01 Jan 2014
Review

รีวิว !!! LCDTVTHAILAND HDMI เส้นสายกลในนี้… เพื่อปวงประชา ?


  • ชานม

High Speed with Ethernet HDMI Cable

LCDTVTHAILAND Reference HDMI

เส้นสายกลในนี้… เพื่อปวงประชา ?

หลังจากที่ได้ทราบข่าวการมาของสาย HDMI จากทาง LCDTVTHAILAND ผมจึงได้สอบถามข้อมูลกับทางทีมงานว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ก็ได้ความว่า… จุดเริ่มต้นของสาย HDMI เส้นนี้มาจากการที่ทีมงาน LCDTVTHAILAND จำเป็นต้องหาสาย HDMI มาใช้เองสำหรับการทดสอบทีวี แน่นอนว่าคุณภาพจะต้องได้มาตรฐานจึงจะสามารถนำมาใช้อ้างอิงผลลัพธ์ในการทดสอบทีวีได้ ทั้งนี้ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา สาย HDMI เส้นนี้ถูกนำมาใช้ในการทดสอบของทางเว็บโดยตลอด มันจึงกลายเป็นที่มาของชื่อ LCDTVTHAILAND Reference HDMI ซึ่งก็ดังแบบเงียบ ๆ อยู่ในเว็บมาพักหนึ่ง จากผู้ที่ติดตามรีวิวจากทางเว็บแล้วอยากจะหาสาย HDMI ไปใช้บ้าง ทางทีมงาน ฯ จึงสั่งทำพิเศษเพื่อแจกจ่ายสนองความต้องการสาย HDMI ที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ขณะที่รูปลักษณ์ภายนอกก็ดูดี ในราคาสมเหตุสมผล…

บัดนี้เมื่อมันมาอยู่ตรงหน้าผม ก็ต้องพิสูจน์กันหน่อยละว่ามาตรฐานการผลิตจะสามารถใช้ “อ้างอิง” ได้ อย่างที่ว่าหรือไม่ ? ถึงแม้นี่จะเป็นการรีวิวเกี่ยวกับเส้นสาย แต่งานนี้ไม่มี “เล่นเส้น” แน่นอน…! แต่ก่อนจะไปว่ากันถึงเรื่องของประสิทธิภาพจากการทดสอบใช้งานสาย HDMI เส้นนี้ ผมคงต้องขอเกริ่นถึงรูปแบบการเชื่อมต่อสำหรับมาตรฐานไฮเด็ฟรูปแบบนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกันก่อนสักเล็กน้อย เพราะเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญอันเกี่ยวเนื่องถึงศักยภาพการใช้งานสาย HDMI (ซึ่งรวมไปถึงระบบฮาร์ดแวร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง) อันจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านอย่างแท้จริง

HDMI Connectors ลักษณะต่าง ๆ ทั้งนี้ Type A เป็นรูปแบบที่พบเห็นคุ้นเคยมากที่สุด (เนื่องจากเป็นมาตรฐานสำหรับอุปกรณ์โฮมเธียเตอร์) ส่วน Type C, D (ซึ่งดูเผิน ๆ อาจสับสนกับ Micro USB ได้) เป็นรูปแบบขนาดเล็กสำหรับอุปกรณ์พกพาขนาดเล็ก

HDMI หรือ High-Definition Multimedia Interface คือ มาตรฐานการเชื่อมต่อสัญญาณระบบภาพ และเสียง ในระบบดิจิทัล ที่มีบทบาทสำคัญมากในระบบโฮมเธียเตอร์ยุคนี้ ซึ่งเรียกว่าเป็นยุคของ High-Definition (HD) Content ทั้งนี้ HDMI เป็นผลของการพัฒนาเปลี่ยนแปลง หรือจะเรียกว่าปฏิวัติมาตรฐานระบบความบันเทิงในบ้านให้สูงขึ้นจากมาตรฐาน Standard Definition (SD) ยุคก่อน ที่มีความละเอียดต่ำ (ตอนนี้ที่อื่นเขาทยอยปรับเปลี่ยนเลิกใช้กันแล้ว แต่บ้านเราก็ยังคงใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เพราะไม่มีทางเลือก ฮา) ซึ่งผลลัพธ์จากมาตรฐาน HD ในวันนี้ เชื่อว่าผู้ใช้ทุกท่านคงสัมผัสได้อย่างชัดเจนแล้วถึงคุณภาพของภาพที่คมชัดขึ้น อันเป็นผลมาจากรายละเอียดภาพ (Resolution) ที่สูงขึ้นกว่าเดิมถึงกว่า 6 เท่าตัว (เปรียบเทียบจำนวนพิกเซลตามมาตรฐาน HD 1080p กับ SD 480p)

ภาพจำลองเปรียบเทียบรายละเอียดของภาพ ระหว่างมาตรฐาน HD และ SD อย่างไรก็ดีในสภาพความเป็นจริงจะพบว่านอกเหนือจากประเด็นเรื่องของรายละเอียด (Resolution) ของภาพแล้ว ยังมีประเด็นเรื่องของน้อยส์ หรือ artifacts ที่ลดทอนคุณภาพของภาพ อันเกิดจากกระบวนการบีบอัดสัญญาณจากมาตรฐาน SD ทั้งนี้มาตรฐานแบนด์วิธที่สูงขึ้นของระบบ HD มีส่วนช่วยลดทอนปัญหาในจุดนี้ลงด้วย 

ย้อนกลับไปในช่วงแรกที่ผู้ผลิตนำเสนอมาตรฐาน HD สู่ตลาดนั้น ออกจะเน้นในเรื่อง “ภาพที่คมชัด” รายละเอียดสูงขึ้นเป็นหลัก แต่ประเด็นนี้เพียงอย่างเดียวก็ดูจะไม่สร้างแรงกระตุ้นให้เกิดอิมแพ็คจนผู้ใช้ยอมปรับเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานใหม่นี้อย่างถล่มทลายเท่าที่ควร ผู้ผลิตจึงได้เพิ่มเติมในเรื่องของมาตรฐาน “คุณภาพเสียง” ที่ดีขึ้นกว่าเดิมเข้ามาด้วย ซึ่งมาตรฐานระบบเสียงใหม่ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดจากรูปแบบออดิโอฟอร์แม็ตเดิม ๆ ที่ต้องผ่านการบีบอัดสัญญาณ (Lossy Compressed) สู่มาตรฐานใหม่ (ระบบเสียง Hi-Res PCM/DSD และ Lossless – TrueHD) ที่ถ่ายทอดรายละเอียดเสียงได้ชัดเจน อันเป็นผลจากการรองรับมาตรฐาน Audio Bit Depth และ Sampling Frequency ที่สูงขึ้น ทั้งยังผลให้ช่วงอัตราการตอบสนองความถี่ และไดนามิกเรนจ์กว้างขึ้น ผู้ฟังจึงได้อรรถรสที่สมจริงสมจังมากยิ่งขึ้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในเมื่อข้อมูลมีรายละเอียดสูงขึ้น ปริมาณข้อมูลย่อมต้องเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา นี่ถือเป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่ามาตรฐานฮาร์ดแวร์แบบเดิม ๆ ไม่สามารถรองรับในจุดนี้ได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยน ตั้งมาตรฐานกันขึ้นมาใหม่ ซึ่งรวมไปถึงมาตรฐานการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างอุปกรณ์เหล่านั้น ซึ่งก็คือสายเคเบิลด้วย นี่จึงเป็นที่มาของ HDMI Standard ทั้งนี้การอ้างถึง HDMI Standard นั้น เป็นการกล่าวถึงอุตสาหกรรม HD Consumer Electronics ในภาพรวม กล่าวคือ เป็นมาตรฐานที่ใช้กำหนดอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ทั้งต้นทาง (เพลเยอร์) และ ปลายทาง (AVR, จอภาพ) รวมไปถึงอุปกรณ์ประกอบอย่างสายสัญญาณ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องในระบบ (HDMI System)