11 Jul 2014
Review

สมศักดิ์ศรีนวัตกรรมจอภาพที่ออกมาฆ่า พลาสมาและแอลซีดี แอลอีดี ทีวี !!! รีวิว LG 55EA9800 Curved OLED TV


  • ชานม

เพิ่งเปิดตัวไปอย่างยิ่งใหญ่กับ LG “Curved OLED TV” ซึ่งถึงแม้การได้สัมผัสกับนวัตกรรมทีวีใหม่แบบตัวเป็นๆ ในครั้งนี้ (ที่พร้อมให้ซื้อหากันได้ด้วย) จะช้ากว่าชาวบ้านในประเทศโลกที่หนึ่งอยู่บ้าง แต่นี่ก็นับว่าเร็วมากแล้วครับสำหรับบ้านเรา และแน่นอนว่า LG จัดก่อนเป็นเจ้าแรก และทีมงาน LCDTVTHAILAND ก็จัดมารีวิวอย่างเร็วเช่นกัน เรียกว่าเสร็จแบบทันท่วงที ก้นยังไม่หายร้อน (โดนไฟลน)

อันที่จริงเทคโนโลยี OLED ไม่ถึงกับเป็นเรื่องใหม่อะไรนัก เพราะที่ผ่านมาผู้ผลิตทีวีหลายเจ้าก็นำตัวต้นแบบออกมาโชว์ศักยภาพให้เห็นกันสักระยะหนึ่งแล้ว และถ้าว่ากันในตลาดคอนซูเมอร์ เราก็ได้สัมผัสใช้งาน OLED Display บน Smart Phone กันตั้งหลายรุ่น ถึงกระนั้นนี่ถือเป็นครั้งแรกกับ OLED TV ที่พร้อมวางขายในบ้านเราให้ได้สัมผัสรับชมตัวเป็นๆ อย่างเป็นทางการ เมื่อจัดมาเราก็ต้องพิสูจน์กันหน่อยว่า นวัตกรรมทีวีที่วางตัวมาเพื่อ “ฆ่า” Plasma และ LCD/LED TV นี้ ทำได้สมศักดิ์ศรีดังที่เคลมไว้หรือไม่…

แต่ก่อนอื่นมาดูกันสักนิดว่า OLED คืออะไร แตกต่างจากมาตรฐานจอทีวีที่ใช้งานในปัจจุบันอย่างไรบ้าง? 

เปรียบเทียบเทคโนโลยี OLED กับ LED/LCD (ภาพประกอบจาก lg.com)

จอภาพทุกชนิดประกอบไปด้วยเซลสร้างภาพขนาดเล็ก นำมาวางเรียงต่อกันเป็นภาพขนาดใหญ่ พื้นฐานเซลสร้างภาพก็คือแหล่งกำเนิดแสงสีขนาดเล็ก การจะแสดงภาพให้เห็นได้กระจ่างชัดเจนนั้น จะต้องให้ความสว่างได้ระดับหนึ่ง กรณีของ LCD/LED อาศัยแหล่งกำเนิดแสงจากไฟส่องด้านหลัง (Backlight Unit) แล้วใช้โครงสร้างผลึกเหลว (Liquid Crystal) เป็นตัวควบคุมปริมาณแสง เพื่อให้แสงจากไฟส่องด้านหลังผ่านไปยังฟิลเตอร์แม่สี (แดง-เชียว-น้ำเงิน) ตามต้องการ สีต่างๆ ที่แสดงนั้น ก็เกิดจากปริมาณแสงที่ผ่านฟิลเตอร์แม่สีทั้ง 3 นี้นี่เอง

หมายเหตุ * : ทั้ง LCD TV และ LED TV ต่างก็ใช้พื้นฐานเทคโนโลยีการแสดงภาพตามลักษณะข้างต้น คือ อาศัยแสงจากไฟส่องด้านหลัง และใช้ผลึกเหลวควบคุมแสงที่ผ่านฟิลเตอร์แม่สีเหมือนกัน แต่ต่างกันตรงชนิดของไฟส่องด้านหลัง โดย LCD ใช้หลอดไฟส่องด้านหลังแบบ CCFL (Cold-Cathode Fluorescent Lamp) ในขณะที่ LED TV ใช้หลอดไฟส่องด้านหลังแบบ LED (Light-Emitting Diode) แต่เนื่องจากโครงสร้างที่ใช้ควบคุมระดับไฟส่องหลัง คือ อาศัย Liquid Crystal ที่เป็นเพียงชั้นบางๆ นั้น ไม่สามารถบังได้อย่างมิดชิด แสงบางส่วนจึงลอดผ่านมาได้ เกิดเป็นปัญหาแสงรั่ว (Backlight Leakage) อย่างไรก็ดีด้วยการปรับปรุงพัฒนาไม่หยุดนิ่งของผู้ผลิต เมื่อมาถึงยุคของ LED TV จึงอาศัยข้อได้เปรียบในเชิงกายภาพของหลอดไฟ LED ขนาดเล็ก ที่ให้อิสระในแง่ของตำแหน่งการติดตั้งหลังจอภาพ ดังนั้น LED Backlight Unit จึงสามารถแบ่งส่วนพื้นที่บนจอภาพเพื่อควบคุม เปิด ปิด ไปจนถึงหรี่ เป็นจุดๆ (Local Dimming) เพื่ออิงระดับแสงสว่างตามลักษณะภาพที่แสดงบนจอได้ ประสิทธิภาพในการควบคุมแสงส่องหลังของ LED TV (with Local Dimming) จึงดีกว่าเดิมมาก (เห็นได้ชัดโดยเฉพาะที่มากับรุ่น 4K) แต่อย่างไรในเรื่องของการควบคุมระดับสีดำ หรือ Black Level ก็ยังสู้ OLED ที่ทำได้ “มืดสนิท” ไม่ได้นะจ้ะ

หลักการทำงานของเซลสร้างภาพจาก Plasma TV นั้นต่างออกไป เนื่องจากมันสามารถเรืองแสงได้ด้วยตนเองไม่ต้องพึ่งไฟส่องด้านหลัง หลักการ คือ การประจุไฟฟ้าความต่างศักย์สูงผ่านขั้วไฟฟ้าจนอิเล็กตรอนเคลื่อนตัวกระทบกับอานุภาคของก๊าซที่บรรจุอยู่ภายในเซล กระบวนการดังกล่าวก่อเกิดเป็นพลังงานที่ทำให้สารเรืองแสง (phosphor) ที่ฉาบไว้บนผิวของเซลเม็ดสีเรืองแสงขึ้นมา ซึ่งการที่ต้องประจุไฟที่ความต่างศักย์สูงเพื่อให้อิเล็กตรอนเคลื่อนตัวนั้นใช้พลังงานมาก อีกทั้งผลลัพธ์ส่วนหนึ่งของกระบวนการจะก่อเกิดเป็นรังสีอินฟราเรดขึ้น จึงสามารถสัมผัสถึงไอร้อนที่แผ่ออกมาจากจอ Plasma TV ได้

จุดเด่นประการสำคัญของ OLED หรือ Organic Light Emitting Diode ที่เหนือกว่า LCD/LED คือ เซลสร้างภาพของ OLED สามารถเปล่งแสงได้ด้วยตนเอง (คุณสมบัตินี้คล้ายคลึงกับเซลสร้างภาพของ Plasma TV) และเมื่อไม่ต้องพึ่งไฟส่องด้านหลัง (Backlight) เนื่องจากเซลสร้างภาพควบคุมการเรืองแสงได้อิสระ จะเปิด ปิด หรือหรี่ระดับใดก็ได้ เมื่อไม่มีไฟส่องหลัง เซลสร้างภาพก็ปิดการเรืองแสงได้ และโดยศักยภาพนั้นสามารถพูดได้เลยว่า การควบคุมเปิดปิดแสงของ OLED TV ทำได้ดีกว่าเจ้าแห่งความดำในปัจจุบันอย่าง Plasma TV เสียอีก เนื่องจากในขณะที่เซลอยู่ในสถานะ “ปิด” (pre discharge) Plasma จะยังมีแสงเรืองๆ อยู่บ้าง ทว่า OLED นั้น “มืดสนิท” จริงๆ ส่วนการให้ระดับความสว่างนั้นไม่ต้องพูดถึง เรียกว่าเทียบเท่า LED TV ที่มีไฟส่องหลังเลย ในขณะที่ไม่ต้องใช้พลังงานสูงและไม่สร้างความร้อนมากเหมือน Plasma 

หากเปรียบเทียบเทคโนโลยี OLED ด้วยกัน ระหว่างรูปแบบที่ LG พัฒนาขึ้น กับ OLED TV ทั่วไป จะพบว่าแตกต่างกัน โดยในส่วนของ OLED TV ทั่วไป จะจัดวางโครงสร้างของ OLED ทำหน้าที่เปล่งแสงแยกกันสำหรับแต่ละแม่สีเพื่อการสร้างภาพโดยตรง ซึ่งเป็นวิธี (ตรงๆ) ที่เรียบง่ายและให้ผลลัพธ์ที่ดี ทว่าด้วยข้อจำกัดของอายุการใช้งาน โดยเฉพาะเซลสีน้ำเงิน (ที่จะถูกใช้งานถี่กว่า) จะมีอายุสั้นกว่าเซลสีอื่น นี่ย่อมจะส่งผลในเรื่องของความเสื่อมของเซลสร้างภาพ และกระทบกับความเที่ยงตรงในการแสดงสีของจอภาพในระยะยาว ดังนั้นในจุดนี้ทาง LG ได้พัฒนาแนวทางขึ้นใหม่ แทนที่จะวาง OLED แยกเพื่อกำเนิดแสงสี RGB โดยตรง ก็จัดวางทั้งหมดซ้อนกันเสีย และให้ทั้ง 3 สี ทำหน้าที่พร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน เพื่อสร้างแสงสีขาวขึ้น วิธีนี้อายุการใช้งานเซล OLED ทั้ง 3 แม่สี ก็จะไม่มีการเหลื่อมล้ำกัน

จากนั้นแสงขาวจาก OLED จะผ่านชั้นของ Color Refiner ที่ทำหน้าที่เหมือนฟิลเตอร์กรองสีที่ต้องการอีกที แต่จุดที่พิเศษยิ่งขึ้นของ Color Refiner ของ LG นั้น นอกจากสีแดง เขียว และน้ำเงิน ยังเพิ่มในส่วนของ สีขาว มาด้วย (กลายเป็น WRGB) วิธีนี้ทาง LG อ้างว่านอกจากให้ Light Output ที่ดีกว่าแล้ว ผลลัพธ์ในแง่การแสดงเรนจ์สีก็กว้างกว่า และให้เฉดสีที่ถูกต้องเป็นธรรมชาติมากกว่า ประเด็นเหล่านี้ผมไม่ขอฟันธง เพราะยังไม่เคยทดสอบ OLED TV ยี่ห้ออื่น ที่ระดับใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ดีในส่วนของผลการทดสอบในเรื่องคุณภาพของภาพจาก LG OLED TV เครื่องนี้ เป็นอย่างไรบ้าง จะรายงานให้ทราบในเนื้อหาช่วงต่อๆ ไป

การออกแบบ

ปฏิเสธมิได้ว่าเรื่องของภาพนั้นโดดเด่น ท่วาเรื่องของความงามจาก OLED TV เครื่องนี้ก็ยากจะต้านทานมิให้หลงใหลเช่นกัน โดยในรุ่น EA9800/980V (ตัวเดียวกัน แต่เป็นเวอร์ชั่นที่ขายในแถบ EU) ตอกย้ำจุดนี้ด้วยดีกรีรางวัลระดับโลกทางด้านดีไซน์ เรียกว่าเหมามาทั้ง 2 สำนัก คือ reddot (German) และ EISA (EU)

กลับมาที่ดีไซน์ของ EA9800 กันต่อ จุดเด่นที่ดึงดูดสายตาเป็นอย่างมาก ไม่พ้นเรื่องของความโค้งเว้า อันมาจากความพยายามทำรูปทรงของทีวีให้รับกับมุมมองการรับชม เรียกว่าโค้งรับกับสายตานั่นเอง ในประเด็นนี้ถึงแม้ว่าการใช้งานจริงกับขนาดจอภาพ 55 นิ้ว ซึ่งไม่ใหญ่นัก จะไม่เห็นผลเท่าไหร่ แต่หากนำไประยุกต์ใช้งานโดยวางต่อกันในรูปแบบ “Multi Display” ย่อมจะสร้างบรรยากาศรายล้อมที่ต่อเนื่องสมจริงมากกว่าจอตรงๆ แบนๆ ทั่วไป แล้วเนียนมาวางโอบๆ ซึ่งทำยังไงก็ไม่ค่อยจะโอบเป็นธรรมชาตินัก ผิดกับ Curved OLED เครื่องนี้ ถึงแม้งบจะบานไปหน่อยก็เถอะ อ้อ นอกเหนือจากความโค้งรับกับสายตาแล้ว ยังทำมุมแหงนขึ้นเล็กน้อยราว 5 องศา (เทคนิคนี้คุ้นๆ นะ) เพื่อรับกับมุมมองรับชมด้วย

บางมาก

อีกสิ่งที่มาพร้อมกับ OLED คือ ความบาง (ยิ่งกว่า) ของจอภาพ อย่างรูปนี้เทียบความบางกับ iPhone 4 กันเห็นๆ เลยว่า OLED TV บางกว่าเกินครึ่งต่อครึ่งเลย ซึ่งส่วนที่บางที่สุดของ LG 55EA9800 OLED TV นั้น กว้างเพียง “4.5 มม.” เท่านั้น! เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มันบางขนาดนี้เพราะไม่จำเป็นต้องเผื่อโครงสร้างสำหรับหลอดไฟส่องหลัง (Backlight) ดังเช่นที่พบได้กับเทคโนโลยี LCD/LED และหากเทียบกับ Plasma ด้วยชั้นเลเยอร์ของเซลสร้างภาพที่ “เรียบง่ายกว่า” คือ โครงสร้างมีเพียงชั้นบางๆ ของ TFT (Thin-Film Transistor)/OLED/Refiner และ Polarized film layer (สำหรับ 3D Polarized) เท่านั้น จะบางกว่าก็ไม่แปลก

แต่ด้วยความบางขนาดนี้ ถ้าไม่มีโครงสร้างรองรับ จอมันคงอ่อนยวบยาบตั้งตรงไม่ได้ หรือไม่ก็ไม่แข็งแรงต่อการเคลื่อนย้าย และทนทานการใช้งาน ด้วยเหตุนี้ทาง LG จึงเลือกใช้วัสดุขั้นสูงที่นอกจากดูดี แข็งแรง ทว่าเบา สามารถดัดโค้งตามรูปทรงที่ต้องการได้ คือ CFRP (Carbon Fiber Reinforced Polymer) วัสดุเกรดเดียวกับที่ใช้งานกับรถและเครื่องบินนั่นแหละ ซึ่งใช้กับพื้นที่ด้านหลังจอทั้งหมด

โดยลักษณะของลวดลายคาร์บอนไฟเบอร์ก็ดูดีอยู่แล้ว เมื่อมากับผิวที่เรียบเงา ก็งามได้ใจอย่างมาก น้ำหนักของทีวีโค้งบางขนาด 55 นิ้ว เครื่องนี้ อยู่ที่ราว 17kg เท่านั้น
โลโก้ LG ด้านหน้า บริเวณกึ่งกลาง เรืองแสงได้
ซึ่งส่วนล่างนั้น จะเป็นตำแหน่งติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหว เพื่อใช้ ควบคุม ฟังก์ชั่นพื้นฐานของทีวี อาทิเปลี่ยนช่อง ปรับระดับเสียง เข้าเมนู ฯลฯ การใช้งานเพียงแค่สอดมือเข้าไป “สัมผัสเบาๆ” แล้วขยับมือเล็กน้อยในทิศทางที่ต้องการ ทีวีเครื่องนี้จึงไม่มีปุ่มวางเรียงรายให้จิ้มกด แต่ได้ “คลึงเคล้า” ส่วนนูนๆ นี่ก็ให้ความรู้สึกดีนะ (ฮา)
ในส่วนของฐานที่มีรูปทรงพลิ้วไหวสอดรับกับจอภาพแล้ว ด้วยลักษณะใสยังให้ความรู้สึกประหนึ่งเหมือนทีวีลอยอยู่บนอากาศ และที่พิเศษ คือ ในส่วนของระบบเสียงที่ติดตั้งกับฐานนี้ ยังมีลักษณะที่ใสเหมือนกันด้วย (รายละเอียดของเสียงจากลำโพงใสนี้ จะกล่าวถึงอีกครั้งช่วงรายงานคุณภาพเสียง)