ่าน Music Server, PC และ Smartphone ผ่าน DLNA และ AirPlay รวมถึงสตรีมมิ่งฟังเพลงออนไลน์จากผู้ให้บริการชั้นนำ อาทิ Tidal, Spotify, Amazon Music ไปจนถึง Chormecast Built-in ซึ่งสามารถใช้งานฟีเจอร์นี้ผ่านตัวเครื่อง AVR โดยตรง (ดูผ่านหน้าจอทีวี ใช้รีโมทควบคุม) หรือจะสั่งการผ่านแอป Integra Control Pro (ควบคุมผ่านหน้าจอ Smartphone) ก็สะดวกดี

หมายเหตุ: การรับฟังฟอร์แมตไฟล์ Lossless Hi-res Audio ทั้งแบบ Compressed และ Uncompressed สามารถดำเนินการผ่าน USB Input (Flash Drive) หรือ Network Server ซึ่ง DRX-3.4 จะรองรับถึง 192kHz/24-bit และ DSD256

HDMI ARC/eARC ฟีเจอร์ที่ขาดไม่ได้ สำหรับใช้งาน AVR รับสัญญาณเสียงจากทีวี
Listening Mode Preset สามารถกำหนดรูปแบบเสียง Listening Mode ให้ AVR “จำลองเสียง” แบบอัตโนมัติทุกครั้งที่ได้รับสัญญาณ หรือจะกำหนด “Straight Decode” คือ ให้ AVR ถอดรหัสตามฟอร์แมตเสียงต้นทาง แบบไม่ปรุงแต่ง ก็ได้
Speaker Combo อีกหนึ่งฟีเจอร์ล่าสุดของ Integra AVR โดยสามารถ “เจาะจง” รุ่นลำโพง Klipsch ที่ใช้งานในแต่ละแชนเนลได้ (อนาคตอาจรวมถึงลำโพงยี่ห้ออื่น) เพื่อเป็นข้อมูลเสริมให้ระบบของ AVR ใช้ปรับจูนเสียงของลำโพงต่าง ๆ ให้มีความกลมกลืนแม่นยำขึ้น แต่น่าเสียดายช่วงที่ทำการทดสอบ ยังไม่มี Klipsch Reference Premiere ซีรีส์ล่าสุด ที่นำมาใช้งานร่วมในครั้งนี้ครับ ผมเลยไม่ได้ทดสอบว่าตัวเลือกนี้ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพเสียงมากน้อยเพียงใด

Setup – การติดตั้ง

Integra AVR (รวมถึง Onkyo) รุ่นใหม่ประจำปี 2022 จะให้ Auto Calibration มา 2 ระบบ คือ AccuEQ ซึ่งเป็นระบบดั้งเดิมที่ Integra/Onkyo ใช้มานาน กับ Dirac Live ระบบ Auto Calibration ชื่อดัง ที่บางท่านอาจจะเคยผ่านตาจาก AVR ยี่ห้ออื่น

ทั้งคู่ต่างก็เป็น ระบบตรวจวัดและปรับเซตเสียงลำโพงรอบทิศทางกึ่งอัตโนมัติ ต่างกันที่กระบวนการปลีกย่อย สิ่งที่เห็นได้ชัด คือ Dirac Live จะมีความซับซ้อนมากกว่า ขั้นตอนดำเนินการจะต้องเชื่อมต่อ AVR เข้ากับเครือข่าย (LAN/Wi-Fi) ร่วมกับการประมวลผลผ่านแอป Integra Control Pro บน Smartphone (ตามที่เห็นในภาพ) ในขณะที่ AccuEQ แค่เสียบไมค์เข้ากับ AVR ก็เริ่มดำเนินการจนจบครบทุกขั้นตอนได้เลย ไม่ต้องพึ่งอุปกรณ์อื่นใดเพิ่มเติม

แต่แน่นอนว่าในความซับซ้อนของ Dirac Live หากดำเนินการอย่างถูกต้อง จะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่า AccuEQ ซึ่งในระหว่างตรวจวัด หากระบบแจ้ง Error ให้สังเกตว่าขั้นตอนไปหยุดที่ลำโพงแชนเนลใด ให้ทำการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาที่ลำโพงนั้นครับ ส่วนใหญ่ที่พบ เช่น อาจจะปรับตั้งระดับเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ไว้ดังหรือค่อยเกินไป, กำหนดรูปแบบ Height Channel Speakers ไม่ตรง (อาจเกี่ยวเนื่องกับลักษณะตั้งวางไม่เหมาะสม) หรือระดับเสียงรบกวนภายในห้องมีมากเกินไป

ไม่ว่า Dirac Live หรือ AccuEQ ขั้นตอนแรกที่สำคัญ ห้ามละเลย คือ กำหนดตั้งค่าจำนวน และรูปแบบแชนเนลลำโพงที่ติดตั้งตามการใช้งานจริงภายในห้อง หากกำหนด Configuration ตรงนี้ไม่ตรง จะส่งผลให้กระบวนการวิเคราะห์และประมวลผลถูกบิดเบือนผิดเพี้ยนไป ตัวอย่างการทดสอบครั้งนี้ ผมอ้างอิงร่วมกับ Klipsch RP-500SA วางบนลำโพง RP-8000F เลยกำหนดตัวเลือก Height 1 Speaker เป็น Dolby Speaker (Front)

หมายเหตุ: Klipsch RP-500SA สามารถสลับการติดตั้งเป็น Height Speaker รูปแบบ On-wall (Front/Rear Height), On-ceiling ได้ แต่ต้องสลับสวิตช์ใต้ลำโพงเป็น Surround Mode และอย่าลืมเปลี่ยนตัวเลือก Height 1 Speaker ที่ Configuration ของ AVR ให้ตรงตามลักษณะติดตั้ง

ในแต่ละขั้นตอนของ Dirac Live ระบบจะให้คำแนะนำ และแจ้งผลลัพธ์ผ่านหน้าแอป Integra Control Pro บนหน้าจอ Smartphone สามารถตรวจสอบผลการตอบสนองความถี่ของลำโพงทุกแชนเนลภายในห้อง ทั้งก่อนและหลังจากที่ระบบทำการชดเชย Room EQ (ในส่วนของ After correction จะแสดงค่า Average), จุดตัดความถี่ (Crossover) ระยะห่าง (Delay Time) และระดับเสียง (Level) ได้

สำหรับรีวิวนี้ ผมจะอ้างอิงผลการใช้งานระบบ Dirac Live และ AccuEQ ของ DRX-3.4 ภายในห้องทดสอบ ร่วมกับชุดลำโพง Klipsch Reference Premiere ในแบบ 5.1.2 ประกอบไปด้วย RP-8000F, RP-504C, RP-600M, RP-500SA และ SPL-120 โดยจะรายงานผลลัพธ์ต่อไปช่วงย่อหน้า เสียง – Sound ครับ