07 Nov 2017
Review

รีวิวชุดลำโพง KEF Q Series 2017 อัพเกรดใหม่หมดจด แต่ยังคงเอกลักษณ์ต้นตำรับ Uni-Q


  • lcdtvthailand

Hi-Fi Speakers

KEF Q Series

เป็นชุดลำโพงอีกหนึ่งซีรีส์ที่มีการปรับเปลี่ยนพัฒนาการออกแบบ แต่ยังคงเสียงที่เป็นเอกลักษณ์และชื่อชั้นที่ทำให้เชื่อมั่นได้ในคุณภาพ แบกเอาไว้ในนามของ KEF Q Series ตลอดการเดินทางกว่า 2 ทศวรรษจากเจเนเรชั่นแรกของซีรีส์นี้ในปี 1991 จวบจนปัจจุบันปี 2017 ซึ่งนับเป็นเจเนเรชั่นที่ 8 แล้ว ชุดลำโพง KEF Q Series รุ่นปี 2017 จะมีทั้งหมด 6 รุ่น ดังนี้….

– ลำโพงตั้งพื้น มี 3 รุ่น ด้วยกัน ได้แก่ Q950, Q750 และ Q550
– ลำโพงวางหิ้งมี 2 รุ่น ได้แก่ Q350 และ Q150
– สุดท้ายคือ ลำโพงเซ็นเตอร์ รุ่น Q650c

**** ชมราคาและโปรโมชั่นได้ที่ท้ายรีวิวในหน้า 2 ****

ท่านใดที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของชุดลำโพง KEF Q Series น่าจะสังเกตเห็นกันว่าซีรีส์ประจำปี 2017 นี้ จะไม่มีซับวูฟเฟอร์อยู่ในชุด ยังเป็น Q400b ซับวูฟเฟอร์โมเดลเดิมของเจเนเรชั่นก่อนหน้า (**อััพเดทล่าสุด KEF Q Series ได้ปล่อยลำโพงรุ่นใหม่ ชื่อรุ่นว่า Q50A เป็นลำโพง Atmos-Enabled Speaker สำหรับยิงเสียงสะท้อนเพดาน) โดยชุดลำโพงที่จะทำการรีวิวกัน ประกอบด้วย ลำโพงตั้งพื้นรุ่น Q750, ลำโพงวางหิ้งรุ่น Q350 และลำโพงเซ็นเตอร์รุ่น Q650c

ซีรีส์นี้ยังคงเอกลักษณ์ของ KEF ไว้อย่างเต็มเปี่ยม ด้วยการนำดอกลำโพง Uni-Q ที่มีจุดเด่นในเรื่องการถ่ายทอดเสียงพูดได้อย่างเป็นธรรมชาติ ออกแบบให้ทุกย่านเสียงออกมาจากจุดกำเนิดเดียวกัน ได้ย่านเสียงที่กลมกลืนเสมือนการพูดออกจากปากนั่นเอง แต่แน่นอน รุ่นใหม่แบบนี้ ก็ต้องมีพัฒนาการที่ทันสมัย ลดจุดบกพร่อง ซึ่ง KEF Q Series ประจำปี 2017 จะมีสุ้มเสียงแบบไหน และยังให้ความคุ้มค่าคุ้มราคาดั่งที่เคยทำไว้ในอดีตหรือไม่ เชิญรับชมรีวิวกันเลย…

Design – การออกแบบ

รูปลักษณ์ของรุ่นปี 2017 นั้น ค่อนข้างแตกต่างจากรุ่นก่อนหน้าพอสมควร เดิมที่ให้ความเรียบหรู ปัจจุบันกลับดูโมเดิร์น เข้าถึงได้ง่ายทุกเพศทุกวัย รวมถึงทุกสไตล์การตกแต่งห้อง รุ่นนี้มี 2 สี ได้แก่ สีดำ และ สีขาว ทุกโมเดลออกแบบให้เป็นทรงสี่เหลี่ยมเรียบง่าย ไร้ลวดลาย มีป้ายโลโก้ KEF ติดอยู่ที่ขอบด้านบนของตัวตู้ลำโพง

ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน เข้าได้กับทุกการตกแต่งห้อง !

ตัวลำโพงตั้งพื้นรุ่น Q750 เป็นลำโพงไซส์กลาง มีความสูงประมาณ 92 ซม. หน้ากว้างและความลึกประมาณ 21 x 30 ซม. มีดอกลำโพงจำนวน 4 ดอก แบ่งเป็นดอกลำโพงอะลูมิเนียม Uni-Q ขนาด 6.5 นิ้ว จำนวน 1 ดอก ถัดมาดอกลำโพง ABR (Auxiliary Bass Radiator) ขนาด 6.5 นิ้ว จำนวน 2 ดอก และปิดท้ายด้วยดอกลำโพง LF (ย่านเสียงต่ำ) ขนาด 6.5 นิ้ว อีก 1 ดอก ช่องต่อเป็นแบบซิงเกิลไวร์ ได้รับการเคลือบทองอย่างดี

ฐานรับการติดตั้งมีความแข็งแรงสูง พร้อมมีสไปค์มาให้ในชุด

ตู้ลำโพงของรุ่นนี้ได้รับการออกแบบพิเศษ ดีไซน์เป็นตู้แบบปิด มีการคั่นตัวตู้ แยกพื้นที่ภายในตัวตู้ของดอกลำโพง Uni-Q และดอกลำโพงอื่นๆ ออกเป็นสัดส่วน เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนกัน ซึ่งดอกลำโพง LF เองก็ได้ปรับปรุงโครงสร้างใหม่ พัฒนาให้เสียงเบสที่ชัดสะอาดไร้เสียงรบกวนจากตัวไดอะแฟรมเอง แม้อยู่ในระดับความดังสูง ขอบเซอร์ราวด์ของดอกลำโพงก็ถูกขยายใหญ่ขึ้นเล็กน้อย ให้ความยืดหยุ่นต่อการขยับเข้าออกสูง ได้ช่วงระยะมากกว่าเดิม โครงสร้างภายในถูกทำให้แข็งแรง รองรับการขยับของไดอะแฟรม ช่วยพยุงไม่ให้เคลื่อนจนเกิดความเพี้ยน

ประกบคู่ด้วยดอกลำโพง ABR มีการปรับปรุงคล้ายกับดอกลำโพง LF วัสดุหลักจะเป็นยาง ทำหน้าที่ควบคุมมวลเสียง ผลักเสียงย่านต่ำกระแทกกระทั้นได้หนักหน่วงกว่ารุ่นก่อนหน้า ที่ใช้วัสดุบางส่วนเป็นผ้าแล้วขอบเซอร์ราวด์ที่แคบกว่า ดอก ABR ของรุ่นนี้จึงปลดปล่อยการขยับขยายดอกลำโพงได้นิ่มนวลและดีกว่า ผสานกับเข้ากับเสียงจาก Uni-Q ได้อย่างเป็นธรรมชาติ

โครงสร้างภายในตู้ลำโพงของรุ่น Q750

ดอกลำโพง Uni-Q เองก็ได้รับการปรับปรุงเช่นกัน บางท่านอาจสงสัยว่าดอกลำโพงแบบ Uni-Q คืออะไร? มีชื่อเรียกเต็มๆ ว่า Uni-Q Driver Array อธิบายง่ายๆ คือ ดอกลำโพงที่เกิดจากการคิดค้นของทาง KEF ด้วยความต้องการถ่ายทอดเสียงให้ใกล้เคียงกับเสียงพูดจริงๆ มากที่สุด จึงนำทวีตเตอร์มาติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางของมิดเรนจ์วูฟเฟอร์ที่ให้เสียงย่านกลาง เกิดความกลมกลืนของเสียง ที่มีความถี่ครบทุกย่าน ออกมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน ดังเสียงพูดปกติที่ไม่ได้มีแค่ย่านกลางเพียงย่านเดียว และให้ความเที่ยงตรงสูง

ส่วนรูปนี้คือโครงสร้างดอกลำโพง Uni-Q พระเอกของงานนี้เลย

ซึ่งดอกลำโพง Uni-Q ของ Q Series 2017 ใช้วัสดุหลักเป็นอะลูมิเนียม ทั้งตัวทวีตเตอร์และไดอะแฟรม ทวีตเตอร์มีขนาด 1 นิ้ว ครอบทับด้วย Tangerine Waveguide มีลักษณะเป็นโดมกลีบเกลียว ช่วยกระจายเสียงย่านความถี่สูงให้เหมาะสม นอกจากนี้ยังเปลี่ยนรูปทรงท่อยางแดมป์ (Damped Tweeter Loading Tube) จากเดิมที่เป็นท่อทรงกระบอกตรงๆ กลายเป็นทรงลิ่ม (ตามภาพด้านล่าง) เพื่อสลายคลื่นเสียงที่เกิดขึ้นด้านหลังทวีตเตอร์ได้ดีขึ้น

ท่อแดมป์เสียงด้านหลังทวีตเตอร์

ส่วนขอบเซอร์ราวด์ Z-Flex ที่มีลักษณะเป็นจีบทำมาจากยาง ซึ่งออกแบบให้ขอบเซอร์ราวด์รุ่นนี้บางกว่าดอกลำโพง Uni-Q ในรุ่นอื่นๆ มาก แค่สัมผัสเบาๆ ก็รู้ทันทีว่าบางแค่ไหน แต่กลับกัน ยังคงความแข็งแรงสูง เพื่อรองรับการกระพือเข้าออกของไดอะแฟรม เหมือนกับดอกลำโพง LF ให้ยืดหดเข้าออกได้มากกว่าเดิม รวมถึงมีน้ำหนักเบากว่าเดิมด้วย

ให้มากกว่าการฟังก็รูปลักษณ์สวยๆ นี่แหละ สวยงามจนมิอาจละสายตาได้

ถัดมาที่ลำโพงวางหิ้งกันบ้าง กับรุ่น Q350 รุ่นนี้เห็นได้ชัดเจนว่าหน้าตาเปลี่ยนไปจากรุ่นปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก เดิมที่ดอกลำโพงถูกติดตั้งอยู่ส่วนบนทางด้านหน้าตู้ ส่วนท่อคายเสียงจะอยู่ส่วนล่าง ทั้งหมดถูกย้ายตำแหน่งใหม่ ดอกลำโพง Uni-Q ขนาด 6.5 นิ้ว ถูกติดตั้งอยู่ที่กึ่งกลางด้านหน้าตัวตู้ แล้วขยับท่อคอเสียงมาอยู่ส่วนบนของด้านหลังตู้ลำโพง ซึ่งท่อคายเสียงนี้ก็ปรับปรุงบริเวณปลายท่อทั้ง 2 ฝั่ง จากเดิมที่เป็นกระบอกตรงๆ ให้ค่อยๆ บานออกเหมือนปากโถแจกัน เพื่อคายมวลที่เกิดจากการขับเสียงภายในตัวตู้ได้ไหลลื่น ลดความผิดเพี้ยนลง

ขนาดลำโพง 35.8 x 21 x 30.6 ซม. น้ำหนักอยู่ที่ 7.6 กก. เลยทีเดียว
ช่องต่อซิงเกิลไวร์ชุบทองปราณีตสวยงาม มีความแข็งแรงแน่นหนา

ลำโพงเซ็นเตอร์ Q650c มีดีไซน์เป็นตู้ปิด ขนาดค่อนข้างใหญ่กว่าลำโพงเซ็นเตอร์ทั่วไป อยู่ที่ 21 x 62.9 x 30.4 ซม. (ความสูง x ความกว้าง x ความลึก) น้ำหนักประมาณ 13.6 กก. แนะนำท่านใดที่สนใจ ควรจะวัดพื้นที่การจัดวางสำหรับ Q650c ให้ดี ตัวตู้ได้รับการติดตั้งดอกลำโพง Uni-QLF และ ABR อย่างละดอก ทั้งหมดมีขนาด 165 มม. ขนาดเท่ากับดอกลำโพงชองรุ่นอื่นๆ ในซีรีส์นี้เลย

ลำโพงเซ็นเตอร์ไซส์บึ้ม ชวนจินตนาการถึงพลังเสียงว่าจะระเบิดออกมาได้เพียงไหน…
ชมกันชัดๆ ช่องต่อด้านหลังมีความละเอียดแน่นหนามากแค่ไหน