20 Aug 2021
Review

รีวิว LG 65G1 4K OLED evo วิวัฒนาการระดับตัวท็อป พร้อมดีไซน์ Gallery สุดหรู


  • ชานม

ภาพ

พื้นฐานของ LG OLED evo และ OLED เดิม ก็ยังคงเป็น “WRGB OLED Panel” เหมือนเดิม… ทั้งนี้ความแตกต่างจะแยกแยะได้จากโครงสร้างภายใน

OLED evo ได้รับการปรับปรุงจุดใด จึงได้ศักยภาพสูงขึ้น ?

WRGB OLED Panel ประกอบขึ้นจากชั้น (Layer) ของตัวนำไฟฟ้าและสารเรืองแสง (B, R, YG, B) ขนาดบางเฉียบ นำมาซ้อนกันจนได้แหล่งกำเนิดแสงขาวที่สามารถปรับความสว่างและปิดแสงได้มืดสนิท เมื่อผ่านแม่สี RGB Color Filter แยกไปแต่ละ Subpixel ก็จะได้แสงสีจุดเล็ก ๆ ประกอบกันขึ้นเป็นภาพใหญ่บนจอ

ชั้น (Layer) ของตัวนำไฟฟ้าและสารเรืองแสงที่ว่านี้ ทาง LG พบว่า (1) หากเพิ่มชั้นเรืองแสงสีเขียว (Green emitter) เข้าไป (กลายเป็น B, R, YG+G, B) จะได้ระดับความสว่างสูงขึ้น

(2) เสริมด้วยการปรับเปลี่ยนสารประกอบในส่วนของชั้นเรืองแสงสีแดงและสีน้ำเงิน (Red & Dual Blue emitters) ส่งผลให้ได้ส่วนผสมของแสงขาวที่มีความยาวคลื่นแคบลง (Narrow Wavelength) ซึ่งใกล้เคียงแหล่งกำเนิดแสงตามอุดมคติมากขึ้น อันมีส่วนช่วยให้การแสดงขอบเขตสีขยายครอบคลุมกว้างขวางมากยิ่งขึ้นได้… นี่คือที่มาของ OLED evo !

*อ้างอิงกับโหมดภาพที่ให้ระดับความสว่างสูงที่สุด

ผลการทดสอบใช้งานจริงของทีมงานพบว่า หากทำการเทียบ G1 (OLED evo) กับรุ่น C1 (OLED) ที่วางจำหน่ายช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ยืนยันว่า G1 “สว่างกว่า” โดยเฉพาะเมื่อรับชม HDR content

นอกจากนี้ผลกระทบจาก ABL (Auto Brightness Limiter) ที่เป็นข้อจำกัดของเทคโนโลยี OLED ก็ลดน้อยลง ความสว่างที่ 100% Full Pattern ทำได้สูงกว่า C1 แบบที่สังเกตได้ไม่ยาก ผลคือ G1 ให้ภาพที่มีคอนทราสต์เจิดจรัสเตะตากว่าในหลายสถานการณ์ โดยเฉพาะฉากสว่างหรือซีนกลางแจ้ง

มาดูความเที่ยงตรงสีสันของโหมดภาพต่าง ๆ กันบ้าง โหมดภาพของ G1 ที่เหมาะกับรับชม SDR Content มี 4 โหมด ต่างกันที่ Cinema/ISF Expert Bright เหมาะใช้งานในห้องรับแขกสภาพแสงทั่วไป, ISF Expert Dark ความสว่างจะเพลาลงกว่า 2 โหมดข้างต้นเล็กน้อย เหมาะกับสภาพแวดล้อมที่มีแสงรบกวนไม่มากนัก และ Filmmaker Mode เหมาะกับห้องที่จัดการกับแสงรบกวนได้เบ็ดเสร็จ หรือรับชมในเวลากลางคืน

– SDR –

อย่างไรก็ดีกรณีที่จะใช้งานโหมดภาพ Cinema/ISF Expert Bright รับชมกับสภาพห้องทั่วไป อาจติดดำจมอยู่สักหน่อย การแยกแยะรายละเอียดในส่วนมืด (Shadow Details) จะทำได้ยาก แต่ก็แก้ไขได้ง่าย ๆ สำหรับรุ่นนี้ คือ ชดเชย Screen Brightness ขึ้นสัก +3 ถึง +5 และหากต้องการเร่งความสว่างโดยรวมให้สูงขึ้นเพื่อสู้แสง สามารถปรับที่ตัวเลือก OLED Light เพิ่มได้อีกเล็กน้อย

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล SDR Calibration Report>

65G1 ตัวที่ทำการทดสอบ พบว่า โหมดภาพ Cinema มีความเที่ยงตรงของสีสันดีที่สุด อุณหภูมิสีเฉลี่ยอยู่ที่ราว 6484K ค่าความผิดเพี้ยนสมดุลแสงขาวเฉลี่ย (Grayscale Avg dE) ต่ำเพียง 2.6 ขอบเขตสีก็ทำได้เที่ยงตรงอิงมาตรฐาน Rec.709 ค่าความผิดเพี้ยน (Color Space Avg dE) ดีมากเพียง 1.9 การใช้งานตามบ้านอาจไม่จำเป็นต้องปรับภาพเพิ่ม (นอกจากชดเชย Screen Brightness กับห้องที่ไม่ได้คุมแสงรบกวน)

ถึงกระนั้นหากปรับภาพเชิงลึกก็ย่อมจะให้ความเพอร์เฟกต์ยิ่งกว่า ค่าความผิดเพี้ยนสมดุลแสงขาว (Grayscale Avg dE) ลดต่ำลงมาเหลือเพียง 0.6 เท่านั้นเอง ส่วนค่าความผิดเพี้ยนสี (Color Space Avg dE) จะลดลงเหลือเพียง 0.9

Rec.709 Color Checker หลังดำเนินการปรับภาพ ก็ให้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยม ค่าความผิดเพี้ยนสีโดยรวมแบบเฉลี่ย (Saturation Avg dE) ที่ 0.9 (Max dE = 2) จะใช้อ้างอิงทำงานกราฟิก-ตัดต่อวิดีโอ แทนมอนิเตอร์ก็สามารถทำได้

– HDR –

การแสดงผล HDR รุ่น 65G1 รองรับมาตรฐาน Static HDR ทั้ง HDR10 และ HLG ส่วน Dynamic HDR รองรับมาตรฐาน Dolby Vision โดยสามารถให้ระดับความสว่าง HDR Peak Brightness (10% Window) ที่ 876 nits ในโหมด Dynamic ขณะที่โหมดความเที่ยงตรงสูงอย่าง Cinema/Filmmaker ความสว่างจะเพลาลงมาอยู่ที่ 819 nits

<กดที่ Tab ด้านบน เพื่อดูผล HDR Calibration Report>

ความเที่ยงตรงของสีสัน HDR ในโหมด Filmmaker ของ 65G1 นับว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก (Grayscale Avg dE 2.6, Colorspace Avg dE 2.3) ส่วนขอบเขตสี HDR Color Space ทำได้ครอบคลุม 97.94/99.03% ของมาตรฐาน DCI-P3 (xy/uv) หรือเทียบเท่า 70.53/73.56% Rec2020 (xy/uv)

อย่างไรก็ดี หากใช้งานในห้องที่มีแสงรบกวน ควรชดเชย Screen Brightness ขึ้นเล็กน้อย (เช่นเดียวกับที่แนะนำให้ทำกับโหมดภาพ SDR) จะช่วยให้การแยกแยะรายละเอียดส่วนมืด (Shadow Dteails) ทำได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

และเช่นเคย ว่าหลังปรับภาพ HDR ในโหมด Cinema/Filmmaker ให้ความเที่ยงตรงยอดเยี่ยม (Grayscale Avg dE 0.7, Colorspace Avg dE 1.1) ความสว่าง HDR Peak Brightness จะลดลงอยู่ที่ 760 nits

แม้ความดำระดับ Perfect Black จะทำได้ดีไม่ต่างกับ C1 แต่ด้วยความสว่างที่สูงกว่าของ G1 จึงขับเน้นแสงสีและระดับคอนทราสต์ได้โดดเด่นขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง

กรณีที่รับชม Dolby Vision HDR จะไม่มี Filmmaker Mode แต่สามารถเลือกใช้โหมดที่ให้สีสันเที่ยงตรงอย่าง DV Cinema หรือ DV Cinema Home ก็ได้ ความต่างคือ DV Cinema Home จะชดเชย Highlight/Shadow Details ให้เหมาะกับห้องที่มีแสงรบกวนมากกว่า

กรณีที่รู้สึกว่าภาพ Dolby Vison จ้าเกินไป ดูแล้วแสบตาในบางสภาพห้อง สามารถใช้คุณสมบัติ “Dolby Vision IQ” ระบบ AI และเซนเซอร์วัดแสงของทีวี จะปรับระดับความสว่างของภาพให้อัตโนมัติอิงตามสภาพแสงแวดล้อม สามารถเปิดใช้งานได้ที่ตัวเลือก General > AI Service > AI Brightness Settings

ตัวเลือก TruMotion ระบบแทรกเฟรมภาพเคลื่อนไหว รุ่นปี 2021 มีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยโดยเพิ่มตัวเลือก “Cinematic Movement” เข้ามา (ระดับการแทรกเฟรมต่ำ เน้นความเป็นต้นฉบับ) แต่ยังสามารถปรับระดับการแทรกเฟรมเองได้ผ่านตัวเลือก User Selection