5.1.2 ch High Resolution Audio Sound Bar with Dolby Atmos
LG SJ9
นับว่าเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นที่จะทดสอบมาก หากใครที่ได้ติดตาม HOMETHEATERTHAILAND มาพอสมควร คงจะเห็นแล้วว่าซาวด์บาร์ที่ทีมงานเคยรีวิวกัน ต่างก็มีความสามารถหลากหลาย มีฟีเจอร์ลูกเล่นให้ได้ ว้าว! เพียบ แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกของการรีวิวซาวด์บาร์ที่รองรับระบบเสียงทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ระบบเสียงเซอร์ราวด์ด้านสูง Dolby Atmos นั่นเอง
อย่างที่รู้กัน ปัจจัยหลักของการออกแบบซาวด์บาร์ ก็เพื่อสร้างเสียงที่มีมิติและความไพเราะในการฟังมากกว่าเสียงจากทีวี มีดีไซน์กะทัดรัด ตอบรับเข้ากับทีวีหรือพื้นที่ติดตั้ง ทั้งยังอัดฟีเจอร์การใช้งานทันสมัย อย่างที่ชุดลำโพงบางชุดอาจให้ไม่ได้ ซึ่งลำโพงซาวด์บาร์ที่จะรีวิวกันนั้น เป็นซาวด์บาร์รุ่นสูงสุดประจำปี 2017 และยังเป็นรุ่นแรกของ LG ที่รองรับ Dolby Atmos มีชื่อรุ่นว่า SJ9 จะตอบโจทย์การใช้งาน และให้ความคุ้มค่าได้มากน้อยแค่ไหน ทำความรู้จักและรับชมการทดสอบไปพร้อมๆ กันเลย
Design – การออกแบบ
ปกติแล้ว ซาวด์บาร์ส่วนใหญ่ของ LG จะมีรูปทรงเพรียวบางเป็นส่วนมาก มาในรุ่นนี้ค่อนข้างแปลกตาไปอยู่บ้าง เพราะมีขนาดค่อนข้างหนาใหญ่ ขนาดยาวถึง 47.24 นิ้ว ความหนา 5.71 นิ้ว และความสูงเพียง 2.28 นิ้ว เหมาะที่จะติดตั้งกับทีวีขนาด 55 นิ้วขึ้นไป ส่วนน้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 5.6 กก. ดีไซน์ขอบโค้งมน ไร้เหลี่ยม ไม่แข็งทื่อ
ตัวซาวด์บาร์เป็นพลาสติกผิวด้าน มีความแข็งแรงสูง ด้านขอบเป็นตะแกรง ส่วนฐานคั่นด้วยขอบอะลูมิเนียมเมทัลลิกสีเงิน เห็นครั้งแรกหลายท่านอาจดูคุ้นตา เพราะดีไซน์คล้ายกับฐานของ LG OLED TV อย่างรุ่น E7T เพิ่มความเรียบหรู ดูไม่จืดชืด ภายในตัวเครื่องบรรจุดอกลำโพงมิด/เบสและทวีตเตอร์โดม 20 มม. เอาไว้ ให้กำลังขับดอกละ 43W (รวมถึงดอกลำโพง Atmos)
ดอกลำโพง Atmos สำหรับยิงเสียงมุมสูงสู่เพดาน ให้ตกสะท้อนมายังตำแหน่งนั่งฟัง จะฝังอยู่ด้านบนซาวด์บาร์ ติดตั้งในรูปแบบแหงนเฉียง ครอบด้วยตะแกรงอะลูมิเนียมแข็งแรง อยู่บริเวณปลายซาวด์บาร์ทั้ง 2 ฝั่ง ราบเรียบไปกับตัวเครื่อง เสียงจะเป็นอย่างไร ให้มิติเสียงด้านสูงได้แบบเนื้อๆ หรือไม่ อดใจรอชมในส่วนการทดสอบถัดไป
บริเวณด้านหลังทางฝั่งขวาของตัวเครื่อง จะมีปุ่มคำสั่งเรียงรายอยู่ มีสัญลักษณ์บ่งบอกการใช้งานชัดเจน ประกอบด้วยปุ่มคำสั่งดังนี้ ปุ่มปิด/เปิดเครื่อง, ปุ่ม Fสำหรับสลับช่องต่อ Input ต่างๆ, ปุ่มเพิ่ม/ลดระดับความดัง, ปุ่มเปิดสัญญาณ Wi-Fi และสุดท้ายเป็นปุ่มสำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือลำโพงอื่นๆ ที่รองรับ Music Flow เช่น การเพิ่มลำโพงเซอร์ราวด์ไร้สาย เป็นต้น
ด้านช่องต่อก็อยู่ทางด้านหลังตัวเครื่องเช่นกัน ตรงโซนช่องต่อนี้ถูกออกแบบให้เว้าลึกเข้าไปด้านใน ทำให้ยากต่อการเสียบเชื่อมต่อสายสัญญาณเล็กน้อย มีช่องต่อ Ethernet, AUX 3.5 มม., Optical, HDMI In และ HDMI Out ซึ่ง HDMI รองรับ 4K HDR Pass-through เป็นสื่อกลางระหว่างทีวีและเครื่องเล่น ส่งสัญญาณภาพ 4K HDR ได้อย่างไม่มีปัญหา
SJ9 ไม่ได้มาแค่ซาวด์บาร์เครื่องเดียว ยังมีซับวูฟเฟอร์ทรงคล้ายลูกบาศก์ความสูงประมาณ 13 นิ้ว ความยาวแต่ละด้านอยู่ที่ 11.65 นิ้ว มีน้ำหนักประมาณ 7 กก. ตัวตู้ออกแบบเป็น Reflex Bass ใช้ดอกลำโพงขนาด 6.5 นิ้ว ให้กำลังขับมากถึง 200W รอบด้านลำโพงหุ้มด้วยผ้า ฐานลำโพงยกลอยขึ้นมาเล็กน้อยด้วยยางกันสะเทือน
แม้หน้าตาตัวเครื่องจะเปลี่ยนไป แต่รีโมทของซาวด์บาร์นั้น แทบจะไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ยังคงหน้าตาเอาไว้แบบเดิม มีขนาดเล็ก แยกปุ่มออกมาให้ใช้งานได้ง่าย ปุ่มคำสั่งต่างๆ ประกอบด้วย ปุ่มปิด/เปิดเครื่อง, ปุ่ม F ไว้สลับการใช้งานตาม Input, ปุ่ม Sound Effect เลือกโหมดเสียงให้คอนเท็นต์รับชม, ปุ่มปิด/เพิ่ม/ลดระดับความดัง, ปุ่ม EQ ใช้ปรับแต่งย่านเสียงต่างๆและซับวูฟเฟอร์ และปุ่มสำหรับเล่นเพลง
ปุ่มคำสั่งยังไม่หมด เรียกว่าซอยออกมาให้ได้ใช้งานกันอย่างสะดวกเลย ปุ่มคำสั่งด้านล่างจะมีปุ่ม Info เช็คสถานะการใช้งาน, ปุ่ม Repeat หากต้องการเล่นซ้ำ, ปุ่ม Auto Volume ปรับระดับความดังระหว่างฟังโดยอัตโนมัติ, ปุ่ม AV Sync สำหรับปรับลดความเหลื่อมของภาพและเสียง, ปุ่ม Sleep ตั้งเวลาปิดเครื่อง และปุ่ม Auto Power ปิด/เปิดเครื่องโดยอัตโนมัติ เมื่อไม่มีการใช้งาน
Features – ลูกเล่น
นอกจากการรองรับระบบเสียง Dolby Atmos ที่เป็นฟีเจอร์หลักของ SJ9 ลูกเล่นที่ทาง LG ชูเด่นขึ้นมาคงหนีไม่พ้น Music Flow ที่จะมาตอบโจทย์การฟังเพลงหลากหลายรูปแบบ ผ่านการใช้งานบนสมาร์ทโฟนด้วยแอพพลิเคชั่น Music Flow Player สามารถฟังเพลงจากบริการสตรีมมิ่งที่หลากหลาย รวมถึงการใช้งานแบบ Multi-room หรือจับคู่กับลำโพงเซอร์ราวด์ที่รองรับฟีเจอร์นี้ด้วยการเชื่อมต่อไร้สายผ่าน Wi-Fi
โดยผู้ใช้งานต้องดาวน์โหลดแอพฯ ดังกล่าวลงสมาร์ทโฟน จากนั้นเปิดการใช้งาน Wi-Fi ที่ซาวด์บาร์ ให้เชื่อมต่อ Wi-Fi Direct ระหว่างสมาร์ทโฟนกับ SJ9แล้วเข้าไปที่แอพฯ Music Flow ตัวแอพฯ จะให้ทั้งสมาร์ทโฟนและซาวด์บาร์เชื่อมต่อไปยังเครือข่าย Wi-Fi ภายในบ้าน เมื่อเชื่อมต่อเรียบร้อยก็ไปเพลิดเพลินกับการฟังได้เลย
แอพฯ นี้ช่วยให้สตรีมมิ่งเพลงผ่านช่องทางมากมาย เช่น บริการสตรีมมิ่ง (TuneIn, Deezer หรือ NPR One), การเล่นไฟล์จากสมาร์ทโฟน, เล่นไฟล์ผ่าน Media Server และการใช้งาน Chromecast ซึ่งอย่างหลังสุดนี้แหละ คือไฮไลต์เด็ด เพิ่มความน่าสนใจและความหลากหลายของบริการขึ้นอีกเท่าตัว นอกเหนือจากที่ Music Flow รองรับ ไม่ว่าจะเป็น Google Play Music, iHeart Radio, Pandora และ Spotify แม้แต่คอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุคก็สามารถแคสต์เสียงจากเบราเซอร์ Google Chrome มายังซาวด์บาร์ได้
ความดีงามของ Music Flow ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ หากต้องการเพิ่มความเซอร์ราวด์ให้เต็มระบบมากยิ่งขึ้น สามารถเพิ่มเติมลำโพงเซอร์ราวด์ที่รองรับ เชื่อมต่อกันผ่านแอพฯ เซ็ตอัพระบบ 5.1-Channel ปรับเลือกใช้งานตามความพึงพอใจ ซึ่งผู้ใช้งานยังสามารถปรับแต่งและตั้งค่าการใช้งานของซาวด์บาร์ได้ที่แอพฯ นี้เช่นกัน
ฟีเจอร์น่าสนใจไม่ได้มีแค่แอพฯ ฟีเจอร์ถัดมาการรองรับไฟล์เพลงความละเอียดสูงหรือ Hi-Res ที่ความละเอียด 24-Bit/192kHz สนองความอยากนักฟังหูทองได้แบบสบายๆ ซึ่ง SJ9 นั้นสามารถ Up-scaling หรือเสริมความละเอียดให้กับไฟล์ความละเอียดต่ำอย่าง MP3 ให้สูงขึ้นใกล้เคียงกับ Hi-Res ได้ คล้ายกับทีวีที่สามารถ Up-scaling จาก Full HD เป็น 4K นั่นเอง