30 Aug 2015
Review

ลำโพงมอนิเตอร์ คุณภาพงานสร้างระดับมาสเตอร์พีซ !!? รีวิว KEF LS50


  • ชานม

Sound – เสียง

น่าเสียดายช่วงที่ทางตัวแทนจำหน่ายให้ยืมลำโพง KEF R Series มาทดสอบ ไม่ได้ส่งรุ่นที่เป็นลำโพงวางหิ้ง (R300) มาด้วย ไม่งั้นจะจับมาฟัดกับ LS50 ดูสักหน่อยว่า 2 ซีรี่ส์จากผู้ผลิตเดียวกัน จะมีความโดดเด่นแตกต่างกันเพียงใด อย่างไรก็ดีผมทดลองหาลำโพงอื่นๆ ที่ขึ้นชื่อว่าให้เสียงแบบลำโพงมอนิเตอร์ เพื่อดูผลลัพธ์ว่าแตกต่างอย่างไรกับ LS50 ถึงแม้ระดับราคาของตัวเปรียบเทียบจะต่ำกว่าอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้เห็นภาพของประสิทธิภาพ LS50 ที่ชัดเจนขึ้น

ตัวเปรียบเทียบได้แก่ PSB Alpha B1 ลำโพงไฮไฟวางหิ้งราคาประหยัด กับ Quad 11L ลำโพงสัญชาติอังกฤษเช่นเดียวกับ KEF ทั้งคู่เป็นลำโพง Hi-Fi ที่ขึ้นชื่อเรื่องสมดุลเสียงเช่นเดียวกับลำโพงมอนิเตอร์ อันที่จริงอยากได้ตัวเลือกอื่นๆ ที่ราคาใกล้เคียงกับ LS50 มาเทียบ แต่หาไม่ทันครับ (ฮา)

Frequency Response Comparison (On-axis)
KEF LS50 vs Quad 11L vs PSB Alpha B1
“In-room” Nearfield Measurement (1/12 Octave Smoothing)
(คลิกที่รูป เพื่อขยาย)

การตัดสินลำโพงนั้นๆ ว่าสมควรจะเรียกเป็นลำโพงมอนิเตอร์ได้เต็มปากหรือไม่ ก็ต้องดูที่ “สมดุลเสียง” ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจากผลการตอบสนองความถี่ในห้องทดสอบก็ยืนยันว่า ทั้ง 3 รุ่น ให้สมดุลเสียงที่ราบเรียบ ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันมาก ซึ่งไม่แปลกสำหรับ “มาตรฐาน” ลำโพงมอนิเตอร์ กระนั้นแม้ดุลเสียงจะคล้ายกัน แต่รายละเอียดเสียงปลีกย่อยไม่เหมือนกันครับ

Sensitivity ตามสเป็กของ LS50 อยู่ที่ 85dB ซึ่งต่ำกว่าลำโพงอีก 2 รุ่น จุดนี้เมื่ออ้างอิงจากผลการใช้งานจริงก็ออกมาสัมพันธ์กัน หากอ้างอิงที่ตำแหน่งวอลลุ่มของภาคขยายเท่ากัน ระดับเสียงของ LS50 จะเบากว่าอยู่ราว 3dB ตรงนี้จะพูดว่า LS50 “กินวัตต์” มากกว่าก็คงได้ แต่ถ้าจะประเมินว่า LS50 “กินแรง” ภาคขยายมากไหม? ก็ขอตอบว่า ไม่ครับ

จริงอยู่ว่าคุณภาพเสียงจะผันแปรไปตามคุณภาพของภาคขยาย แต่จากการทดลองใช้งานร่วมกับอินทิเกรตแอมป์ตั้งแต่ราคาหมื่นกว่าบาทไปจนถึงปรีโปรเซสเซอร์+เพาเวอร์แอมป์หลักแสนอัพ เริ่มต้นก็ยังให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจมากทีเดียว สำหรับภาคขยายราคาไม่สูง ที่ระดับเสียงการรับฟังปกติ LS50 ยังคงดุลเสียงที่เที่ยงตรงได้ เสียงกลางที่เป็นธรรมชาติ ไม่แปรผันตามคุณภาพของภาคขยายมากนัก (หากมิใช่ใช้งานร่วมกับภาคขยายที่มีความเพี้ยนสูง) แม้ความสามารถในการผลักดันย่านต่ำจะย่อหย่อนลงบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานร่วมกับเพาเวอร์แอมป์ราคาสูง แต่โดยรวม LS50 มิใช่ลำโพงที่ทำตัวโหดร้ายกับภาคขยายมากนัก

จุดที่ LS50 โดดเด่นแตกต่างจาก Alpha B1 อย่างเห็นได้ชัด คือ การขึ้นรูปอิมเมจที่เป็นตัวเป็นตนชัดเจนกว่า นั่นรวมถึงความสามารถในการชี้ชัดตำแหน่งชิ้นดนตรีสำหรับแนวเพลงที่ซับซ้อนอย่าง Big Band Jazz และ Classics

ทั้ง 3 รุ่น ให้เสียงกลางที่เป็นธรรมชาติตามแบบฉบับลำโพงมอนิเตอร์ ในจุดนี้บางท่านอาจจะเคยปรามาสไว้ว่า ลำโพงมอนิเตอร์ เสียงคงจะออกมาแบบทื่อๆ ไร้ลีลา เรียกว่าขาดเสน่ห์ ฟังแล้วไม่มีอารมณ์ร่วมแล้วล่ะก็ ขอบอกเลยว่าคิดผิด! ถึงแม้ลำโพงแนวมอนิเตอร์จะไม่ใส่สีตีไข่จนเสียงร้องบิดเบือนแบบฟังแล้วนุ่มนวลหวานฉ่ำ หรือให้เสียง ส ซ พุ่งทะลุไรฟันชัดเปรี๊ยะไปเสียทุกเพลง ทว่าท่านที่เคยฟัง Quad 11L ก็คงรู้สึกจับใจกับเสียงร้องที่กลมกล่อม ฟังแล้วติดหูไม่รู้หายอันเป็นเอกลักษณ์ของไดรเวอร์ Kevlar (และก็เหนือกว่า Alpha B1 ไปอีกขั้น) ซึ่งในจุดนี้สำหรับ LS50 กับตัวขับเสียง Uni-Q ก็ทำได้ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ฟังแล้วไม่กระด้างเหมือนโลหะ ขณะเดียวกันจุดที่ LS50 ทำได้โดดเด่นกว่า 11L คือ ปลายเสียงที่เปิดเผย กับการตอบสนองที่ฉับไวยิ่งกว่า

ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น ลำโพงมินิมอนิเตอร์ แต่ขนาดตัวคงมิได้เป็นสิ่งบ่งบอกว่าเบสจะน้อยจนต้องจำกัดแนวเพลง แน่นอนคงเอาไปเทียบกับลำโพงตั้งพื้นมิได้แต่เพลงที่ฟังกับลำโพงมินิมอนิเตอร์คงมิได้มีดีแต่เพลงร้อง และถ้าเทียบกับมาตรฐานลำโพงวางหิ้ง นี่ไม่ถือว่าเบสน้อยเลยครับ ในแง่การตอบสนองย่านต่ำจาก LS50 ถือว่าเพียงพอต่อการให้อรรถรสจากบทเพลงหลากหลายแนว ทดลองฟังแนวคลาสิกจากซีดีอัลบั้ม Ein Straussfest โดย Erich Kunzel และ Cincinnati Pops Orchestra จากค่าย Telarc ซึ่งขึ้นชื่อว่าโหดสำหรับการบันทึกเสียงย่านความถี่ต่ำ

เสียงปืนใหญ่อาจจะขาดมวลเสียงย่านต่ำลึกไปบ้างเมื่อเทียบกับลำโพงใหญ่ แต่ยังคงได้กลิ่นอายความหนักแน่นจากปากกระบอกปืนอยู่ เช่นเดียวกับเสียงเครื่องดนตรีในวงออร์เคสตร้าที่ไม่ได้รู้สึกว่าขาดอรรถรส แม้ย่านต่ำลึกจะเบาบางแต่ก็ทดแทนด้วยเบสต้นที่สะอาด หากเปรียบเทียบกับ Alpha B1 แม้การตอบสนองความถี่ย่านต่ำจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ผลการใช้งานจริงกลับรู้สึกว่า LS50 ให้น้ำหนักเสียงต่ำได้ดีกว่า โดยรวมเสียง “แน่น” กว่า ฐานเบสก็จับต้องได้เป็นตัวเป็นตนมากกว่า ส่วน 11L แม้ในเชิงปริมาณเบสต้นดูจะสูสี ทว่าการตอบสนองของเสียงต่ำจะดูเฉื่อยช้ากว่าอยู่บ้าง สรุปได้ว่าในแง่การตอบสนองความถี่ต่ำนั้น LS50 ได้เปรียบลำโพงทั้ง 2 รุ่นตามคาด ซึ่งฟังออกได้ไม่ยากทั้งในเชิงคุณภาพ และเบสที่ลงได้ลึกว่าด้วยครับ

ในส่วนของการถ่ายทอดเวทีเสียง LS50 ทำได้โอ่อ่าขยายเกินขอบเขตตำแหน่งลำโพงเล็กได้ดี และยังให้ความเด็ดขาดในการแจกแจงระดับชั้นด้านลึกได้ดีกว่าอีก 2 รุ่น อ้อ สำหรับการทดสอบว่า Uni-Q ของ LS50 ให้เสียงได้กลมกล่อมไหลลื่นเพียงใด ลองฟังร่วมกับแทร็กที่ 5 (On The Beautiful Blue Danube Waltz, Op. 314) ครับ

เนื่องจาก LS50 เป็นลำโพงแบบพาสซีฟ การจะไฟน์จูนเสียงกรณีที่จะนำซับวูฟเฟอร์มาใช้งานร่วมด้วยอาจจะดำเนินการได้ลำบากกว่าลำโพงมอนิเตอร์แบบ “แอ็คทีฟ” อยู่บ้าง อย่างไรก็ดีสำหรับเทคโนโลยีในปัจจุบันที่ภาคขยายผนวกฟังก์ชั่น Auto Speaker Calibration และ Bass Management มาด้วย การปรับเซ็ตให้เสียงลำโพงมอนิเตอร์แบบพาสซีฟ กลมกลืนเข้ากับลำโพงซับวูฟเฟอร์ อาจจะง่ายกว่าการใช้งานฟังก์ชั่นที่ลำโพงมอนิเตอร์แบบแอ็คทีฟให้มาด้วยซ้ำ

ข้อดีอีกประการของ Uni-Q คือ สามารถวางตะแคงได้โดยที่บาลานซ์และมุมกระจายเสียงไม่เปลี่ยน ผิดกับลำโพงทั่วไปที่แยกตัวขับเสียงติดตั้งวางเรียงกันมาแบบ “Line-array” ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตมักจะออกแบบให้ลำโพงมีบาลานซ์และมุมการกระจายเสียงที่ดีที่สุดเฉพาะลักษณะการตั้งวางที่กำหนด (วางตั้งหรือวางนอนอย่างใดอย่างหนึ่ง) ประโยชน์ของ Uni-Q ตรงนี้เหมาะกับกรณีที่พื้นที่ตั้งวางจำกัด อย่างเช่น การนำไปไว้ในชั้นใต้ทีวี เพื่อทำหน้าที่เป็นลำโพงเซ็นเตอร์ ดังภาพ

Conclusion – สรุป

สมกับเป็นรุ่นฉลองครบรอบ 50 ปี ของผู้ผลิตลำโพงที่อยู่ในวงการมายาวนาน ทั้งรูปลักษณ์ที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร บวกกับเทคนิคขั้นสูงในด้านการออกแบบลำโพงที่อัดแน่นแบบจัดเต็ม LS50 จึงเป็นลำโพงมินิมอนิเตอร์ที่ควรค่าสำหรับผู้ที่ต้องการ “ของจริง” ไม่อิงนิยายครับ

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
9.25
เสียง (Sound)
9.00
ลูกเล่น (Features)
8.75
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.75
ความคุ้มค่า (Value)
8.75
คะแนนตัดสิน (Total)
8.90

คะแนน KEF LS50 Mini Monitor Speaker

8.9

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– ประติมากรรมด้านเสียงที่เกิดจากประสบการณ์ออกแบบผลิตลำโพงที่สั่งสมมาร่วม 50 ปี ของ KEF ทุกอย่าง “จัดเต็ม” อัดแน่นภายในตู้โครงสร้างแน่นหนาขนาดกะทัดรัด โดดเด่นด้วยแผงหน้าโค้งมน และตัวขับเสียง Uni-Q อันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยสีที่ตัดกับตัวตู้มันเงา
– เทคนิคการออกแบบที่ทำให้รุ่นเรือธงเสียงดีอย่างไรนั้น มันถูกถ่ายทอดลงมาสู่ LS50 เท่าที่ลำโพงงบครึ่งแสนจะให้ได้ ถึงแม้ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณทำให้บางจุดอ่อนด้อยจากรุ่นเรือธงอยู่บ้าง ทว่าคงจะหาตัวเปรียบเทียบที่ถ่ายทอดคุณภาพเสียงได้ใกล้เคียงกับลำโพงมินิมอนิเตอร์คู่นี้ได้ยาก กับความลงตัวทั้งดุลเสียงและการถ่ายทอดสุนทรียะ
– มีโฟมอุดท่อเบสสำหรับใช้ไฟน์จูนเสียงความถี่ต่ำกรณีที่ต้องวางลำโพงชิดผนังหลัง
– ขั้วลำโพงไบดิ้งโพสต์แบบซิงเกิลไวร์ ยึดสายลำโพงได้มั่นคงแน่นหนา รับสายลำโพงหน้าตัดใหญ่และมีน้ำหนักได้สบาย
– เป็นผลงานฉลองครบรอบ 50 ปี ที่ไม่ผิดหวัง อาจมิใช่ลำโพงที่เสียงดีที่สุด แต่สมควรแก่การเป็นผลงานเลอค่าประดับวงการไฮไฟที่เหมาะแก่การเป็นเจ้าของยิ่ง

by ชานม !
2015-09

ราคา KEF LS50 (Promotion)
52,600.-