08 Nov 2014
Review

รีวิว Interstellar มหากาฬภาพยนตร์บนแผ่นฟิล์ม IMAX เรื่องสุดท้ายของ Nolan !!!


  • ชานม

มหากาฬภาพยนตร์บนแผ่นฟิล์ม IMAX เรื่องสุดท้าย
ของ Christopher Nolan

สำหรับวิทยาศาสตร์ ทุกสรรพสิ่งล้วนมีเหตุผลที่มา ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากผู้กำกับฝีมือดี Christopher Nolan ภายใต้ชื่อ Interstellar* มิได้ถูกตั้งขึ้นมาลอยๆ แต่เกี่ยวเนื่องถึง ภารกิจมุ่งสู่อวกาศเพื่อค้นหาดาวเคราะห์สภาพเดียวกับโลก โดยมีความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติเป็นเดิมพัน…

* อ้างอิงความหมายจาก Oxford Dictionary:  Interstellar = occurring or situated between the stars

Mankind was born on earth, it was never meant to die here.
“มนุษยชาติถือกำเนิดบนโลกใบนี้ แต่มิได้หมายความว่าทุกชีวิตจะจบสิ้นลงที่นี่”

โลกของเราถือกำเนิดมานานกว่า 4600 ล้านปี พร้อมกับก่อร่างสร้างสรรพชีวิตมากมาย ทว่าเมื่อมีเกิด ย่อมต้องมีดับ จะเป็นเช่นไรหากเวลาของโลกกำลังหมดลง สิ่งที่บ่งบอกถึงหายนะ คือ ความปั่นป่วนผันผวนของชั้นบรรยากาศจนสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อผลผลิตพืชอาหาร และทวีความรุนแรงเป็นลูกโซ่ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่ว่าพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไร สุดท้ายทางรอดของมวลมนุษยชาติไม่พ้นต้องสละโลก ที่มั่นเพียงหนึ่งเดียวแล้วอพยพสู่อวกาศ อาจไปยังดาวเคราะห์ต่างระบบสุริยะที่ (คาดว่า) มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการตั้งรกรากใหม่

แนวทางอพยพย้ายประชากรโลกสู่อวกาศมิใช่เรื่องง่ายที่จะดำเนินการ อุปสรรคมีอยู่มากมาย ประการแรก ปลายทางจะเป็นที่ใด? การสร้างอาณานิคมอวกาศเป็นเพียงทฤษฎีที่ยังหาคำตอบมิได้ ส่วนดาวเคราะห์ต่างกาแล็กซี่ที่มีสภาพเอื้อต่อการตั้งอาณานิคมใหม่ก็ยังไม่เคยได้รับการพิสูจน์ เนื่องจากไม่มีข้อมูลการสำรวจจริงที่ใช้อ้างอิงประเมินความเป็นไปได้ นั่นเป็นเหตุให้ต้องใช้ทางเลือกที่เสี่ยงน้อยที่สุด คือ ส่งทีมนักวิทยาศาสตร์เดินทางล่วงหน้าไปสำรวจเพื่อเก็บข้อมูล แต่ก็ยังมีอุปสรรคประการที่สองตามมา

Destiny Lies Above.
“โชคชะตา อยู่เหนืออวกาศอันไกลโพ้น”

การเดินทางในอวกาศยังมีความเสี่ยงสูงเพราะไม่อาจคาดเดาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้แน่ชัด อีกทั้งด้วยระยะทางอันไกลโพ้น ต่อให้มนุษย์เดินทางได้เร็วเท่าแสงยังต้องใช้เวลานานหลายปี ลำพังความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มี คงต้องใช้เวลานับสิบปีหรืออาจจะร้อยๆ ปี จึงจะถึงที่หมาย นี่ยังไม่รวมถึงการศีกษาสำรวจพื้นที่และส่งข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ เบ็ดเสร็จคงไม่ทันกับเวลาอันน้อยนิดที่เหลืออยู่บนโลก แต่ยังนับเป็นโชคดีของมนุษยชาติอยู่บ้าง ตรงที่มีการค้นพบ “รูหนอน” (Wormhole) ซึ่งใช้เป็นทางลัดตัดผ่านข้ามไปยังอีกกาแล็กซี่ได้ แต่ข้ามไปแล้วจะมีอะไรรออยู่ อนาคตของมนุษยชาติจะเป็นเช่นไร? เนื้อเรื่องหลังจากนี้คงต้องไปลุ้นชมภาพยนตร์ Interstellar ด้วยตัวท่านเอง

พล็อตเรื่องข้างต้นอาจมิได้ใหม่เสียทีเดียว เพราะมีนวนิยายวิทยาศาสตร์บางเรื่องเคยนำเสนอมาบ้างแล้ว แต่เสน่ห์ในเชิงลึกของภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจาก Christopher Nolan ที่เด่นชัด คือ การผสานศาสตร์ของเอกภพเข้ากับเรื่องราวที่ให้แง่คิด จนกลายเป็น “บันเทิงคดี” อัดแน่นไปด้วยข้อมูลพร้อมกับให้ความบันเทิงได้อย่างลงตัว

Nolan มีแนวทางที่ไม่เหมือนผู้กำกับคนอื่นนัก ตรงที่แกมักจะหยิบยกประเด็นที่คนทั่วไปมองเป็นเรื่องเข้าใจยากมาทำเป็น “แก่น” ของภาพยนตร์ได้อย่างน่าสนใจ ทว่าด้วยแนวทางการนำเสนอเรื่องราวซับซ้อนแหวกแนวประเพณีนิยม ต้องอาศัยสมาธิในการรับชมอยู่สักหน่อย คนที่ชอบย่อมจะมองว่าการได้คิดวิเคราะห์ทำความเข้าใจเป็นหน้าที่ที่ท้าทายของผู้รับสาร แต่คนที่ไม่ชอบก็จะไม่ชอบเลย เพราะมองว่าประเด็นนำแสนอหนักสมองเกินไป อีกทั้งระยะเวลาของภาพยนตร์ที่ยาวเกือบ 3 ชม. เท่ากับว่าต้องคิดเยอะตามไปด้วย

ข้อมูลเอกภพวิทยาที่อัดแน่นตลอดทั้งเรื่อง ในบางแง่มุมก็ซับซ้อนเกินเข้าใจหากอยู่ในตำราวิชาการ เมื่อ Nolan แปลงทฤษฏีเอกภพที่มีพื้นฐานประกอบขึ้นจากโจทย์สมการยาวเหยียด ให้กลายมาเป็นสื่อภาพยนตร์บันเทิง ย่อมช่วยให้วิทยาศาสตร์แขนงนี้ “เป็นที่เข้าถึงได้” สำหรับบุคคลทั่วไป

หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่ชื่นชอบภาพยนตร์แนวไซ-ไฟ หรืออ่านนิยาย อ่านหนังสือการ์ตูนทำนองนี้มาบ้าง บวกกับพื้นฐานความรู้รอบตัวทางวิทยาศาสตร์ประกอบ ก็น่าจะปะติดปะต่อทำความเข้าใจเรื่องราวใน Interstellar ได้อย่างมีอรรถรส อย่างไรก็ดีการศึกษา ทฤษฏีสัมพัทธภาพ (Theory of relativity) ของไอน์สไตน์ เพิ่มเติม หรือหาหนังสือ ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) และ จักรวาลในเปลือกนัท (The Universe In A Nutshell) ของสตีเฟน ฮอว์คิง มาอ่านควบคู่ไปกับการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ถือเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าใจเรื่องราว Interstellar อย่าง “ถ่องแท้”!

Picture – ภาพ

ผู้กำกับที่เก่ง เหมือนจะมีมนต์สะกดที่ดึงอารมณ์ร่วมของผู้ชมได้… ความน่าสนใจจากแก่นสารภาพยนตร์ Interstellar ก็ส่วนหนึ่ง แต่อรรถรสการรับชมจะสมบูรณ์มิได้หากขาดรูปแบบการนำเสนออันยอดเยี่ยม ซึ่งประเด็นนี้หากไม่กล่าวถึง ประสบการณ์รับชมในโรงภาพยนตร์ IMAX ผ่านม้วนฟิล์ม 70 มม. ที่มีขนาดใหญ่กว่าฟิล์มภาพยนตร์ทั่วไป 2 ~ 4 เท่า ฉายตรงขึ้นสู่จอขนาดยักษ์ความสูงเท่าตึก 8 ชั้น (21 x 28 ม.) ย่อมจะผิดวิสัยการรีวิว

ความรู้สึกที่จะได้รับเป็นอะไรไปมิได้นอกจาก “ความยิ่งใหญ่อลังการของภาพยนตร์” ที่ให้มิติตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าการรับชมรูปแบบ 3D เสียอีก แน่นอนว่าเป็นความยิ่งใหญ่ที่ไม่สามารถสัมผัสได้จากระบบโฮมเธียเตอร์ หรือแม้แต่ในโรงภาพยนตร์ปกติ อันเป็นผลเกี่ยวเนื่องจากการพัฒนาความช่ำชองขึ้นอีกขั้นของ Nolan ที่นำมาตรฐาน IMAX มาใช้ได้เหมือนดั่ง “เวทย์มนต์”

Mankind s Next Step Will Be Our Greatest.
“ก้าวต่อไปของมนุษยชาติ จะเป็นก้าวย่างอันใหญ่ยิ่ง”

ถึงแม้ภาพยนตร์ของเขานับแต่เริ่มประยุกต์มาตรฐาน IMAX ยังไม่เคยใช้ฟอร์แม็ตฟิล์มขนาดใหญ่ยักษ์นี้ตลอดทั้งเรื่อง อาจด้วยความยุ่งยากและข้อจำกัดของอุปกรณ์ (กล้องถ่ายทำระบบ IMAX 70 มม. มีขนาดใหญ่เทอะทะและน้ำหนักมาก) และอาจรวมถึงงบประมาณที่สูงมาก จึงมีการสลับถ่ายทำลงบนฟอร์แม็ตฟิล์มมาตรฐานบ้าง เช่นเดียวกับเรื่องนี้ (สังเกตได้จากแถบดำบนล่าง) แต่ Nolan ก็เจ๋งพอจะเลือกใช้ IMAX Scene เป็นเครื่องมือที่ดึงอารมณ์ร่วมของผู้ชมโดยเฉพาะในฉากที่เป็นไฮไลท์สำคัญ และเท่าที่สังเกต Nolan ให้ช่วงเวลาของฟิล์ม IMAX ไปกับ Interstellar มากกว่าภาพยนตร์เรื่องก่อนๆ ชัดเจน โดยเฉพาะช่วงท้ายๆ พี่แกจัดเต็ม!

เปรียบเทียบขนาดและความละเอียดของฟิล์มภาพยนตร์ IMAX 70 มม.
กับฟอร์แม็ตอื่น ทั้งฟิล์มและระบบดิจิทัล (ภาพประกอบจาก In Nolan We Trust)

เหตุใดจึงต้องชม Interstellar เวอร์ชั่นที่ฉายด้วยฟิล์ม 70 มม. ในโรงภาพยนตร์ IMAX ?

– ด้วยพื้นฐานการถ่ายทำลงบนฟิล์ม IMAX 70 มม. ขนาดใหญ่กว่าฟิล์มภาพยนตร์ทั่วไป การแสดงรายละเอียดบนแผ่นฟิล์มจึงคมชัดกว่า สัมพันธ์กับรูปแบบการฉายขึ้นจอขนาดมหึมาในอัตราส่วนพิเศษเฉพาะในโรงฯ IMAX ดูใหญ่เต็มตา ประเด็นนี้แม้เปรียบเทียบกับมาตรฐานเครื่องฉายดิจิทัลในปัจจุบันที่ความละเอียด 4K/2K ดีเทลและความใหญ่ ก็ยังเป็นรองฟิล์ม IMAX 70 มม.

– อัตราส่วนฟิล์มภาพยนตร์ IMAX 70 มม. คือ 1.43:1 ออกไปทางสี่เหลี่ยมจัตุรัส มากกว่าจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวออกด้านข้าง อันเป็นอัตราส่วนของฟิล์มภาพยนตร์ทั่วๆ ไป เมื่อฉายภาพบนจอฉายขนาดใหญ่มาตรฐานอัตราส่วนเดียวกันเฉพาะในโรงภาพยนตร์ IMAX จึงรับชมได้เต็มตาเต็มอารมณ์ไม่ใช่แค่มุมมองด้านกว้าง แต่ยังรวมถึงความอลังการด้านสูงที่เพิ่มเข้ามาด้วย และไม่ต้องห่วงว่าศรีษะของผู้ชมแถวที่นั่งด้านหน้าของท่านจะบดบังมุมมองส่วนล่างของจอภาพ เพราะการจัดวางระดับความสูงของแถวที่นั่งในโรงฯ IMAX มีระดับความชันมากกว่าโรงฯ ทั่วไป

หากจะมีจุดด้อยบ้าง ก็ตรงที่การรับชมภาพยนตร์รูปแบบฟิล์มต้องใช้เครื่องฉายซับไตเติลแยกต่างหาก และตัวอักษรสีขาวจากเครื่องฉายซับไตเติลมักจะกลืนไปกับภาพบนจอ บางช่วงจึงอ่านได้ไม่ชัดเจนนัก และอาจสังเกตเห็นแสงลอดจางๆ จากเครื่องฉายซับไตเติลช่วงฉากมืด

หมายเหตุ:

– หลังจากเรื่องนี้ จะไม่มีการถ่ายทำภาพยนตร์และนำเสนอผ่านเครื่องฉายฟิล์ม IMAX 70 มม. อีกต่อไป เท่ากับว่า Interstellar เป็นการทิ้งทวนเรื่องสุดท้าย หากท่านใดยังไม่เคยได้สัมผัสเสน่ห์ของฟิล์มภาพยนตร์ โดยเฉพาะฟอร์แม็ต IMAX 70 มม. ห้ามพลาดเรื่องนี้เป็นอันขาด!

– ในอนาคตอันใกล้ เครื่องฉายฟิล์มภาพยนตร์ IMAX 70 มม. จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องฉาย IMAX Digital ความละเอียดสูง ที่ให้ความคมชัดเทียบเท่ากับฟิล์ม IMAX 70 มม. (ปัจจุบันเครื่องฉาย IMAX Digital มีความละเอียดอยู่ที่ 4K/2K ยังไม่ละเอียดเทียบเท่ากับฟิล์ม IMAX 70 มม.)

Sound – เสียง

นอกจากเรื่องภาพแล้ว การนำเสนอด้านเสียงของ Interstellar ผ่าน IMAX ก็ต่างไปจากโรงภาพยนตร์ทั่วไปด้วย ที่สังเกตเห็นด้วยตาเป็นอย่างแรก คือ  มาตรฐานระบบเสียงเลือกใช้ลำโพงที่มีขนาดใหญ่โตกว่าปกติ ซึ่งรวมไปถึงลำโพงเซอร์ราวด์ สามารถมองเห็นได้เมื่อเข้าไปในโรงฯ

อย่างที่ทราบว่า โรงภาพยนตร์ที่อิงรูปแบบลำโพงรอบทิศทางแบบ Channel Base จะมีจำนวนช่องเสียงเท่ากับ 5.1 หรือ 7.1 แต่ที่เห็นลำโพงเซอร์ราวด์ขนาดเล็กแขวนเรียงรายต่อเนื่องจำนวนมาก ทางด้านข้างและด้านหลังของโรงภาพยนตร์ทั่วๆ ไปนั้น เป็นเพียงแนวทางขยายขอบเขตมุมกระจายเสียงของเซอร์ราวด์แชนเนลให้ครอบคลุมพื้นที่แถวที่นั่งเท่านั้น (ยกเว้นโรงภาพยนตร์มาตรฐานระบบเสียง Dolby Atmos ที่สามารถ assign ช่องสัญญาณเสียงอิสระให้กับลำโพงแต่ละตัวได้)

กลับมาที่ระบบเสียงในโรงภาพยนตร์ IMAX ซึ่งอิงรูปแบบระบบลำโพงรอบทิศทาง 5.1 ลำโพงเซอร์ราวด์รับหน้าที่โดยลำโพงเพียง 2 คู่ โดยจะแขวนอยู่ที่มุมบนด้านหลังทางซ้ายและขวาเท่านั้น มิได้ใช้ลำโพงเล็กๆ จำนวนมากวางเรียงรายต่อเนื่องกัน แนวทางแบบนี้น่าจะคุ้นเคยดีเพราะคล้ายๆ กับระบบโฮมเธียเตอร์ ทว่าความพิเศษของ IMAX คือ ลำโพงที่ใช้งานในระบบทั้งหมด แน่นอนรวมถึงลำโพงเซอร์ราวด์ด้วย มีขนาดใหญ่โตมโหฬารกว่ามาตรฐานปกติมาก สามารถให้มุมกระจายเสียงได้กว้าง ครอบคลุมพื้นที่รับฟังโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนลำโพงวางต่อกันมากมายเป็นระยะ ผลพลอยได้ คือ เสียงเซอร์ราวด์จะชี้ชัดตำแหน่งทิศทางได้ดีกว่า ซึ่งเป็นความพิเศษนอกเหนือจากการให้บรรยากาศรายล้อม

ระบบลำโพงในโรงภาพยนตร์ IMAX เลือกใช้โครงสร้างตู้ลำโพงขนาดใหญ่
เสียงเต็มอิ่ม ไม่บีบอั้น กับแรงปะทะแบบถึงตัว!

นอกจากนี้การโยนเสียงจากหน้าไปหลัง หรือหลังไปหน้า จะให้ความกลมกลืนในแง่ของดุลเสียงดีกว่า ประเด็นนี้อธิบายง่ายๆ อย่างเวลาที่ยานอวกาศบินผ่านจะไม่รู้สึกว่าขนาดหดเล็กลงเมื่อเสียงเลยไปยังทิศทางด้านหลัง ทั้งนี้เพราะขนาดของลำโพงเซอร์ราวด์ใกล้เคียงกับด้านหน้า จึงไม่เป็นข้อจำกัดที่จะลดขนาดสเกลเสียงลง แต่ที่เด่นชัดที่สุดเห็นจะเป็นการถ่ายทอดระดับไดนามิกที่ “เต็มที่” กว่า ส่วนหนึ่งอาจด้วยขนาดโรงภาพยนตร์ที่ออกไปทางสูง แต่สั้น ผู้ชมจึงนั่งอยู่ในระยะที่ไม่ห่างจากจอฉายซึ่งมีลำโพงหลักติดตั้งอยู่ด้านหลัง แรงปะทะจึง “ถึงตัว” กว่าโรงภาพยนตร์ทั่วไป นอกจากนี้จากข้อมูลที่ได้รับมา IMAX มีความเข้มงวดในการควบคุมคุณภาพเสียงภายในโรงภาพยนตร์มาก โดยทำการติดตั้งไมโครโฟนตรวจเช็คระบบเสียงและลำโพงแบบวันต่อวัน ดำเนินการช่วงเช้าก่อนเปิดรอบฉายภาพยนตร์ ซึ่งเป็นมาตรฐานแนวทางเดียวกันทั่วโลก จึงมั่นใจได้ว่าจะได้รับประสบการณ์เสียง IMAX เต็มร้อยทุกครั้งกับทุกโรงฯ ครับ

อ้อ ไหนๆ ก็พูดถึงเรื่องเสียงแล้ว สำหรับ Soundtrack เพลงประกอบภาพยนตร์ Interstellar นั้น Nolan ยังคงเรียกใช้บริการ Hans Zimmer เช่นเคย ซึ่งดูเหมือนจะผูกขาดมาตั้งแต่ Batman Begins ขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ CD Album ยังไม่ออก แต่ iTunes ให้ >Pre-order< แบบดิจิทัลดาวน์โหลดแล้วครับ

ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของตำนานภาพยนตร์ที่ถ่ายทำด้วย ฟิล์ม IMAX 70 มม. เรื่องสุดท้าย พร้อมสัมผัสประสบการณ์รับชมผ่านจอฉายขนาดยักษ์ สูงเท่าตึก 8 ชั้น ได้แล้ววันนี้ ที่โรงภาพยนตร์ Krungsri IMAX สาขาสยามพารากอน ที่เดียวเท่านั้น (ที่อื่นฉายในระบบดิจิทัล)

by ชานม !11/2014

ขอขอบคุณ Krungsri IMAX/Major Cineplex ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล และภาพประกอบเชิงเทคนิคของระบบ IMAX ประกอบในบทความ