Picture – ภาพ
ทดสอบเชื่อมต่อสัญญาณภาพจาก 4K Blu-ray Player ทาง HDMI In ยืนยันว่า Bar 9.1 สามารถ Pass-through 4K HDR Dolby Vision ได้
Sound – เสียง
แน่นอนว่าคอนเทนต์ที่ดึงศักยภาพออกมาได้เต็มประสิทธิภาพมากที่สุด คือ ภาพยนตร์และคอนเสิร์ตระบบเสียง Dolby Atmos/True HD และ DTS:X/DTS-HD Master Audio จากแผ่น Blu-ray Disc เชื่อมต่อสัญญาณทาง HDMI In ซึ่ง Bar 9.1 ให้บรรยากาศเสียงด้านสูงได้ชัดเจนดี ตำแหน่งทิศทางเสียงจากด้านบนอาจไม่ชัดเป๊ะแบบลำโพงแขวนหรือฝังฝ้าเพดานโดยตรง แต่ถ้าหากเซ็ตอัพและใช้งานในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม Dolby Atmos Enabled Speakers ทั้ง 4 แชนเนล ทำหน้าที่กระจายเสียงขึ้นสะท้อนเพดานลงมาทั้งด้านหน้าและหลัง ช่วยยกบรรยากาศเสียงให้ลอยสูงครอบคลุมเหนือศีรษะได้จริง สามารถสัมผัสรับรู้ความแตกต่างของฟอร์แม็ตเสียงแบบ Immersive Audio ที่เหนือกว่ามาตรฐานระบบเสียงเซอร์ราวด์ 5.1 ได้แบบไม่ต้องมโน
ทดสอบด้วย Dolby Atmos Demonstration Disc (Blu-ray) หลายๆ คอนเทนต์ Bar 9.1 ให้บรรยากาศเสียงได้ดี ทั้งเสียงโอบล้อมรอบตัว คลอบคลุมไปถึงมิติเสียงด้านสูง
ทดสอบรับชมภาพยนตร์ Justice League ฟอร์แม็ต 4K Blu-ray Disc ระบบเสียง Dolby Atmos
และ Bad Boy ฟอร์แม็ต 4K Blu-ray Disc ระบบเสียง DTS:X/DTS-HD MA ก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน
ทดสอบเล่นเกมกับ PS4 ระบบเสียงแบบ 5.1/7.1 ความโดดเด่นจากลำโพงเซอร์ราวด์แยก ที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้การแยกแยะตำแหน่งทิศทางเสียงเวลาเล่นเกม มีความสมจริงมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ฟอร์แม็ตเสียงจะย่อหย่อนมิติเสียงด้านสูงเมื่อเทียบกับคอนเทนต์ระบบเสียงยุคใหม่อย่าง Dolby Atmos และ DTS:X แต่ Bar 9.1 ก็ให้ทางเลือกโดยการ Up-mixed จำลองเสียงในแบบ Dolby Surround 5.1.4 ได้ด้วย
ลำโพงเซอร์ราวด์แยกอิสระจัดวางอยู่ด้านข้างหรือด้านหลังตำแหน่งนั่งฟัง ให้เสียงที่มีความโอบล้อมรอบตัวได้ดี แต่ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน คือ ลำโพงซับวูฟเฟอร์ขนาด 10 นิ้ว เติมเต็มเสียงย่านความถี่ต่ำได้ลึก พลังเสียงหนักแน่น ขย่มห้องได้เกินคาด
ทดลองฟังเพลงดูบ้าง โดยส่วนตัวผมชอบฟังแบบประกบลำโพงเซอร์ราวด์ไว้กับซาวด์บาร์มากกว่า ซึ่งรูปแบบนี้ขยายเวทีเสียงให้แผ่กว้าง ในขณะที่เสียงร้องจะโฟกัสอยู่ทางด้านหน้า มิติเสียงที่ได้จึงเหมาะกับการฟังเพลงรูปแบบสเตอริโอ แต่ถ้าใครอยากฟังแบบให้ Bar 9.1 จำลองเสียงโอบล้อม จะแยกลำโพงเซอร์ราวด์ออกมาใช้ฟังเพลงก็ได้นะครับแล้วแต่ชอบ ซึ่งด้วยแนวเสียงของ Bar 9.1 ที่ไม่จัด ปลายเสียงออกนุ่มนวล แม้เร่งระดับเสียงดังๆ ก็ยังฟังสบายไม่ล้าหู เคล็ดลับอยู่ที่การปรับระดับเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์ให้พอดีๆ หากมือหนักปรับไว้ดังเกินไปดุลเสียงของลำโพงซับวูฟเฟอร์จะเอนเอียงไปทางย่านเบสลึกมากกว่าเบสต้น ซึ่งจะรบกวนการฟังเพลงแนวผ่อนคลายได้ครับ
Conclusion – สรุป
นับเป็น Soundbar ลำโพงเซอร์ราวด์แยกแบบ True Wireless พร้อม Dolby Atmos Enabled Speaker ในแบบ 5.1.4 ที่ให้คุณภาพเสียงโอบล้อมรอบทิศทางได้ใกล้เคียงชุดลำโพงโฮมเธียเตอร์แยกชิ้น รองรับถอดรหัสเสียงได้ถึง Dolby Atmos/TrueHD และ DTS:X/DTS-HD MA ถ่ายทอดบรรยากาศเสียงครอบคลุมเป็นสามมิติ แต่ยังคงความกะทัดรัดตัวลำโพงไม่หนา จัดวางเข้ากับทีวีหลายๆ รุ่นได้ง่ายไม่บดบังจอ การเชื่อมต่อลำโพงเซอร์ราวด์ที่ไร้สายอย่างสิ้นเชิง ดูไม่รก ติดตั้งสะดวก ใช้พื้นที่ไม่มาก จะใช้งานในคอนโดห้องไม่ใหญ่ หรือห้องรับแขกตามบ้านก็ทำได้ง่าย
ข้อดี JBL Bar 9.1
– Soundbar ตัวท็อป มาพร้อม True Wireless Surround ถอดแยกได้ พร้อมแบตฯ ในตัว ติดตั้งง่าย จัดวางสะดวก
– ตัวขับเสียงรอบทิศทาง 5.1.4 แชนเนล โดยเป็น Dolby Atmos Enabled Speakers ถึง 4 แชนเนล ให้เสียงโอบล้อมกว่า Soundbar ทั่วไป หลังการ Calibrate สามารถถ่ายทอดบรรยากาศเสียงด้านสูงได้ดี
– มี HDMI In 1 ช่อง รับสัญญาณเสียง Dolby Atmos/True HD, DTS:X/DTS-HD MA และรองรับ 4K HDR Dolby Vision Video Pass-through
– แอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์ 10″ รับสัญญาณแบบไร้สาย ให้เสียงที่หนักแน่น เบสลงได้ลึก
– เชื่อมต่อเครือข่ายในบ้านและอินเทอร์เน็ต รองรับ Google Chromecast และ Apple AirPlay
ข้อเสีย JBL Bar 9.1
– เอกสาร Quick Start Guide ภาพประกอบไม่มีคำอธิบาย ดูคลุมเครือ แนะนำให้ดาวน์โหลดคู่มือการใช้งานฉบับเต็มจากเว็บไซต์ JBL
– ให้ HDMI In มาเพียงช่องเดียว จึงรองรับอุปกรณ์เชื่อมต่อได้ไม่มากนัก
– ช่วงที่ทำการทดสอบ HDMI ARC ยังไม่รองรับ Dolby Atmos – ตรวจสอบรุ่นทีวีที่รองรับที่ Connectivity – ช่องต่อ (หน้า 2)
คะแนน
คะแนน JBL Bar 9.1 Dolby Atmos Soundbar
8.4
หมายเหตุ : มาตรฐานคะแนนปี 2020
ราคา JBL Bar 9.1
29,900 บาท